ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะม่วง พืชเศรษฐกิจ Soft Power ที่ประเทศไทยมีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยตลาดส่งออกมะม่วงสดที่สำคัญของไทยคือ มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน รัสเซีย ลาว และเมียนมา ส่วนมะม่วงกระป๋องมีตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ที่ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี
ซึ่งแม้ว่ามะม่วงจะเป็นผลไม้ที่มีความต้องการบริโภคสูง และมีการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ แต่เกษตรกรภายในประเทศก็ยังคงประสบกับปัญหากับราคาผลผลิตที่ตกต่ำ หรือประสบกับปัญหาราคาที่ผันผวนอยู่ทุกปี เช่น ในบางปีมะม่วงราคาดีมากๆ เกษตรกรมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และในบางปีราคาของผลผลิตแย่มากจนทำให้เกษตรกรเจ๊งไปตามๆ กัน จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ลูกหลานเกษตรกรหากไม่ขยาดกับอาชีพนี้ไปเลย ก็กลับกลายเป็นความฮึกเหิมขึ้นมา อย่างสาวจุฬาฯ ท่านนี้ ที่ตัดสินใจเลือกเรียนทรัพยากรการเกษตร เพื่อกับการพัฒนาสวนมะม่วงของพ่อ และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้เจริญก้าวหน้ามากกว่าเป็นเพียงสวนมะม่วง นำไปสู่ Farm Destination สวรรค์ของคนรักมะม่วงในปัจจุบัน
คุณแนน-วราภรณ์ มงคลแพทย์ ผู้ก่อตั้ง บ้านหมากม่วง KhaoYai The Mango House Farm ตั้งอยู่ที่ 60/3 หมู่ที่ 5 ซอยบ้านเขาแคบ ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ลูกหลานเกษตรกรโดยสายเลือด นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้พัฒนาสวนมะม่วงของพ่อ จากเดิมที่ปลูกและขายส่งอย่างเดียว ราคาจะได้เท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางจะให้ แต่ปัจจุบันสวนมะม่วงแห่งนี้ มีลูกสาวคนเก่งที่จบจากรั้วจุฬาฯ เข้ามาสานต่อและพัฒนาให้สวนมะม่วงแห่งนี้กลายเป็นฟาร์มในฝัน ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว
คุณแนน เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่กว่าจะมาเป็นบ้านหมากม่วงที่ทุกคนได้เห็นอย่างทุกวันนี้ ค่อนข้างมีความเป็นมาที่ยาวนานมาก คือเริ่มจากพื้นฐานของครอบครัวที่เป็นเกษตรกรมานานมากแล้ว เริ่มต้นจากยุคคุณพ่อคุณแม่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ซึ่งเดิมทีท่านทั้งสองก็ไม่ได้ปลูกมะม่วงเป็นอย่างแรก แต่จะปลูกเป็นไม้ผลหลากหลาย พืชไร่ พืชสวนอื่นๆ แล้วจึงค่อยมาจับทางปลูกมะม่วงได้จนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้คุณพ่อจึงเลือกที่จะปลูกมะม่วงเป็นอาชีพหลักมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 35 ปี จึงเรียกได้ว่าตนเองเกิดและเติบโตมาท่ามกลางสวนมะม่วงของพ่อ ทำให้มีโอกาสได้เห็นทั้งในปีที่ครอบครัวประสบความสำเร็จมากๆ และปีที่ล้มเหลวจากการทำสวนมะม่วง เพราะการทำเกษตรไม่สามารถไปจัดการทุกสิ่งทุกอย่างได้ โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศ ที่ต่างกันในทุกๆ ปี จะทำได้ดีที่สุดแค่การวางแผนจัดการฟาร์ม การจัดการธาตุอาหารพืช แต่หลังจากนั้นสภาพผลผลิตจะเป็นอย่างไร ราคาผลผลิตในตลาดจะได้เท่าไหร่ ไม่สามารถกำหนดเองได้
ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นจุดประกายความคิดที่ว่า “แนนจะสามารถช่วยพ่ออย่างไรได้บ้าง ที่จะไม่ให้พ่อโดนพ่อค้าแม่ค้าคนกลางกดราคาผลผลิต และไม่ต้องมาเจอกับสถานการณ์ที่มะม่วงไม่สวยแล้วจะไปขายให้ใคร” จึงเป็นการตัดสินใจตั้งแต่ยังเด็ก คือหลังจากเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ได้เลือกสอบเข้าสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกแปรรูปและความปลอดภัยอาหาร เพื่อจะกลับมาพัฒนาสวนมะม่วงของที่บ้าน และทำให้ธุรกิจของที่บ้านไปไกลมากกว่าการเป็นเพียงสวนมะม่วง
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแนนตั้งใจมากและจะไม่ยอมให้เวลาที่ผ่านไปแต่ละวันเสียเปล่า เริ่มตั้งแต่ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย แนนให้อาจารย์ช่วยทำสูตรขนมเก็บไว้ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนอยู่แล้วว่าเราจะกลับมาทำอะไร ดังนั้น เวลาเรียนก็คิดอยู่เสมอว่า แต่ละอย่างเราจะเอาไปประยุกต์ใช้กับที่บ้านยังไงได้บ้าง แล้วก็เริ่มกลับมาทำบ้านหมากม่วงตั้งแต่ปีที่เรียนจบ คือปี 2015 แล้วมาเริ่มทำจากร้านเล็กๆ”
บ้านหมากม่วงเขาใหญ่ จุดเริ่มจากห้องแถวเล็กๆ
สู่ Farm Destination สวรรค์ของคนรักมะม่วง
คุณแนน บอกว่า หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยก็ตัดสินใจมุ่งหน้ากลับบ้านเพื่อมาทำตามความฝันที่ตั้งใจไว้อย่างเต็มที่ โดยการเริ่มต้นไปกู้เงินจากธนาคารมาเช่าห้องแถวเล็กๆ เพื่อพิสูจน์ให้พ่อกับแม่เห็นว่าธุรกิจที่ตั้งใจทำจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เนื่องจากในช่วงแรกพ่อกับแม่ไม่เห็นด้วยกับการที่เรากลับบ้านมาทำเกษตร เพราะไม่อยากให้เรากลับมาลำบากเหมือนที่เขาเคยประสบมา เพราะฉะนั้นตัวเราก็ต้องกลับมาพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะสามารถช่วยครอบครัวแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนจริงๆ
“หลังจากแนนเรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่บ้าน นอกจากพ่อกับแม่จะยังไม่เห็นด้วยแล้ว แนนยังเจอคำพูดของคนแถวบ้านที่ส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จบจุฬาฯ เสียดายความรู้ กลับมาเป็นแม่ค้าข้างถนน พอเราได้ยินก็เสียกำลังใจนิดหน่อย แต่ไม่ยอมแพ้ เราก็สู้ด้วยการเคารพในความคิด ความเชื่อของเรา เพราะถ้าแม้แต่ตัวเราเองยังไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ก็ไม่มีใครเห็นแล้ว ดังนั้น เราผ่ามาด้วยความเคารพตัวเอง เราก็สู้เก็บลูกค้ามาจากห้องแถวห้องเล็กๆ เพียงห้องเดียว ขายผลผลิตทุกๆ อย่างที่มีในสวน แล้วทำขนมหวาน ของแปรรูปจากมะม่วง แล้วค่อยๆ เก็บลูกค้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ยังขายได้ไม่มากพอที่จะช่วยพ่อได้ เพราะสุดท้ายแล้วพ่อก็ยังต้องนำผลผลิตกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ไปขายส่งในตลาดส่งอยู่ดี ก็เลยเป็นที่มาของการคิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการรีแบรนด์จากช้อปแบรนด์อย่างเดียว มารีแบรนด์เป็น Destination Branding เพื่อทำให้ร้านเป็นที่ดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น ทำให้ทุกคนอยากมาที่นี่ อยากมาเห็นแปลงผลิตของเรา อยากมานั่งทานมะม่วงท่ามกลางหุบเขา พร้อมกับความรู้สึก Fresh From Farm ที่ลูกค้าจะได้มากกว่าการซื้อมะม่วงตามร้านทั่วไป จึงกลายมาเป็น บ้านหมากม่วง อย่างที่ทุกคนเห็นในวันนี้”
“บ้านหมากม่วง” สถานีเพิ่มมูลค่า
สำหรับมะม่วงทุกๆ ลูกของครอบครัว
