“KU80 นิลกาฬ” ข้าวสีพันธุ์ใหม่ ข้าวกล้องสีม่วงดำ ผลผลิตสูง เหนียวนุ่ม กลิ่นหอม ดีต่อสุขภาพ

“KU80 นิลกาฬ” ข้าวสีพันธุ์ใหม่ เป็นอีกหนึ่งในผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย มัธยัสถ์ถาวร และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย สังกัดภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่นำมาเปิดตัวครั้งแรกใน “งานเกษตรแฟร์ 2567” ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

ดร.วีรชัย มัธยัสถ์ถาวร (ซ้าย) รองศาสตราจารย์ ดร.ธานี ศรีวงศ์ชัย (ขวา)

ศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย มัธยัสถ์ถาวร กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโจทย์กระแสความนิยมบริโภคข้าวสีเพื่อสุขภาพที่ขยายตัวมากขึ้น ปกติข้าวสีที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นข้าวกล้อง มักมีเนื้อข้าวแข็ง ไม่ค่อยถูกใจผู้บริโภคสักเท่าไหร่ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงอยากได้ข้าวสีพันธุ์ใหม่ซึ่งมีเนื้อข้าวกล้องนุ่มตรงตามความต้องการตลาด

ทีมนักวิจัยใช้ระยะเวลาเกือบ 7 ปีในการศึกษาปรับปรุงข้าวสีพันธุ์ใหม่ โดยใช้พันธุกรรมจากพันธุ์เจ้าหอมนิลที่มีเยื้อหุ้มเมล็ดสีม่วงเข้ม ผสมกับสายพันธุ์ KUB ที่ได้จากโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวลูกผสม ตั้งแต่การปลูกและคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงดำ และมีปริมาณอะมิโลสต่ำ จนได้สายพันธุ์ข้าวสี “KU80 นิลกาฬ” ที่มีความคงตัวทางพันธุกรรมคือ ข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีม่วงเข้มประกอบด้วยสารแอนไทไซยานิน โพรแอนโทไซยานิน ไบโอฟราโวนอย และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่จับและยังยั้งอนุมูลอิสระ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้าวสีพันธุ์ “KU80 นิลกาฬ” เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ทรงกอตั้งตรง ความสูงของต้น 69 เซนติเมตร ข้าวกล้องมีรูปร่างเมล็ดเรียว ข้าวกล้องสีม่วงดำ มีปริมาณอะมิโลสต่ำร้อยละ 15.23 เมื่อหุงสุก เนื้อข้าวเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน

ศาสตราจารย์ ดร.วีรชัยให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ได้นำข้าวสีพันธุ์ไปปลูกทดสอบแปลงไร่นาในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี และอำเภอภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า ข้าวสีที่ปลูกในพื้นที่ภาคกลาง เมล็ดข้าวเรียวสวยมีสีดำ ยิ่งปลูกในสภาพพื้นที่อากาศเย็น เช่น อำเภอภูทับเบิก เมล็ดข้าวยิ่งมีขนาดเล็กและมีสีดำเข้มมากขึ้น ปริมาณสีที่เข้มขึ้นยิ่งดีต่อบริโภคเพื่อสุขภาพ เพราะเมล็ดข้าวมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง หากแปรรูปเป็นข้าวกล้องสามารถจำหน่ายในราคาเดียวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่คือ ประมาณ 100 กว่าบาทต่อกิโลกรัม หรือหากขายในราคาย่อมเยา 50-60 บาทต่อกิโลกรัม หักต้นทุนแล้ว เกษตรกรก็ยังมีผลกำไรเหลืออยู่

ข้าวพันธุ์นี้ หากปลูกในแหล่งดินดี น้ำดี อายุปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน ไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลง ให้ผลผลิตประมาณ 800-900 กิโลกรัมต่อไร่ เปรียบเทียบกับการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถือว่า ข้าวสีพันธุ์นี้ให้ผลผลิตสูงกว่า 10-15% เมื่อนำไปปลูกทดสอบในพื้นที่การเกษตรที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร โดยปลูกในสภาพข้าวไร่ ใช้น้ำน้อย ปรากฏว่า ข้าวสีพันธุ์นี้เติบโตได้ดีเช่นกัน ขณะนี้ ทีมนักวิจัยกำลังเร่งขยายพันธุ์ข้าวสีชนิดนี้ เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจภายในปี 2567 หากใครต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้าวสีพันธุ์ใหม่นี้ สามารถพูดคุยเพิ่มเติมกับนักวิจัยได้ที่ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2579-3130 หรือติดต่อ ศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย ทางเบอร์โทร. 086-042-5250 ในวันและเวลาราชการ