เจ๊นิดสี่มุมเมือง จากแม่ค้าขายผลไม้ สู่ธุรกิจปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ฟันรายได้วันละ 3 แสน

เจ๊นิด-คุณอุไร ภิรมย์พุ่ม หญิงแกร่งเจ้าของร้านบ้านสวนไฮโดรฟาร์ม จำหน่ายผักไฮโดรโปนิกส์ ปลีก-ส่ง อยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง อาคารผักพื้นบ้าน ซอย 4/34 ผู้สวมบทบาทเป็นทั้งเกษตรกร แม่ค้า และนักธุรกิจค้าส่งในเวลาเดียวกัน

โดยเจ๊นิด เล่าให้ฟังว่า อาชีพดั้งเดิมเป็นแม่ค้าขายผลไม้มาก่อน ทำมานานกว่า 14 ปี จนกระทั่งในปี 54 มาเจอกับวิกฤตน้ำท่วมอย่างหนัก จนทำให้เกือบล้มละลาย สวนผลไม้เสียหายทั้งหมด ด้วยพื้นที่ปลูกที่อยู่ที่อำเภอลาดหลุมแก้วเป็นพื้นที่รับน้ำ ทำให้ต้องเลิกราอาชีพทำสวนผลไม้ไป ซึ่งในช่วงนั้นคิดหนักมากว่าจะทำอะไร สุดท้ายตัดสินใจปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพราะมองไปเห็นเพื่อนบ้านปลูกแล้วน่าสนใจ จึงลองไปเสริชข้อมูลการปลูกจากในยูทูบ และเริ่มทดลองปลูกผักสลัดจากพื้นที่เล็กๆ เพียง 10 แปลง เมื่อได้ผลผลิตออกมาก็นำไปขายที่ตลาดนัดใกล้บ้าน แล้วก็ได้เสียงตอบรับจากลูกค้าไปในทิศทางที่ดี มาประกอบกับที่มีฐานลูกค้าเดิมที่เคยซื้อผลไม้มาก่อนแล้ว จึงได้ต่อยอดการตลาดจากลูกค้าฐานเดิม โดยการสอบถามความต้องการของแต่ละเจ้าว่ามีใครต้องการผักสลัดมากน้อยแค่ไหน ก็กลายเป็นว่ามีลูกค้าที่ต้องการผลผลิตอีกเป็นจำนวนมาก

เจ๊นิด-คุณอุไร ภิรมย์พุ่ม เจ้าของร้านบ้านสวนไฮโดรฟาร์ม ตลาดสี่มุมเมือง

“พอลูกค้าเพิ่มมากขึ้น เจ๊ก็ขยายแปลงปลูกเพิ่มขึ้น จาก 10 โต๊ะ เพิ่มขึ้นมาเป็น 80 โต๊ะ พอได้ผลผลิตออกมาก็นำไปส่งตามลูกค้าที่สั่งจองไว้ แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของตลาดอีกอยู่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าช่วยกันบอกปากต่อปากด้วยว่า ผักของเราดี สวย มีคุณภาพ หลังจากนั้นก็มีลูกค้าติดต่อมาเรื่อยๆ แล้วพอรายได้เริ่มมีมากขึ้น เจ๊ก็เริ่มมองเห็นลู่ทางในการต่อยอดธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการย้ายฐานการผลิตจากลาดหลุมแก้ว ขึ้นมาปลูกที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้มีอากาศดีเหมาะสมกับการปลูกผัก แรงงานหาง่าย และมีพื้นที่มากพอสำหรับการขยายพื้นที่ปลูกได้ตามความต้องการ โดยถึงปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทั้งหมด 32 ไร่ และกำลังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นปลูกสมุนไพรฝรั่งอีกจำนวน 6 ไร่ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม”

แปลงปลูกผักสลัดของเจ๊นิดที่เขาค้อ บรรยากาศดี แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ 32 ไร่
เก็บผลผลิตวันละ 400-500 กก./ต่อวัน