เมื่อให้คุณแนนนิยามความเป็นบ้านหมากม่วงให้ฟัง คุณแนน บอกว่า สำหรับนิยามความเป็นบ้านหมากม่วง เรียกว่าเป็นสถานีเพิ่มมูลค่า สำหรับมะม่วงทุกๆ ลูกของพ่อ ในแปลงปลูกของครอบครัวเรา ซึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาอาจจะเห็นบ้านหมากม่วงเป็นเพียงฟาร์มคาเฟ่ แต่เบื้องหลังการทำงาน และทุกๆ วิธีคิดของเราล้วนแล้วมาจากที่เราพยายามคิดทำยังไงให้เราสามารถขายมะม่วงได้ในราคาที่ดีขึ้น ไม่ต้องไปเผชิญกับปัญหาพ่อค้าแม่ค้าคนกลางกดราคา หรือประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน ดังนั้น บ้านหมากม่วงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าเพิ่ม เพื่อทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของเราได้เอง
โดยจุดแข็งของบ้านหมากม่วง อยู่ที่ความรู้ความเชี่ยวชาญตลอดห่วงโซ่ของการผลิต หมายถึงการเป็นทั้งผู้ผลิตเอง เป็นทั้งผู้แปรรูปเอง และจำหน่ายด้วยตัวเอง คือทำทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รวมไปถึงบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในสิ่งที่กำลังทำอยู่ และคุณพ่อผู้ที่มีประสบการณ์การทำสวนมะม่วงมายาวนานกว่า 35 ปี ดังนั้น 35 ปี ของคุณพ่อเป็นอะไรที่ไม่มีใครสามารถมาแทนที่ได้
“หนึ่งคือประสบการณ์ของพ่อ สองคือแนนมาเติมเต็มในส่วนของความรู้การแปรรูป การทำการตลาด ที่เป็นกลางน้ำ กับปลายน้ำ แล้วความเชี่ยวชาญทั้งหมดนี้ที่เรามี ทำให้เราสามารถผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพได้ แล้วคนที่เป็นกลางน้ำกับปลายน้ำ ก็สามารถที่จะคัดเลือกผลผลิตที่มีคุณภาพได้ เรียกได้ว่าเรารู้ว่ามะม่วงที่ดีคืออะไร ไม่ต้องให้ลูกไปเผชิญเหตุเลือกเอง หรือแม้กระทั่งในการเอาผลผลิตมาแปรรูป เราก็สามารถที่จะเลือกผลผลิตที่มันใช่ที่สุดสำหรับเอามาแปรรูปเป็นสิ่งนั้น เพราะเรารู้จักสิ่งที่ทำอยู่จริงๆ แล้วก็ตั้งใจส่งต่อผลผลิตที่ดีที่สุดให้ลูกค้า”
มะม่วง 250 ไร่ ผลผลิต 2 แสนผลต่อปี
ปลูกเอง ขายเอง แปรรูปเอง ครบวงจร
เมื่อเอ่ยถึงที่มาของบ้านหมากม่วงไปแล้ว ทีนี้เรามาศึกษาถึงการทำงานหลังบ้านของบ้านหมากม่วงกันบ้างดีกว่า โดยคุณแนน บอกว่า สวนมะม่วงของครอบครัวเริ่มต้นด้วยการเป็นสวนมะม่วงแปลงเล็กๆ บนพื้นที่ 30 ไร่ แล้วหลังจากนั้นคุณพ่อก็ได้นำเงินที่ได้จากการขายมะม่วง มาซื้อพื้นที่เพิ่มเพื่อปลูกมะม่วงต่อไปเรื่อยๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าเราเกิดมาในยุคที่พ่อกับแม่สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างทุกอย่างมาจากมะม่วง จนปัจจุบันเรามีพื้นที่ปลูกมะม่วงอยู่ในเขตอำเภอปากช่อง ทั้งหมด 250 ไร่ ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ประมาณ 8,500 ต้น ผลผลิตต่อปีขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ การจัดการฟาร์ม และโรคแมลง แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนผลต่อปี
ซึ่งเดิมทีผลผลิตของที่สวนทั้งหมดจะขายส่งเข้าตลาดสี่มุมเมือง 80 เปอรเซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกผ่านบริษัทส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันบ้านหมากม่วงเข้ามามีบทบาท ในการทำตลาดมากขึ้น คือการขายเอง กำหนดราคาเอง เพราะจริงๆ แล้วเกษตรกรทุกคนทำมะม่วงส่งออกก็เพื่อให้ได้ราคาที่ดีขึ้น ทางฟาร์มจึงพยายามทำคุณภาพให้ได้มาตฐานการส่งออก ทุกอย่างก็เพื่อให้ได้ราคาที่ดีขึ้น แต่การที่มาทำหน้าร้านเอง ขายปลีกเอง ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ได้ในราคาที่ดีขึ้น และในบางช่วงสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่ดีกว่าการส่งออกด้วยซ้ำ
