สวนผักปู่วรรณ

การปลูกผักกินเองทำได้ไม่ยากนัก เพียงแต่มีความพยายามก็พอ ความไม่อยากปลูกต่างหากที่ทำให้ไม่เกิดการปลูกผัก เพราะว่ากลัวว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จ มนุษย์เงินเดือนเป็นเสียอย่างนี้เพราะไม่อยากทำสิ่งที่ไม่เคยทำเนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยง ซึ่งเป็นความรู้สึกของมนุษย์เงินเดือนเหมือนที่ผู้เขียนเคยรู้สึก แต่เรื่องราวในเกษตรในเมืองได้ถ่ายทอดให้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม ตึกแถว ก็ล้วนเขียนให้อ่าน ซึ่งหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกท่าน

แปลงผักหลังบ้าน
ผักใกล้ตัดแล้ว

คุณธามปริญ แจ้งวิจิตร์ หรือ คุณบลู เป็นคนอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยกำเนิด จบการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อปี 2555 เมื่อจบแล้วก็ได้ทำงานด้านที่เรียนจบมาที่กรุงเทพฯ ได้ 3 เดือน รู้สึกว่าไม่ชอบไม่ถูกจริตกัน ก็เลยย้ายกลับมาบ้านเพราะจะได้ใกล้ชิดกับ คุณปู่วรรณ ที่มีอายุมากถึง 95 ปี ปัจจุบันผ่านมา 11 ปี คุณปู่วรรณอายุได้ 106 ปีแล้ว คุณบลูได้เปิดร้านขายโทรศัพท์มือถือในตลาดอำเภอท่าเรือโดยร้านห่างจากบ้านประมาณ 10 กิโลเมตร ในช่วงนี้ได้ปลูกผักบริเวณข้างบ้านเพื่อการบริโภคไปด้วย

สำหรับจำหน่าย
ผักปลอดภัย

การปลูกผักไว้กินเองของคุณบลูเป็นการสร้างแหล่งอาหารของตัวเองเพื่อสำหรับบริโภคในครัวเรือน เช่น คะน้า ผักกาดขาว สลัด โดยได้ศึกษาการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อเอามูลมาทำปุ๋ยด้วย ที่กรุงเทพฯ ได้เรียนรู้ว่าการปลูกพืชอินทรีย์จะต้องเริ่มต้นที่ดิน จึงได้ไปเรียนรู้วิธีการเลี้ยงและซื้อไส้เดือนมา 1 ชุด มาทดลองเลี้ยงดูก็สามารถขยายพันธุ์ไปได้เรื่อยๆ แต่เจอปัญหาในหน้าหนาวถ้าหนาวมากไส้เดือนจะตายหมด เนื่องจากไส้เดือนแอฟริกันชอบร้อนไม่ชอบอากาศหนาว และปัญหาอีกอย่างคือคนที่บ้านไม่มีใครช่วยได้เนื่องจากไม่ชอบจับไส้เดือน จึงทำให้หยุดขยาย ทำเฉพาะที่จะใช้เท่านั้น ไส้เดือนที่มากเกินไปก็จะปล่อยลงโคนต้นไม้เพื่อให้เป็นไส้เดือนธรรมชาติไป

ฝรั่งในสวน
ต้องห่อ

การปลูกผักเมื่อได้ปริมาณมากเกินบริโภคภายในบ้านก็ได้โพสต์ขาย ทำให้มีคนต้องการผักอินทรีย์มาก ได้ติดเอาไปขายที่ร้านโทรศัพท์มือถือในตลาดเนื่องจากไปกลับทุกวัน จนกระทั่งได้เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์และได้รับคัดเลือกให้ไปเรียนต่อในหลักสูตรวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลักสูตร 2 ปี ได้รับปริญญาตรีเกษตรศาสตร์ ในช่วงเวลาการศึกษาได้มีโครงการทดลองการกำจัดขยะครัวเรือนโดยใช้แมลงวันลาย

