เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพสวนทุเรียน ตั้งแต่เพาะขยายพันธุ์ การปลูกดูแล-เก็บเกี่ยวทุเรียน

ปัจจุบัน “ทุเรียน” ราชาผลไม้ไทย นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกรและเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่สร้างรายมหาศาลเข้าสู่ประเทศต่อปีกว่าแสนล้าน ขายทุเรียนได้ราคาสูงสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกทุเรียนอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ หน่วยงานภาครัฐตลอดจนสถาบันการศึกษาจึงร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการปลูกและการจัดการสวนทุเรียน รวมทั้งพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เข้ามาช่วยยกระดับการทำทุเรียนให้เป็นเรื่องง่าย

เครื่องมืออุปกรณ์รับทุเรียน

เครื่องมืออุปกรณ์รับทุเรียน

โดยทั่วไป การเก็บเกี่ยวผลทุเรียน แรงงานจะใช้มีดคมๆ ตัดก้านผลเพื่อให้ผลทุเรียนหลุดจากต้นก่อนโยนผลทุเรียนลงมา ให้คนที่ยืนอยู่ใต้ต้นทุเรียน นำกระสอบป่านมารับลูกทุเรียนที่ตกลงมาแล้วก็ตวัดให้ผลหล่นลงพื้นโดยผลทุเรียนไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ที่รับผลทุเรียนต้องมีความชำนาญมาก มิฉะนั้นอาจได้รับบาดเจ็บได้ระหว่างการทำงาน

นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพหลังสวน ประกอบด้วย นายนิลณากร แก้วภมร นายพชรธร รัตนราช และ นายภาณุ ช่วยชูหนู อาจารย์ที่ปรึกษา โทร. 086-690-5574 เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวผลทุเรียน จึงร่วมกันคิดค้นและออกแบบเครื่องมืออุปกรณ์รับทุเรียน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในการรับลูกทุเรียน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน

โปสเตอร์อุปกรณ์รับทุเรียนที่นำเสนอ วช.

เครื่องมืออุปกรณ์รับทุเรียน มีโครงสร้างทำจากเหล็ก มีขนาดกว้าง 60 เซนติเมตร ยาว 66 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร จุดเด่นของอุปกรณ์รับลูกทุเรียนคือ สามารถรับลูกทุเรียนได้อย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งรับลูกทุเรียนที่มีขนาดใหญ่ได้ และมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน นอกจากนี้ อุปกรณ์รับลูกทุเรียนยังช่วยผ่อนแรงในการทำงานของแรงงานคนได้อย่างดี

กลุ่มผู้วิจัยได้นำเครื่องมืออุปกรณ์รับทุเรียนไปให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในท้องถิ่นได้ทดลองใช้งาน พบว่า เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีความพึงพอใจมากกับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เพราะสามารถนำไปใช้ในใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทางคณะวิจัยได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์นี้ เข้าร่วมโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม “Thailand New Gen Inventors Award 2023” (I-New Gen Award 2023) ผู้สนใจสามารถชมการทำงานของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ได้ทางคลิปวิดีโอ : https://youtu.be/ncL8X0ld8-0

ควบคุมโดยการให้น้ำตามปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง

 

ปฏิวัติการให้น้ำทุเรียน

หยุดโรครากเน่าโคนเน่า

เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนไป และมีการแปรปรวน เข้าสู่ยุค climate change การทำสวนทุเรียนก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามเพราะมีโรคแมลงแพร่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คิดค้นนวัตกรรมการให้น้ำตามปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง (Basin Fertigation) และนวัตกรรมการสร้างระบบนิเวศการชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem : RRE) พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวสู่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนทั่วประเทศ

สวนเกษตรไฮเปอร์ ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมิง จังหวัดปราจีนบุรี มีแนวคิดเริ่มต้นจากทำทุเรียนคุณภาพ โดยมีทุเรียนจากนนทบุรีเป็นเป้าหมายคือ ต้นทุเรียนหมอนทองระดับพรีเมี่ยม ต้องมีเปลือกไม่หนา หรือบางเกินไป รสชาติหวานมันอร่อย ไม่มีเส้นใย ละลายในปาก เนื้อแห้ง หอมกลิ่นดอกไม้ หอมตั้งแต่เปลือก ไส้ และเนื้อทุเรียน ในช่วงที่ผ่านมาสวนทุเรียนแห่งนี้ประสบปัญหาใบโทรม ใบเล็ก ยอดทุเรียนแห้งเป็นก้านธูป บางแปลงมีโรครากเน่าโคนเน่า

เทคนิคการชักนำรากลอย ช่วยต้นทุเรียนทนทานต่อโรค

สวนเกษตรไฮเปอร์ได้รับความช่วยเหลือด้านวิชาการจาก รศ.ดร.วรภัทร สามารถฟื้นฟูต้นทุเรียนให้กลับมาสมบูรณ์แข็งแรง โดยอาศัยเทคนิคการจัดการสำคัญคือ 1. ให้ธาตุอาหารต้องครบ รวมทั้งการให้น้ำตามปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง Basin Fertigation โดยปรับเปลี่ยนระบบการให้น้ำในระบบ Basin Fertigation โดยแบ่งการให้น้ำออกเป็น 3 ช่วงในแต่ละวัน ช่วงเช้าก่อน 08.00 น. ให้น้ำเต็มความสามารถอุ้มน้ำของดิน พืชสามารถดึงน้ำและธาตุหลักและธาตุรองเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสงได้ โดยไม่เกิดแสดงการขาดธาตุที่จำเป็น

