ทุเรียนป่าละอู อร่อยจริง รับประกันคุณภาพ

ฤดูทุเรียนป่าละอู 1 ปีมีครั้งเดียว คนรักทุเรียนจะได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของ “ทุเรียนป่าละอู” ได้อย่างจุใจ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ของทุกปี “ทุเรียนป่าละอู” ที่คอทุเรียนยกให้เป็น The Best อร่อยจริงอร่อยจัง เพราะทุเรียนสุกธรรมชาติ ไม่ใช่ทุเรียนไม่ป้ายยา ทุเรียนป่าละอู สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่ชาวอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มานานกว่า 30 ปี ทุกวันนี้ พื้นที่ป่าละอู กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรมีชื่อเสียง มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทุกปี สร้างรายได้เข้าท้องถิ่นเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

ต้นทุเรียนหมอนทอง ตำบลทับใต้ ( ภาพสำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน สำนักงานเกษตรประจวบคีรีขันธ์ )

โซนทุเรียนภูเขา

ทุเรียนป่าละอู จัดอยู่ในกลุ่มทุเรียนพื้นที่ภูเขา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า พื้นที่การผลิตทุเรียนในโซน 4 จังหวัดประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี ถูกเรียกว่า “ทุเรียนตะนาวศรี” เนื่องจากลักษณะของสภาพภูมิศาสตร์มีเทือกเขาตะนาวศรีพาดผ่าน ทำให้ได้รับความอุดมสมบูรณ์จากดินตะกอนภูเขาหลังจากฤดูน้ำหลากของทุกปี ด้วยระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล และความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนมีลักษณะเฉพาะ เนื้อหนา แห้งเนียน เมล็ดลีบ รสชาติหวาน มัน

ปัจจุบันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดใน 4 จังหวัดโดยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 16,550 ไร่ ครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอ ผลผลิตรวมมากกว่า 12,159 ตัน เกษตรกรผู้ปลูก 1,367 ครัวเรือน เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ทางการค้า เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการ และบางส่วนปลูกพันธุ์อื่นๆ กระจายกันไป เช่น พันธุ์ชะนี ก้านยาว พวงมณี โดยมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม

ทุเรียนก้านยาวป่าละอู

ที่มาของทุเรียนป่าละอู

“ทุเรียนป่าละอู” ถูกนำมาปลูกในพื้นที่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ (ป่าละอู) เมื่อปี พ.ศ. 2527 โดย นายพยุง พรายใย เป็นคนแรกที่นำพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว จังหวัดนนทบุรี และพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง จังหวัดระยอง มาทดลองปลูกจำนวน 100 ต้น ปรากฏว่า ต้นทุเรียนที่นำมาปลูกให้ผลผลิตคุณภาพดี เนื่องจากพื้นที่ป่าละอูมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น มีฝนตกชุก ในฤดูฝนมีน้ำไหลบ่า พัดพาแร่ธาตุอาหารมาเติมให้กับพื้นที่การเกษตร จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกผลไม้ทุกชนิดโดยเฉพาะทุเรียนป่าละอูมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น ถูกใจผู้บริโภค ขายดีเป็นที่ต้องการของตลาด สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในพื้นป่าละอูหันมาปลูกทุเรียนกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา

ทุเรียนป่าละอู เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน รสชาติหวานมัน

ทุเรียนป่าละอูมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เนื้อทุเรียนหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียนละเอียด มีความมันมากกว่าความหวาน กลิ่นอ่อน เมล็ดลีบ ทุเรียนป่าละอู (พันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี) ที่ปลูกในพื้นที่ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554

สวนทุเรียนตำบลทับใต้ ( ภาพสำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน สำนักงานเกษตรประจวบคีรีขันธ์ )

สร้างมาตรฐานสินค้า

สร้างความเชื่อมั่นตลาด

เนื่องจากทุเรียนป่าละอู เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่ต้องการของตลาด แถมขายได้ราคาสูง จึงเจอปัญหาการแอบอ้างนำทุเรียนพันธุ์อื่นหรือพื้นที่อื่น มาหลอกขายผู้บริโภคว่าเป็นทุเรียนป่าละอู เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนป่าละอูส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ต่างคน ต่างทำในแต่ละพื้นที่

หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงสนับสนุนให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในท้องถิ่น เมื่อปี 2562 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนรวมกันมากกว่า 500 ไร่ ทางกลุ่มส่งเสริมให้สมาชิกลดต้นทุนการผลิต โดยผสมปุ๋ยใช้เอง แนะนำให้สมาชิกใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ตามระยะเติบโตของทุเรียน ใช้สารชีวภัณฑ์ดูแลป้องกันโรคและแมลง

ใบอนุญาติใช้ตรา GI ของวิสาหกิจชุมชนเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนป่าละอู

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมสมาชิกดูแลจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การตัดแต่งต้น การปัดดอก การตัดแต่งผล ให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพตามความต้องการของตลาด ทางกลุ่มยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตของสมาชิกออกขายในรูปแบบงานแสดงสินค้า และตลาดออนไลน์

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้สมาชิกพัฒนาสวนทุเรียนให้ได้มาตรฐาน GAP ทุเรียนป่าละอูมีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น ทุเรียนต้องมีอัตราความสุก 85 เปอร์เซ็นต์ และต้องมีสติ๊กเกอร์กำกับเพื่อบอกแหล่งผลิต วันหมดอายุ เพื่อสะดวกต่อการควบคุมคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อป้องกันทุเรียนจากแหล่งอื่นมาแอบอ้าง เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าได้ทุเรียนป่าละอูจากแหล่งเกษตรกรจริงทั้งคุณภาพและสายพันธุ์ เป็นการสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าได้จะเกิดการซื้อซ้ำ ขณะเดียวกัน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบ “มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู” เป็นประจำทุกปี ณ ลานอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชมงานมหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก สำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน สำนักงานเกษตรประจวบคีรีขันธ์