เกษตรกรอำเภอปง จังหวัดพะเยา ปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์ ทำเงิน

เกษตรกรในพื้นที่บ้านแสงไทร ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา ปลูกมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี ขณะที่เกษตรจังหวัดพะเยา ส่งเสริมให้มีการผลิตแบบแปลงใหญ่และพัฒนาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันมะม่วงในพื้นที่เป็นที่ต้องการ เนื่องจากหลังมีการรวมกลุ่มและพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตจนทำให้มะม่วงมีคุณภาพ

คุณแจ วิวัฒน์วิทยา เกษตรกรวัย 66 ปี ในพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านแสงไทร ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงคุณภาพ นำเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา เข้าดูแปลงปลูกมะม่วงของตนเอง ซึ่งมีการดูแลรักษาอย่างดี มีการพัฒนาคุณภาพโดยการใช้ห่อผลมะม่วงทุกผล จึงทำให้ผลผลิตมีคุณภาพอย่างดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ปลูกมะม่วง 4 สายพันธุ์ ได้แก่ เขียวเสวย น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง และโชคอนันต์ โดยใช้พื้นที่ปลูกจำนวน 14 ไร่

เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง

ผลผลิตปีนี้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาเก็บผลผลิตเขียวเสวย จำหน่ายได้มากกว่า 100,000 บาท ในส่วนของพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง และพันธุ์โชคอนันต์ ซึ่งขณะนี้ใกล้ที่จะเก็บผลผลิตออกจำหน่ายแล้ว เพียงแต่รอราคาให้ขยับขึ้นอีกนิดหน่อย โดยคาดว่าจะมีรายได้อีกประมาณ ไม่น้อยกว่า 100,000 บาท ซึ่งรวมกันแล้วในปีนี้จะทำให้มีรายได้มากกว่า 200,000 บาทขึ้นไป ซึ่งตนเองได้ทำการปลูกทั้งหมด 600 กว่าต้น รวมทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยเทียบกับปีที่ผ่านมาปีนี้ผลผลิตและราคาจะดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยเขียวเสวยจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท ในส่วนของน้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 นั้นขณะนี้ราคาจะอยู่ที่ 15-17 บาท ซึ่งตนเองจะรอให้ราคาขยับขึ้นอีกนิดจึงจะจำหน่าย เนื่องจากผลผลิตของตนเองนั้นมีคุณภาพที่ดีและมีการดูแลผลผลิตเป็นอย่างดี ทำให้ลูกใหญ่และผิวสวย

ขณะที่ คุณจู แซ่กือ อายุ 57 ปี บ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 9 บ้านแสงไทร ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เกษตรกรอีกรายในพื้นที่หมู่บ้านเดียวกัน ระบุว่า ในปีนี้ผลผลิตมะม่วงมีผลผลิตที่ดีและสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่ดี ซึ่งหากราคาอยู่ที่ 15-17 บาท เกษตรกรก็จะสามารถมีกำไร ซึ่งหากปีไหนราคาที่ต่ำกว่า 15 บาทนั้น เกษตรกรก็จะไม่ค่อยมีกำไร ซึ่งผลผลิตโดยรวมในปีนี้ ดีกว่าที่ผ่านมา ในเรื่องของการตลาดก็ไม่มีปัญหา

เกษตรจังหวัดพะเยาให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง

สำหรับข้อมูลของมะม่วงน้ำดอกไม้ คุณอนุพล มูลตุ้ย เกษตรอำเภอปง กล่าวว่า น้ำดอกไม้สีทอง เป็นมะม่วงที่กลายพันธุ์มาจากมะม่วงน้ำดอกไม้พระประแดง ผลดิบมีสีเขียวนวล เนื้อผลมีสีขาว มีรสเปรี้ยวจัด ผลแก่ที่อยู่บนต้นมีสีเหลืองอมครีม คล้ายกับมะม่วงสุก ผลเมื่อสุกจัดจะมีสีเหลืองอมส้มหรือสีเหลืองทอง เนื้อละเอียด และมีเสี้ยนเล็กน้อย น้ำหนักต่อผลประมาณ 300-400 กรัม ถือเป็นพันธุ์ที่มีเปลือกหนาขึ้น หนากว่ามะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และมีความหวานมากกว่า นอกจากนั้น ทนโรคและแมลงได้ดี รวมถึงตอบสนองต่อการบังคับให้ติดผลนอกฤดูได้ดี

