มูซังคิง ราชาแห่งทุเรียนมาเลย์ คนเบตง ปลูกส่งออก ราคาดี ผลิตไม่พอต่อความต้องการของตลาด

ทุเรียน ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ ส่วน มังคุด ก็ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งผลไม้ ทั้งทุเรียนและมังคุดจัดว่าเป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ

การพัฒนาสายพันธุ์ไม้ผล โดยนักวิชาการของไทย ยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ และมีสายพันธุ์ใหม่ออกสู่ตลาดเป็นระยะ แต่ถึงกระนั้นสายพันธุ์พื้นบ้านของผลไม้หลายชนิด ก็อาจกลับมาครองพื้นที่ตลาด ด้วยเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตัวมันเอง

ต้องยอมรับว่า ผู้เขียนไม่ได้คุ้นกับไม้ผลสักเท่าไร เพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือชำนาญการทั้งการปลูก การหาข้อมูล และการบริโภค แต่การเดินทางครั้งนี้ จำเป็นต้องเก็บข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับ “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ และเป็นสายพันธุ์ที่กำลังโด่งดังในมาเลเซียและจีน

เราเดินทางข้ามไปมาเลเซีย ผ่านไปทางด่านประกอบ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เข้าพื้นที่ของมาเลเซีย ทางด่านบ้านดูเรียนบูรง ปาดังเตอรับ รัฐเกดะห์ และใช้เส้นทางรถยนต์ต่อไปอีกราว 50 กิโลเมตร ไม่นานนักก็ถึงจุดหมายบ้านกาไหล อลอร์สตาร์ รัฐเกดะห์ อันเป็นที่ตั้งของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน (แท้จริง เป็นการปลูกทุเรียนแซมภายในสวนมากกว่า)

ที่นี่ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิง (Mu Sang King) แปลตามความหมายของชื่อคือ ราชาแมวป่า หรืออาจได้ยินเรียกทุเรียนพันธุ์นี้ว่า เหมาซานคิง ก็ไม่ผิด เพราะเป็นการออกเสียงของชาวจีนในมาเลเซีย

คุณชาติ รถกระบะ ชายมาเลย์เชื้อสายไทย เจ้าของบ้านให้การต้อนรับ เราพูดคุยกันด้วยภาษาไทยที่ออกเสียงแปร่งๆ แต่ก็เข้าใจกันดี เขามีเชื้อสายไทยมาจากบรรพบุรุษฝ่ายมารดา ที่มีถิ่นกำเนิดในจังหวัดพัทลุง คุณชาติไม่ได้บอกพื้นที่การเกษตรที่ทำกินทั้งหมด บอกเฉพาะพื้นที่ปลูกทุเรียนมูซังคิง รวมราว 4 ไร่ เป็นทุเรียนที่ปลูกมานาน 23 ปี 2 ไร่ และอีก 2 ไร่ ปลูกเพิ่มแต่ยังไม่ให้ผลผลิต

คุณชาติ รถกระบะ เจ้าของสวนทุเรียนมูซังคิงในรัฐเกดะห์ มาเลเซีย

คุณชาติ เล่าว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ทุเรียนมูซังคิง ไม่ใช่ชื่อนี้ แต่มีชื่อเรียกตามพื้นบ้าน เพราะเป็นทุเรียนพื้นบ้าน เรียกว่าพันธุ์คุนยิต แต่ภายหลังเมื่อมีการประกวดทุเรียนภายในประเทศ พันธุ์คุนยิตก็ได้รับเลือกเป็นทุเรียนพื้นบ้านที่มีรสชาติดีที่สุด และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในประเทศจีน จึงได้รับขนานนามว่าราชาแห่งทุเรียนมาเลเซีย หรือ มูซังคิง และอาจมีเสียงเรียกเพี้ยนไปเป็น เหมาซังคิง หรืออีกชื่อที่เรียกกันเป็นที่เข้าใจของคนมาเลเซีย คือ ราจาคุนยิต (Raja Kunyit) แต่เมื่อเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน ก็ออกเสียงตามสำเนียงจีนว่า เหมาซานหว่อง หรือ เหมาซานหวัง

