ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
จังหวัดราชบุรี เป็นแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวน้ำหอมเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 34.38 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็น “พันธุ์ก้นจีบ” ที่มีลักษณะเด่นคือ ลูกใหญ่ ผลดก มีจำนวนทะลายมาก ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ เนื้อมะพร้าวนุ่ม มีรสชาติหวาน 7-10 องศาบริกซ์ หอมกลิ่นใบเตยอ่อนๆ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว
ปัจจุบันจังหวัดราชบุรีกลายเป็นพื้นที่นำร่องโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวจังหวัดราชบุรี รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลการปลูกการตลาดมะพร้าวน้ำหอมให้ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP จึงเป็นที่นิยมของผู้ซื้อทั้งในประเทศและส่งออก กลายเป็นสินค้าขายดี ครองแชมป์มูลค่าส่งออกสินค้า GI สูงสุดปี 2564
เอ็นซี โคโคนัท ราชบุรี
ต้นแบบ BCG Value Chain
คุณณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน เป็นลูกชาวสวน หลังจบการศึกษา ก้าวเข้าสู่อาชีพเกษตรทำสวนมะพร้าว บุกเบิกตลาดค้าส่งมะพร้าวน้ำหอมก่อนพลิกบทบาทเป็นนักธุรกิจเกษตรอย่างเต็มตัวและเป็นเจ้าของธุรกิจ “บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด” ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอมรายใหญ่ของจังหวัดราชบุรี มีการแปรรูปมะพร้าวน้ำหอมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้รับมาตรฐาน GAP, Global GAP, GHPs, HACCP, BRC, HALAL
ปัจจุบัน บริษัท เอ็นซี โคโคนัท รับซื้อมะพร้าวในเครือข่ายกว่า 5,000 ไร่ มีกำลังการผลิต 80,000-100,000 ลูกต่อวัน บริษัทมีสินค้าหลากหลายชนิด ภายใต้แบรนด์ “nainamhom (นายน้ำหอม)” เช่น ผลิตภัณฑ์มะพร้าวแท้ 100% เหมือนทานจากลูก พุดดิ้ง ดูดได้ วุ้นในลูกมะพร้าว อร่อย หอม ละมุน Coco neat เนื้อมะพร้าวอบ พร้อมทาน และ Coco bucket แค่เจาะก็ดูดน้ำได้ แน่นทั้งความอร่อยและคุณภาพ
ทางบริษัทได้นำนวัตกรรมรถตู้เย็น ที่ดัดแปลงจากฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชันใหม่ รุ่นสแตนดาร์ดแค็บ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิสินค้าในระหว่างขนส่งใช้ไฟฟ้ากระแสตรงต่อจากแบตเตอรี่รถโดยตรงมาทำความเย็นให้กับตู้เย็นที่ติดตั้งในรถกระบะ มีการติดตั้งแบตเตอรี่ลูกที่สองเพื่อให้เครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานต่อไปได้อีกยาวนานแม้เครื่องยนต์จะดับไปแล้ว สนใจข้อมูลติดต่อ คุณรณภูมิ อยู่ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายขายลูกค้ารายใหญ่ฟอร์ด โทร. 096-515-4287 หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ford.co.th/buying/fleet
วิธีทำปุ๋ยหมักเปลือกมะพร้าว
บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด เป็นต้นแบบการบริหารจัดการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG Model) ที่นำวัตถุเหลือใช้ทางการเกษตร หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Zero Waste) กลายเป็นแหล่งรายได้ในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทางบริษัทได้นำทุกส่วนของมะพร้าวมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เช่น เปลือกมะพร้าว และขุยมะพร้าว ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานไฟฟ้าชีวมวล นำไปทำทรายแมว
