ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
พื้นที่ภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงต่ำสลับกันตั้งแต่ตอนบนจนถึงตอนล่างของภาค โดยด้านตะวันตกมีแนวเทือกเขาตะนาวศรี และเทือกเขาภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญในภูมิภาค ส่วนพื้นที่ตอนกลางของภาคมีเทือกเขานครศรีธรรมราชทอดเป็นแนวเหนือ-ใต้ สำหรับสภาพภูมิอากาศภาคใต้ตอนบน ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
จากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้มีอิทธิพลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการทำการเกษตรของภูมิภาคนี้ ซึ่งมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนยังมีความหลากหลายของพืชประจำถิ่นหรือพืชพื้นเมือง โดยเฉพาะทุเรียนพื้นเมือง ซึ่งนอกจากสภาพพื้นที่และสภาพอากาศแล้ว วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิดความหลากหลายของทุเรียนพื้นเมือง เนื่องจากในสมัยโบราณการขยายพันธุ์ทุเรียนนิยมใช้เมล็ด ต้นไหนอร่อยถูกใจก็จะเก็บเมล็ดไปปลูก ด้วยหวังว่า จะได้ต้นที่ให้ผลอร่อยดังเดิม แต่ในความเป็นจริงทุเรียนที่ได้จากการเพาะเมล็ดย่อมมีความแตกต่างจากต้นเดิม ไม่มากก็น้อย ทุเรียนพื้นเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงถือเป็นมรดกทางพันธุกรรมที่ส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์
คุณดานีญา ผิวดำ เจ้าของสวนทุเรียนดานีญา ตั้งอยู่ที่ 141 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ อดีตพยาบาล ผันตัวเป็นเกษตรกรทำสวนทุเรียนพื้นเมือง รสชาติอร่อย หาทานยาก ผลผลิตมีเท่าไหร่ไม่พอขาย สร้างรายได้หลักล้านต่อปี
คุณดานีญา เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำสวนทุเรียน ตนเองประกอบอาชีพหลักเป็นพยาบาล ทำสวนทุเรียนเป็นอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ในการจัดการดูแล เป็นงานสวนที่ทำแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ตนเองเพิ่งจะลาออกจากงานประจำเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ เพื่อออกมาพัฒนาสวนทุเรียนอย่างเต็มที่
“สวนทุเรียนของพี่ที่ทำอยู่ตอนนี้ เป็นสวนที่ซื้อต่อมาจากเจ้าของเดิมเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยเจ้าของเดิมเขาทำสวนผสมผสาน ปลูกลองกองกับทุเรียน แล้วพี่ก็มาซื้อสวนต่อจากเขา ก็มาโละลองกองออก เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ส่วนทุเรียน พ่อบอกว่าให้เก็บไว้ เพราะทุเรียนไม่ใช่ของหาง่าย มันยากมากนะการปลูกทุเรียน พี่ก็เชื่อพ่อเก็บทุเรียนไว้ จนมาถึงวันที่ผลผลิตออก พี่ก็ชวนเพื่อนมาทาน ก็มีการบอกปากต่อปากว่าทุเรียนที่สวนพี่อร่อย ใครก็อยากมาชิม ทำให้สวนพี่กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายมาเป็นสวนดังของจังหวัดกระบี่ ทำให้พี่มองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากตรงนี้ เลยตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มอีก 30 ไร่ โดยเลือกปลูกสายพันธุ์หลินลับแล สร้างรายได้หลัก”