“เมื่อ 23 ปีก่อน ผมซื้อกิ่งพันธุ์จากรัฐกลันตันมาปลูก เพราะอยากปลูกทุเรียนในสวนบ้าง ไม่ได้คิดว่าจะเป็นพันธุ์ที่ขายได้ราคา ราคากิ่งพันธุ์ขณะนั้น 5 ริงกิต (ประมาณ 40 บาท) ปัจจุบัน ราคากิ่งพันธุ์ขึ้นไปสูงถึง 30 ริงกิต (ประมาณ 240 บาท) กระทั่งทุเรียนมูซังคิงได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีคนสนใจเข้ามาซื้อในมาเลเซียจำนวนมาก รวมทั้งส่งไปขายยังประเทศจีน จึงทำให้ทุเรียนกลายเป็นรายได้หลักของสวน”

ปลูกพื้นที่เขา ได้เปรียบ

เริ่มต้นปลูกเพียง 60 ต้น ระยะปลูก ประมาณ 90×90 เซนติเมตร

รดน้ำในฤดูแล้ง หรือฝนขาดช่วงนานกว่า 1 เดือน จึงจะรดน้ำ

ใส่ปุ๋ยหลังหมดผลผลิตแล้ว 1 ครั้ง จากนั้นใส่ปุ๋ยทุกๆ 3 เดือน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ใส่ต้นละ 4-5 กิโลกรัม

แต่ละต้นให้ผลผลิตเฉลี่ย 150-200 ผล น้ำหนักผลเฉลี่ย 2-2.5 กิโลกรัม

ให้โยงกิ่งทุเรียนไว้ทุกกิ่ง

หลังเก็บผลผลิตจากใต้ต้นมา ควรกินภายใน 2 วัน หลังจากนั้นทุเรียนจะแตก เมื่อลมเข้าเนื้อทุเรียนจะเปลี่ยนรสชาติ

ให้ผลผลิตราวเดือนมิถุนายน และผลผลิตหมดประมาณต้นเดือนสิงหาคม

การปลูกด้วยวิธีของคุณชาติ คือการปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการตัดแต่ง ทำให้ต้นทุเรียนสูงชะลูดขึ้น อายุต้นทุเรียนในสวนราว 23 ปี ความสูงไม่ต่ำกว่า 15 เมตร ทุกต้น และการปล่อยให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโตตามธรรมชาติเช่นนี้ ทำให้ปีแรกที่ได้ผลผลิตอยู่ที่ปีที่ 7 ของการปลูก ซึ่งคุณชาติบอกว่า หน่วยงานด้านเกษตรของมาเลเซีย ให้การดูแลต้นทุเรียนอย่างดี ทำให้ได้ผลผลิตปีแรกในปีที่ 5 ของการปลูก

ต้นทุเรียนมูซังคิง อายุ 15 ปี ความสูงไม่ต่ำกว่า 15 เมตร

การเก็บผลผลิตทุเรียนของชาวมาเลเซีย จะปล่อยให้ผลทุเรียนสุกจัดจนหล่นจากต้นเอง จึงเก็บมาจำหน่าย โดยมีความเชื่อว่า การตัดผลทุเรียนก่อนหล่นจากต้น จะทำให้ทุเรียนไม่หล่นเอง ต้องใช้วิธีตัดไปตลอดอายุต้น ซึ่งต้นทุเรียนมีความสูงและยากต่อการตัดผล ซึ่งผลทุเรียนที่สุกจัดจนหล่นจากต้น ก็เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ที่กลุ่มผู้บริโภคจีนและมาเลเซียเองนิยม คือ สุกจัด หวานและมัน

