ปลูกวานิลลาสร้างรายได้ ใช้น้ำ ใช้แรงงานน้อย ตอบโจทย์พื้นที่จำกัด ผลตอบแทนสูง 2-3 หมื่น/กก.

หลายคนคงยังไม่รู้ว่าวานิลลาสามารถปลูกในประเทศไทยได้ เพราะวานิลลาเป็นไม้ร้อนชื้น โดยวานิลลาแปลงแรกๆ ที่ปลูกในไทยอยู่ที่ภาคเหนือ มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยโดยโครงการหลวง แต่ว่าเกษตรกรที่ปลูกและทำต่อมีน้อย

สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากวานิลลาเป็นพืชที่ปลูกแล้วไม่สามารถนำมาทำกินได้ หรือขายเป็นฝักสดได้เลย แต่ต้องมีกระบวนการบ่มเป็นฝักแห้งก่อนถึงจะขายได้ จึงยังไม่เป็นที่นิยมสำหรับการปลูกสร้างรายได้ มีเพียงกลุ่มเฉพาะอย่างเช่นในวงการเชฟ ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ที่จะเข้าถึง

คุณพาพร โตอินทร์ หรือ คุณกวาง เจ้าของสวนแม่หม่อน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ถือว่าเป็นแปลงแรกๆ ที่ปลูกวานิลลาในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ที่ปลูกจนกระทั่งได้ผลผลิตเอง บ่มฝักเอง แปรรูปเอง จนสุดท้ายกลายเป็นไอศกรีมขาย มีที่นี่ที่เดียว

คุณกวาง เล่าให้ฟังว่า ความตั้งใจแรกของสวนแม่หม่อน คือตั้งใจทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว สวนแห่งนี้เริ่มต้นจากการปลูกหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ แล้วตั้งใจทำเป็นสวนสำหรับการท่องเที่ยวไปในตัว เพราะด้วยพื้นที่ของสวนตั้งอยู่ในอำเภอวังน้ำเขียว ที่เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว และหลังจากนั้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทางสวนได้มีการนำพืชตัวใหม่เข้ามาคือวานิลลา เริ่มนำมาทดลองปลูกจากความรู้เป็นศูนย์ ค่อยๆ ลองผิดลองถูก พร้อมกับการศึกษาหาข้อมูลการปลูกการดูแลมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันสามารถปลูกวานิลลาได้ผลผลิต และสามารถนำฝักวานิลลาที่เก็บเกี่ยวมาแปรรูปทำไอศกรีมวานิลลาจากฝักวานิลลาแท้ๆ ได้สำเร็จ

ฝักวานิลลา ใกล้ถึงวันเก็บเกี่ยว

“จุดเริ่มต้นของการทดลองนำวานิลลามาปลูกในสวน เกิดขึ้นเพราะความอยากรู้มาก่อน และกวางก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จักไอศกรีมวานิลลา แต่ถ้าหากถามถึงหน้าตาลักษณะของฝักวานิลลาเป็นยังไง น้อยคนมากที่จะเคยเห็นหรือตอบได้ จึงเกิดความสงสัยและเริ่มศึกษาหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ตอนนั้นมา และทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ววานิลลามีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยแล้วเกือบ 20 ปี โดยทางโครงการหลวงนำเข้ามาส่งเสริมการปลูก แต่ยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร ประกอบกับความบังเอิญที่กวางได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การเพาะเนื้อเยื่อที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ คลองไผ่ ทำให้ได้ไปเห็นว่าที่ศูนย์ปลูกต้นวานิลลา แล้วติดฝักด้วย ทำให้เกิดความสนใจว่าขนาดปลูกที่สีคิ้วยังสามารถติดฝักได้เลย แล้วถ้านำมาปลูกที่วังน้ำเขียวต้องได้ผลผลิตดีแน่ๆ ด้วยสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกัน จึงเป็นที่มาของการทดลองนำวานิลลามาปลูกที่สวน รวมถึงที่สวนแม่หม่อนได้เป็นแปลงทดลองปลูกวานิลลาให้กับศูนย์ โดยมีอาจารย์ทางศูนย์มาเป็นพี่เลี้ยงให้ในช่วงแรก” คุณกวางเล่าถึงที่มาของการปลูกวานิลลาสร้างรายได้ครบวงจร

