หนุ่มกาญจน์ รวมกลุ่มปลูกผักส่งห้างสัปดาห์ละ 2 ตัน เฉพาะของตัวเอง 40 ไร่ ฟันรายได้เดือนเกือบแสน

ความรับผิดชอบ ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร และความซื่อสัตย์ คำสั้นๆ ง่ายๆ เหล่านี้ยังใช้ได้จริงเสมอ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย หรือใช้กับสายงานอาชีพใดๆ ถ้าใครยึดคำมั่นเหล่านี้ เชื่อว่าจะเป็นหนทางสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพการงานได้ไม่ยาก 

คุณธนวัฒน์ ว่องไวตระการ หรือ คุณเต๋า

คุณธนวัฒน์ ว่องไวตระการ หรือ คุณเต๋า ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ด่านมะขามเตี้ย อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 10 ตำบลด่านมะขามเตี้ย อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนให้ดีขึ้น จากความพยายามตั้งใจสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ จนสามารถปลูกผักส่งห้างค้าส่งขนาดใหญ่ของประเทศไทยได้สัปดาห์ละ 2 ตัน สร้างรายเข้ากลุ่มสัปดาห์ละ 2 แสน

พื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด 40 ไร่ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์
ใช้ใบอ้อยคลุมดิน เพื่อกักเก็บความชื้น

คุณเต๋า เล่าให้ฟังว่า เริ่มปลูกผักมาตั้งแต่สมัยตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 เทอม 2 คือเรียนไปด้วยปลูกผักไปด้วย จนกระทั่งเรียนจบมาก็ยังปลูกผักและยึดอาชีพเกษตรหารายได้เลี้ยงครอบครัวมาจนถึงทุกวันนี้

โรงเรือนเพาะกล้า
ย้ายกล้าลงแปลงปลูก ดูแลรดน้ำทุกวันเช้า-เย็น

หากย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีก่อนตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ ถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่อย่างตนเองถึงสนใจในการทำเกษตร ก็ต้องเท้าความจากที่บ้านพ่อกับแม่เป็นเกษตรกรกันมาอยู่แล้ว โดยเน้นไปที่การปลูกพืชไร่เป็นหลัก ได้แก่ อ้อยและมันสำปะหลัง มีรายได้เป็นรายปี จึงอยากจะช่วยที่บ้านหารายได้ที่เป็นรายได้ประจำวันเข้ามาเสริม และได้กลับมานั่งคิดว่ามีอะไรบ้างที่ทำแล้วจะมีรายได้เข้ามาทุกวัน ก็มาได้คำตอบที่การทำเกษตรนี่แหละ เพราะการทำเกษตรเป็นอะไรที่ไม่ไกลตัวมาก และได้เป็นนายตัวเองอย่างที่ต้องการ มีอิสระทางความคิด ประกอบกับที่บ้านมีพื้นที่เป็นทุนเก่าอยู่แล้ว ก็เลยสนใจเรื่องการปลูกผัก โดยเริ่มจากผักสวนครัวและผักใบ เช่น ต้นหอม พริก คะน้า กวางตุ้ง ผักชี แตงกวา แตงร้าน โดยมีการจัดการดูแลด้วยสารเคมีเป็นหลัก

ทีมงานช่วยกันทำงานอย่างขะมักเขม้น

แต่พอหลังจากปลูกผักแบบเคมีได้เป็นระยะเวลา 2 ปี ก็ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและหันมาปลูกผักอินทรีย์แทน และยังคงปลูกผักสวนครัวเหมือนเดิม เพียงแต่มีในส่วนของผักสลัดเข้ามาปลูกเพิ่ม และยึดการปลูกผักสลัดสร้างรายได้หลัก ส่วนการปลูกผักสวนครัว ผักใบ และมะเขือเทศ สร้างรายได้รอง เป็นการปลูกลงดินในระบบแปลงเปิดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่สำหรับปลูกมะเขือเทศราชินีในโรงเรือน

ผักสลัดกรีนโอ๊ค ขึ้นเป็นแถวสวยงาม
กรีนโอ๊ค ช่อใหญ่ สีสวย น้ำหนักดี

“อย่างที่บอกว่าผมเริ่มปลูกผักตั้งแต่ตอนที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเรียนไปด้วยปลูกผักไปด้วย ก็เริ่มปลูกจากพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ถือว่าเป็นจำนวนพื้นที่ไม่น้อยสำหรับการเรียนไปด้วย อาศัยว่าแปลงผักอยู่ในบริเวณบ้าน ควบคู่กับการมีวินัย ตื่นให้เช้าเพื่อมีเวลาสำหรับดูความเรียบร้อยในแปลงผัก ตอนเย็นเลิกเรียนกลับมาจัดการดูแลแปลงผักต่อ ไม่ต้องอยู่ดูแลทุกวัน แต่เน้นความสม่ำเสมอ และเอาใจใส่กับการทำงานทุกวินาทีที่ได้ลงแปลง ทำให้ผมประสบความสำเร็จและมีการขยายแปลงปลูกมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันผมมีพื้นที่ปลูกผักทั้งหมด 40 ไร่ ใช้แรงงานในการดูแลทั้งหมด 4 คน ผมมีหน้าที่วางแผนจัดการภาพรวม แจกจ่ายงานลูกน้อง รวมถึงดูแลคุณภาพของผลผลิต และการป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงเป็นหลัก”