“สวนทุเรียนดารีญา”
แหล่งรวมทุเรียนพื้นบ้าน
สำหรับที่มาของสวนดานีญา ที่กลายเป็นแหล่งรวมทุเรียนพันธุ์แปลกนั้น คุณดานีญา อธิบายว่า เป็นความโชคดีที่อนุรักษ์ ไม่ทำลายทุเรียนในครั้งที่ซื้อสวนต่อจากเจ้าของเดิม เพราะเขาได้ทิ้งทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่ถือเป็นสายพันธุ์ที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน ได้แก่ หลินลับแล สาลิกา กบพิกุล กบเล็บเหยี่ยว นกหยิบ ชะนีไข่ หนามดำ ก้านยาว หมอนทอง นวลทองจันทร์ และมูซังคิง
โดยลักษณะภายนอกที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของทุเรียนพื้นเมืองแต่ละต้น สำหรับลักษณะภายในก็แสดงความแตกต่างชัดเจน โดยเฉพาะสีเนื้อซึ่งมีทั้งเหลืองเข้ม เหลืองอ่อน เหลืองอมส้ม ครีม ไปจนถึงขาว รสชาติที่มีทั้งหวานมัน หวานแหลม หรือมีรสขมปะปน เป็นต้น จากลักษณะความแตกต่างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทุเรียนพื้นเมืองมีความหลากหลายสูง ดังนั้น โอกาสที่จะมีทุเรียนพื้นเมืองที่มีลักษณะดีคือ มีเนื้อหนา แห้ง สีเหลืองทอง เมล็ดเล็ก มีกลิ่นและรสชาติหวานมันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะต้น และมีคุณภาพในการทานไม่ด้อยกว่าทุเรียนพันธุ์การค้า ที่กำลังรอให้มีการค้นพบและพัฒนา ให้เป็นที่รู้จักเพื่อสร้างคุณค่าให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นได้
“ปัจจุบันที่สวนดานีญา ปลูกทุเรียนหลินลับแลเป็นสายพันธุ์สร้างรายได้หลักของสวน เป็นการขยายพื้นที่ปลูกจากเจ้าของเดิมที่ทิ้งไว้ และที่สวนปลูกเพิ่มอีกประมาณ 500 ต้น มีทั้งต้นที่ให้ผลผลิตแล้ว และต้นที่ยังไม่ให้ผลผลิต โดยรสชาติของหลินลับแลที่มีความหวานมัน เมล็ดลีบเล็ก เส้นใยน้อย เนื้อละเอียด มีความครีมมี่ สีของเนื้อเหลืองเข้มสวย ใครได้ลิ้มลองเป็นอันต้องติดใจ”
ซึ่งนอกจากที่เป็นแหล่งรวมทุเรียนพื้นบ้าน สายพันธุ์หาทานยากแล้ว เรื่องของรสชาติที่เด่นไม่แพ้กัน โดยสันนิษฐานเบื้องต้นว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รสชาติของทุเรียนในสวนมีรสชาติดีนั้นเกิดจากพื้นที่สวนทุเรียนปลูกอยู่กลางหุบเขา อากาศเย็น ที่เป็นเนินสะเด็ดน้ำ ปลูกทุเรียนบนเนินเขา ดินไม่อุ้มน้ำ ทำให้ต้นทุเรียนไม่มีน้ำขัง เนื้อทุเรียนก็เลยไม่แฉะ เหนียว กรอบนอก นุ่มใน ตามเอกลักษณ์ของแต่ละสายพันธุ์
และทุเรียนของที่สวนจะติดผลเร็วกว่าสวนอื่นๆ ในพื้นที่ จากปกติทุเรียนใต้จะเริ่มเก็บผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน แต่ของที่สวนจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนกรกฎาคม พร้อมๆ กับผลผลิตทางภาคตะวันออก ส่งผลดีในด้านของราคา ที่สวนขายจะขายผลผลิตได้ราคาดีมาโดยตลอด เพราะ 1. เรื่องของรสชาติอร่อย เป็นเอกลักษณ์ 2. ผลผลิตออกก่อนสวนอื่นๆ 3. เป็นสายพันธุ์ที่หาทานจากที่อื่นได้ยาก และ 