ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เทคโนโลยีการเกษตร คือการใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลกำไรในภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันภาคเกษตรกรรมในเมืองไทยเริ่มตื่นตัว เห็นได้จากหลายฟาร์มที่มีการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาใช้บริหารจัดการภายในฟาร์มกันมากขึ้น เพื่อให้การทำเกษตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ ปริมาณผลผลิต รวมถึงช่วยลดปัญหาด้านแรงงานขาดแคลน
คุณเสาวนีย์ ภูมิลุน หรือ คุณเปรี้ยว นักวิชาการเกษตร บริษัท กรีนพลัส ฟาร์ม อยู่ที่บ้านคำบง ตำบลสะอาด อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เกษตรกรรุ่นใหม่ มุ่งหน้าทำในสิ่งที่รักคือการทำเกษตร พร้อมเรียนรู้และเปิดใจการนำเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาปรับใช้เพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า
คุณเปรี้ยว เล่าให้ฟังว่า ตนเองเรียนจบคณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม หลังเรียนจบก็ได้กลับมาประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรทำฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์เล็กๆ เป็นของตนเอง เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นได้ตัดสินใจหยุดพักงานที่สวน เพื่อต้องการหาความรู้ และประสบการณ์ด้านใหม่ๆ สำหรับนำมาประยุกต์ต่อยอดทำฟาร์มปลูกผักของตัวเองในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น จึงตัดสินใจไปสมัครงานที่บริษัท กรีนพลัส ฟาร์ม โดยมีเจ้าของเป็นคนเกาหลี เพื่อไปเรียนรู้รูปแบบการปลูกผักแบบสมัยใหม่ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยจากเกาหลีมาใช้ในการดูแลจัดการ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีการปลูกของคนไทย
“ปลูกผักสไตล์เกาหลี”
เพาะกล้าในดิน ปลูกในน้ำ
คุณเปรี้ยว อธิบายว่า รูปแบบการปลูกผักของที่ฟาร์มจะเด่นเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีจากเกาหลีเข้ามาใช้ในการปลูกผัก ทั้งในส่วนของการบำรุงใส่ปุ๋ย ระบบน้ำ ระบบไฟ รวมถึงเมล็ดพันธุ์บางส่วนที่ต้องนำเข้ามาจากเกาหลี นำมาผสมผสานวิธีการปลูกแบบไทยๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่เกาหลีกับไทยค่อนข้างแตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้วิธีการปลูกแบบเกาหลีได้ครบทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์
โดยลักษณะการปลูกผักของทางฟาร์มจะปลูกผักในโรงเรือนทั้งหมด บนพื้นที่กว้าง 50 ไร่ มีทั้งหมด 30 โรงเรือน เป็นโรงเรือนขนาดใหญ่ที่มีความกว้าง 9 เมตร ยาว 96 เมตรต่อ 1 โรงเรือน
แบ่งปลูกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ระบบน้ำนิ่ง และ 2. ปลูกผักลงดิน โดยการปลูกทั้ง 2 รูปแบบนี้ จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดแบบเดียวกัน คือการเลือกใช้พีทมอสเป็นวัสดุในการเพาะเมล็ดกับผักทุกชนิด แตกต่างจากฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ทั่วไป ที่ในขั้นตอนเพาะเมล็ดส่วนใหญ่จะใช้วิธีเพาะเมล็ดใส่ฟองน้ำ แต่ของฟาร์มเพาะด้วยพีทมอส ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีการปลูกจากเกาหลีมาประยุกต์ใช้ เนื่องจากทางฟาร์มปลูกผักทั้ง 2 รูปแบบ ในจำนวนเยอะ หากต้องเพาะเมล็ดทั้งในดินและในฟองน้ำคงไม่สามารถทำได้ จึงต้องหาวิธีการที่ดีที่สุดและสะดวกที่สุดมาใช้เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