ช่วงที่สอง เวลา 11.00-12.00 น. เป็นเวลาที่ทุเรียนและไม้ผลทั่วไปที่ปลูกในแปลงแบบไม่ยกร่องสวน มักหยุดการสังเคราะห์แสงและเป็นช่วงที่น้ำในระบบน้ำใต้ดินและระบบน้ำในแถบลุ่มน้ำมีน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดในช่วงวัน จึงมีการให้น้ำช่วงนี้ตามน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ เป็นช่วงที่ทำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัวออกมา ช่วงที่สาม เวลา 13.00 และ 14.00 น. ช่วงนี้ในพื้นที่ปลูกทุเรียนแบบไม่ยกร่อง ต้นทุเรียนจะปิดปากใบเช่นกัน ต่อไปจนแสงสุดท้ายประมาณ 16.00 น. ซึ่งการให้น้ำในระบบนี้ สามารถเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ (ค่า VPD ลดลง) อุณหภูมิในทรงพุ่มเย็นสบาย อุณหภูมิปากใบลดลง ตามการสังเคราะห์แสงที่นานมากขึ้น

ทุเรียนก้านยาว มีเนื้อครีม เนียน ละเอียด กลิ่นหอมดอกไม้สุดๆ

สวนแห่งนี้ยังใช้เทคนิคการชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem : RRE) ด้วยการผสมผสานการใช้อินทรียวัตถุ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และการเติมอากาศเข้าสู่ระบบรากทุเรียน ทำให้รากตะขาบหรือรากขนอ่อนของทุเรียนมีจุลินทรีย์ในระบบรากเพื่อเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารของทุเรียนเพิ่มขึ้น ทุเรียนเนื้อแห้ง เนื้อไม่เป็นไต สีเนื้อภายในสม่ำเสมอ ที่สำคัญทนทานต่อโรค

ปัจจุบันต้นทุเรียนในสวนแห่งนี้ ฟื้นตัวกลับมาแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคและแมลงได้ด้วยตัวเอง ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำ กิ่งแต่ละกิ่งสามารถแตกยอดได้ 3 ครั้งใน 1 ปี เมื่อถึงเวลาออกดอกไม่ต้องกักน้ำและราดสารควบคุมการเจริญเติบโต ดอกสามารถออกมาเองเมื่อกระทบหนาวตามธรรมชาติและความสมบูรณ์ของต้น จากระบบนิเวศของรากที่พึ่งพากับจุลินทรีย์ช่วยตรึงธาตุอาหาร เป็นผลให้สามารถลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเกษตรจากเดิม

ต้นทุเรียนสามารถสังเคราะห์แสงได้นาน 6-8 ชั่วโมง โดยต้นทุเรียนหมอนทองที่อายุ 90 วันหลังผสมเกสรแล้ว (หางแย้) มีน้ำหนักแห้งของเนื้อ (DM) ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 34.98 และเมื่ออายุ 115 วัน มีค่า DM เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 39.94 เนื้อทุเรียนหมอนทองและพันธุ์อื่นๆ เนื้อแห้ง ไม่เป็นไส้ซึม เต่าเผา เนื้อที่เหนียวเนียนละเอียดเป็นครีมคล้ายชีสเค้ก เนื้อมีกลิ่นหอมดอกไม้เฉพาะตัว เส้นใยละลายน้ำได้ทั้งหมด ไม่มีเส้นใยติดฟันเวลาบริโภค ทุกวันนี้ สวนแห่งนี้ใช้ต้นทุนแค่ 90 บาท สามารถทำทุเรียนคุณภาพสูง ทุเรียน premium start 5 ดาว สินค้าขายดี จนผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด  หากใครสนใจนวัตกรรมนี้ ต้องการสอบถามเพิ่มเติมติดต่อไปได้ที่ รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ และ นายปิยะพงษ์ สอนแก้ว เบอร์โทร. 081-822-2801 ในวันและเวลาราชการ

ต้นทุเรียนหลงลับแลที่ผ่านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ขยายพันธุ์ทุเรียน

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์ทุเรียนในสภาพปลอดเชื้อด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล และพื้นเมืองคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนล่าง

ข้อดีของการขยายพันธุ์ทุเรียนด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ช่วยให้เกษตรกรได้ทุเรียนที่มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ 100% ที่ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้นแม่พันธุ์ สามารถสร้างผลิตผลของทุเรียนได้ตรงตามสายพันธุ์และได้คุณภาพด้านรสชาติที่ตรงตามความต้องการผู้บริโภค ส่งเสริมภาคธุรกิจทุเรียนของที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ ให้เติบโตได้มากกว่าเดิม หากใครมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณสมบัติดีและต้องการใช้บริการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ทุเรียน สามารถติดต่อไปได้ที่ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท โทรศัพท์ 063-639-2697 อีเมล : [email protected]

รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท โชว์นวัตกรรมเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