เจ๊นิด บอกว่า การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากแต่ก็ไม่ง่าย เพียงต้องทำความเข้าใจกับพืชที่ปลูกก็จะสามารถทำได้ โดยที่ฟาร์มของเราจะใช้วิธีการปลูกแบบระบบ NFT เป็นระบบปลูกพืชด้วยระบบราง โดยพืชจะแช่รากอยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายจะไหลเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ ในรางปลูก หรือระบบน้ำตื้น และหมุนเวียนระบบน้ำด้วยปั๊ม ข้อดีก็คือ 1. ดูแลง่าย ไม่ยุ่งยาก และไม่จำเป็นต้องมีเครื่องควบคุมการให้น้ำเนื่องจากระบบนี้จะมีการให้น้ำแก่ผักไฮโดรโปนิกส์ตลอดเวลา

2. ให้ผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี ต่างจากการปลูกลงดิน ที่หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต จะต้องมีการปรับปรุงบำรุงดิน ตากดินทิ้งไว้ก่อน แล้วจึงจะสามารถปลูกใหม่ได้ แต่การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไม่ต้องกังวลในเรื่องวัชพืช หรือเชื้อราในดิน

3. ง่ายต่อการจัดการ สามารถคำนวณปริมาณผลผลิตล่วงหน้าได้ และใช้คนงานน้อยกว่าการปลูกผักลงดิน

สภาพภูมิอากาศเหมาะสม กับการปลูกผักสลัดสร้างรายได้

ข้อเสียคือ ใช้เงินลงทุนสูงตั้งแต่ครั้งแรก เพราะฉะนั้นอยากแนะนำสำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่สนใจอยากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ คือให้เริ่มปลูกจากพื้นที่น้อยๆ ก่อน โดยต้นทุนการปลูกผักต่อโต๊ะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ลงทุนปลูกสัก 3-5 โต๊ะ เพื่อหาคำตอบว่าตนเองรักและชอบในการปลูกผักจริงๆ หรือไม่ และเพื่อศึกษาหาตลาด แล้วถ้าหากว่าชอบจริงๆ ประกอบกับหาตลาดรองรับได้แล้ว จึงค่อยขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม เพราะการปลูกผักสลัดคืนทุนง่าย ปลูก 2-3 รอบคืนทุนแล้ว แต่ถ้าใครอยากจะปลูกเยอะก็ต้องเข้าสู่ระบบค้าส่งต่อไป

วิธีการปลูก เริ่มจากการเพาะเมล็ดในฟองน้ำ พอครบ 3 วันต้นกล้าจะเริ่มงอกขึ้นมา ให้นำต้นกล้าที่เพาะไว้ออกมารับแสง เพื่อไม่ให้โคนต้นยาวจนเกินไปจะทำให้ผักที่โตออกมาทรงไม่สวย

ผักโตดี พุ่มใหญ่ สีสวย เห็นแล้วชื่นใจ

“ในตอนแรกที่เราเพาะกล้าจะต้องปิดให้มืด คือเพาะเมล็ดลงฟองน้ำ เสร็จแล้วจะซ้อนฟองน้ำทับกันประมาณ 10 ชั้น แล้วเอาไปไว้ในกล่องโฟม หรือบางคนสะดวกเพาะในห้องมืดก็ได้ เสร็จแล้วคอยรดน้ำไม่ให้ฟองน้ำแห้ง จากนั้นย้ายกล้าออกแดด ยิ่งถ้าหน้าร้อนต้นกล้าจะงอกไว เราต้องรีบออกแดดเพื่อให้ต้นกล้าออกมาสมบูรณ์ที่สุด โดยจะใช้เวลาในขั้นตอนเพาะกล้าประมาณ 10 วัน”

ผักสลัด “กรีนโอ๊ค” แข่งกันขึ้นสวยงาม

หลังจากเพาะกล้าครบ 10 วันแล้ว ทำการย้ายกล้าลงโต๊ะอนุบาล 2 ระยะความห่างระหว่างต้น 10 เซนติเมตร เพื่อให้มีพื้นที่ในการสร้างทรงต้น เพราะถ้าปล่อยให้อยู่ในฟองน้ำนานเกินไปต้นพืชจะเบียดแข่งกันรับแสง ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่สวย น้ำหนักไม่ดี โดยจะใช้เวลาอยู่ในโต๊ะอนุบาล 2 อีก เป็นระยะเวลาอีก 10 วัน แล้วทำการย้ายลงโต๊ะปลูกจริง ในระยะห่างระหว่างต้น 20-25 เซนติเมตร หลังจากนั้นอีกประมาณ 20-25 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ปลูกผักที่เขาค้อ ได้ผลผลิตคุณภาพมากๆ

