ปทุมธานี ปลูกกล้วยหอมต้นเตี้ย สู้วาตภัย ผลผลิตดี แถมลดต้นทุน

จังหวัดปทุมธานี ได้พิจารณาคัดเลือก “กล้วยหอมทองปทุม” ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง รายได้สูง มีคุณภาพและปริมาณโอกาสในการพัฒนาตลอด Value Chain และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาขับเคลื่อน BCG Model ด้านการเกษตรของจังหวัด ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองทั้งจังหวัดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร รวม 712 ราย พื้นที่ปลูกรวม 11,098 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)

แปลงปลูกกล้วยหอมทองปทุมของเจ๊หมวย

กล้วยหอมทองของจังหวัดปทุมธานีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร

แปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์

แปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่สำคัญของจังหวัดปทุมธานี โดยกลุ่มเกษตรกรแห่งนี้ มีการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI กล้วยหอมทองปทุม เป็นการผลิตแบบอินทรีย์ ผลผลิตทั้งหมดส่งขายในประเทศ โดยร้อยละ 30 ส่งขายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมเพื่อส่งต่อให้กับตลาด Modern Trade และร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพ สร้างกำไรรวมกว่าปีละ 21 ล้านบาท

กล้วยหอมทองต้นเตี้ยที่ใช้นวัตกรรมของ วว.

เจ๊หมวย – คุณบุญพา เล้าซิงทอง รองประธานกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในชุมชนได้รวมตัวในชื่อ “กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์” ภายใต้การนำของ ประธานกลุ่ม คือ คุณนุกูล นามปราศัย โดยดำเนินงานในรูปแบบคณะกรรมการกลุ่ม มีการวางแผนการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบ ผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีสำนักงานเกษตรอำเภอหนองเสือเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ ประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลการผลิตการตลาดกับสมาชิกปีละ 2 ครั้ง

เจ๊หมวย – คุณบุญพา เล้าซิงทอง

ใช้นวัตกรรม วว. ปลูกกล้วยหอมต้นเตี้ย

“ภัยธรรมชาติ” โดยเฉพาะปัญหาวาตภัย จากพายุฤดูร้อน ในช่วงเดือนเมษายน-เดือนมิถุนายนของทุกปี ทำให้สวนกล้วยได้รับความเสียหายจากปัญหาคอกล้วยหัก หรือเครือกล้วยผิดรูป แม้เกษตรกรพยายามลดความเสียหายโดยใช้ไม้ไผ่ค้ำพยุงต้น และปลูกต้นไม้กันลม แต่ป้องกันไม่ได้ เมื่อเจอลมพายุแรง

สำนักงานเกษตรจังหวัดปทุมธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอหนองเสือ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อการลดการหักล้มจากพายุช่วยลดการสูญเสียจากลม และการให้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังส่งผลดีต่อการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตกล้วยผลโตโดยใช้ฮอร์โมน ช่วยลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้น

ต้นกล้วยอายุ 7-8 เดือน ที่ติดผลแล้ว

วว. แนะนำให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมต้นเตี้ย โดยใช้ “สารแพคโคลบิวทราโซล” ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการผลิตฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลิน ที่ทำหน้าที่ยืดความยาวของพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตทางลำต้น ทั้งนี้ “สารแพคโคลบิวทราโซล” มักนิยมใช้บังคับให้ต้นมะม่วงออกดอกนอกฤดูนั่นเอง ก่อนนี้ วว. เคยนำนวัตกรรมนี้ไปใช้กับกล้วยไข่พันธุ์กำแพงเพชร ปรากฏว่า กล้วยไข่ต้นเตี้ยตามที่ต้องการ

ใช้ถุงพลาสติกสีฟ้าห่อเครือกล้วยเพื่อป้องกันแมลงวันทอง

ที่ผ่านมา วว. และกลุ่มแปลงใหญ่ฯ ทดลองปลูกกล้วยหอมทองต้นเตี้ยได้ 1 รุ่นแล้ว ปรากฏว่า ได้กล้วยหอมทองต้นเตี้ยลง 1 เมตร สู้ลมพายุได้ดี และวางแผนทดลองปลูกต่อเนื่องไปอีก 2 รุ่น เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับปริมาณและช่วงเวลาการใช้สารแพคโคลบิวทราโซล รดโคนต้นกล้วยหอมทอง ที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุด

“ผลการทดลอง รุ่นที่ 1 ใช้สารแพคโคลบิวทราโซล 10 มิลลิกรัม รดโคนต้นกล้วยหอมทอง ทำให้ลำต้นเตี้ยลงจากเดิม 1 เมตร ลำต้นใหญ่ กาบใบแข็งแรง ทนแรงลมพายุได้ดี เนื่องจากลำต้นเตี้ยลง ความยาวของเครือกล้วยก็สั้นไปด้วย จึงได้ผลผลิตน้อยลง จากเดิมที่เคยได้ 6-7 หวีต่อเครือ ก็เหลือแค่ 5-6 หวีต่อเครือ การทดลองรุ่นที่ 2 ปรับลดการใช้สารแพคโคลบิวทราโซลเหลือแค่ 8 มิลลิกรัม ซึ่งจะทราบผลในปีหน้า นวัตกรรมนี้ มีค่าใช้จ่ายต่อต้นประมาณ 10 บาท โดยส่วนตัวคิดว่า นวัตกรรมนี้ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าเพราะลดความเสียหายจากวาตภัยได้อย่างดี” เจ๊หมวย กล่าว

เครือกล้วยหอมทองที่รอเก็บเกี่ยว

เทคนิคปลูกกล้วยหอมทอง

การปลูกกล้วยหอมทอง ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวจะใช้เวลาดูแล ประมาณ 9-10 เดือน เจ๊หมวยทำสวนกล้วยแบบยกร่อง แปลงปลูกเนื้อที่ประมาณ 5.5-6.5 เมตร ร่องน้ำกว้างประมาณ 1.0-1.5 เมตร การปลูกขุดหลุมลึกพอประมาณ นำหน่อพันธุ์กล้วยหอมทองที่เตรียมไว้ลงปลูกได้เลย หลังปลูก 10 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียบำรุงให้ต้นกล้วยแตกกอ เติบโตแข็งแรง ฤดูร้อนใช้เรือรดน้ำต้นกล้วยหอมวันเว้นวัน ฤดูฝน ดูตามสภาพอากาศ ช่วงไหนฝนตกบ่อยก็ไม่ต้องรดน้ำ

กล้วยหอมทองต้นแม่ ไว้หน่อ 2-3 ต้น

ส่วนปุ๋ย เจ๊หมวยใส่ปุ๋ยเคมีบำรุงต้นกล้วยตามช่วงอายุ หลังปลูก กล้วยอายุ 20 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 กล้วยอายุ 1-4 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 และ 16-16-16 สำหรับต้นกล้วยอายุ 5-7 เดือน ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 สูตร 0-0-60 บำรุงต้นกล้วย ต้นกล้วยเติบโตสมบูรณ์ให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 5-7 หวีต่อเครือ

เจ๊หมวย ภาคภูมิใจผลผลิตกล้วยหอมทองที่เธอปลูก

หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตกล้วยหอมทองของกลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างอาชีพ เสริมรายได้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับเจ๊หมวย – คุณบุญพา เล้าซิงทอง ที่เบอร์โทร. 081-325-5727