วานิลลา พืชที่มีความต้องการทั่วโลก
ปลูกดูแลอย่างไร ให้ได้ผลผลิตไซซ์จัมโบ้

ความน่าสนใจของวานิลลาคือ วานิลลาเป็นพืชที่มีการบริโภคทั่วโลก และมีความต้องการการใช้งานอย่างแท้จริง ต่างจากไม้หลายชนิด ยกตัวอย่างไม้ที่เป็นกระแสกันมากๆ บางครั้งความต้องการใช้ในการตลาดมีน้อย แล้วหน้าที่ของคนปลูกก็ต้องไปสร้างกระแสให้ผู้บริโภคต้องการหรืออยากทดลอง ซึ่งไม่ทำให้เกิดความยั่งยืนเท่าไหร่ แต่วานิลลาเป็นพืชที่มีความต้องการทั่วโลกซึ่งประเทศที่สามารถปลูกวานิลลาได้มีแค่ไม่กี่ประเทศในโลก เพราะวานิลลาเป็นพืชเขตร้อนชื้น และเป็นไม้ยืนต้น ประเทศไหนที่มีหิมะตกปลูกไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหมาะสมในการปลูกวานิลลามากๆ ด้วยสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับต้นวานิลลามากๆ และปลูกได้เจริญเติบโตดี ติดฝักใหญ่สมบูรณ์ดีอีกด้วย

วานิลลาเป็นพืชที่ใช้พื้นที่น้อย ใช้น้ำน้อย ใช้แรงงานน้อย ให้ผลตอบแทนต่อพื้นที่สูง แต่การปลูกวานิลลาเป็นงานจุกจิก จะต้องมีขั้นตอนการผสมเกสร กระบวนการบ่มฝัก กระบวนการหาตลาด หรือกระบวนการแปรรูป เพราะฉะนั้นมีทั้งข้อดี ข้อเสีย เรียกว่าเหมาะกับศักยภาพของแต่ละบุคคลมากกว่า ถ้าใครมีศักยภาพหาตลาดเองได้ แปรรูปเองได้ ทำขนมได้ ถือเป็นพืชตอบโจทย์สำหรับการสร้างรายได้มากๆ

Advertisement

ปัจจุบันที่สวนปลูกวานิลลาทั้งหมด 3 แปลง จำนวนที่ปลูกประมาณ 700 กว่าหลัก จากที่ปลูกมาประมาณ 5 ปี ให้ผลผลิตเป็นปีที่ 3 ปริมาณของผลผลิตก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยในปีแรกเก็บผลผลิตได้เพียง 50 ฝัก จากนั้นพอเข้าสู่ปีที่ 2 ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเป็น 2,000 ฝัก นำมาทำไอศกรีมขายที่ร้าน และเข้าสู่รุ่นที่ 3 เก็บผลผลิตได้ประมาณ 10,000 กว่าฝัก จะเห็นได้ว่าผลผลิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

สำหรับวานิลลาที่ปลูกคือ พันธุ์แพลนนิโฟเลีย จุดเด่นของวานิลลาสายพันธุ์นี้คือ จากการศึกษาดูแล้วทั่วโลกนิยมใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนมมากที่สุด แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อื่นจะเหมาะในการนำมาทำเครื่องสำอางและทำยา ปัจจุบันที่สวนปลูกวานิลลาสายพันธุ์แพลนนิโฟเลีย เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการนำมาทำอุตสาหกรรมทั่วโลก จริงๆ แล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ของวานิลลาเป็นพันธุ์แพลนนิโฟเลียทั้งหมด

Advertisement

การปลูก

วานิลลาเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ ในการปลูกวานิลลาสามารถปลูกได้หลายวิธี ให้ตัดสินใจง่ายๆ ว่าผู้ปลูกต้องการอะไร หากต้องการปลูกประดับสวยงาม สามารถปลูกให้ไต่ตามต้นไม้ก็ได้ และอย่างที่บอกว่าวานิลลาเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการคือ แสงรำไร ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าแสงมากไปไม่ดีทำให้ต้นเหี่ยว แต่ถ้าแสงน้อยไปก็ไม่ดีจะทำให้ต้นเหี่ยวเช่นกัน

โรงเรือนปลูกวานิลลา โปร่ง มีหลังคาซาแรนคลุม

แต่ถ้าหากในกรณีที่ต้องการอยากปลูกเป็นอาชีพ แนะนำว่าให้ทำโรงเรือนปลูก ซึ่งโรงเรือนสำหรับการปลูกวานิลลาทำได้ง่ายมาก แค่มีหลังคาซาแรนเพื่อพรางแสงให้กับต้นวานิลลา

