“สุพจน์ โคมณี” สานฝันโมเดล ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ถึงใจ เกษตรคนเมือง

“ถ้าที่ดินที่น้ำท่วมทุกปี และไม่มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง จะทำเกษตรได้ไหม” นี่คือคำถามของผู้เข้ามาเรียนรู้การทำเกษตรที่ คุณสุพจน์ โคมณี ชาวอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับฟังมาจากผู้เข้าอบรมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ 20 ไร่ ที่หมู่ที่ 5 ตำบลหนองกระเจา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่คุณสุพจน์ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้านการทำเกษตรกรรมจนมาพบความสำเร็จด้วยการนำองค์ความรู้ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาใช้อย่างครบเครื่อง

แต่สำหรับผู้ที่สงสัยในเกษตรทฤษฎีใหม่ว่าจะตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาที่ดินที่มีปัญหามากๆ หรือไม่ กลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้คุณสุพจน์ตัดสินใจซื้อที่ดิน 32 ไร่ เลขที่ 9 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองกระเจา อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อปั้นเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คุณสุพจน์ โคมณี” ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ถึงใจเกษตรคนเมืองและเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่อาจมีข้อสงสัยว่า “เกษตรทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะทำได้จริงหรือไม่ หากเจอโจทย์ที่ยาก โดยเฉพาะปัญหาเรื่องดินที่แล้งน้ำในฤดูร้อน และดินน้ำท่วมในฤดูฝน รวมทั้งเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น การปลุกปั้นที่ดินแปลง 32 ไร่ คุณสุพจน์จึงนำองค์ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ใส่ไปอย่างเต็มที่ เพื่อเนรมิตให้ที่ดินที่มีปัญหาสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างถึงใจเกษตรกรคนรุ่นใหม่

กว่าจะมาเป็นเกษตรกรแถวหน้าของเมืองไทย

คุณสุพจน์ เล่าว่า เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่สู้ชีวิตมาตลอด โดยเริ่มทำเกษตรกรรมสืบทอดจากรุ่นปู่ย่าตายาย และด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะไม่พร้อมด้านการเงินในการสนับสนุนด้านการศึกษา โดยคุณสุพจน์เป็นน้องคนสุดท้อง นับเป็นคนที่ 11 ของบ้าน ทำให้เขาได้เรียนถึงเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนบ้านดงขุย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และเริ่มทำเกษตรอย่างจริงจังในวัย 18 ปี โดยมารดามอบที่ดิน 30 ไร่ ในอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ทำเกษตร จึงมีแนวคิดว่า การทำเกษตรถ้าจะให้มีเงินหรือรวย จะต้องทำเกษตรแปลงใหญ่ คือทำมากต้องได้มาก จึงทุ่มสรรพกำลังทั้งหมดทำเกษตรแปลงใหญ่ตามความเชื่อของตนเอง ด้วยการปลูกข้าวโพดทั้งหมด 30 ไร่

ในปีแรกของการทำไร่ข้าวโพดก็พบอุปสรรคอย่างหนักคือ เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้เกิดปัญหาขาดทุน และต้องกู้หนี้ยืมสินเงินนอกระบบมาทำเกษตร และในที่สุดต้องขายที่ดินจำนวน 30 ไร่ เพื่อปลดหนี้ และกลับมาอยู่ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ โดยมารดาได้มอบมรดกที่ดินให้ทำเกษตรอีก 48 ไร่ และในเวลานั้นได้แบ่งที่ดินเพื่อนำไปกู้เงินในธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง จำนวน 28 ไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“ตอนนั้นผมก็ยังมีวิธีคิดแบบเดิมคือ ทำมากต้องได้มากก็ประสบปัญหาขาดทุนเหมือนเดิม ทำให้ต้องนำที่ดิน 28 ไร่ขายเพื่อปลดหนี้อีกรอบ และชีวิตผมมาพลิกในทางที่ดี เมื่อถึงปี 2542 ผมนำที่ดินอีก 20 ไร่ เข้าโครงการเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์เป็นผู้สนับสนุนการอบรม และความคิดที่ว่าทำมากได้มาก ก็ไม่มีอยู่ในตัวเองอีกต่อไป และเริ่มมาทำเกษตรผสมผสาน บนพื้นที่แปลงเล็ก ทำให้หลังจากนั้นในระยะเวลาเพียง 6 ปี ผมสามารถปลดหนี้ได้ถึง 700,000 บาท” คุณสุพจน์ กล่าว