ส่วนปุ๋ยหมักเปลือกมะพร้าว ผลิตจากเปลือกมะพร้าวสับ มูลสัตว์ โดโลไมท์ (dolomite) และจุลินทรีย์ย่อยสลาย KS ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำเปลือกมะพร้าวสับ มูลสัตว์ โดโลไมท์ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ฉีดพ่นจุลินทรีย์ย่อยสลาย KS ในระหว่างการคลุกผสม ตั้งกองปุ๋ยหมักให้มีความสูง 1-1.5 เมตร ความยาวไม่จำกัด กลับกองปุ๋ยหมักสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จุดเด่นของปุ๋ยชนิดนี้คือ มีจุลินทรีย์ย่อยสลายอินทรีย์สารและอนินทรีย์สาร เพิ่มปรับความอุดมสมบูรณ์ของดิน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดียิ่งขึ้น ช่วยปรับสภาพ pH ของดิน ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งปุ๋ยชนิดนี้ มีคุณภาพเทียบเท่ากับปุ๋ยสูตรนาข้าว (8 -24 -24) เมื่อนำไปใช้ในสวนมะพร้าว ช่วยให้ผลมะพร้าวมีขนาดใหญ่ รสชาติดี ลดต้นทุนค่าปุ๋ยถึง ตันละ 35,000 บาทเลยทีเดียว
ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ดำเนินโครงการขยายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์ก้นจีบ” ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) สำเร็จเป็นรายแรกของโลก เพื่ออนุรักษ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ก้นจีบของแท้ดั้งเดิมของจังหวัดราชบุรี ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) และใช้นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ มาใช้ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ทั้งการผลิต การเพิ่มมูลค่า การตลาด และการบริหารผลิตภัณฑ์
เพื่อเกื้อกูลเศรษฐกิจในชุมชน คุณหนุ่ยในฐานะประธานเกษตรแปลงใหญ่ (มะพร้าวน้ำหอม) ของจังหวัดราชบุรี จึงเปิดศูนย์การเรียนรู้มะพร้าวน้ำหอม ณ แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม หมู่ที่ 12 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก รวมทั้งเปิดสื่อออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และยูทูบ ในชื่อ “NC coconut” แบ่งปันความรู้เรื่องการจัดการเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าว เทคโนโลยีการยืดอายุและคงคุณภาพมะพร้าวน้ำหอม การยกระดับมาตรฐานการผลิต GAP/อินทรีย์ ฯลฯ ทำให้เกษตรกรลูกไร่กว่า 100 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 20% รวมทั้งแจกจ่ายปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกมะพร้าวให้ลูกไร่ กว่า 200 ไร่ รายละ 5 กระสอบ ทุกๆ 15 วัน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และช่วยฟื้นฟูดินให้มีคุณภาพดีขึ้น
นวัตกรรมการเลี้ยงหมูหลุม
ด้วยเปลือกมะพร้าวน้ำหอม
คุณณรงค์ศักดิ์ ร่วมมือกับ คุณสุพจน์ สิงโตศรี ประธานกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงหมูหลุม ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ทดลองนำเปลือกมะพร้าวน้ำหอมที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาเป็นวัสดุรองพื้นหมูหลุม ระบบจัดการฟาร์มที่ลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) การใช้ประโยชน์จากเปลือกมะพร้าวที่มีสารแทนนิน ทำให้หมูหลุมลดอาการติดเชื้อโรคทางเดินอาหาร และยังสามารถฆ่าเชื้ออีโคไลน์ ในคอกอีกด้วย