4. เป็นทุเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดทุเรียนจังหวัดกระบี่ ปี 2558 ทำให้ทุเรียนสวน “ดานีญา” กลายเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลดีมาถึงด้านการตลาด เพราะทางสวนไม่ต้องขายส่งให้ล้งหรือกับพ่อค้าคนกลางที่ไหน เมื่อถึงฤดูทุเรียนออกก็จะมีทั้งคนในพื้นที่ที่เป็นลูกค้าประจำ และนักท่องเที่ยวผลัดกันเข้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย วันละไม่ต่ำกว่า 50 คน ด้วยบรรยากาศของที่สวนที่ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย อยู่กลางหุบเขา นำไปสู่การต่อยอดที่ทางสวนวางแผนปรับพื้นที่ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างเต็มรูปแบบในปี 2567 ไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยวให้มา ชิม ช้อป พักผ่อน ถ่ายรูปเช็กอินในทุ่งดอกไม้อีกด้วย
เทคนิคการปลูกทุเรียน ให้ได้ผลผลิตดี
“เรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนา ไม่หยุดนิ่ง”
คุณดานีญา บอกว่า ตนเองเติบโตมาจากอาชีพเป็นพยาบาล ในส่วนของงานสวนทำด้วยใจรัก เพราะฉะนั้นการทดลองถูกผิดภายในสวนจึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับตนเอง ด้วยไม่มีพื้นฐานด้านการทำเกษตรมาก่อน จึงต้องหมั่นเรียนรู้ ทดลอง และพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาดีที่สุด โดยในช่วงแรกของการผันตัวมาเป็นเกษตรกรในช่วงวันหยุด ตั้งใจไว้ว่าจะทำสวนทุเรียนอินทรีย์ให้ได้ แต่พอทำไปแล้วจึงรู้ว่า “บางครั้งอุดมการณ์ก็ไปไม่รอด” การใช้อินทรีย์ทั้งหมดไม่สามารถเอาชนะโรคและแมลงศัตรูพืชได้ สิ่งนี้ก็ทำให้ได้เรียนรู้ นำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนมาใช้อินทรีย์สลับเคมี ไม่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป แล้วผลลัพธ์ก็ออกมาดีขึ้นเรื่อยๆ ถึงยังไม่ดีที่สุด แต่ในอนาคตต้องดีกว่านี้แน่นอน
วิธีการปลูก เมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ความรู้ด้านการเกษตรยังมีไม่มาก ขั้นตอนการเตรียมดินก่อนปลูกจึงไม่มีความพิถีพิถันใส่ใจ อาศัยปลูกตามความเข้าใจ เริ่มด้วยการขุดหลุม แล้วรองก้นหลุมด้วยดินปลูกอย่างเดียว จากนั้นนำต้นพันธุ์ทุเรียนที่เตรียมไว้ลงปลูกเลย ซึ่งในตอนนั้นการเจริญเติบโตก็เป็นไปได้ดี จะติดปัญหาแล้งมาเร็ว
สืบเนื่องจากที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าด้วยสภาพพื้นที่ปลูกเป็นเนินสะเด็ดน้ำ ดินไม่อุ้มน้ำ ไม่มีน้ำขัง ดินแห้งเร็ว ไม่กักเก็บน้ำ ทำให้ค่อนข้างมีปัญหาในช่วงหน้าแล้ง น้ำจะไหลลงพื้นที่ข้างล่างหมด ทางสวนจึงต้องขุดสระไว้สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ตอนหน้าแล้ง พร้อมกับติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์ไว้ที่ต้นทุเรียนทุกต้น เพื่อไม่ให้ทุเรียนขาดน้ำ