กรีนคอส รสชาติหวาน กรอบ
เรดโอ๊ค พุ่มใหญ่ สีแดงสด น่ารับประทาน

และนอกจากแปลงปลูกของตนเองแล้ว คุณเต๋า อธิบายเพิ่มเติมในส่วนของวิสาหกิจชุมชนว่า ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ด่านมะขามเตี้ย มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 8 คน มีพื้นที่ทำการเกษตรรวมทั้งหมดประมาณ 100 กว่าไร่ ปลูกพืชผักหลายชนิด ทั้งผักสวนครัว ผักใบ ผักสลัด และอื่นๆ อีกมากมาย โดยจุดประสงค์หลักของการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ก็เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น รวมไปถึงเพิ่มอำนาจการต่อรองตลาด เพราะเรามีปลายทาง เพียงแค่เราทำต้นทางให้เสถียร และยึดความซื่อสัตย์ในการดำเนินกิจการ

วางแผนเพาะปลูก เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ 

จัดการพื้นที่ 40 ไร่ ผลิตผักส่งห้าง สัปดาห์ละ 200-300 กิโลกรัม

เมื่อถามถึงเทคนิคการดูแลจัดการแปลงยังไงให้มีผลผลิตอย่างสม่ำเสมอ คุณเต๋า บอกว่า สำคัญที่สุดคือการคำนวณตั้งแต่การเพาะต้นกล้าว่าจะต้องเพาะจำนวนกี่ต้น ยกตัวอย่างที่ฟาร์มจะปลูกผักสลัดหลักๆ อยู่ 8 ชนิด ได้แก่ กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค เรดคอรัล กรีนคอส เรดคอส ฟินเลย์ บัตเตอร์เฮด และสลัดแก้ว การเพาะต้นกล้าจะเพาะในถาดเพาะ 200 หลุม และคำนวณน้ำหนักต่อต้น จากต้นกล้าที่เพาะ ก็เท่ากับว่าต้นกล้า 200 ต้น จะได้ผักออกมาประมาณ 40 กิโลกรัม

มะเขือเทศที่ปลูกไว้ในโรงเรือน
พริกหวานก็ปลูก แถมได้ผลผลิตดีด้วย

“สมมุติถ้าอยากให้ผักคอสมีผลผลิตให้เก็บวันละ 20 กิโลกรัม ก็วางแผนการปลูกอาทิตย์ละครั้ง หรืออาจจะปลูก 5 ถาดต่อชนิด การเพาะเมล็ด เพาะในถาดหลุม 200 หลุม เพาะไว้ 10-15 วัน แล้วย้ายลงดินแปลงปลูกอีก 30-35 วันสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้”

ผักชี พืชผักสวนครัวที่ขาดไม่ได้
มะเขือเปราะ ผักพื้นบ้าน สรรพคุณเป็นยา

จากนั้นเมื่อวางแผนการเพาะกล้าเรียบร้อยแล้ว มาให้ความสำคัญที่ดินในอันดับถัดมา เพราะการทำเกษตรปลูกพืชหากดินไม่ดีต่อให้จะวางแผนการปลูกที่ดีแค่ไหนผลผลิตก็ไม่สามารถออกมาได้อย่างสม่ำเสมอและตรงความต้องการของตลาด เพราะฉะนั้นที่ฟาร์มจึงให้ความสำคัญในขั้นตอนการเตรียมดินเป็นอย่างมาก

พริก พืชผักที่คนไทยขาดไม่ได้
แตงร้าน ผลตรงสวย เป็นที่ต้องการของตลาด

การเตรียมดินปลูกแบบอินทรีย์ คือการหมั่นเติมแร่ธาตุให้กับดินเสมอ พอตัดเสร็จก็ต้องโรยปุ๋ยหมัก พักดินกลบไว้ประมาณนี้เริ่มต้นจากการไถเตรียมดิน โรยด้วยปุ๋ยหมักแล้วกลับดินทิ้งไว้ 10 วัน หลังจากนั้นเตรียมขึ้นแปลงปลูก หลังเตรียมแปลงเสร็จใช้ใบอ้อย ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นมาคลุมหน้าดินเพื่อกักเก็บความชื้น แล้วย้ายต้นกล้าลงหลุมปลูกในระยะความห่างระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร เป็นระยะห่างที่กำลังเหมาะสม เพราะถ้าปลูกในระยะถี่กว่านี้การเจริญเติบโตของผักจะไม่ดีเท่าที่ควร”

