สวน “นายกะเปี๊ยก” สุโขทัย ทำเกษตรผสมผสานเป็นอาชีพเสริม เป้าสร้างรายได้รายปี รายเดือน รายวัน

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน พบกันเป็นประจำในคอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย The challenge of small scale farmers” กับผม ดร.ธนากร เที่ยงน้อย หลายคนคงคิดเหมือนผมว่ารายได้คือสิ่งสำคัญ เพราะเราต้องใช้รายได้เลี้ยงลูก เลี้ยงเมีย การหารายได้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์เกือบทุกผู้ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาทำกันอยู่ตั้งแต่เช้ายันค่ำ หรือบางคนหาตั้งแต่ค่ำไปจนเช้า บางคนความรู้ดีมีการศึกษาและมีประสบการณ์อาจจะใช้เงินทำงานหารายได้ให้ไม่ต้องออกแรง แต่หลายคนที่ผมพบก็มีความสุขกับการใช้แรงและเวลาไปหารายได้กับการเกษตร ทั้งปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ กันไป คิดใหญ่แบบรายย่อย ฉบับนี้ผมจึงตั้งหน้าตั้งตาพาท่านมาถึงสุโขทัยเพื่อมาพูดคุยกับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่หารายได้เสริมจากการเกษตรได้อย่างน่าอิจฉา ไปกันเลยครับ

คุณอารีย์ กาเพ็ชร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เจ้าของสวนนายกะเปี๊ยก 

อาชีพเสริมของนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร

พาท่านมาที่สวน “นายกะเปี๊ยก” เลขที่ 39/3 หมู่ที่ 3 ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย มาพบกับ คุณอารีย์ กาเพ็ชร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย คุณอารีย์ เริ่มเล่าให้ฟังว่า ตนเองและสามีประกอบอาชีพรับราชการในสายงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เริ่มจากการทำงานที่คลุกคลีอยู่กับเกษตรกร ได้เห็นและรู้สึกอิจฉาเกษตรกรที่มีผลผลิตทางการเกษตรไว้กินเอง ปลูกข้าวกินเอง ไม่ต้องไปซื้อกิน ด้วยใจที่รักทางด้านเกษตรอยู่แล้ว ปี 2564 จึงตัดสินใจหาซื้อที่ดินทำการเกษตร โดยมีแนวคิดว่า “จะปลูกทุกอย่างที่กิน และจะกินทุกอย่างที่ปลูก” “เราจึงซื้อสวนมะม่วงพื้นที่ 5 ไร่ และขุดสระเลี้ยงปลา ทำบ้านสวน และเริ่มปลูกไม้ผลที่ตนเองชอบกิน โดยตั้งเป้าวางแผนให้มีผลไม้ออกทุกเดือน เพื่อจะได้มีผลไม้จากสวนเอาไว้กินทั้งปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม โดยระหว่างที่รอต้นไม้ผลโต เราก็ปลูกกล้วยน้ำว้าเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เมื่อเริ่มขายกล้วยได้ เราเริ่มมีตลาด มีกลุ่มลูกค้า จึงมีแนวคิดจะปลูกผักขาย เพื่อเป็นรายได้เสริม” คุณอารีย์ เล่า

ต้นอ่อนผัก ฝีมือของลูกสาวคุณอารีย์ 

ต้นอ่อนผัก ผักไฮโดรโปนิกส์ ดูแลง่าย ใช้พื้นที่น้อย

ก่อนจะเริ่มต้นการทำต้นอ่อนผัก คุณอารีย์ต้องวางแผนการผลิตเพื่อให้มีผลผลิตผักออกทุกสัปดาห์ และจะต้องเป็นผักที่ดูแลง่าย เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของเวลาเนื่องจากรับราชการ ดังนั้น จะต้องหาผักที่ดูแลง่าย ใช้พื้นที่น้อย “เราเริ่มศึกษาจากในยูทูบและในเฟซบุ๊ก ก็เริ่มสนใจผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งไม่ต้องใช้ดิน ไม่ต้องรดน้ำ เมื่อมีความรู้จึงมาลงมือทำ ลองผิดลองถูก จนเริ่มผลิตได้ ก็เริ่มทำตลาดโดยส่งขายที่ร้านขายผักปลอดสารพิษและขายในกลุ่มเพื่อนร่วมงาน ผลที่ได้คือเราได้การตอบรับดีมาก ผลผลิตไม่พอขาย ปัจจุบันกำลังขยายโรงปลูกผักเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า” เมื่อผักไฮโดรโปนิกส์เริ่มไปได้ดีคุณอารีย์จึงขยายการผลิต “ในระหว่างที่รอผักสลัดเราก็เพิ่มการผลิตผักงอกหรือต้นอ่อนผักขายเพิ่มขึ้นอีกทาง เนื่องจากต้นอ่อนผักสามารถออกสู่ตลาดได้ทุกๆ 7 วัน เพื่อรักษาลูกค้าของเราไว้ให้ต่อเนื่องในช่วงที่เราไม่มีผลผลิตผักไฮโดรโปนิกส์” คุณอารีย์ อธิบาย

โรงเรือนเล็กๆ ที่ใช้ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ของสวนนายกะเปี๊ยก 