พันธุ์แตงโม
ไก่อารมณ์ดี

โครงการกำจัดขยะด้วยแมลงวันลาย

โครงการศึกษานี้มีจุดประสงค์ที่จะกำจัดขยะในครัวเรือนให้เหลือน้อยที่สุดและใช้ประโยชน์จากมัน โดยการเลี้ยงแมลงวันลาย ส่วนขยะอีก 2 ส่วน คือขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ และขยะที่ต้องฝังกลบเราไม่พูดถึง เราจะใช้ขยะเปียกเศษอาหารที่ทิ้งจากครัวเรือนเป็นอาหารของแมลงวันลาย โดยนำไข่แมลงวันลายมาไว้ในกล่องและตาข่ายที่กั้นไว้ ไข่ของแมลงวันลายจะคล้ายๆ กับไข่แมลงวันทั่วไป เมื่อไข่เปลี่ยนเป็นตัวหนอนก็จะกินเศษอาหารที่นำไปให้พื้นที่จะชื้นแฉะเพราะวางเศษอาหารไว้ ในการเทเศษอาหารจะต้องระวังว่าเทเพียงพอสำหรับปริมาณหนอนแมลงวันที่มี อย่าเทมากเกินไป สังเกตได้จากกลิ่น ถ้ามีกลิ่นเน่าแสดงว่าเศษอาหารมากเกินไป หนอนแมลงวันลายจะกินอาหารอยู่ประมาณ 20 วัน และจะหยุดกินอาหารต่อเมื่อหนอนเข้าระยะเป็นดักแด้ หนอนสีขาวก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำและจะคลานเข้าหาพื้นที่แห้งซึ่งจัดไว้ ถ้าไม่จัดพื้นที่แห้งไว้ดักแด้จะตายเนื่องจากไม่ชอบพื้นแฉะ เมื่อเข้าระยะดักแด้เต็มที่ก็จะหยุดเคลื่อนไหวใช้เวลาประมาณ 7-10 วันก็จะเป็นตัวบิน แมลงวันลายจะมีระยะเวลาวางไข่แค่ 7 วันก็จะตาย ในช่วงนี้แมลงวันลายสามารถไข่ 400-700 ฟองต่อตัว พอวางไข่เสร็จมันจะตาย

ฝรั่งเสียบยอด
แหนแดงอาหารไก่

วัยที่เหมาะสำหรับนำมาเป็นอาหารให้เป็ดไก่คือ ระยะที่เป็นหนอน ระยะเป็นดักแด้ และตัวแมลงวันลายที่ตายแล้ว แมลงวันลายใน 3 ระยะสามารถนำมาผสมอาหารให้สัตว์กินได้หมด แต่ในส่วนของสวนปู่วรรณได้ทำที่เลี้ยงแมลงวันลายไว้ไม่มากเนื่องจากพื้นที่จำกัด แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ได้อย่างเพียงพอ ในโครงการที่ทดลองเลี้ยงได้มีสมาชิกเข้าร่วมเลี้ยงแมลงวันลายด้วย 10 ครัวเรือน และได้ผลในระดับหนึ่ง บางรายมีสัตว์เลี้ยงมากก็ขยายการเลี้ยงได้มาก ส่วนมูลแมลงวันลายหรือซากของตัวดักแด้ที่มีไคโตซานคล้ายเปลือกกุ้ง สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้ได้ หรืออาจผสมดินปลูกเพื่อเพาะกล้าก็ได้เช่นกัน

เป็ดไข่
ออกบูธงานเกษตร 

อาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ

ในช่วงระหว่างเรียนได้คิดถึงการเกื้อกูลกันระหว่างพืชกับสัตว์ที่เราเลี้ยง จึงคิดโครงการเลี้ยงสัตว์ปีกขึ้น เช่น เป็ด ไก่ไข่ ไก่บ้าน ไก่ป่า ไก่แจ้ และห่าน เนื่องจากเห็นว่ามูลสัตว์เหล่านี้สามารถนำมาเป็นปุ๋ยกับต้นไม้ได้ การเกษตรแบบนี้ถือว่าเป็นการเกษตรยั่งยืนสามารถเกื้อกูลกันได้ จึงซื้อเครื่องฟักไข่ขนาดเล็กมาทดลองใช้ อาหารที่ให้จะเป็นต้นกล้วยที่ตัดผลกล้วยแล้ว นำมาหั่นหยาบๆ ผสมกับกากน้ำตาล เกลือ น้ำหมักจุลินทรีย์ หมักไว้ ตอนที่จะให้อาหารก็จะนำแหนแดงที่เลี้ยงไว้มาคลุก หรือคลุกกับตัวหนอนของแมลงวันลายบ้างสลับกัน ทำให้ประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ ยังมีข้าวเปลือกที่ได้จากนาที่ทำอีกส่วนหนึ่ง และยังได้กากถั่วเหลืองจากการทำน้ำเต้าหู้ของเพื่อนมาผสมกับอาหารให้ได้ทุกวันอีกด้วย