“การดูแลน้ำ-ปุ๋ย ฟาร์มของเราปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ระบบน้ำวน เราจะเริ่มดูแลใส่ปุ๋ยตั้งแต่การเพาะเมล็ด อย่างต้นเล็กๆ ค่า EC จะน้อย อยู่ที่ประมาณ 800 ไม่เกิน 1,000 เพื่อที่จะให้พืชตั้งต้นได้ หลังจากนั้นพอพืชตั้งต้นได้ ใบเริ่มเยอะ พุ่มเริ่มใหญ่ ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการดูสภาพอากาศ แดดร้อน หรือฝนตก ใส่ปุ๋ยได้ไหม ใส่ได้ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน ผักถึงจะโต”

การควบคุมโรกรากเน่าโคนเน่าของผักสลัด นอกจากการดูแลน้ำบำรุงปุ๋ยแล้ว การควบคุมโรคและวัชพืชถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยการปลูกผักสลัดโรคพืชที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งมีวิธีการแก้ปัญหาของฟาร์มเบื้องต้นจะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรืออีกวิธีคือการเปลี่ยนปุ๋ย แก้ปัญหา โดยโรครากเน่าโคนเน่าส่วนใหญ่จะเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ประกอบกับในหน้าร้อนทำให้ผักโตช้า จากที่เคยใช้เวลาปลูกเพียง 40-45 วัน ก็จะต้องใช้เวลาปลูกยาวนานขึ้นเป็น 50-55 วัน

เรดคอรัล สีแดงสวย เก็บสดๆ ทุกวัน

“ทุกวันนี้ที่ฟาร์มของเราก็ยังเจอปัญหาโรกรากเน่าโคนเน่าอยู่ แต่เราทำมานานแล้วเราจึงรู้วิธีแก้ปัญหา คือพอเข้าหน้าร้อนเมื่อไหร่ เราจะเตรียมสปริงเกลอร์ไว้ บางโซนเป็นสปริงเกลอร์รดน้ำบนหลังคาเพื่อระบายอากาศ แต่ไม่ให้น้ำโดนผักโดยตรง และบางโซนจะเป็นการพ่นสเปร์หมอก เราก็จะมีวิธีการช่วยระบายอากาศทำให้อากาศเย็น ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละฟาร์มด้วย”

เรดโอ๊ค เจริญเติบโตอย่างสวยงาม ไม่มีที่ติ

ปริมาณผลผลิตต่อวัน เฉพาะของที่ฟาร์มพื้นที่ 32 ไร่ ผลผลิตออกเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 400-500 กิโลกรัมต่อวัน และถ้ารวมกับของลูกฟาร์มแล้ว ต่อวันต้องลงผักทั้งหมด 4 ตู้ ตู้ละ 700-800 กิโลกรัม หรือประมาณ 2-3 ตันต่อวัน รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ราคาขายหน้าร้านอยู่ที่ 100-110 บาทต่อกิโลกรัม ขายหมดทุกวัน หรือถ้าในกรณีที่เหลือแต่จะเหลือในจำนวนไม่มากต่อวัน ก็จะนำมาขายเป็นผักตัดราก แบ่งใส่ถุงขายราคา 20-30 บาทต่อถุง เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อผักราคาส่งได้ผักสดใหม่ทุกวัน

“วันหนึ่งเจ๊จะขายผักได้วันละประมาณ 4 ตู้ คิดเป็นเงินก็ได้ประมาณ 3 แสนบาทต่อวัน แต่เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายนะ ถ้าหักแล้วก็เหลือกำไรอยู่ประมาณ 3 แสนบาทต่อเดือน เจ๊มีหน้าร้านอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง มีลูกค้าทั้งซื้อปลีก-ส่ง รวมถึงมีพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อไปขายต่อในห้าง ตลาดสด โรงแรม และสายการบิน หรือพูดง่ายๆ ว่าผักของเจ๊นี่ไปอยู่แทบทุกที่เลยก็ว่าได้ เพราะเขามั่นใจในการทำงานของเราแล้ว”