การปลูกวานิลลาของที่สวนจะใช้วิธีการปักชำเป็นหลัก จะมีเพียงบางที่ที่ใช้วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เวลานานมากกว่าจะให้ผลผลิต แต่ว่าข้อดีคือให้ปริมาณมาก

การเตรียมดิน วานิลลาเป็นพืชตระกูลกล้วยไม้ เพราะฉะนั้นในการปลูกวานิลลาไม่ใช้ดิน แต่จะใช้กาบมะพร้าวเป็นวัสดุในการปลูกแทนดิน เป็นกาบมะพร้าวสับหยาบ สำหรับกาบมะพร้าวที่ใช้ส่วนใหญ่แนะนำให้แช่น้ำก่อนเพื่อชะล้างสารแทนนินที่จะเข้าไปยับยั้งการงอกของรากพืช แต่ด้วยความที่สวนปลูกเป็นจำนวนเยอะหากนำไปแช่น้ำทั้งหมดคงทำไม่ไหว จึงใช้วิธีการนำกาบมะพร้าวสับมาเทลงแปลง แล้วรดน้ำไว้สัก 2-3 อาทิตย์ ให้ชะล้างสารแทนนินก่อนปลูก เนื่องจากถ้าเราไปแช่ ทำต้องหลายขั้นตอน เป็นงานที่หนักทำไม่ไหว เพราะมีคนงานน้อย

การดูแล วานิลลาเป็นพืชที่ชอบความชื้น แต่ไม่ชอบแฉะ เพราะสิ่งที่วานิลลาเซนซิทีฟมากคือ โรคจากเชื้อรา เพราะฉะนั้นสถานที่ปลูกต้องระบายอากาศ ระบายน้ำได้ดี คือปัจจัยสำคัญในการปลูกวานิลลา เรียกว่าเป็นการป้องกันก่อนรักษา เพราะถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นแล้ว จึงค่อยมารักษาทำได้ยากมาก ส่วนเรื่องแมลงไม่ต้องห่วงเรียกว่าน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย

การบำรุงใส่ปุ๋ย

ที่สวนทำเกษตร GAP ที่นี่จะคุมเรื่องเชื้อราเป็นหลัก โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา คลุกกับปุ๋ยหมัก บำรุงเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย โดยโรยไปที่หน้าดิน เพราะว่าเชื้อราจะเกิดทางดินเป็นหลัก

สลับกับการบำรุงด้วยปุ๋ยหมัก ที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่งหม่อนแล้วนำมาเข้าเครื่องย่อย นำมาหมักกับขี้วัวอีกประมาณ 3 เดือน เพื่อให้ปุ๋ยคลายความร้อน แล้วนำมาบำรุงแปลง ช่วยให้ต้นโตดี ใส่เดือนละครั้ง โรยบางๆ ไปพร้อมกับไตรโคเดอร์มา

พร้อมกับการบำรุงด้วยปุ๋ยกล้วยไม้ เป็นปุ๋ยละลายช้าทางดิน 3 เดือนครั้ง

ระบบน้ำ

ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าฝนไม่ตกจะให้น้ำด้วยมินิสปริงเกลอร์ ให้น้ำน้อยๆ แต่ให้บ่อยๆ เพราะสิ่งที่ต้องการคือความชื้น แต่ถ้าเป็นฤดูแล้ง จะให้น้ำวันละ 2-3 ครั้ง แต่จะให้เวลาสั้นๆ ครั้งละ 1-2 นาที เพื่อเพิ่มความชื้นในแปลง

และมีการให้น้ำทางดินบ้าง อาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง โดยใช้สายยางเดินรด ได้โอกาสตรวจแปลงไปด้วย

แต่ถ้าเป็นช่วงที่เรากระตุ้นดอก คือตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะลดปริมาณการให้น้ำลงเหลือแค่ 1-2 วันครั้ง เพื่อกระตุ้นการออกดอก

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

การเก็บเกี่ยวผลผลิตของวานิลลา อย่างเร็วที่สุดประมาณ 1 ปี จะเริ่มออกดอก ถ้าโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับต้นพันธุ์ที่นำมาปลูก ควบคู่กับการดูแลจัดการที่ดี เพราะพอวานิลลาเริ่มออกดอกจะไม่สามารถติดฝักได้เองโดยธรรมชาติ เราต้องผสมเกสรด้วยมือเองทุกดอกทุกฝัก จากนั้นหลังจากติดฝักก็ต้องรอจนกว่าฝักจะสุก

