มะหลอด ผลไม้พื้นบ้านดั้งเดิม เป็นสมุนไพรชั้นดี

เอ่ยถึงผลไม้พื้นบ้านเมื่อไร มักจะอยู่ในความสนใจของเพื่อนพ้องพี่น้องคนบ้านเรา ทั้งบ้านฉันบ้านเอง มักคิดถึงสีสันและรสชาติที่บาดใจ แม้ว่าผลไม้บางอย่างได้หายไปจากบ้านเรา แต่ภาพจำยังลอยวนเวียนมิได้ลืมเลือน ผลไม้บางอย่างที่เย้ายวน ชวนให้เสาะหามาปลูกไว้ เพื่อให้ภาพเก่าก่อนย้อนกลับมาสู่อ้อมฝัน ดังเช่นผลไม้ชนิดนี้ ที่ยังพอจะเสาะหามาได้บ้าง เขาคือ “มะหลอด” ผลไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย

มะหลอด มีหลายคนเห็นรูปแล้ว นึกว่าเป็นผลไม้ต่างถิ่น ผลไม้นำเข้า หรืออาจจะไม่คุ้นตา จะว่าเชอร์รี่ ก็ไม่ใช่ จะว่ามะเขือเทศราชินี ก็ไม่ใช่อีก ที่จริงแล้ว มะหลอดเป็นผลไม้ไทยเราเอง ผลไม้ป่าเขตร้อนแบบเอเชีย แพร่กระจายอยู่ทั่วทวีปเอเชีย ไทย ลาว เขมร เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ แพร่ไปถึงยุโรป อเมริกา เป็นผลไม้ที่ปรับตัวกับท้องถิ่นต่างๆ ได้ดีมาก ทนร้อน ทนแล้ง ทนฝน ทนหนาว เชื่อได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีสมรรถนะ ในการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก

มะหลอดเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำต้นเหนียวมาก ทอดเลื้อยไปตามรั้ว ตามนั่งร้าน ตามต้นไม้ใหญ่ ขึ้นซุ้มนั่งเล่น เรียกว่าเป็นไม้เถาก็ว่าได้ ดังที่บอกมาข้างต้นว่า มะหลอดแพร่ขยายพันธุ์ไปทั่ว จึงค้นหาชื่อสามัญทางพฤษศาสตร์ ได้ยากสักหน่อย เคยเรียกกันว่า Wind Olive ซึ่งหมายถึง ต้นมะกอกลม มะกอกเลื้อย และอีกชื่อ Bastard Oleaster เป็นพืชในวงศ์ ELAEAGNACEAE สกุล Elaeagnus ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaegnus Latifolia ชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ในไทย ภาคเหนือ เรียก บ่าหลอก มะหลอด หม่าหลอด บะกั้ง อีสานเรียก หมากหลอด บักหลอด ภาคใต้เรียก ส้มหลอด ราชบุรีเรียก สลอดเถา ชื่อเรียกภาษาไทยกลาง ยังหาไม่เจอ หรือว่าเรียก หัสคืน ใช่หรือเปล่าไม่แน่ใจ อาจเป็นเพราะไม่มีใครปลูกไว้กระมังนิ

ลำต้นเป็นไม้เนื้อแข็ง มีเกล็ดละเอียดสีเทาเงินอยู่ทั่วไป แผ่นใบบนสีเขียว ส่วนล่างสีน้ำตาล มีเกล็ดสีเงินติดปะพรมทั่วแผ่น เป็นใบไม้ที่ดูคลาสสิกมาก รูปใบก็สวยงาม เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ รูปรีแกมหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ ต้นที่เพาะจากเมล็ด โตจนมีใบออกมา จะสังเกตเห็นชัดเจนมาก หลังใบมีสีตะกั่ว หรือคล้ายมีผงเงินเคลือบแวววาวสะดุดตา ดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีสันเหลี่ยม ผลมีทั้งทรงกลม กลมรีคล้ายมะเขือเทศราชินี กลมแบบไข่ กลมกระบอก รูปลูกแพร์ ผิวผลสากเล็กน้อย มีจุดสีขาวเงินบนผิวผล ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกแก่ มีสีตามพันธุ์ คือมะหลอดเปรี้ยว มีสีเหลือง มะหลอดหวาน มีสีแดงเข้ม และมะหลอดกำปอ สีเหลืองอมส้ม รสเปรี้ยวอมหวาน หรือหวานอมเปรี้ยว ผลมะหลอดทุกพันธุ์ จะมีรสชาติฝาดปนแทรกอยู่ ก่อนกินต้องคลึงนวดให้นิ่ม จึงจะอร่อยหายฝาด และเมล็ดล่อนง่าย เมล็ดมะหลอดแก่ มีสีเหลืองอมน้ำตาล หัวท้ายแหลม เป็นร่องพู ดูคล้ายตอร์ปิโดจิ๋ว แปลกตา และแข็งมาก เพาะขยายพันธุ์ได้