ดังนั้น ที่ฟาร์มจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการส่งออก แต่มาทำในวิถีทางที่จะทำให้ผลผลิตได้ราคาดีที่สุด ณ ปัจจุบันที่ฟาร์มขายผลผลิตผ่านวิธีการของแบรนด์เองประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิต แล้วที่เหลือคือในช่วงฤดูกาลที่มะม่วงออกมาพร้อมกันในจำนวนเยอะๆ ก็จะมีแค่ตอนนั้นที่จำเป็นจะต้องนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดสี่มุมเมือง หรือเอาไปแปรรูปบ้าง แต่โดยมากจะเป็นการขายด้วยหน้าร้านของเราเอง จำหน่ายทั้งผลสด และนำไปแปรรูปเป็นขนมต่างๆ ทั้งขนมหวานที่เสิร์ฟหน้าร้าน และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่สามารถเก็บไว้ได้นานๆ
“ผลิตภัณฑ์แปรรูปของบ้านหมากม่วงจะมีทั้งส่วนที่เป็นขนมหวานของฟาร์มอันนี้เราก็จะเสิร์ฟสดๆ ที่หน้าร้านทุกวัน มีทั้งข้าวเหนียวมะม่วง ไอศกรีมมะม่วง มะม่วงปั่น พุดดิ้งมะม่วง และซิกเนเจอร์ที่ดังมากๆ คือ มะม่วงย่างเนยหน้ากรอบ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปสามารถเก็บไว้ได้ที่ส่งขายที่อื่นได้ด้วย ก็จะมีมะม่วงอบแห้ง มะม่วงอบกรอบ มะม่วงกวน แยมมะม่วง มะม่วงลอยแก้ว และบางผลิตภัณฑ์เราสามารถเก็บมะม่วงมาทำได้ ซึ่งเป็นมะม่วงคุณภาพดีที่สุด และปริมาณเยอะที่สุด ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นแรกที่เราใช้ผลผลิตที่แก้ปัญหาสินค้าล้นตลาดได้ด้วย ไม่ต้องเอาเข้าตลาดไปเจอโลละ 5 บาท เราก็เอามาทำสินค้าแปรรูป เก็บขายได้ตลอดทั้งปี”
ความภูมิใจที่ได้เป็น “เกษตรกร”
“ต้องบอกว่าเรามีความเป็นเกษตรกรอยู่ในสายเลือด เพราะว่าเราเกิดและเติบโตมากับสิ่งนี้ ดังนั้น คนที่เป็นลูกหลานเกษตรกรทุกคนเคยเจอ อาชีพของพ่อแม่เรากับการถูกมองจากคนในสังคมที่ไม่ได้มองว่าอาชีพนี้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากเท่าไหร่ แต่สำหรับเราเราอยู่กับอาชีพนี้มาตั้งแต่เกิด เราจึงเคารพและภูมิใจกับอาชีพการเป็นเกษตกรมากๆ และเป็นเรื่องที่เรามักจะเล่าให้คนอื่นฟังเสมอว่า ตอนเด็กๆ อายุประมาณ 5-6 ขวบ ก็คือต้องไปช่วยป้าขายผลไม้ที่แผงข้างทางแล้ว อันนั้นคือชีวิตแนนตอนเด็กมีผลไม้อะไรก็เอาไปขาย ไม่มีบ้านของตัวเองอยู่ แต่พอมาเทียบกับวันที่แนนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย พ่อมีทุกๆ อย่าง มีที่ไปจนถึง 250 ไร่ ช่วงเวลาแค่นั้นทุกๆ อย่างสร้างมาด้วยมะม่วงของพ่อ ดังนั้น แนนไม่ได้สนใจว่าคนอื่นมองยังไง แต่เรารู้ว่าเราเติบโตมาด้วยอะไร และมันคือความภูมิใจที่อยู่ในชีวิตของเราจริงๆ ดังนั้น ตรงนี้แหละที่ทำให้เราเลือกสิ่งนี้ให้กับชีวิต ที่ถึงแม้ว่าเราจะมีทางอื่นๆ มากมาย แต่เราพยายามกลับมาสู้ทุกอย่างเพื่อให้มะม่วงของพ่อยังคงอยู่ เพื่อให้เรายังสามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้ เพราะว่าเรายังอยากที่จะยืนหยัดอยู่ในอาชีพนี้อยู่ ยังอยากเห็นพ่อมีความสุขที่จะไปทำมะม่วง และได้เห็นผลผลิตออกมา แนนเลยมีความสุขที่ยังมุ่งมั่นที่จะทำ ยังอยากจะขายต่อไป ยังอยากจะทำให้มะม่วงของพ่อต่อไป อยากให้ทุกคนมาเห็นว่าแปลงผลิตของเราเป็นยังไง อันนี้คือสิ่งที่อยู่ข้างในที่มากไปกว่าการที่เราซื้อขายมะม่วงกับลูกค้าแล้วเราได้เงินมา แต่มันคือความสุขทางใจในทุกๆ วัน ที่เห็นลูกค้าเข้ามาซื้อผลผลิตของเรา แล้วแฮปปี้กลับไป” คุณวราภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่เบอร์โทร. 094-521-1121 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : บ้านหมากม่วง KhaoYai The Mango House Farm