วางแผนจัดการปลูกอย่างเป็นระบบ 

หัวใจหลักของการทำตลาด ยึดความซื่อสัตย์
และความสม่ำเสมอของสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อผู้เขียนถามถึงเทคนิคการทำตลาดของเจ๊นิดว่าทำยังไง เจ๊ถึงมาได้ไกลขนาดนี้ เจ๊นิดได้ถ่ายทอดประสบการณ์และแง่คิดให้ฟังว่า “อย่างแรกเลยคือเจ๊มีความโชคดีตรงที่อยู่ใกล้ตลาดค้าส่ง และได้คลุกคลีอยู่ในสายการตลาดมาตั้งแต่เด็กๆ เพาะฉะนั้นก็เหมือนมีคนรู้จัก เป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง เราจึงไปได้ไกล แต่นอกจากความโชคดีแล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องมีคือความกล้า เพราะการทำตลาดของเจ๊ก็เริ่มมาจากความกล้า ที่จะนำไปเสนอขายสินค้าของตัวเอง ร้านไหนที่มองว่าน่าจะใช้ผักของเราก็เดินเข้าไปถาม ทั้งร้านสเต๊กข้างทาง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร เจ๊ถามมาหมด คือเหมือนกับเราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วย ไม่ต้องกลัวโดนปฏิเสธ ถัดมาที่นอกเหนือจากความกล้าแล้ว คือเรื่องของความซื่อสัตย์ และความสม่ำเสมอของผลผลิต อย่างบนเขาค้อ เจ๊เปิดโอกาสให้กับทุกคนไม่ว่าจะปลูกเยอะปลูกน้อยส่งเจ๊ได้หมด ขอเพียงให้มีความซื่อสัตย์ต่อกัน เพราะเจ๊เคยเจอสถานการณ์อย่างเจ๊รับซื้อผลผลิตหน้าฟาร์มในราคากิโลกรัมละ 80 บาท แต่พอถึงเวลาที่ผักขาดๆ มีเจ้าอื่นมาขอซื้อคนที่เคยส่งประจำให้เรา แล้วให้ราคาดีกว่า หลายคนก็เอาไปส่งให้เจ้าอื่น แต่ถ้าทำแบบนี้ครั้งหน้าเจ๊ไม่ซื้อแล้ว เพราะหนึ่งเจ๊มีค่าขนส่ง หรือถ้าอยากได้ราคาเพิ่ม ก็ให้ลองคุยกันก่อน แต่ไม่เลือกที่จะบอก แล้วเอาไปส่งให้คนอื่นเลย ทีนี้พอเราขึ้นไปก็ไม่ได้ผัก ถ้าเรามีผักลงมาน้อยกว่า 600 โล เราขาดทุนในการขนส่งแล้ว หรือถ้าไม่ขาดทุน ก็กลายเป็นว่าจากค่าขนส่งโลละ 10-15 บาท เพิ่มเป็น 30 บาท แล้วเราก็เสียคน เสียคำพูด เพราะผักที่คุณพูดมาเราอาจจะมีลูกค้ารออยู่ข้างล่างแล้ว เพราะฉะนั้นความซื่อสัตย์สำคัญ ซึ่งหลายคนที่ไปไม่รอดกับอาชีพนี้เพราะความไม่ซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง” เจ๊นิด กล่าวทิ้งท้าย

บริเวณหน้าบ้านสวนไฮโดรฟาร์ม จำหน่ายผักไฮโดรโปนิกส์ ปลีก-ส่ง อยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง อาคารผักพื้นบ้าน ซอย 4/34

สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่กำลังจะเริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เจ๊นิด บอกว่า ยังเป็นอาชีพที่น่าสนใจอยู่มาก พร้อมกับลากเสียงยาว เพราะตลาดของผักสลัดค่อนข้างกว้าง ที่ไหนๆ ก็ต้องการ อย่างในช่วงโควิดที่ผ่านมาอาชีพอื่นๆ ได้รับผลกระทบ แต่การขายผักของเราที่ตลาดสี่มุมเมืองไม่กระทบเลย เพราะว่าที่นี่คือปากท้องของชาวบ้าน ประกอบกับที่ผักสลัดเป็นสินค้าที่คนรักสุขภาพต้องการเป็นอันดับต้นๆ และเกษตรกรท่านใดอยากโทร. ปรึกษาการตลาดและเทคนิคการปลูก เจ๊นิดยินดีให้คำปรึกษา สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 064-935-2045