ล้างทำความสะอาด คัดเลือกผลผลิตเตรียมส่งห้าง 

การดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ย

ที่สวนจะติดตั้งระบบสปริงเกลอร์เปิดรดน้ำทุกวันเช้า-เย็น ยกเว้นในกรณีที่ฝนตก ส่วนการใส่ปุ๋ยไม่มีอะไรมากมายเนื่องจากได้บำรุงไปในขั้นตอนการเตรียมดินแล้ว หลังจากนั้นจะดูแลฉีดพ่นเฉพาะปุ๋ยทางใบ ด้วยการฉีดพ่นน้ำหมักปลาทุก 7 วัน ควบคู่กับการใช้บิวเวอเรีย และบาซิลัส หรือบีที ฉีดพ่นทุก 7 วัน เพื่อป้องกันกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืช ซึ่งนอกจากหนอนและแมลงศัตรูพืชที่ต้องระวังแล้ว หญ้าคือวัชพืชสำคัญของการปลูกผักสลัด ผู้ปลูกต้องหมั่นถอนหญ้าสม่ำเสมอ เพื่อให้ผักโตขึ้นมาทรงสวยและน้ำหนักดี และมีข้อแนะนำว่าหากปลูกผักสลัดในช่วงหน้าร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงสิงหาคม ให้กางซาแรนกรองแสง 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วงหลังจากย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูก 20 วันแรก พอหลังจาก 20 วันไปแล้ว ให้ม้วนซาแรนเก็บไว้ใช้ในครั้งถัดไป ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการปลูกผักสลัดหน้าร้อน

แพ็กใส่ถุงแบบนี้

ปริมาณผลผลิต เฉพาะของที่ฟาร์มเก็บผลผลิตเฉพาะผักสลัดได้วันละ 20-30 กิโลกรัม แล้วนำผลผลิตไปรวมกับของสมาชิกเพื่อรวบรวมส่งให้กับห้างแม็คโครและโลตัส โดยจะมีการตัดส่งทุกวัน “เช้าตัด เย็นแพ็ก กลางคืนส่ง เช้าถึงห้าง” ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในราคากิโลกรัมละ 100-120 บาท ซึ่งนอกจากผักสลัดแล้ว ที่ฟาร์มและสมาชิกในกลุ่มยังมีในส่วนของพืชผักสวนครัวอีกหลายชนิดที่เก็บส่งห้างอีกรวมๆ แล้วกว่าสัปดาห์ละ 2 ตัน หรือเฉลี่ยมีการส่งผักวันละ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน

กวางตุ้ง พืชผักขายดี

รายได้ต่อสัปดาห์ ในส่วนของที่ฟาร์มเฉลี่ยวันละ 20,000 บาท เมื่อเทียบกับต้นทุนการปลูกการดูแลไม่ถึงครึ่ง ส่วนของกลุ่มรายได้เข้ากลุ่มต่อสัปดาห์ ประมาณ 2 แสนบาท ซึ่งการที่จะเกษตรกรอยากจะมีตลาดรองรับที่มั่นคง ต้องเริ่มต้นจากตัวเราก่อน คือการทำแปลงให้ได้มาตรฐานอย่างน้อยเริ่มจากมาตรฐาน GAP แล้วค่อยยกระดับสร้างมาตรฐาน Orgnic Thailnd รวมถึงการแพ็กสินค้า ต้องได้รับรองมาตรฐาน ควบคู่กับความสม่ำเสมอของผลผลิต เพราะถ้าผลผลิตทำได้ไม่สม่ำเสมอ ก็จะสร้างความเสียหาย และเสียโอกาสด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ข้าวโพดอ่อน ตัดแต่งให้เรียบร้อยก่อนแพ็กใส่ถุง

“ทุกวันนี้ที่ผมมีเงินดูแลครอบครัวให้อยู่อย่างสุขสบายได้ก็มาจากอาชีพเกษตร และอีกอย่างคือการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น ก็มาจากความขยันหมั่นเพียรและความซื่อสัตย์ของทุกคน คือเรารักษาคุณภาพ มีวินัยต่อตัวเอง ต่อลูกค้า แล้วลูกค้าจะนึกถึงเราเอง” คุณเต๋า กล่าวทิ้งท้าย

แพ็กสินค้าเรียบร้อย เตรียมส่งถึงจุดหมายปลายทาง

หากท่านใดสนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้เบอร์โทร. 085-944-7168