ลุงเกรียง-ป้าทิพย์ ชาวเก้าเลี้ยว นครสวรรค์ ปลูกผักอายุสั้น ขายตลาดเมืองกรุง

สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งมาเป็นเวลายาวนานส่งผลกระทบต่อพืชผักของเกษตรทั่วประเทศอย่างหนัก แม้จะอยู่ในสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ฝนตกน้อย ชาวบ้านเกษตรกรจำต้องรับมือแล้วปรับวิธีทำเกษตรกรรมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น 

อย่างที่นครสวรรค์ คุณทรงเดช หรือ ลุงเกรียง และ คุณพรทิพย์ เหล่าจั่น หรือ ป้าทิพย์ บ้านเลขที่ 4 หมู่ที่ 4 ตำบลเก้าเลี้ยว อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ สามี-ภรรยาเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย สามารถเก็บเกี่ยวขายได้เร็ว ปรับแนวทางการให้น้ำแบบประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เอาใจใส่เข้มงวดกับการใส่ปุ๋ยยาฮอร์โมนทำให้พืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้มีความสมบูรณ์ส่งขายตลาดได้ราคาดีมาก

ป้าทิพย์เก็บมะเขือทุกวันมีรายได้ตลอด

ผักสวนครัวที่ปลูกเป็นหลัก ได้แก่ แตงร้านกับมะเขือเปราะ ปลูกตลอดทั้งปี มีพื้นที่ปลูกแตงร้านจำนวน 2 ไร่ มะเขือเปราะ 1 ไร่ โดยผักสวนครัวทั้งสองชนิดจะปลูกสลับพื้นที่ ทั้งยังมีพื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวอยู่หลายแปลง จึงสลับปลูกไป-มาได้ตลอดทั้งปี แล้วยังเสริมด้วยถั่วฝักยาว พริก และพืชสวนครัวอื่น นอกจากนั้น ยังปลูกมะลิตัดดอกขายเป็นรายได้อีกด้วย

เหตุผลที่ป้าทิพย์เลือกแตงร้านเพราะปลูกไม่ยุ่งยาก ใช้พลาสติกคลุมดินก็ไม่มีวัชพืช การให้น้ำเป็นระบบน้ำหยด ใส่ปุ๋ยยาทางสายน้ำ หมั่นเอาใจใส่เรื่องปุ๋ยยาให้ครบและสม่ำเสมอ ทำกันสองคนสบาย จ้างแรงงานเฉพาะช่วงเก็บผลผลิตส่งขาย

มะเขือจากสวนนำมาล้างทำความสะอาดแล้วเลือกผลที่ไม่สมบูรณ์ออก
มะเขือใส่ถุงๆละ 10 กิโลกรัม

ป้าทิพย์ บอกว่า การปลูกผักสวนครัวอายุสั้นไม่เพียงจะต้องพัฒนาปรับปรุงคุณภาพปลูกให้มีความสมบูรณ์เท่านั้น แต่ต้องคิดวางแผนปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ เพื่อทำให้มีราคาขายดี อย่างปลูกแตงร้านควรวางแผนปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เพราะตลาดต้องการมาก ราคาดีด้วย

เมล็ดพันธุ์แตงร้านป้าทิพย์ซื้อจากร้านที่ตลาดริมปิง เป็นร้านประจำซื้อกันมานับสิบปีเชื่อถือได้ ตอนเริ่มปลูกจะไถพรวนปรับปรุงดินก่อน แล้วยกร่อง จากนั้นโรยปุ๋ยสูตรเสมอทั่วแปลง จำนวน 2 ไร่ต่อกระสอบ ก่อนจะวางระบบน้ำหยด แล้วจึงคลุมพลาสติกปลูก กำหนดระยะหลุมปลูกห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร

ไถพรวนพักหน้าดินเพื่อเตรียมปลูกผักรอบต่อไป
ป้าทิพย์ตรวจความเรียบร้อยของต้นแตงที่เพิ่งปลูก

ขณะเดียวกัน ให้นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำยาเร่งรากไว้ล่วงหน้าประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วนำมาห่อผ้าก่อนที่จะหยอดเมล็ดพันธุ์ลงหลุมละ 2 เมล็ด กลบด้วยแกลบดำอย่างเดียว เพราะแกลบดำจะช่วยเรื่องปรับค่าความเป็นกรด-ด่างในดินให้มีความเหมาะสม