ส่วนน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ผลดิบมีสีเขียวนวล เนื้อมีสีขาวแน่นและหนา มีรสเปรี้ยวจัด ผลสุกมีสีเหลืองเข้มหรือเหลืองทอง เปลือกผลบาง เนื้อผลละเอียด ไม่มีเสี้ยน มีกลิ่นหอม น้ำหนักผล 280-300 กรัม ความหวานประมาณ 19 องศาบริกซ์

มาตรฐานพันธุ์และการเพาะกล้ามะม่วงนํ้าดอกไม้ ต้องเป็นต้นพันธุ์ที่ได้จากการทาบกิ่ง ติดตา หรือเสียบยอด กรณีที่ติดตาหรือเสียบยอดจะต้องมียอดพันธุ์ดี ยาวไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร ต้นกล้ามีความสูงไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร (โคนต้นถึงปลายยอด) และมีไม้ปักยึดข้างลำต้น ต้นตอที่โคนต้น ต้องมีเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 2.5 เซนติเมตร หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 0.8 เซนติเมตร มีลักษณะของต้นและใบสมบูรณ์ และแข็งแรงตามสภาพปกติ ไม่มีลักษณะของต้นที่ขาดธาตุอาหารหรือมีการเข้าทำลายของโรคและแมลง จนมีผลต่อการเติบโต ภาชนะบรรจุ กระถาง ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางของกระถาง ประมาณ 20 เซนติเมตร (วัดจากขอบนอกกระถาง) ถุงพลาสติก ต้องมีขนาดของถุงพลาสติก ประมาณ 20×25 เซนติเมตร (กว้างxยาว) กระชุไม้ไผ่ ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางของกระชุไม้ไผ่ ประมาณ 15 เซนติเมตร มีสภาพไม้ดี สามารถขนส่งในระยะทางไกลได้สะดวก และใช้ดินผสมเป็นวัสดุเพาะชำ ต้องชำในภาชนะบรรจุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 6 เดือน เมื่อถอนขึ้นมาดู มีการเจริญของราก และสามารถเห็นได้ชัดเจน ต้องมีป้ายถาวรติดที่ต้นพันธุ์ที่ระบุชื่อพันธุ์ ชื่อผู้ผลิต สถานที่ผลิต และวันเดือนปีที่เพาะชำ โดยผูกติดกับต้นหรือภาชนะ และสามารถตรวจสอบได้

.มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
.มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

ประโยชน์มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงน้ำดอกไม้ ผลสุกมีสีเหลืองนวลหรือเหลืองทอง เนื้อผลมีสีครีม มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม นิยมรับประทานเป็นผลไม้สุก นอกจากนั้น ผลดิบยังใช้รับประทานเป็นผลไม้เปรี้ยว แก้ร้อนแดด มะม่วงน้ำดอกไม้ นิยมใช้ทำขนมหวาน โดยเฉพาะข้าวเหนียวมะม่วง มะม่วงน้ำดอกไม้ดิบ แปรรูปเป็นมะม่วงดอง เนื่องจากมีรสเปรี้ยวสูง ส่วนผลสุกแปรรูปเป็นมะม่วงกวนหรือมะม่วงในน้ำเชื่อม และแยมมะม่วง เป็นต้น ก้านยอดอ่อนและยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารอื่น อาทิ ลาบ ซุบหน่อไม้ เป็นต้น เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ให้ผ้าสีน้ำตาล เนื้อไม้จากต้นขนาดใหญ่ แปรรูปเป็นไม้สำหรับก่อสร้างบ้าน อาทิ ไม้ปูพื้น ปูฝ้า หรือแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ต่างๆ

ส่วนมะม่วงโชคอนันต์จากการค้นข้อมูลทางวิชาการพบว่า แต่เดิมเป็นพันธุ์มะม่วงของประเทศเมียนมาหรือพม่า ในสมัยโบราณ เจ้าเมืองพม่าเดินทางมาเยี่ยมเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำพันธุ์มะม่วงดังกล่าวมาเป็นของกำนัลด้วย ครั้งนั้นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่จึงมีคำสั่งให้นำมาปลูกไว้ที่สวนในเมืองเชียงใหม่และแจกจ่ายให้แก่ชาวเมือง จนต่อมาได้แพร่หลายไปยังท้องถิ่นอื่นๆ มีอีกชื่อว่า มะม่วงพันธุ์ “ยอดด้วน” เป็นชื่อที่เรียกกันในแถบเชียงใหม่ ส่วนประสบการณ์การตรงสมัยผู้เขียนเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้หรือมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
มะม่วงโชคอนันต์