“ถ้าเอามากินก่อนผลหล่น เนื้อทุเรียนจะแข็งๆ คนมาเลเซียเองและคนจีนแผ่นดินใหญ่ จะบอกว่า ไม่สุก นิยมกินกับข้าวเหนียวหรือกินเปล่า หรือแกะเอาแต่เนื้อข้างใน แช่ตู้เย็นไว้ ก็จะเก็บไว้กินได้นานถึง 6 เดือน”

สีเนื้อทุเรียนเหลืองสวย

คุณชาติ บอกว่า รัฐบาลมาเลเซียประกันราคาทุเรียนมูซังคิง ที่ราคากิโลกรัมละ 80 ริงกิต หรือประมาณ 600 บาท ซึ่งคุณชาติเองก็ขายให้กับพ่อค้าที่มารับที่สวน ราคา 80 ริงกิต เช่นกัน ส่วนตลาดทั่วไปในมาเลเซีย วางขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 ริงกิต หรือประมาณ 800 บาท

ซึ่งในทุกปี รายได้จากครอบครัวรถกระบะมาจากทุเรียนเป็นหลัก แม้จะมีระยะเวลาขายไม่ถึง 2 เดือน แต่ผลทุเรียนก็ไม่เคยเหลือ เรียกได้ว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดด้วยซ้ำ

สำหรับประเทศไทย มีข่าวออกมาว่า ทุเรียนพันธุ์มูซังคิง มีปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี มีผลผลิตออกมาจำหน่ายให้เห็นแล้ว ผลผลิตที่ได้ออกมาในช่วงใกล้เคียงกับผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก ราวเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน

ทุเรียนมูซังคิงเพิ่งแตกทรงพุ่ม อายุ 3 ปี

และยังปลูกในภาคใต้ของประเทศไทย ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดคือ พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับมาเลเซียมาก

โกผอม หรือ คุณมั่นกู่ แซ่เซ่น เป็นเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ หมู่ที่ 2 ตำบลตาเลาะเมเลาะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ทั้งยังเป็นล้งรับซื้อเพื่อคัดแยกทุเรียนและส่งออกไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน

โกผอม ในวัย 70 ปี ยังดูแข็งแรง และยังคงดูแลสวนและคุมการคัดแยกทุเรียนเพื่อส่งไปขายด้วยตนเอง โกผอม เล่าว่า เขาชอบกินทุเรียน จึงคิดปลูกทุเรียนไว้ และปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ โดยก่อนหน้านี้ปลูกพันธุ์หมอนทอง และพวงมณี กระทั่งเมื่อ 15 ปีก่อน เดินทางไปมาเลเซียเห็นทุเรียนมูซังคิงขายได้ราคาสูง หลังจากนั้นเดินทางเข้าออกเป็นระยะ ก็พบว่า ราคาทุเรียนมูซังคิงในมาเลเซียไม่เคยตก และทราบว่าผลผลิตในมาเลเซียไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวจีนในมาเลเซีย และนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงคิดปลูกทุเรียนมูซังคิง เพื่อส่งขายไปยังมาเลเซีย

คุณมั่นกู่ แซ่เซ่น หรือ โกผอม ในวัย 70 ปี

“ผมซื้อพันธุ์จากมาเลเซีย เอามาเสียบยอดกับต้นทุเรียนในสวนที่มีอยู่ ผมไม่มีความรู้ด้านเกษตร เสียบยอด 7-8 ครั้ง กว่าจะได้ ตอนนี้ในสวนเป็นทุเรียนมูซังคิงเกือบทั้งหมด”