ทำเกษตรผสมผสาน วางแผนมีรายได้ รายวัน รายเดือน รายปี

คุณอารีย์ เล่าว่า “แรงงานในการทำสวนจะใช้แรงงานของตัวเอง 2 คน สามี ภรรยา และมีลูกๆ มาช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เขาจะทำได้ ทุกอย่างที่เราทำจึงต้องคิดถึงเรื่องแรงงาน อย่างระบบน้ำเราใช้น้ำบาดาล สูบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ต่อระบบน้ำสปริงเกลอร์เข้าแปลง ควบคุมการให้น้ำผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อลดการใช้แรงงาน ส่วนการเลือกชนิดพืชและสัตว์ที่เอามาปลูกเลี้ยงจะดูจากความเหมาะสมของพื้นที่และเวลาในการจัดการ ต้องไม่กระทบต่องานประจำ พืชสัตว์แต่ละชนิดต้องเอื้อประโยชน์ต่อกัน เช่น เป็ด ไก่ ปลา ที่เราเลี้ยงจะใช้เศษผักที่เหลือจากผลผลิต ต้นกล้วย แหนแดงผสมกับอาหารสัตว์ ใช้เลี้ยง ในส่วนของผลผลิตอย่างที่บอกว่าเราวางแผนให้มีผลผลิตออกมาตลอดทั้งปี ผลผลิตของสวนนายกะเปี๊ยกจึงมีหลากหลาย เช่น

– ผักงอก ผักสลัด ผักอื่นๆ จะมีขายทุกวัน

– มะม่วง (น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น โชคอนันต์) จะออกขายช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

– กล้วยน้ำว้า จะออกขายช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน

– อ้อยคั้นน้ำ ขายทุกวันเสาร์ อาทิตย์ จันทร์ จนกว่าผลผลิตจะหมด (ปีละครั้ง) เนื่องจากมีเวลาตัดอ้อยแค่วันเสาร์และอาทิตย์

– ส้มโอ อะโวกาโด ขนุน ทุเรียน เงาะ ลำไย ไผ่ ยังไม่ให้ผลผลิต

ผักไฮโดรโปนิกส์พร้อมจำหน่าย

นอกจากนี้ เรายังวางแผนให้มีรายได้จากการทำสวนเป็นรายได้ รายวัน รายเดือน และรายปี โดยรายได้รายวันได้จากการปลูกผักขาย เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ขายไข่เป็ดไข่ไก่ รายได้รายเดือนได้จากการปลูกไม้ผล โดยวางแผนปลูกไม้ผลให้มีผลไม้ออกทุกเดือน และรายได้รายปีได้จากการปลูกอ้อย” รายได้จากการทำสวน “นายกะเปี๊ยก” จึงเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับแรงที่ลงไปของคุณอารีย์ นอกจากนั้น คุณอารีย์ ยังเล่าว่า “เพราะเราทำสวนกันเอง ผลผลิตในสวนของเราจะไม่ใช้ยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะผัก จะไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งปัจจุบันสวน “นายกะเปี๊ยก” ได้รับการรับรองมาตรฐานพืชอาหารปลอดภัย (มะม่วง) ตามระบบ GAP และเรากำลังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนให้สวนของเราเป็นอินทรีย์ให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้”

ต้นอ่อนผักติดแบรนด์สวนนายกะเปี๊ยกพร้อมจำหน่าย

จับตลาดคนรักสุขภาพ กลุ่มข้าราชการ

การทำการเกษตรเรื่องการจัดการการตลาดเป็นสิ่งสำคัญ คุณอารีย์เล่าเรื่องจัดการการตลาดผลผลิตจากสวนนายกะเปี๊ยกว่า “เรามีผลผลิตหลายพันธุ์ หลายคุณภาพ เพราะผลผลิตเกษตรมีความหลากหลาย ตลาดของเราจึงต้องหลากหลายตามไปด้วย เราจึงมีทั้งตลาดออนไลน์ โพสต์ขายในเฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ และส่งร้านค้าขายผักผลไม้ปลอดสารพิษในอำเภอสวรรคโลก ผลผลิตบางส่วนส่งขายล้งรับซื้อผลไม้ ในอนาคตผลผลิตบางอย่างที่ราคาถูกอย่างมะม่วงก็จะต้องแปรรูป

ส่วนการตั้งราคาขายก็เป็นไปตามคุณภาพของผลผลิตของเรา อย่างผักจะใส่ถุงติดแบรนด์ สวนนายกะเปี๊ยก ผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ กิโลกรัมละ 100 บาท ต้นอ่อนผัก กิโลกรัมละ 200 บาท (ถุงละ 1 ขีด ขีดละ 20 บาท) มะม่วง จะคัดเกรดขาย เกรด A เกรด B ขายตลาดออนไลน์ กลุ่มข้าราชการ ส่วนเกรด C เกรด D จะขายล้ง อ้อย จะขายลำ กิโลกรัมละ 3 บาท และผลิตเป็นน้ำอ้อยคั้นสดใส่ขวดขาย ขวดละ 10 บาท โดยจะวางขายตามตลาดนัด และฝากร้านค้าขาย ลูกค้าหลักของเราคือ กลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพและกลุ่มข้าราชการ อนาคตคาดว่าจะขยับขยายโรงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เพิ่มชนิดผักให้หลากหลาย ให้มีผักส่งขายทุกวัน และหาตลาดเพิ่มเติมไปยังร้านอาหาร หมูกระทะ ชาบู และจะนำระบบการจัดการแบบอัจฉริยะเข้ามาช่วย และอาจเพิ่มการแปรรูปผักผลไม้หากผลผลิตมีเยอะ”

คุณอารีย์คือตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เราเห็นว่าอาชีพเกษตรรายย่อยก็สามารถสร้างรายได้พร้อมความสุขกายสุขใจหากเรามีความพยายามและเราสู้มากพอ ใครสนใจอยากพูดคุยหรืออยากซื้อผลผลิตติดต่อ คุณอารีย์ กาเพ็ชร ไปได้ที่โทร. 083-025-9261 สวัสดีครับ