ปัจจุบัน ทราบว่า อาจารย์ประสงค์ คงพิชญานนท์ ซึ่งสําเร็จการศึกษาประโยคครูมัธยมเกษตรกรรมจากวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ ในระหว่างที่กําลังศึกษาอยู่ได้รับการยกย่อง เป็นเยาวชนตัวอย่างของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2503 ได้เข้าทํางานเป็นผู้จัดการ “ธนฟาร์ม” ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ต่อมาได้รับราชการในตําแหน่งครู กรมสามัญศึกษาที่ศูนย์พัฒนาการศึกษาภาค 8 และปี 2509 ได้เป็นที่ปรึกษายุวเกษตรกรแห่งชาติ นอกเหนือจากงานในอาชีพครูแล้ว อาจารย์ประสงค์เคยถวายงานต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยได้ช่วยสอนคนสวนในพระตําหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์ ด้านการตกแต่งไม้ดอกและไม้ประดับ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิทองจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยเป็นกรรมการ สมาคมและชมรมต่างๆ หลายแห่ง อาทิ สมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ ตลาดนัดสวนบวกหาดเชียงใหม่ และเป็นวิทยากรพิเศษประจําหน่วยงานต่างๆ

อาจารย์ประสงค์เป็นผู้มีประสบการณ์ทางด้านอาชีพ ซึ่งแสดงถึงความสําเร็จ อันเป็นแบบอย่างที่ดี คือเป็นผู้ริเริ่มจัดตลาดนัดสวนบวกหาดเชียงใหม่ ริเริ่มให้นักเรียนรู้จักการจัดสวนหย่อม ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นผู้ขยายมะม่วงพันธุ์ “โชคอนันต์” ออกจำหน่าย จนเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย ในสมัยปี 2529 ที่อาจารย์ประสงค์ค้นพบมะม่วงโชคอนันต์นั้น ราคาต้นพันธุ์แพงมาก ระดับต้นละเป็นพันบาท มี อาจารย์ประเจียด ทองไทย อาจารย์สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ในสมัยนั้นได้นำยอดมาเปลี่ยนต้นตอที่อยู่หลังหอพักนักศึกษาหญิง อาจารย์หวงสุดๆ ด้วยการใช้ลวดหนาม และปอกสายไฟฟ้าล้อมต้นไว้เพราะนักศึกษาเกษตรสามารถใช้ยอดขยายพันธุ์มะม่วงได้อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันราคาลดลงเท่าๆ กับมะม่วงสายพันธุ์ทั่วไปแล้ว

มะม่วงโชคอนันต์
ยอดอ่อนมะม่วงโชคอนันต์

รูปร่าง รูปทรง (ต้น ราก ใบ ดอก ผล) ของมะม่วงโชคอนันต์ ลำต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ต้นเป็นทรงพุ่มทึบ มีกิ่งก้านขยายกว้าง ลำต้นมีลักษณะกลมๆ เป็นไม้เนื้อแข็ง มีเปลือกแข็ง มียางสีขาวทั่วลำต้น เปลือกต้นมีสีน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งก้านหนาแน่นช่วงปลายยอด ปลายใบแหลม โคนมน เนื้อใบหนา สีเขียวสด ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อยขนาดเล็กสีเหลืองนวลจำนวนมาก ดอกมีกลิ่นหอม ผลรูปกลมรี ผลโตเต็มที่ประมาณ 3-4 ผลต่อ 1 กิโลกรัม ผลดิบสีเขียว เปลือกผลค่อนข้างหนา เนื้อในดิบรสเปรี้ยวจัด ฉ่ำน้ำกรอบตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อผลสุกผิวผลจะเป็นสีเหลืองตลอดทั้งผล เนื้อในสีเหลือง-เข้ม รสชาติหวานหอมมีเส้นใยหรือเสี้ยนเล็กน้อย

ส่วนมะม่วงเขียวเสวย มีต้นกำเนิดในประเทศไทย เป็นมะม่วงกลายพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด เป็นพันธุ์ใหม่ที่เพาะได้โดยบังเอิญเมื่อประมาณปี 2475 ของชาวสวนแห่งหนึ่งในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