“มะหลอด” ผลไม้ทรงคุณค่า มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เมื่อก่อนนิยมกินผลสดจิ้มน้ำพริกเกลือน้ำพริกหวาน มีแปรรูปบ้าง เช่น มะหลอดดอง มะหลอดแช่อิ่ม ตำส้มมะหลอด หรือเรียกว่า “โซะมะหลอด” และยังใช้มะหลอดเป็นผักเครื่องปรุงรส ใส่แกงส้ม ต้มส้มปูปลาไก่เนื้อ  น้ำพริกมะหลอดปลาย่าง น้ำพริกกะปิ ผลดิบกินร่วมกับ “เมี่ยงถั่วเน่าใบผักกาด” ต่อมาระยะหลังๆ มีคนรู้จักมากขึ้น มีพัฒนาการแปรรูป เป็นมะหลอดแผ่น มะหลอดบาร์หรือมะหลอดแท่ง ไวน์มะหลอด น้ำผลไม้มะหลอด แยมมะหลอด ที่นิยมกันมากคือ น้ำผลไม้มะหลอด หรือน้ำมะหลอดหมักเพื่อสุขภาพ เพราะเป็นน้ำผลไม้พร้อมดื่ม มีคุณค่าทางอาหารมาก ใน 100 กรัม ให้พลังงาน 55.14 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 0.38 กรัม โปรตีน 0.10 กรัม แคลเซียม 11.88 มิลลิกรัม โซเดียม 7.19 มิลลิกรัม เหล็ก 0.77 มิลลิกรัม

คุณสมบัติที่โดดเด่น “มะหลอดเป็นยาสมุนไพร” ใช้ได้ทั้งดอก ใบ เมล็ด ผล ต้น ราก เช่น ดอกเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ รักษาโรคตา เป็นยาแก้ปวดศีรษะ รักษาริดสีดวงจมูก เป็นยาฝาดสมาน เป็นส่วนผสมเครื่องยาแก้ปวดต่างๆ ใบมะหลอดใช้เป็นยาบำรุงเนื้อหนัง บำรุงผิวพรรณ ต้มเกลืออมแก้ปวดฟัน ขับปัสสาวะ เนื้อในเมล็ดต้มผสมกับเหง้าสับปะรด และสารส้ม รักษาโรคนิ่วได้ ผลแก้คลื่นเหียนอาเจียน เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้บิด แก้ท้องผูก มีวิตามินซีสูงต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดมะเร็ง เปลือกต้นและเถาเป็นยาขับเสมหะ แก้พิษไข้ ต้มน้ำอาบแก้ใจสั่น รากใช้เป็นยาดองเหล้า ดื่มแก้โรคปวดกระดูก ปวดหัวเข่าลุกนั่งยืนลำบากเดินไม่ได้ ชาวบ้านเรียกว่า ดื่มแก้กษัย

ยังเป็นที่กังขาอยู่ เกี่ยวกับชื่อเรียกมะหลอด ของจังหวัดสระบุรี เขาเรียกว่า “สลอดเถา” ซึ่งที่จริง “สลอด” เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีพิษสงทั้งต้น โดยเฉพาะเมล็ดมีฤทธิ์มากมหาศาล เป็นยาสั่งให้ถ่ายไหลไม่หยุด ขับถ่ายมูลถ่ายน้ำออกจากร่างกาย จนถึงตายได้ ภาษาวิชาการเรียก “สลอด” ภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือเรียก “บะข่าง” หมอยาเขามีวิธีลดพิษ ใช้ทำยารักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะสูตร เอาพิษดับพิษ ได้ผลดีมาก และขอให้ท่านเข้าใจด้วยว่า “สลอด” มันเป็นคนละอย่างกับ “มะหลอด” ของวันนี้นะครับ