ตู้แมลงวันลาย
เลี้ยงด้วยเศษอาหาร 

ปลูกสวนป่าและสวนผลไม้

ส่วนฝรั่งที่ปลูกจะมี 4 สายพันธุ์ คือ กิมจู ซีกัวปาล่าหรือแตงโม หงเป่าสือ และอโยธยา 3 มีการปลูกต้นจนให้ผลผลิตแล้วแต่ยังไม่เพียงพอจึงต้องขยายพันธุ์เพื่อจะเพิ่มปริมาณต้นไปเรื่อยๆ นอกจากพื้นที่บ้าน 144 ตารางวาไว้สำหรับปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ปีกแล้ว ยังมีพื้นที่อีก 9 ไร่ที่เป็นสวนสำหรับปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลอีก ไม้ยืนต้นที่ปลูกคือ พะยูง มะฮอกกานี กระถินเทพา มะค่า ยางนา ส่วนไม้ผลก็มีมะม่วง มะพร้าว กล้วย และฝรั่งพันธุ์ต่างๆ ต้นไม้ต่างๆ ในสวนจะใช้มูลวัวเป็นหลักในการใส่ปุ๋ย ทำให้สวนปู่วรรณเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งแปลง

ระยะเป็นตัวหนอน
ระยะดักแด้
ไข่ไก่อารมณ์ดี

คุณบลูได้บอกสำหรับคนที่สนใจด้านเกษตรกรรมว่า การทำเกษตรต้องทำเลย ไม่ต้องกลัวและไม่ต้องกังวล ทำได้หรือไม่ได้เราจะรู้เอง อะไรที่จะต้องปรับต้องแก้ ก็ต้องปรับแก้ไป ถ้าเราประสบความสำเร็จเราสามารถขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ส่วนถ้าเรามีพื้นที่น้อยเราก็ต้องทำตามสภาพพื้นที่ อาจจะทำโต๊ะขึ้นมาเพื่อปลูกผัก ประสบการณ์จะสอนเราให้มีความรู้เพิ่มขึ้นจากการลองผิดลองถูก ซึ่งเราไม่สามารถปลูกผักได้ทุกชนิด แต่ก็ทำให้เราซื้อผักจากตลาดน้อยลงและเราจะมั่นใจในผักที่เราปลูกขึ้นเองว่าปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์

ปู่วรรณ อายุ 106 ปี
คุณธามปริญ แจ้งวิจิตร์ หรือ คุณบลู

เรื่องราวของการเกษตรในเมืองได้ถ่ายทอดมาหลากหลายรูปแบบ นานเกือบปี หวังว่ากิจกรรมการเกษตรของเกษตรกรข้างบ้านท่านใดท่านหนึ่งจะถูกใจท่านผู้อ่านจนกระทั่งคิดปลูกเองบ้าง โดยไม่ต้องกังวลว่าไม่ได้จบเกษตร เพราะจากที่เคยสัมภาษณ์มา คนปลูกผัก 9 คนใน 10 คนไม่ได้จบเกษตรเลย แต่เพิ่งคิดที่จะทำเกษตรทีหลังทั้งสิ้น และทั้งหมดก็ประสบผลสำเร็จได้ระดับหนึ่ง อาจจะสามารถแซงรายได้หลักหรือเป็นเพียงรายได้เสริม หรือเพียงพอสำหรับบริโภคภายในบ้านก็แล้วแต่ ส่วนถ้าหากท่านมีข้อสงสัยใดทางด้านการเกษตร สามารถติดต่อคุณบลู ได้ที่เฟซบุ๊ก : สวนปู่วรรณ ซึ่งมักจะมีสิ่งดีๆ ทางการเกษตรมาบอกกล่าวให้อ่านเสมอ