วิธีการปลูก
ชนิดของผักที่ทางฟาร์มเลือกปลูก จะเน้นปลูกผักสลัดเป็นหลัก ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค และกรีนคอส รองลงมาคือ กัญชง แตงกวาญี่ปุ่น กะเพรา มะเขือเทศหลากหลายสายพันธุ์ ใบงาเกาหลี และต้นหอม อย่างละเท่าๆ กัน ซึ่งชนิดของผักที่กล่าวมานี้ทางฟาร์มจะใช้วิธีการปลูกและการดูแลที่คล้ายกันเกือบทั้งหมด
1. การปลูกผักสลัดลงดิน ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก มีการเตรียมดินจะใช้เฉพาะขุยมะพร้าวผสมกับปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ปริมาณ 1 กิโลกรัมต่อขนาดความกว้างของแปลงยาว 24 เมตร กว้าง 1.20 เมตร หรือในบางครั้งจะมีการใช้ปูนขาวร่วมด้วยบ้างตามสภาพ แตกต่างไปจากของที่ฟาร์มอื่นที่ในขั้นตอนการเตรียมดินจะมีอัตราการผสมวัสดุปลูกหลายอย่าง
การดูแล หลังย้ายกล้าลงแปลงปลูกได้ 10 วัน เริ่มใส่ปุ๋ยบำรุงครั้งที่ 1 ใส่สูตรเสมอ 15-15-15 ปริมาณครึ่งกิโลกรัมต่อแปลง จากนั้นนับต่อไปอีก 10 วันเริ่มใส่ปุ๋ยบำรุงครั้งที่ 2 ใส่สูตรเสมอ 15-15-15 ปริมาณครึ่งกิโลกรัมต่อแปลงเหมือนเดิม แล้วฉีดบำรุงฮอร์โมนธาตุอาหารรองเป็นแคลเซียมทุกๆ 3 วัน ตั้งแต่ตอนที่เริ่มใส่ปุ๋ยบำรุงครั้งที่ 1 ไปจนถึงวันเก็บเกี่ยว
ระบบน้ำสปริงเกลอร์พ่นหมอก ทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 10 นาที เน้นเปิดพ่นน้ำบ่อยๆ ซึ่งข้อดีของการปลูกผักลงดินในช่วงหน้าร้อนจะได้ผลผลิตดีกว่าการปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ ทางฟาร์มจึงเลือกที่จะปลูกทั้ง 2 รูปแบบ เป็นแผนสำรองในช่วงอากาศร้อนที่ผักไฮโดรโปนิกส์ปลูกไม่ได้ แต่ยังสามารถเก็บผลผลิตจากแปลงที่ปลูกลงดินไปขายได้อย่างต่อเนื่อง
2. ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ ระบบน้ำนิ่ง ขนาดความยาวของราง 24 เมตร กว้าง 1.20 เมตร การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ของที่ฟาร์มจะใช้เมล็ดที่เพาะจากพีทมอสตามที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งการที่ใช้ต้นกล้าที่เพาะด้วยพีทมอส หลายคนสงสัยว่าพีทมอสที่ติดมากับต้นกล้าจะตกลงไปในระบบน้ำหรือไม่ ทางฟาร์มสามารถอธิบายได้ว่า “ส่วนของพีทมอสที่ติดมาพร้อมกับต้นกล้าจะไม่หลุดลงไปในน้ำ หากเพาะเมล็ดครบ 15 วัน รากของพืชจะเดินเต็มที่ เมื่อเอาลงไปในน้ำรากจะไม่หลุดแล้วระบบรากจะเดินได้ดีกว่าการเพาะใส่ฟองน้ำอีกด้วย”
หลังจากเพาะเมล็ดครบ 15 วัน ทางฟาร์มจะเตรียมบ่อสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยน้ำที่ใช้ทางฟาร์มเป็นน้ำบาดาล ก่อนนำน้ำไปใช้ต้องทำการพักน้ำไว้ก่อน 2 วัน แล้วจึงค่อยเปิดน้ำใส่รางปลูก ระดับความลึกของน้ำอยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยเอบี 5 ซีซีต่อน้ำ 1 ลิตร แล้วทำการวัดปริมาณค่า pH ของน้ำ โดยค่าระดับ pH ของที่ฟาร์มจะอยู่ที่ 6.5-7 pH
