เครื่องกะเทาะแมคคาเดเมีย สู่การแปรรูปสร้างเพิ่มมูลค่า ให้กับชุมชน Zero Waste

“มะคาเดเมีย” หรือ “แมคคาเดเมีย” อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินหลายชนิดรวมถึงไขมันไม่อิ่มตัวและสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีที่มีคุณสมบัติต้านสารอนุมูลอิสระ ลดภาวะการอักเสบ ลดปัจจัยเสี่ยงโรคเรื้อรัง (NCDs) ต่างๆ ช่วยลดระดับไขมันชนิดไม่ดี (IDL) ต้านเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประกอบกับเมล็ดแมคคาเดเมียมีรสชาติมัน หอม จึงเป็นที่นิยมบริโภคและตลาดมีความต้องการสูง

สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ปลูกแมคคาเดเมีย 4 สายพันธุ์ เช่น พันธุ์เชียงใหม่ 344, พันธุ์เชียงใหม่ 508, พันธุ์เชียงใหม่ 660, พันธุ์เชียงใหม่ 741 ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะให้ผลผลิตที่สูง และต้านทานโรคได้ดี สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ ได้ส่งเสริมการปลูกแมคคาเดเมียและการแปรรูปเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาชีพให้แก่เกษตรกรแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่การแปรรูปแมคคาเดเมียนั้นจะต้องใช้เครื่องจักรที่มีราคาสูง ซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตแมคคาเดเมียส่วนใหญ่ไม่สามารถลงทุนได้ จึงนิยมขายผลผลิตแมคคาเดเมียดิบให้กับโรงงานทั้งหมด

ที่ผ่านมา มีเกษตรกรพยายามแปรรูปผลแมคาเดเมียเอง โดยใช้ใบมีดกะเทาะกะลาแมคคาเดเมียให้แตกโดยใช้แรงงานคน สามารถกะเทาะได้ครั้งละ 1 ผลเท่านั้น แมคคาเดเมีย 1 กิโลกรัม จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงในการกะเทาะ ส่งผลให้การผลิตล่าช้าหรือผลผลิตเสียหายได้ ดังนั้น คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ออกแบบเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

การทำงานเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมีย เริ่มจากนำผลกะลาแมคคาเดเมียใส่เข้าด้านบนของเครื่องกะเทาะ เมื่อผลตกลงไปในเครื่องจะมีแกนหมุนส่งไปกระทบกับใบพัดเกิดการกะเทาะทำให้ผลกะลาแตก กะลาและเนื้อในที่แยกออกจากกัน จะตกลงสู่ถาดรองรับภายนอกเครื่อง

จุดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ สามารถปรับการป้อนเมล็ด มาก-น้อยได้ โดยการปรับถังพักเมล็ด สามารถตั้งมีดกะเทาะได้ 6 ระดับ จึงทำให้สามารถกะเทาะเมล็ดได้หลายขนาด มีดกะเทาะสามารถลับคมได้ ทำความสะอาดได้ง่าย ทำงานเสียงเบา ทนทานต่อการใช้งาน มีอะไหล่ ตัวป้อน สามารถเดินเครื่องได้ต่อเนื่องยาวนาน สามารถปอกกะลาเมล็ดแมคคาเดเมียได้ 50 เมล็ดต่อนาที หรือประมาณ 3,000 เมล็ดต่อชั่วโมง ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ทำให้สะดวกกับการใช้งาน หรือนำไปติดตั้งใหม่

นวัตกรรมเครื่องกะเทาะเมล็ดแมคคาเดเมียสร้างรายได้ให้กับชุมชนไปสู่ชุมชน Zero Waste การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดอาชีพและสร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน ลดการใช้แรงงานและเพิ่มจำนวนผลผลิตแมคคาเดเมียได้มากขึ้น ผู้สนใจนวัตกรรมนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับนักวิจัยคือ คุณวริยา ด่อนศรี สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.088-633-5071