การใช้เปลือกมะพร้าวน้ำหอมเป็นวัสดุรองพื้นคอกหมูหลุม สามารถดูดซับน้ำที่ใช้กับหมู 3-5 ลิตรต่อตัวต่อวัน ทำให้ไม่เกิดน้ำเสียปล่อยออกจากฟาร์มแล้ว ความนุ่มและยืดหยุ่นของเปลือกมะพร้าวน้ำหอม ยังทำให้หมูสามารถอยู่อย่างมีความสุข กีบเท้าไม่แตกหรือเป็นแผล ส่งผลให้หมูอารมณ์ดี ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ขณะเดียวกัน จุลินทรีย์หมักที่ใช้สำหรับพ่นในคอกทุกสัปดาห์ ยังช่วยขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แมลงวัน และป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหมู โดยเฉพาะโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี
ผู้สนใจ สามารถรับชมคลิปการเลี้ยงหมูหลุมด้วยเปลือกมะพร้าวน้ำหอมได้ที่>>> https://www.youtube.com/watch?v=7eymULfxSw8&t=1222sตัดมะพร้าวเดือนละ 2 ครั้ง ปีละ 24 ครั้ง
เพิ่มรายได้ กระเป๋าตุง ทั้งเกษตรกร-ผู้ส่งออก
เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดราชบุรี นิยมปลูกมะพร้าวแบบยกร่องสวน โดยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้ 40-45 ต้น ต้นมะพร้าวเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไป สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 20 ปี ในรอบ 1 ปี เก็บเกี่ยวได้ 17 ครั้งเฉลี่ยทุก 20-22 วัน ปัจจุบันทางบริษัทสนับสนุนให้เกษตรกรลูกไร่เก็บเกี่ยวผลผลิตทุกๆ 15 วันแทน เพราะได้ผลผลิตที่ตรงกับสเปกความต้องการของผู้ซื้อคือ ได้เนื้อมะพร้าว 2 ชั้น ที่มีความหนาประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ความหวานประมาณ 7 องศาบริกซ์ขึ้นไป
การจัดการผลผลิตแบบนี้ มีข้อดี คือ 1. บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ตรงกับสเปกความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น 2. เก็บเกี่ยวไว ก็มีช่อดอกมะพร้าวใหม่ขึ้นมาแทนที่ ทำให้รอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วขึ้น 3. ลดภาระของต้นมะพร้าว จากเดิมต้องแบ่งน้ำไปเลี้ยงผลแก่ ก็นำไปใช้เลี้ยงผลอ่อนแทน ทำให้ต้นมะพร้าวติดผลดกมากขึ้น 4. สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ แบบ Win-Win ด้วยกันทั้งคู่
ปลูกใบต่างเหรียญในสวนมะพร้าว
คุณณรงค์ศักดิ์แนะนำให้เกษตรกรลูกไร่ปลูกใบต่างเหรียญในสวนมะพร้าว เพื่อรักษาความชุ่มชื้นบนผิวดินและป้องกันวัชพืชไม่ให้แย่งอาหารกับต้นมะพร้าว โดยใช้รถแบ๊กโฮขนาดเล็กทำการกำจัดวัชพืชฝังกลบลงดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ใส่ปุ๋ยหมักใส่บริเวณโคนต้น และขุดลอกดินเลนในร่องสวนขึ้นมาทับจนเต็มแปลงปลูกมะพร้าว จากนั้นนำใบต่างเหรียญมาปลูกในระยะห่าง 20-30 เซนติเมตร ปลูกไปเรื่อยๆ จนเต็มร่องสวน วิธีนี้จะทำให้ต้นมะพร้าวได้รับปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และได้ดินใหม่ เพิ่มธาตุอาหารแก่ต้นมะพร้าวได้เติบโตงอกงาม ให้ผลผลิตคุณภาพดี และมีผลดกอีกด้วย
ใบต่างเหรียญ เป็นพืชคลุมดินและคลุมวัชพืชอื่นไม่ให้เติบโตนั้น ดูแลจัดการได้ไม่ยากเพราะเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน มีความทนทาน เติบโตได้ทั้งที่กลางแจ้ง ที่แสงแดดรำไร รวมทั้งบริเวณที่ร่ม ใต้ต้นไม้ใหญ่ เมื่อเติบโต ขยายลำต้น และใบคลุมพื้นที่แล้วจะสามารถควบคุมวัชพืชอื่นไม่ให้ขึ้นได้ดีกว่าหญ้าสนามทุกชนิด ทนต่อการเหยียบย่ำ ไม่ตายง่าย มีความนุ่ม ไม่สากเวลานั่งหรือสัมผัส ไม่ต้องตัด ไม่ต้องดูแลให้ยุ่งยาก ใช้น้ำน้อย ทำให้ประหยัดน้ำ ทนสภาพแห้งแล้งได้ดี และมีการติดดอกขนาดเล็กสีขาวสวยงาม เพิ่มความสวยงามในแปลงเพาะปลูก
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจาก เฟซบุ๊กและยูทูบ “NC coconut”