นำแผ่นโฟมลอยน้ำเพื่อยึดลำต้น นำต้นกล้าที่อายุครบ 15 วัน มาใส่ถ้วยปลูก แล้ววางลงในแผ่นโฟมที่เจาะรูไว้แล้ว ตามระยะความห่างที่เหมาะสม
การดูแล เหมือนกับการปลูกลงดิน ต่างกันที่การบำรุงใส่ปุ๋ย การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จะใส่ปุ๋ยแค่รอบเดียว ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมบ่อแล้วผสมปุ๋ยเอบีลงไปก่อนย้ายกล้าลงปลูก และฉีดฮอร์โมนบำรุงเพียงอาทิตย์ละครั้ง ผักไฮโดรโปนิกส์มีวิธีการปลูกการดูแลที่ค่อนข้างง่าย แต่มีการลงทุนสูง ทั้งอุปกรณ์ ค่าปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ของผักบางที่ต้องนำเข้าจากเกาหลี
อายุการเก็บเกี่ยว การปลูกแบบลงดินและปลูกระบบไฮโดรโปนิกส์ ใช้ระยะเวลาในการปลูก 45 วัน เท่าๆ กัน จะมีเฉพาะผักบางชนิด อย่างเช่น กะเพราที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ ใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 50-60 วัน แต่ใส่ปุ๋ยรอบเดียวเหมือนกับผักชนิดอื่นๆ
ปริมาณผลผลิต เนื่องจากที่ฟาร์มเป็นฟาร์มปลูกผักขนาดใหญ่ สามารถจัดการผลผลิตส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณผักที่ออกมาในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 500 กิโลกรัมต่อวัน เป็นผักสลัดประมาณ 400 กิโลกรัม และผักชนิดอื่นๆ คละกัน อีก 100 กิโลกรัม
ปัจจุบันทางฟาร์มมีพนักงานทั้งหมด 40 คน มีการวางแผนจัดการผลิตพืชวันละ 1 แปลง หรือวันละ 1 โรงเรือน มีขนาดความกว้าง 9 เมตร ยาว 96 เมตร ปลูกผักได้ 18 แปลง หรือ 18 โต๊ะต่อ 1 โรงเรือน ขนาดความกว้างต่อ 1 โต๊ะ กว้าง 1.20 ยาว 24 เมตร เก็บผลผลิตผักสลัดได้ประมาณ 70 กิโลกรัม
ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการจัดการเกษตรจากเกาหลีในการควบคุมดูแลเป็นหลัก ทั้งระบบไฟ ระบบน้ำ เครื่องใส่ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ รวมถึงเทคนิคเฉพาะอีกหลากหลาย ซึ่งถือว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาทดแทนแรงงานคนได้มาก ต่างจากเมื่อก่อนที่ในทุกขั้นตอนต้องอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก
ผลผลิตวันละ 500 กิโลกรัม
ทำตลาดปลูกเอง-ขายเอง
“ด้วยปริมาณผลผลิตที่ออกมาในแต่ละวันค่อนข้างเยอะ ทางฟาร์มจึงต้องใช้ทุกกลยุทธ์ในการกระจายสินค้าให้หมดในแต่ละวัน โดยในช่วงแรกเป็นการขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ แต่โดนกดราคาซ้ำๆ เถ้าแก่จึงหาทางออกด้วยการทำตลาดเอง โดยการเปิดซุปเปอร์มาร์เก็ตขายผักเป็นของตัวเอง ชื่อร้าน กรีนพลัส ฟาร์ม ขายในรูปแบบทั้งปลีกและส่ง มีทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ กรีนพลัส ฟาร์ม สาขาข่อนแก่น, กรีนพลัส ฟาร์ม สาขาอุดรธานี, กรีนพลัส ฟาร์ม สาขาห้วยขวาง กรุงเทพฯ พร้อมเปิดหน้าร้านขายที่ฟาร์ม และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีร้านกาแฟรองรับ สำหรับคนมาศึกษาดูงาน หรือต้องการมาถ่ายรูปเช็กอินเป็นสาวเกาหลี ที่นี่พร้อมต้อนรับ” คุณเปรี้ยว กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 098-673-5272 หรือเฟซบุ๊ก : สวนสไตล์ข่อย