โกผอม บอกว่า เพราะสภาพภูมิประเทศและสภาพอากาศคล้ายคลึงกับมาเลเซีย ถิ่นกำเนิดทุเรียนมูซังคิง ทำให้ไม่ต้องดูแลทุเรียนมาก ใส่ปุ๋ย 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น 3-4 เดือน ต่อครั้ง ติดตั้งสปริงเกลอร์สำหรับรดน้ำทั้งสวน หากฝนไม่ตกติดต่อกันนานเกิน 10 วัน จึงรดน้ำ โรคและแมลงรบกวนก็เหมือนทุเรียนทั่วไป หากพบก็ใช้สารกำจัด หลังติดดอกประมาณ 90 วัน ผลผลิตก็สามารถตัดมาจำหน่ายได้

“มูซังคิง ในสวนผม ออกไม่ค่อยจะแน่นอน อยู่ที่สภาพอากาศ เร็วที่สุดในบางปีที่ผลผลิตเริ่มเก็บได้ คือ เดือนพฤษภาคม แต่ระยะทั่วไปคือเดือนมิถุนายนถึงราวปลายเดือนสิงหาคม”

พื้นที่ในสวนทุเรียของโกผอม มีสภาพเป็นเนินสูงและเขาชัน โกผอม บอกว่า พื้นที่เช่นนี้มีความเหมาะสมกับการปลูกทุเรียนมากที่สุด ทำให้ได้ผลผลิตสูง ซึ่งโดยปกติขนาดผลทุเรียนมูซังคิง น้ำหนักอยู่ที่ระหว่าง 2-2.5 กิโลกรัม ต่อผล แต่ปลูกที่เบตง น้ำหนักต่อผลได้มากกว่า และเคยได้น้ำหนักสูงสุด 4 กิโลกรัม ต่อผล อย่างไรก็ตาม ขนาดที่ผู้บริโภคชาวมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ ชอบ เป็นขนาดผลน้ำหนักเฉลี่ย 2-3 กิโลกรัม

“คนมาเลเซียเห็นผมปลูก ก็มาติดต่อขอซื้อไปขายในมาเลเซีย ส่วนสิงคโปร์ปกติผมรับซื้อทุเรียนพันธุ์อื่นๆ ส่งขายไปสิงคโปร์อยู่แล้ว การส่งพันธุ์มูซังคิงไปขายสิงคโปร์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ส่วนจีน ผมไม่ได้ส่งไปเองโดยตรง แต่มีคนจีนที่มีล้งอยู่ในภาคตะวันออกของประเทศไทย ให้ผมส่งมูซังคิงไปให้ แล้วล้งนั้นก็ส่งไปขายที่จีนอีกทอดหนึ่ง ถ้าถามว่า ผมส่งออกไปขายมากแค่ไหน ที่ผ่านมาผมเคยส่งมูซังคิงไปขายที่มาเลเซีย 3 วัน 100 ตัน เฉลี่ยได้ผลผลิตต่อไร่ 20 ตัน ปีที่ผ่านมา ผมมีรายได้ล้านกว่าบาท”

การส่งออกไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน โกผอม ต้องตัดทุเรียนมูซังคิงความสุก 80-90% เพื่อให้สุกพอดีกับผู้บริโภคต้องการ ไม่เหมือนกับมาเลเซียที่รอให้สุกหล่นจากต้น แล้วเก็บไปจำหน่าย ทำให้มีต้นทุนในส่วนของแรงงานตัดเพิ่มอีก กิโลกรัมละ 3-4 บาท

โกผอม เล่าว่า จากการสังเกตการบริโภคของลูกค้า หากเป็นลูกค้าชาวไทย ที่มาซื้อมูซังคิงกินจากสวนที่ตัดความสุก 80-90% คนไทยจะบอกว่าอร่อย แต่ถ้าเป็นลูกค้ามาเลเซียหรือจีนจะไม่นิยม กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ชอบสุกๆ เนื้อเปียกๆ เพราะจะหวานและมันเต็มที่

สำหรับ หมอนทอง ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์การค้าของไทยที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ โกผอม บอกว่า แม้จะได้รับความนิยมในประเทศอื่น แต่ในมาเลเซียหากไม่ใช่ฤดูที่ทุเรียนมูซังคิงให้ผลผลิตแล้ว ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะขายได้ แต่ถ้ามีทุเรียนพันธุ์มูซังคิง พันธุ์หมอนทองจะขายในมาเลเซียไม่ได้เลย