สำหรับการทำเกษตรของคุณสุพจน์นั้น ใช้เวลา 12 ปี ในการพลิกฟื้นตัวเองกับการเรียนรู้และเดินตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้ในปี 2552 คุณสุพจน์ได้รับรางวัลที่ 1 ของภาคเหนือ ประเภทประชาชนทั่วไป ในเวทีการประกวด “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ครั้งที่ 2 จัดโดยสำนักงาน กปร. โดยในงานดังกล่าวมีทั้งหมด 15 ประเภท และทำให้พื้นที่เกษตรกรรมของคุณสุพจน์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คุณสุพจน์ โคมณี ของ สำนักงาน กปร.” ทำให้ตลอดระยะเวลาช่วงปี 2552-2554

เกษตรทฤษฎีใหม่พลิกชีวิต
สร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ปีละ 4,000 กว่าคน

คุณสุพจน์ ได้เผยแพร่ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับผู้ที่มาเรียนรู้เฉลี่ย 4,000 คนต่อปี แต่ก็มีผู้ที่มาเรียนรู้ตั้งคำถามว่า หากที่ดินไม่พร้อมทำเกษตร จะทำเกษตรได้ไหม คุณสุพจน์จึงตัดสินใจซื้อที่ดินที่มีปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554

“ผมนำความผิดพลาดในการทำเกษตร มาแก้ไขบนพื้นที่แปลงใหม่ ทำให้ที่ดินที่ใหม่เป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ที่ไปได้เร็ว เพราะผมนำองค์ความรู้ที่ได้จากแนวทางพระราชดำริของพระองค์ท่านมาปล่อยในที่แห่งใหม่อย่างเต็มที่” คุณสุพจน์ เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

บนที่ดิน 32 ไร่ในจังหวัดนครสวรรค์ยังทำให้คุณสุพจน์มีโอกาสพบปะลูกศิษย์ที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันด้านการตลาด โดยคุณสุพจน์ เล่าว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่หันทำเกษตรกันมากขึ้น และมีข้อดีคือ คนรุ่นใหม่ไม่มีองค์ความรู้เรื่องเกษตร เมื่อมาเรียนรู้จึงเปิดใจรับข้อมูลเต็มที่ ประกอบกับมีจุดแข็งเรื่องการทำตลาด โดยคนรุ่นใหม่จะมองที่การตลาดก่อนการผลิต ขณะที่การทำเกษตรของคนรุ่นเก่าจะเริ่มที่การผลิตก่อนการทำตลาด

ปัจจุบันคุณสุพจน์ยังได้ประยุกต์วิธีคิดด้านการตลาดมาสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตรกรรม ภายใต้ชื่อ “นาฉัน” โดยนำสินค้าเกษตรมาร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ เช่น นาข้าว สามารถใช้ประโยชน์จากนาข้าวได้หมด โดยข้าวเปลือกสามารถนำไปขายพันธุ์ข้าว และนำข้าวไปบริโภค ส่วนแกลบนำไปทำเป็นปุ๋ยผสมดินข้าว เพื่อใช้ต่อหรือขายได้อีก ส่วนฟางข้าวนำมาสับ บรรจุถุงขายให้กับผู้ปลูกเกษตรอินทรีย์ ส่วนรำกับปลายข้าวใช้ทำอาหารให้ปลาในบ่อ และพอมาที่ “ปลา” ก็สามารถแปรรูปเป็นปลาส้ม ปลาร้า และปลาจ่อม

วันนี้แบรนด์ “นาฉัน” ของคุณสุพจน์จึงมีสินค้าเกษตรที่หลากหลาย โดยแบ่งเป็นประเภท ข้าว ผัก ปลา และพืช ซึ่งในส่วนของพืชเน้นมาที่ “มะพร้าวน้ำหอม” ที่คุณสุพจน์มองว่ามีเรื่องราว (story) เป็นของตัวเองสำหรับมะพร้าวน้ำหอมของไทย โดยผู้สนใจเรียนรู้การทำเกษตร โดยเฉพาะคนเมืองสามารถสอบถามได้ที่ คุณสุพจน์ โคมณี โดยตรง ที่เบอร์โทร. 081-041-0911