หนุ่มหนองคาย ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทำเงินวันละพัน ปลูก 6 เดือน คืนทุน

จากกระแสรักสุขภาพที่ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงจูงใจและเป็นโอกาสสำหรับใครหลายคนที่กำลังมองหาอาชีพเสริมหรืออาชีพหลัก หันมาเริ่มต้นปลูกผักเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะการปลูกผักสลัด ที่มีความต้องการของตลาดสูง ปลูกง่าย ให้ผลผลิตไวเพียง 45-60 วัน หากท่านใดสนใจวิธีการปลูกผักสลัดก็มีทั้งรูปแบบการปลูกลงดิน และการปลูกแบบไร้ดิน หรือที่เรียกว่าการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งมีกระบวนการที่แตกต่างกัน แบ่งตามความสะดวกและความถนัดของแต่ละบุคคล

คุณจัตุชัย ใจฉลาด หรือ คุณนุ๊ก เจ้าของแม่โจ้ไฮโดรฟาร์ม

คุณจัตุชัย ใจฉลาด หรือ คุณนุ๊ก เจ้าของแม่โจ้ไฮโดรฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ 489 หมู่ที่ 11 ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อดีตลูกจ้างประจำกรมป่าไม้ ผันตัวเป็นเกษตรกรปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เด่นที่เทคโนโลยีการผสมธาตุอาหารใช้เอง พืชได้ปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสม ต้นทุนในการผลิตต่ำลง ผักโตดี เป็นที่ต้องการของตลาด

คุณนุ๊ก เล่าให้ฟังว่า ตนเองเรียนจบสาขาวิชาเกษตรป่าไม้ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ หลังเรียนจบมีโอกาสได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำกรมป่าไม้ บ้านหนองกระทิง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งด้วยระยะทางระหว่างบ้านของตนเองที่อยู่จังหวัดหนองคาย กับที่ทำงานอยู่ห่างไกลกันเหลือเกิน ทำให้ตัดสินใจทิ้งงานที่รัก เพื่อกลับมาอยู่กับครอบครัว โดยเลือกประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่เป็นงานที่รักรองลงมาจากงานด้านอนุรักษ์ป่าไม้

“กระเช้าผักเพื่อสุขภาพ” มอบให้คนที่คุณรัก

โดยคุณนุ๊กให้เหตุผลว่า เสน่ห์ของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์คือความท้าทาย ในเรื่องเกี่ยวกับการผสมสารละลายอาหารในการปลูกเลี้ยง หรือที่เรียกกันอีกชื่อคือ ปุ๋ยน้ำ เนื่องจากผักไฮโดรโปนิกส์จะต้องเตรียมผสมสารละลายอาหารทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นก็ต้องรู้ว่าควรจะต้องเติมสารอาหารอะไรลงไปบ้าง เพื่อให้ผักเจริญเติบโตได้ครบวงจร ถือเป็นความท้าทายในรูปแบบหนึ่ง และนอกจากนี้ข้อดีอีกข้อก็คือ ผักไฮโดรโปนิกส์ปลูกง่าย ใช้พื้นที่น้อย ประหยัดแรงงาน สามารถจัดการได้ในคนเดียว

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ยุ่งยาก
เพียงศึกษาระบบการปลูกให้เข้าใจ

หลายคนเข้าใจว่าการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์มีกระบวนการที่ซับซ้อน คุณนุ๊ก อธิบายว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนในช่วงการเริ่มต้นเท่านั้น แต่หลังจากนั้นพอระบบเข้าที่แล้วการปลูกดูแลจะไม่ยุ่งยาก ต่างจากการปลูกแบบลงดินจะยากในเรื่องของการใช้แรงงาน และเรื่องของโรคพืชและแมลงที่เกิดจากการใช้พื้นที่ปลูกซ้ำมากจนเกินไป

รวมผักสลัดสร้างรายได้หลัก ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด และฟินเลย์