เกษตรจังหวัดพะเยาและอำเภอปง ลงตรวจเยี่ยมจุดรับซื้อมะม่วงในพื้นที่

รูปร่าง รูปทรง (ต้น ใบ ดอก ผล) มะม่วงเขียวเสวย เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง ลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกหลักกิ่ง และกิ่งแขนงน้อย จนแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็ก สีดำอมเทา ใบมะม่วงเขียวเสวย ออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง ใบค่อนข้างรียาว สีเขียวเข้มและเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบและขอบใบเรียบ เส้นกลางใบมีสีขาวชัดเจน ดอกมะม่วงเขียวเสวย ออกดอกเป็นช่อแขนง ซึ่งแต่ละแขนงประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยในช่อเดียวกันจะมีดอก 2 ชนิด คือ ดอกเพศผู้ ซึ่งมีจำนวนมาก (91.80%) และดอกกะเทย (8.20%) ที่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ ทำให้มะม่วงพันธุ์นี้ติดผลน้อย

ทั้งนี้ มะม่วงเขียวเสวย เป็นพันธุ์ที่ออกดอกช้า ดอกมะม่วงเขียวเสวยหลังการผสมเกสรแล้ว ทั้งกลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรจะร่วงหล่นไปหมด คงเหลือรังไข่ที่พัฒนาเป็นผลรูปไข่ขนาดเล็ก และจานดอกที่เหี่ยวแห้งติดด้านล่างผล ผลมะม่วงเขียวเสวย มีลักษณะรียาว และแบนเล็กน้อย บริเวณขั้วผลมีขนาดใหญ่ และค่อยเล็กลงไปด้านท้ายด้านหลัง ผลมีลักษณะนูนออก และด้านหน้าผลคอดเล็กลง ขนาดผลกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีน้ำหนักต่อผลประมาณ 300-335 กรัม ผลมะม่วงเขียวเสวย เมื่อยังอ่อนจะมีเปลือกสีเขียวเข้ม ส่วนเนื้อผลมีสีขาว และมีรสเปรี้ยว เมื่อแก่ เปลือกมีสีเขียวอมเทาหรือมีนวล ส่วนเนื้อมีสีขาวขุ่น มีรสหวานมัน และเมื่อสุก เปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน เนื้อด้านในมีสีเหลือง เนื้อละเอียด และค่อนข้างแน่น ไม่เละง่าย

ขณะที่ คุณนฤมิต สมัคร เกษตรจังหวัดพะเยา ระบุว่า ปัจจุบันมะม่วงในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีมานี้ ซึ่งปัจจุบันทางสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา ได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่เหมือนพืชอื่นๆ ทำให้เกษตรกรพัฒนาการผลิตมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมทั้งในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน ของการห่อผล การให้ปุ๋ย ในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตมะม่วงเป็นที่ต้องการของตลาด ขณะนี้เราก็มีการส่งเสริมในเรื่องของการตลาด หาตลาดเข้ามารับซื้อให้มากขึ้น เช่น ปัจจุบันก็ได้ตลาดจากจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราชซึ่งในอนาคตก็อยากจะให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำมะม่วงให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งทางเราก็จะช่วยในเรื่องของการประชาสัมพันธ์การตลาดเพื่อให้มีผู้เดินทางมาซื้อเพิ่มขึ้น

พื้นที่ดังกล่าวนั้นแต่เดิมเป็นพืชไร่ ปัจจุบันเกษตรกรจำนวนมากก็หันมาทำการปลูกไม้ผลที่สามารถสร้างรายได้ให้ทั้ง 2 ทาง โดยในปัจจุบันผลผลิตมะม่วงเริ่มออกสู่ตลาดแล้วโดยจะมีมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย ในส่วนของราคาที่ดีนั้นก็จะเป็นมะม่วงเขียวเสวยและรองลงมาก็จะเป็นน้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 และหลังจากนี้ไปก็จะเป็นโชคอนันต์ ดังนั้น จึงอยากจะเชิญชวนผู้ที่ต้องการในเรื่องผลผลิตสามารถเดินทางมาหาซื้อได้ที่ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณแจ วิวัฒน์วิทยา อายุ 66 ปี บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 9 บ้านแสงไทร ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา โทร. 065-047-7981