“ดอกวานิลลาจะบานช่วงเดือนมีนาคม แต่ว่ากว่าฝักจะสุกประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม พอฝักสุก ต้องเก็บฝักมาบ่ม และต้องใช้เวลาในการบ่มฝักอีกประมาณ 4-6 เดือน เป็นฝักบ่มแห้ง เพราะวานิลลาที่ขายได้คือฝักบ่มแห้ง”

ปลูกวานิลลาให้ยั่งยืน
แนะให้ทำเองแบบครบวงจร

คุณกวาง บอกว่า การปลูกวานิลลาจะไม่เหมือนกับการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจทั่วไป เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ที่มีคนมารับซื้อ เพราะฉะนั้นคนที่จะปลูกต้องมีศักยภาพในการหาตลาดเอง แต่ถ้าหากถามถึงความต้องการของตลาดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมทำขนม แต่ว่าตลาดไม่ใช่ว่าจะไปส่งตลาดใหญ่ๆ แล้วมีคนมารับซื้อ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความสามารถในการหาว่าที่ไหนมีความต้องการใช้ เช่น ร้านเบเกอรี่ ร้านอาหาร หรือเราติดต่อไปทางเชฟที่ทำขนม บริษัททำไอศกรีม เพราะฉะนั้นตลาดขึ้นอยู่ที่เราว่าจะสามารถมองเห็นลูกค้าได้ไหม แต่ถ้าใครหาตลาดได้ วานิลลาถือเป็นพืชที่ยั่งยืนอีกชนิดหนึ่ง เพราะว่ายังมีความต้องการใช้อยู่ทั่วโลก แต่ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ทำแบบครบวงจร คือเกษตรกรเป็นผู้ปลูกและแปรรูปเอง แบบนี้จะยั่งยืนที่สุด

“ก่อนที่กวางจะเลือกปลูกพืชซักชนิด สิ่งแรกที่กวางทำคือการตั้งคำถามว่าพืชที่เราสนใจอยากปลูกสุดท้ายปลูกมาแล้วสามารถกินได้ไหม มันจบที่เราไหม ไม่ใช่ว่าเราทำออกมาแล้วยังต้องไปหาคนรับซื้อ ต้องส่งเข้าโรงงาน ถ้าเป็นพืชประเภทนั้นกวางไม่ค่อยทำ เพาะถือว่าเรายังต้องไปพึ่งคนอื่นอยู่ แต่วานิลลาก็ไปศึกษาก่อน ว่าวานิลลาต้องปลูกยังไง ต้องลงทุนเครื่องจักรที่ราคาสูงไหม สุดท้ายก็คือมันไม่ได้ใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรเลย ใช้เพียงความพิถีพิถัน เราก็เลยทดลองปลูก และก็ประสบความสำเร็จตามที่ทุกคนได้เห็นกัน”

ฝักวานิลลาบ่มแห้ง ราคาฝักละ 200-350 บาท

และถ้าหากถามถึงผลตอบแทนและราคาของวานิลลา วานิลลาเป็นพืชที่มีการซื้อขายกันทั่วโลก ขอยกตัวอย่างราคาที่ขายในเมืองไทย ราคาขายปลีกฝักเกรดเอ ที่นำเข้าจะอยู่ประมาณ 150-250 บาท ถ้าเป็นฝักจัมโบ้ราคาสูงถึง 300 บาทต่อฝัก และถ้าราคาขายส่งเป็นกิโลกรัมจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 20,000 กว่าบาทเป็นฝักบ่มแห้ง

“ตอนนี้ที่กวางทำมาเป็นระยะ 5 ปีกว่า มีคนที่มาถามหาซื้อฝักบ่มแห้งจากกวางแทบทุกวัน ทั้งลูกค้า ทั้งคนที่ซื้อเพื่อเอาไปส่งออก แต่ว่ากวางไม่มีของให้เขา เพราะเราทำเพื่อเก็บไว้แปรรูปเองก่อน แต่ว่าในเรื่องการส่งออกมันมีความเป็นไปได้สูง และเนื่องจากเราทำคนเดียวเราไม่สามารถส่งออกได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อให้คุ้มค่าแก่การส่งออก” คุณกวาง กล่าวทิ้งท้าย

หากท่านใดสนใจอยากมาท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สวนแม่หม่อน ชมแปลงวานิลลา พร้อมลิ้มรสชาติไอศกรีมวานิลลาแท้ๆ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-304-0980 หรือติดต่อได้ที่เพจเฟซบุ๊ก : สวนแม่หม่อน

นำไปแปรรูปทำไอศกรีมและขนม

 

เผยแพร่ออนไลน์ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567