เมื่อปลูกเสร็จแล้วปล่อยน้ำรดทันที หลังจากแตกใบจริง 1 ใบแล้วให้ฉีดยาป้องกันเชื้อรา หลังจากมีใบจริง 2 ใบ และดูสภาพต้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงดีจึงใส่ยูเรียตาม โดยปุ๋ยทุกชนิดจะให้ผ่านสายน้ำหยด ส่วนทางใบใช้วิธีพ่นยาป้องกันเชื้อราจะเริ่มฉีดพ่นตั้งแต่ใบจริงที่ 2 เช่นกัน ฉีดทุก 7 วัน พร้อมไปกับการปักไม้ค้ำต้นเป็นสามเหลี่ยม

ใช้พลาสติกคลุมดินช่วยลดการเกิดวัชพืช
ช่วงการเจริญเติบโตประมาณ 20 วัน มีใบใหญ่ สมบูรณ์มาก

แตงร้านเริ่มมีดอกในช่วง 30 วัน หลังจากนั้นผลมีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจน 15 วัน สามารถเก็บรุ่นแรกได้ แล้วทยอยให้ผลผลิตเรื่อยไปจนเกือบ 30 วัน

ป้าทิพย์ ชี้ว่า การใส่ปุ๋ย ยา และฮอร์โมนต้องทำอย่างสม่ำเสมอห้ามขาด ที่สำคัญต้องใส่ในช่วงเวลาและอัตราที่เหมาะสมเท่านั้น จึงทำให้ผลผลิตแตงร้านมีคุณตามต้องการ มีความสมบูรณ์เท่ากันทุกผล เมื่อต้นแตงร้านมีความสมบูรณ์จะให้ผลดกมาก ไม่มีผลฝ่อ หากทำได้เช่นนี้จะลดการสูญเสียแล้วมีกำไรจากราคาขายได้อย่างมากเพราะมีประสบการณ์ปลูกแตงร้านมากว่า 10 ปี

ดูแลใส่ปุ๋ยยาอย่างดีจะให้ผลดกตั้งแต่โคนต้น
ถั่วฝักยาวปลูกข้างแปลงมะเขือ เก็บขายได้ทุกวันเหมือนกัน

“จะให้ผลตั้งแต่โคนต้นเรื่อยขึ้นไปตลอดทุกข้อ ทุกแขนง แต่ต้องมีเทคนิคและจับช่วงจังหวะการใส่ปุ๋ยยาและฮอร์โมนให้ตรงกับช่วงที่ต้นต้องการ จึงทำให้ได้ผลแตงร้านที่มีคุณภาพ”

ป้าทิพย์ บอกว่า แตงร้านที่ปลูกแต่ละรอบสามารถให้ผลผลิตได้ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากดินยังมีธาตุอาหาร และคุณภาพดีอยู่ จากนั้นจึงต้องรื้อแปลงทิ้งทั้งหมด แล้วจัดการไถพรวนกลับหน้าดิน ตากพักดินไว้ชั่วคราวแล้วจึงนำพืชสวนครัวชนิดอื่นปลูกต่อไป ขณะที่แปลงอื่นได้เตรียมปลูกแตงร้านรอไว้แล้ว

เพลี้ยแมลงหวี่ขาวดูดกินใบ
เก็บจากแปลงแล้วนำมาแช่น้ำก่อน

โรคที่เจอกับแตงร้านคือเชื้อราที่ใบ ทำให้ใบไหม้เป็นจุด หากใบเสียหายสร้างผลกระทบต่อการออกดอกผลทันที แตงร้านที่ติดเชื้อราที่ใบสังเกตได้ง่ายจากผลจะเป็นตุ่ม ผิวไม่เรียบ ราคาตกทันที ดังนั้น ต้องป้องกันด้วยการฉีดพ่นยาเป็นระยะ ป้าทิพย์ เผยว่า จากที่ผ่านมาไม่ค่อยเจอปัญหานี้บ่อยเพราะพ่นยาป้องกันไว้อย่างสม่ำเสมอ