การบำรุงใส่ปุ๋ย เลือกใส่ปุ๋ยอินทรีย์สลับกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้เลือกเป็นปุ๋ยขี้ไก่อัดเม็ด สลับกับการใช้ปุ๋ยเคมี และเน้นไปที่การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ โดยใช้เป็นปุ๋ยน้ำหมักปลาทะเลในการฉีดพ่นทางใบอาทิตย์ละครั้ง ทำให้ใบเขียวเข้ม ต้นแข็งแรง สมบูรณ์ ต้นทุนต่ำ
สูตรน้ำหมักปลา ประกอบไปด้วยส่วนผสม 1. ปลาทะเล 50 กิโลกรัม 2. พด.2 3. กากน้ำตาล 4. เศษสับปะรด หรือแตงโม นำมาสับใส่ตามความสะดวก 5. น้ำสะอาด
วิธีทำ เทส่วนผสมทั้งหมดลงไปในถังน้ำ 200 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 เดือน
วิธีใช้ พ่นทางใบ ในอัตราส่วนปุ๋ยน้ำหมักปลา 1 ลิตรต่อน้ำ 150-200 ลิตร ฉีดพ่นอาทิตย์ละครั้ง งดฉีดช่วงก่อนวันเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 1 เดือน
โดยปัญหาหลักๆ ของทุเรียนใต้ที่ต้องพบเจอ คือปัญหาโรคไฟทอปทอร่า เพราะภาคใต้ได้ชื่อว่าเป็นดินแดน ฝนแปด แดดสี่ คือจะมีช่วงฝนตกยาวนานถึง 8 เดือน และฝนแล้งเพียง 4 เดือน การเจริญเติบโตของเชื้อไฟทอปทอร่า เช่น อากาศแห้งแล้ง ดินขาดน้ำ เมื่อดินได้น้ำในหน้าฝน เชื้อก็จะเจริญเติบได้ต่อไป ดังนั้น อาจจะพบว่า ในช่วงหน้าแล้ง โรคจะไม่ระบาด ดูเหมือนว่าไม่มีโรคไฟทอปทอร่าบนต้นทุเรียน แต่เมื่อเข้าหน้าฝน โรคจะระบาดรุนแรงมากขึ้น รวมถึงปัญหาของสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ พายุพัดถล่มต้นทุเรียนโค่นล้ม
ปริมาณผลผลิต ยังได้ไม่เต็มที่ อย่างหลินลับแลที่ให้ผลผลิตแล้วมีจำนวน 20 ต้น มีอายุต้นประมาณ 25-30 ปี ให้ผลผลิตอยู่ที่ต้นละประมาณ 200 ลูก น้ำหนัก 1.5-2 กิโลกรัมต่อลูก ผลผลิตไม่พอขาย มูซังคิงปลูกไว้อีก 10 ไร่ รอเก็บผลผลิตในปีหน้า มีแม่ค้าเข้ามาสั่งจองข้ามปี ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ มีอย่างละ 4-5 ต้น ผลผลิตดกเป็นที่น่าพอใจ
ราคา สำหรับหลินลับแลขายในกิโลกรัมละ 450 บาท ตลอดทั้งฤดูกาล แต่ในอนาคตเมื่อผลผลิตของสวนออกพร้อมกันทั้งหมด ก็จะมีการปรับลดราคาลง เพื่อให้ลูกค้าทุกคนสามารถจับต้องได้ และมองว่าการขายผลผลิตในราคาสูง ก็เปรียบเสมือนเป็นการจำกัดการขายของตนเอง คือจะขายได้เฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง แต่ทางสวนอยากให้ทุเรียนอร่อยๆ แบบนี้เข้าถึงชาวบ้านด้วย ส่วนตอนนี้ “หลินลับแล” ของเรายังถือว่าเป็นสินค้าแรร์ไอเทม หาทานได้ยากมาก คาดการณ์รายได้ปีนี้สูงถึงหลักล้านบาท
“ที่บอกว่าทุเรียนของที่สวนพี่เป็นของหายาก แรร์ไอเทม พี่ไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้นมาเองนะ แต่เกิดจากลูกค้า นักท่องเที่ยวที่ผลัดกันแวะเวียนมาสวนเป็นคนการันตี เพราะสวนเรามีทุเรียนพื้นบ้านหาทานได้ยากหลายสายพันธุ์ หรือบางสายพันธุ์ถึงขั้นกับต้องสั่งจองล่วงหน้า บวกกับรสชาติที่อร่อย หลายคนมาบอกชอบมาก พันธุ์นั้นก็อร่อย พันธุ์นี้ก็อร่อย อร่อยไปทุกสายพันธุ์ ทำให้ทุเรียนที่สวนดานีญา กลายเป็นของหายาก” คุณดานีญา กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-970-3865 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวน ทุเรียนดานีญา