โดยปัจจุบันที่ฟาร์มมีพื้นที่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ทั้งหมดประมาณ 2 งาน แบ่งปลูกผักสลัด กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด และฟินเลย์ ระบบ NFT หรือ Nutrient Film Technique 11 โต๊ะ ขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาว 12 เมตร มี 450 หลุมต่อโต๊ะ และจะมีในส่วนของผักไทย เช่น คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ ที่ปลูกด้วยระบบ DRFT หรือ Dynamic Root Floating Technique เป็นการปลูกพืชแบบน้ำเยอะ ส่วนมากนิยมปลูกกันในถาดโฟม เหมาะสำหรับปลูกผักไทย สร้างระบบง่าย ดูแลรักษาง่าย ทำความสะอาดง่าย อีก 10 โต๊ะ จำนวน 1,200 หลุม

“อย่างในผักไทยมีจำนวนหลุมปลูกทั้งหมด 1,200 หลุม แต่ที่ฟาร์มจะปลูกแบบหลุมเว้นหลุม เท่ากับว่าจะเหลือหลุมปลูกอยู่ 600 หลุม เพื่อเพิ่มระยะความห่างของแต่ละต้น เมื่อเราขยายระยะห่างของต้น คุณภาพของผักที่ได้ต้นจะอวบ ทรงสวย ใบสวยกว่าปลูกระยะถี่เนื่องจากหลุมปลูกสำเร็จรูปมาจากโรงงานแล้ว 1 แผ่นปลูกจะมี 50 หลุม ใน 1 แปลงมี 24 แผ่น ก็เป็น 1,200 หลุม”

ปลูกในระยะห่างระหว่างต้นกำลังเหมาะสม ผักโตดี

ผสมปุ๋ยใช้เอง ต้นทุนต่ำ
พืชได้รับสารอาหารที่ต้องการ
ผักโตดี เป็นที่ต้องการของตลาด

สำหรับการปลูกผักสไตล์แม่โจ้ไฮโดรฟาร์ม คุณนุ๊ก บอกว่า เด่นที่คุณภาพและความสะอาดของผัก สามารถเก็บรักษาในตู้เย็นได้นานเป็นอาทิตย์ ผสมผสานการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในด้านการคำนวณสูตรปุ๋ยใช้เอง ตามความเหมาะสม ตามความต้องการของพืช โดยวิเคราะห์จากสูตรพื้นฐาน แล้วนำเอาสูตรพื้นฐานมาปรับดูว่าพืชตอบสนองดีหรือไม่ ซึ่งผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ พืชผักตอบสนองกับปุ๋ยได้ดี ช่วยประหยัดต้นทุนกว่าตอนที่ใช้ปุ๋ยชุดมากกว่าครึ่งหนึ่ง รวมไปถึงการปรับสูตรปุ๋ยตามฤดูกาลที่ปลูกอีกด้วย คือถ้าหากปลูกผักในช่วงหน้าร้อน จะมีการปรับสูตรปุ๋ยในเรื่องของค่าแคลเซียม หรือถ้าปลูกในช่วงหน้าหนาว จะลดแคลเซียมลงให้เหมาะสมกับช่วงฤดูกาล เพราะในช่วงหน้าหนาวอากาศดี ผักจะเจริญเติบโตได้ดีอยู่แล้ว

ออกแบบและติดตั้งแปลงผักไฮโดรโปนิกส์

การเพาะเมล็ด ที่ฟาร์มจะใช้ฟองน้ำเป็นวัสดุในการเพาะเมล็ด โดยการนำฟองน้ำไปชุบน้ำ แล้วหยอดเมล็ด จากนั้นนำไปบ่มไว้ในกล่องโฟม 2 วัน เพื่อกักเก็บความชื้น พอครบ 2 วันแล้ว นำออกมารับแสงแดดใต้ชายคา รดน้ำเช้า-เย็น จนครบ 7 วัน แล้วย้ายกล้าลงแปลงปลูกอนุบาล ที่ทำการผสมสารละลายธาตุอาหารที่ค่า 1.5 มิลลิซีเมนต์

“สำหรับผักสลัดจะอยู่ในโต๊ะอนุบาล 1 ประมาณ 10 วัน นับจากวันเพาะเมล็ด คืออยู่ในกล่อง 2 วัน ออกมารับแสงใต้ชายคาอีก 5 วัน เท่ากับ 7 วัน แล้วมาอยู่ในโต๊ะอนุบาล 1 อีก 10 วัน เพราะการที่จะให้ผักโตดี รสชาติหวานกรอบ เราจะต้องดูแลดีๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะเมล็ด แต่ถ้าเริ่มต้นแล้วต้นกล้าไม่ดี มันก็จะไม่ดีทั้งระบบ โดยเริ่มแรกเราต้องดูแลกล้าให้แข็งแรง ประคบประหงมกล้าเราให้ดี ถ้ากล้าเราดี ผักเราสวยแน่นอน”