ปริมาณผลผลิตแตงร้านที่เก็บแต่ละครั้งในพื้นที่ 2 ไร่ ได้ประมาณ 1.5 ตัน เป็นแตงร้านที่มีคุณภาพดีทั้งสิ้น ลักษณะผลแตงร้านที่สมบูรณ์ควรเป็นแท่งยาวตรง ไม่เป็นข้อ ผิวเรียบ ที่ขั้วไม่เป็นจุกนม มาตรฐานผลแตงร้านปกติจะได้จำนวน 4-5 ผลต่อกิโล แล้วคัดใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ส่วนแตงที่ไม่สวย มีตำหนิผิวหรือขนาดไม่ได้เรียกว่าแตงลูกข้อแยกไว้ขายอีกราคา โดยแตงร้านทั้งสองแบบเมื่อคัดบรรจุถุงแล้วจะขนส่งไปขายที่ตลาดริมปิง เพื่อนำไปส่งขายยังตลาดค้าส่งในกรุงเทพฯ ต่อไป

คัดความสมบูรณ์ของแตงแล้วบรรจุใส่ถุง

สำหรับมะเขือเปราะป้าทิพย์ซื้อเป็นต้นพันธุ์มาปลูก การปลูกมะเขือเปราะก็ไม่ยุ่งยากเช่นกัน เริ่มจากปรับพื้นที่ไถพรวนแล้วยกร่อง ให้ใส่น้ำเต็มร่องแล้วปลูกต้นพันธุ์มะเขือลงในแปลง ใช้วิธีปลูกแบบเดียวกับการดำนา มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1 ศอก

หลังจากปลูกได้ 7 วันจึงเริ่มใส่ปุ๋ยสูตร แล้วเว้นไปอีก 10 วันจึงใส่ยูเรียตาม เพื่อสร้างความเจริญเติบโตและความแข็งแรง มะเขือเปราะใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน จึงสามารถทยอยเก็บผลผลิตได้

ป้าทิพย์ ชี้ว่า มะเขือเปราะปลูกและดูแลอย่างปลอดภัยจากสารเคมี บำรุงต้นด้วยปุ๋ยยาและฮอร์โมนตามอัตราส่วนที่กำหนด ทั้งยังกำจัดวัชพืชด้วยการใช้เครื่องตัด นอกจากนั้น วิธีปลูกมะเขือเปราะปูด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันวัชพืช แล้วให้ปุ๋ยยาทางสายน้ำหยด การปฏิบัติเพียงเท่านี้สามารถให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ได้ตลอดต่อเนื่อง อย่างที่สวนป้าทิพย์ปลูกมะเขือเปราะไว้ปีกว่าแล้วยังให้ผลผลิตสมบูรณ์เก็บขายได้จนทุกวันนี้

แหล่งน้ำที่ใช้สำหรับปลูกผักสวนครัวและพืชอื่นๆ ของป้าทิพย์มาจากบ่อบาดาลเป็นหลัก มีน้ำใช้ตลอด หากเดือดร้อนมากถึงจะสูบน้ำมาจากแม่น้ำปิงที่อยู่ใกล้บ้านขึ้นมาช่วยบรรเทา ทั้งยังชี้ว่าการวางระบบน้ำหยดช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากแล้วยังสะดวกด้วย

บรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม เตรียมไปส่งที่ตลาดริมปิง

ป้าทิพย์ไม่เพียงปลูกแตงร้านกับมะเขือเปราะขายเท่านั้น ยังปลูกถั่วฝักยาวไว้ริมแปลงต้นมะเขือเปราะ ทำให้ต้นถั่วได้ธาตุอาหารและปุ๋ยจากแปลงมะเขือไปด้วย ปลูกถั่วไว้ไม่มาก มีขายทุกวัน มีรายได้จากถั่ววันละ 200-300 บาท อีกทั้งยังปลูกมะลิตัดดอกจำนวน 2 ไร่ ทำนาไว้กินเองและมีขายบ้างในบางคราว ตลอดจนปลูกพืชผักสวนครัวอีกหลายชนิดไว้ในพื้นที่หลายแห่ง ดังนั้น ไม่เพียงมีรายได้จากพืชผักที่ปลูกอย่างต่อเนื่องแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี ยังไม่ต้องเสียเงินซื้ออีก

ลุงเกรียงกับป้าทิพย์เป็นอีกหนึ่งชาวสวนที่เลือกทำเกษตรกรรมผสมผสานแบบลดต้นทุน โดยใช้น้ำน้อย ใช้แรงงานน้อย ทั้งยังลดความเสี่ยงกับสภาพทางธรรมชาติที่มีความผันแปร ช่วยให้ครอบครัวมีรายได้อย่างต่อเนื่อง