เป็นมากกว่า “เห็ด” ไอเดียเด็ด จาก มฟล.

การเพาะเห็ด เป็นหนึ่งในอาชีพที่เกษตรกรไทยนิยมทำกัน เช่น การเพาะเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม เห็ดเข็มทอง ฯลฯ ซึ่งอาชีพนี้มีข้อดีคือ ใช้เงินลงทุนไม่สูง ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องพึ่งฟ้าฝน ที่สำคัญคือ ขายง่าย ได้เงินแทบทุกวัน สร้างอาชีพและรายได้ที่ดี แถมเห็ดบางชนิดยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร อายุวัฒนะ เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดหัวลิง เป็นต้น

เห็ดหูหนู “มุสิกรัตน์” 

มฟล. มุ่งพัฒนางานวิจัย “เห็ด”

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของอาเซียนที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับการรับใช้สังคม เล็งเห็นความสำคัญของพืชเศรษฐกิจดังกล่าวจึงได้มุ่งพัฒนาองค์ความรู้เรื่อง “เห็ด” ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องสำอาง พร้อมขยายผลงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้างในอนาคต

ที่ผ่านมา ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา มฟล. ได้ค้นพบเชื้อราและเห็ดชนิดใหม่มากกว่า 800 ชนิด มีการเก็บรักษาสายพันธุ์เชื้อเห็ดราในคลังสายพันธุ์เห็ดราไว้มากกว่า 14,000 ตัวอย่าง มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจำนวนกว่า 900 เรื่อง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เล็งเห็นถึงจุดแข็งด้านนี้ จึงสนับสนุนงบประมาณ พลิกโฉมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงด้วยความเป็นเลิศทางการวิจัยด้านเห็ดรา ไปสู่มิติต่างๆ ภายใต้กรอบ FMFC ทั้งด้านการแพทย์ อาหาร เครื่องสำอาง โดยประกอบด้วยโครงการย่อยจำนวน 5 โครงการ ได้แก่

1. การพัฒนาต่อยอดและยกระดับความเข้มแข็งของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา 2. การใช้ประโยชน์เห็ดราสายพันธุ์ เพื่อเป็นสารออกฤทธิ์ประสิทธิภาพสูงในเครื่องสำอางและเวชสำอาง 3. การพัฒนาเนื้อบดเทียมจากเห็ดและการประยุกต์ใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ในผลิตภัณฑ์ไส้อั่ว สุขภาพ 4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดแผ่นกรอบโปรตีนสูงเสริมใยอาหารเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาวัสดุห้ามเลือดจากไคโตซานเห็ดผสมสารออกฤทธิ์จากสมุนไพร

ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา มฟล. 

เห็ดหูหนูมีสรรพคุณ ลดริ้วรอย ต้านอนุมูลอิสระ

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเชื้อรา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีศักยภาพสูงระดับโลกในการคัดเลือกและเก็บสายพันธุ์เห็ดราที่สำคัญของโลก โดยทางศูนย์ได้ค้นพบเห็ดสายพันธุ์ใหม่หลายชนิดและสามารถเพาะเลี้ยงให้สามารถพัฒนาเป็นสายพันธุ์เศรษฐกิจของประเทศได้ เช่น หูหนูสายพันธุ์ไทย (Auricularia thailandica) ซึ่งเป็นเห็ดหูหนูสายพันธุ์ใหม่ของโลกและได้รับพระราชทานชื่อไทยว่า เห็ดหูหนูมุสิกรัตน์ ซึ่งพบเฉพาะในแถบภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น

มฟล. ใช้เห็ดเป็นส่วนผสมเครื่องสำอางตัวใหม่

โดยเห็ดหูหนูมีฤทธิ์ทางชีวภาพหลายประการและมีศักยภาพสูงในการใช้ประโยชน์เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางและเวชสำอาง ได้แก่ การลดริ้วรอย ต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ให้ความชุ่มชื้นผิว และลดการสร้างเมลานิน เป็นต้น เบต้ากลูแคนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเห็ดสามารถกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและลดการไหม้ของผิวจากแสงแดดได้ สารสกัดจากเห็ดหูหนูสามารถให้คุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์กระตุ้นการเจริญเติบโตของโพรไบโอติกส์ได้เทียบเคียงกับ FOS และ inulin และสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เห็ดแผ่นกรอบ ผลิตจากเห็ดนางฟ้า+กากสับปะรดภูแล 

จากเห็ด สู่เครื่องสำอาง

ผศ.ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ได้ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาสารสกัดจากเห็ดราเพื่อใช้ประโยชน์เป็นสารออกฤทธิ์ในเครื่องสำอางและเวชสำอาง โดยการวิจัยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นการพัฒนาสารสกัดจากเห็ดหูหนูมุสิกรัตน์เพื่อใช้ประโยชน์เป็น MFU Mushroom active complex ที่มีฤทธิ์ลดริ้วรอย ให้ความชุ่มชื้นผิว ลดการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และพัฒนาเป็น Hydrated liquid crystal with mushroom active complex ส่วนที่สองเป็นการพัฒนาสารสกัด MFU Trichoderma filtrate จากการหมักเชื้อรา Trichoderma ที่ให้ฤทธิ์ลดการสร้างเมลานิน ยับยั้งไทโรซิเนส และให้ผิวกระจ่างใส และพัฒนาเป็น Whitening essence with trichoderma fermented filtrate

ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มฟล. โชว์ผลิตภัณฑ์เห็ดแผ่นกรอบ