ผักสลัดเขียว-แดง เรียงสลับกัน สีสันสวยงาม

จากนั้นฉีกฟองน้ำออกแล้วย้ายต้นกล้าลงโต๊ะอนุบาล 2 เป็นรางปลูกระบบ NFT ในระยะความห่างระหว่างต้น 5 เซนติเมตร อีก 10-15 วัน แล้วทำการย้ายลงโต๊ะปลูกจริง ในระยะความห่างระหว่างต้น 25 เซนติเมตร เพื่อประหยัดพื้นที่

“สาเหตุที่ทางฟาร์มย้ายโต๊ะปลูกหลายครั้ง ก็เพราะว่าถ้าเราเอาต้นกล้าที่ได้จากโต๊ะอนุบาล 1 แล้วย้ายไปลงโต๊ะปลูกจริงเลย จะใช้พื้นที่เยอะ เพราะฉะนั้นในช่วงแรกที่ต้นยังไม่โต ใบยังไม่กว้าง ทรงพุ่มยังไม่เยอะ เราก็ไปปลูกไว้ในระยะห่างไม่ต้องมาก เพื่อประหยัดพื้นที่ พอผักโตมาสักระยะใบจะเริ่มชนกันแล้ว เราจึงค่อยย้ายลงโต๊ะปลูกจริง”

ระบบน้ำ สำหรับโต๊ะอนุบาล 1 จะเป็นโต๊ะแยก 1 โต๊ะของที่ฟาร์มจะมีระบบน้ำระบบเดียว เป็นระบบน้ำวน ถัดมาในส่วนของโต๊ะอนุบาล 2 และโต๊ะปลูกจริง จะใช้ระบบน้ำเดียวกัน และมีถังปุ๋ยเดียว ก็จะเติมธาตุอาหาร เติมน้ำอยู่ตลอดทุกวัน และวัดค่า EC และ pH ของสารละลายธาตุอาหาร ให้ไม่เกินระดับที่เหมาะสม

การจัดการธาตุอาหารพืช สำหรับการดูแลในเรื่องของสารละลายธาตุอาหาร ที่ฟาร์มจะมีการตรวจวัดค่า EC ความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหาร และค่า pH การวัดความเป็นกรดหรือความเป็นด่างของสารละลาย ทุกวันตอนเย็น

สำหรับค่า EC อยู่ที่ 1.3-1.5 ส่วนค่า pH อยู่ที่ 6.5 ก็จะรักษาค่านี้ไว้ให้คงที่ตลอดสำหรับโต๊ะอนุบาล 2 และโต๊ะปลูกจริง แล้วก็ดูแลในเรื่องของโรคแมลง ในช่วงเย็นเราต้องเดินดูโรคและแมลงว่า ผักของเราตอบสนองต่อปุ๋ยดีไหม ใบเป็นยังไง ใบขาดธาตุอาหารหรือไม่

กรีนโอ๊ค ต้นใหญ่ ใบเขียว รสชาติหวานกรอบ

“หัวใจสำคัญของการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คือการดูแลธาตุอาหารให้ดี ดังนั้น จึงต้องทำการตรวจเช็กค่า EC และ pH ทุกวัน เพราะสารละลายธาตุอาหารบางตัวอาจจะเสื่อมสภาพไป เราก็ต้องดูให้ออกว่าถ้าพืชขาดธาตุอาหารตัวใดตัวหนึ่งไปแล้วจะแสดงอาการทางใบ เราจะได้รู้ว่าถ้าใบเป็นแบบนี้ขาดธาตุอะไร

เรดโอ๊ค พุ่มใหญ่ สีแดงสวย

และควรแก้ยังไง และเรื่องของฤดูกาลก็มีผลต่อการบำรุงธาตุอาหาร อย่างเช่น ถ้าปลูกในช่วงหน้าร้อน จะเพิ่มแคลเซียมไนเตรตที่เป็นอาหารหลักเพิ่มอีกประมาณ 10 กรัมต่อลิตร ช่วยทำให้รากแข็งแรงในช่วงหน้าร้อน แล้วถ้าปลูกในช่วงหน้าหนาว อุณหภูมิเหมาะสมอยู่แล้ว การเจริญเติบโตค่อนข้างดี เราก็จะลดแคลเซียมไนเตรตลงมา”

การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช แมลงถือเป็นศัตรูของผักสลัด ส่วนใหญ่ที่ฟาร์มจะเจอศัตรูพืชที่เป็นตัวกินใบคือหนอนกระทู้ และเมื่อไหร่ที่ปล่อยให้วัชพืชขึ้นรก ก็จะมีเพลี้ยตามมาทำให้ผักใบหงิก ก็ต้องดูแลในเรื่องของวัชพืชใต้โต๊ะปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของโรคแมลง และสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกตัวหนึ่ง คือกาวเหนียวห้อยไว้ใต้แปลง เพื่อตรวจสอบว่ามีแมลงอะไรเข้ามาบ้าง เพื่อที่จะได้จัดการได้ถูกวิธีถูกกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวิธีหลักๆ ของที่ฟาร์มถ้าเป็นหนอนจะใช้ บีที สารสกัดสะเดา ฉีดพ่นที่ใบ หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ในกรณีที่เกิดเชื้อรา ฉีดพ่นทางใบผสมกับสารละลายธาตุอาหาร 15 วันเติม 1 ครั้ง

ปริมาณผลผลิต สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 50 กิโลกรัมต่อโต๊ะ ราคาส่งจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 90 บาท และมีในส่วนของการขายปลีกต้นละ 20 บาท ทยอยเก็บขายเฉลี่ยวันละ 10 กิโลกรัม สร้างรายได้วันละประมาณ 1,000 บาท เก็บส่งให้กับร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าทำสลัดโรล เปิดหน้าร้านขายเองที่ตลาดสด และมีในส่วนของผักไทยจะเก็บส่งให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ เป็นประจำ สร้างรายได้เพิ่มจากผักสลัด 

มือใหม่หัดปลูกเริ่มต้นยังไง

คุณนุ๊ก บอกว่า สำหรับมือใหม่ที่สนใจอยากปลูกผักสลัดสร้างรายได้ ให้เริ่มทดลองปลูกผักในกล่องโฟมแบบที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ไปก่อน เพราะเป็นวิธีที่ใช้เงินลงทุนที่น้อยมาก เพราะราคากล่องโฟมกล่องละไม่กี่บาท แล้วหาพลาสติกมาปู เติมน้ำ เติมปุ๋ย เพาะเมล็ด แต่ในช่วงที่อากาศร้อนจัดๆ การปลูกในกล่องโฟมจะมีปัญหาในเรื่องของออกซิเจน ก็อาจจะต้องเติมอากาศด้วยการเอาออกซิเจนตู้ปลาช่วยเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ

“ที่ให้เริ่มต้นจากการปลูกในกล่องโฟมก่อนเพราะเราจะรู้ว่าวัฏจักรของเขาเป็นยังไงตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเก็บเกี่ยว แล้วจะเป็นบทพิสูจน์ของคนที่จะทำเป็นอาชีพด้วยว่ารักจริงหรือเปล่า สามารถทำได้ไหม เป็นเหมือนบทสอบเบื้องต้น แต่ถ้าใครทำได้ การปลูกผักสลัดถือว่าเป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก เพราะอายุการเก็บเกี่ยวสั้นมาก เราได้เงินเร็วมาก แล้วถ้าเราปลูกเองทำเองหมดทุกขั้นตอน ต้นทุนก็จะต่ำ โต๊ะหนึ่งลงทุนปลูกครั้งแรกประมาณ 20,000 บาท 1 ปีคืนทุน หรือถ้าเราขายปลีกอย่างเดียวแค่ 6 เดือนคืนทุนแล้ว หลังจากนั้นคือกำไร เพราะระบบใช้ได้นานมาก” คุณนุ๊ก กล่าวทิ้งท้าย

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 098-809-6004 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : แม่โจ้ไฮโดรฟาร์ม

ผักปลอดภัย กรอบ สด ราคาดีต่อใจ เก็บรักษาได้นาน
โรงเรือนสำหรับปลูกผักไทย