จากการบอกเล่าของโกผอม ผู้คร่ำหวอดในวงการทำสวนทุเรียนพื้นที่อำเภอเบตง ได้ความว่า อำเภอเบตง เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรคนไทย เริ่มนำกิ่งพันธุ์ทุเรียนพันธุ์มูซังคิงเข้ามาปลูกอย่างแพร่หลาย แต่มีเกษตรกรที่ปลูกพื้นที่มากเพียง 2-3 ราย เท่านั้น โดยรวมพื้นที่ปลูกทุเรียนมูซังคิงในอำเภอเบตงราว 1,600 ไร่

ราคาหน้าสวนในปีนี้ โกผอม ขายในราคา กิโลกรัมละ 450 บาท

ส่วนราคาจำหน่ายในจีน แต่ละปีจะขึ้นลงตามราคาหน้าสวนของไทยและมาเลเซีย โดยเฉลี่ยราคา กิโลกรัมละ 2,000 บาท

ทุกปีสวนของโกผอมก็มีรายได้จากทุเรียนมูซังคิงเป็นหลัก และปีนี้ทุเรียนมูซังคิงในสวนโกผอมก็ถูกจับจองเป็นเจ้าของล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว

และแม้ว่าทุเรียนมูซังคิงสวนโกผอมจะถูกจับจองไว้แล้วก็ตาม แต่ในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2560 พืชกินได้ ไม้ขายดี” ซึ่งนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 7-10 กันยายน 2560 ที่ห้องสกายฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ก็จะมีทุเรียนพันธุ์มูซังคิง ที่เรียกได้ว่าเป็นทุเรียนที่ฮอตที่สุดในเวลานี้ มาจัดแสดงให้ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด

 

คุณสัญชัย ปุรณะชัยคีรี อดีตนายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย เป็นอีกท่านที่ร่วมเดินทางไปพิสูจน์ทุเรียนมูซังคิงถึงถิ่นมาเลเซีย ทั้งยังสำรวจสวนทุเรียนมูซังคิงในอำเภอเบตง เพราะกระแสข่าวที่ออกไปยังโลกออนไลน์ว่า ทุเรียนมูซังคิง เป็นทุเรียนที่ราคาแพงและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ด้วยเหตุผลนี้จึงสัมภาษณ์คุณสัญชัย ในประเด็นการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิงในประเทศ เพื่อสนับสนุนการส่งออกไปยังต่างประเทศ

คุณสัญชัย ระบุว่า การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนพันธุ์มูซังคิงในประเทศไทย เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้จากการส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องดี เพราะต่างประเทศให้การยอมรับและรู้จักทุเรียนพันธุ์มูซังคิงมากกว่าในประเทศไทย ซึ่งการยอมรับทุเรียนพันธุ์มูซังคิงในต่างประเทศอยู่ในระดับพรีเมี่ยม และตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในการบริโภคทุเรียน คือ ตลาดจีน ซึ่งปกติประเทศไทยส่งออกทุเรียนวันละประมาณ 6,000 ตัน เป็นทุเรียนที่นำเข้าจากประเทศไทยสูงถึง 80% ดังนั้น หากมีการส่งเสริมการปลูกเพื่อการส่งออก น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

“มีข่าวว่า มูซานคิง เป็นทุเรียนที่มีหลายสายพันธุ์ แท้จริงแล้วมีเพียงสายพันธุ์เดียว เรียกว่า มูซังคิง มาจากมาเลเซียเท่านั้น แต่การปลูกในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เช่น ภาคใต้ ภาคตะวันออก อาจส่งผลให้รสชาติที่ได้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะทุเรียนจะปรับตัวตามสภาพการปลูก”