หลังการวิจัยทดลอง ทีมวิจัยได้สิทธิบัตรอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ สารสกัดเห็ดหูหนูมุสิกรัตน์ MFU Mushroom active complex ที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดริ้วรอย ให้ความชุ่มชื้นผิว ลดการอักเสบ กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ส่วนสารสกัดจากการหมักเชื้อรา MFU Trichoderma filtrate มีประสิทธิภาพสูงในการลดการสร้างเมลานิน ยับยั้งไทโรซิเนส และให้ผิวกระจ่างใส ผู้วิจัยมั่นใจว่า ผลการศึกษาครั้งนี้ จะเกิดการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเห็ดราสายพันธุ์ไทย คือเห็ดหูหนูมุสิกรัตน์ และ Trichoderma ทั้งในส่วนผู้ประกอบการเพาะเห็ด และผู้ผลิตสารสกัดต้นน้ำ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการเวชสำอางสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศในอนาคต

ผลิตภัณฑ์ไส้อั่วสุขภาพ ใช้เห็ดชนิดต่างๆ เป็นวัตถุดิบตั้งต้น 

ผลิตภัณฑ์เห็ดแผ่นกรอบโปรตีนสูง

ปัจจุบัน มีผู้บริโภคบางกลุ่มที่แพ้โปรตีนจากถั่ว ประกอบกับประเทศไทยมีเห็ดที่บริโภคได้หลายสายพันธุ์ ดังนั้น สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มฟล. จึงสนใจ นำเห็ด 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูง ราคาไม่แพง คือ เห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า และใยอาหารจากกากสับปะรดภูแล (ผลพลอยได้จากกระบวนการแปรรูปน้ำสับปะรดภูแล) มาเป็นวัตถุดิบเริ่มต้นเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพที่มีโปรตีนสูง ที่มีปริมาณโปรตีน 14.23 กรัมต่อ 100 กรัม มีใยอาหาร 52.01 กรัมต่อ 100 กรัม มีอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นสินค้าทางเลือกของผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น รวมถึงใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปอีกด้วย

“เห็ดพริกห้ามเลือด” ใช้วัตถุดิบหลักคือ เห็ดเข็มทองและพริกขี้หนู 

plant-based Meat เนื้อสัตว์ทางเลือก

ทุกวันนี้ หลายคนเริ่มหันมาดูแลใส่ใจตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน plant-based Meat จึงเกิดขึ้นมาเป็นทางเลือก โดยเป็นนวัตกรรมที่นำเอาพืช เช่น ผัก เห็ด หรือสาหร่ายมาดัดแปลงให้เหมือนกับเนื้อสัตว์จริง แถมดีต่อสุขภาพเพราะไม่มีคอเลสเตอรอล ไขมันต่ำ มีไฟเบอร์และสารอาหาร ทั้งยังมีโปรตีนที่เทียบเท่าเนื้อสัตว์ด้วย plant-based Meat เนื้อสัตว์ทางเลือก ไม่ได้เป็นเพียงอาหารที่ตอบโจทย์คนกินเจ กินมังสวิรัติ หรือรักสุขภาพเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงโลกและสิ่งแวดล้อมด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรจน์ รอดคืน เเละคณะ ได้พัฒนาเนื้อบดเทียมโดยใช้เห็ดชนิดต่างๆ เป็นวัตถุดิบตั้งต้น รวมทั้งศึกษาการใช้ประโยชน์เนื้อบดเทียมที่พัฒนาขึ้นในผลิตภัณฑ์ไส้อั่วสุขภาพ  พบว่า เห็ดนางรมหลวง และเห็ดนางฟ้าภูฐาน มีองค์ประกอบทางเคมี คุณค่าทางโภชนาการ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และคุณสมบัติทางชีวภาพ ประกอบทั้งมีราคาย่อมเยา จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป หาซื้อได้ง่าย สามารถผลิตในปริมาณมาก จึงเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเริ่มต้นเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพที่มีโปรตีนสูงได้

รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. เจ้าของงานวิจัย 

จากเห็ด สู่วัสดุห้ามเลือดเฉพาะที่

รศ.นพ.สิทธิพร บุณยนิตย์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มฟล. ได้นำวัตถุดิบหลักคือ เห็ดเข็มทองและพริกขี้หนู ซึ่งนิยมปลูกแพร่หลายในจังหวัดเชียงราย มาผสมผสานกับสารตัวเติม เป็นสารเคมีที่มีสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานห้องปฏิบัติการ จนได้ผลงานวิจัย “เห็ดพริกห้ามเลือด” ซึ่งเป็นวัสดุห้ามเลือดเฉพาะที่ จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ฝังในชนิดย่อยสลายได้ระดับที่ 4 มีความเสี่ยงที่อาจจะก่อเกิดอันตรายขั้นสูงสุดให้กับผู้ป่วย สำหรับให้แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขใช้งานเพื่อหยุดห้ามการตกเลือดแบบฉับพลัน ในผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบาดเจ็บ การผ่าตัด หรือมีความผิดปกติทางการแข็งตัวของเลือดอย่างรวดเร็ว มีลักษณะเป็นชีววัสดุชนิดไคโตซานผสมแคปไซซิน มีคุณสมบัติโดดเด่นคือ ต่อต้านแบคทีเรีย ต่อต้านเชื้อรา ช่วยหยุดเลือด ระงับความเจ็บปวด เข้ากันได้กับเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิต ย่อยสลายหมดสิ้นในร่างกาย และสนับสนุนการซ่อมแซมบาดแผล สนใจผลงานวิจัยชิ้นนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทร. 081-881-8013 อีเมล : [email protected]