แนะนำเทคนิคขยายพันธุ์ไผ่หน้าแล้ง ให้รากงอกเร็ว แข็งแรง พร้อมปลูก

หลายคนสนใจอยากลงทุนทำสวนไผ่ แต่ไม่รู้จะปลูกดูแลรักษาอย่างไร และจะขยายพันธุ์ไผ่อย่างไร คุณทรงยศ พุ่มทับทิม ชมรมไผ่เศรษฐกิจไทยให้คำแนะนำว่า ช่วงเดือนมีนาคม เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์ไผ่ เพราะจะได้ต้นกิ่งพันธุ์ที่เหมาะสมกับช่วงฤดูปลูกในหน้าฝนพอดี

หากใครมีสวนไผ่อยู่แล้ว เริ่มจากจำแนกชนิดของไผ่ที่จะใช้ทำกิ่งพันธุ์หรือต้นพันธุ์ก่อน โดยปกติไผ่ที่เราคุ้นเคยกันแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด ตามลักษณะของกอ เหง้า

หน่อไผ่บงหวาน มีขนาดหน่อใหญ่

ชนิดที่ 1 คือ กอเหง้าแบบเดี่ยว ไผ่ตระกูลนี้มักจะแทงหน่อออกห่างจากลำต้น ลำในกอไม่ติดกัน เช่น ไผ่ฮก ไผ่ลำมะลอก ไผ่เหลือง ฯลฯ

ชนิดที่ 2 คือ กอเหง้าแบบรวมกอ จะขึ้นลำแทรกในกอแน่น ไผ่จำพวกนี้มีมาก เช่น ไผ่รวก ไผ่เลี้ยง ไผ่สีสุก ไผ่สร้างไพร ไผ่บ้าน ฯลฯ

ชนิดที่ 3 คือ กอเหง้าแบบผสม เช่น ไผ่บง ไผ่ข้าวหลาม ไผ่ซาง ไผ่ประดับอื่นๆ

สำหรับไผ่ทั้ง 3 ชนิด 3 ประเภทนี้ จะมีการขยายพันธุ์ที่แตกต่างกัน โดยไผ่ชนิดที่ 1 กอเหง้าแบบเดี่ยว จะใช้วิธีขุดเหง้า หรือชำจากกิ่งก็ได้ วิธีขุดเหง้า อย่างแรกท่านต้องหาน้ำมารดโคนต้นหรือกอไผ่ให้ชุ่มก่อน (หมายถึงหน้าแล้ง) 2-3 วัน เมื่อดินอ่อนตัว การขุดเหง้าก็ง่ายขึ้น เลือกเหง้าที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป (เหง้าแก่) ใช้เสียมและขวานเป็นตัวช่วย ตัดระหว่างกลางของเหง้า เหลือตาให้มากที่สุดเพื่อการแทงหน่อใหม่ เพื่อเป็นลำต้นใหม่ ต้องใช้ถุงชำที่มีขนาดพอเหมาะกับเหง้า ส่วนวัสดุชำใช้แกลบดิบผสมดิน อัตรา 1 : 1 ยังไม่ต้องใช้ปุ๋ยอะไรไปผสมนะครับ ให้จำไว้ว่าเราแค่ชำให้เกิดรากใหม่ พอติดดีแล้วค่อยเพิ่มธาตุอาหาร เพราะการที่เราไปใส่ปุ๋ยผสมในดินชำตั้งแต่แรก เราจะเสียธาตุอาหารไปก่อนที่รากใหม่จะงอกออกมา และจะเกิดการหมัก มีความร้อน รากใหม่ออกมาถูกความร้อนที่เกิดจาการหมักจะเน่าทันที ทำให้เหง้าที่เราชำมีเปอร์เซ็นต์รอดน้อย (เราชำต้นไม้ เรายังมิได้ปลูก ความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยยังไม่มี)

กรณีชำจากกิ่ง เนื่องจากไผ่จำพวกนี้มีกิ่งน้อย บางที่ใช้วิธีตัดกลางลำ เพื่อให้มีกิ่งแขนงที่ใหญ่ แต่ก็ไม่คุ้ม สู้ไม่ตัดลำดีกว่า หันมาขุดเหง้าแทน จะได้ลำไผ่ไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งลำ แต่ถ้าจะใช้แขนง แนะนำให้ตอนกิ่งจะดีกว่า การตอนใช้ขุยมะพร้าว แช่น้ำพอหมาดๆ ห่อด้วยถุงพลาสติก ผ่าตรงกลาง หุ้มที่โคนกิ่งแก่ มัดให้แน่น มีความชื้นรากไผ่จะงอกออกใต้กิ่งแขนง หมั่นดูแล ประมาณ 3-4 สัปดาห์ รากจะออก ใช้เข็มไซริงจ์ฉีดน้ำเข้าช่วยกรณีลูกตอนแห้ง อย่าให้มดไปทำรัง อาจผสมฮอร์โมนเร่งรากด้วยก็ได้ เมื่อรากแก่ตัดไปชำในถุงชำ รดน้ำให้ชุ่ม ควรใส่ในเรือนเพาะชำที่มีตาข่ายพรางแสง 60% ประมาณ 60-90 วัน นำไปปลูกได้ ขายได้

ชนิดที่ 2 กอเหง้าแบบรวมกอ ใช้วิธีขุดเหง้าเช่นกัน บางแห่งใช้ลำมีข้อปักลงในวัสดุชำ ก็สามารถเกิดรากได้ แต่ข้อสำคัญความชื้นต้องเพียงพอ มีระบบสเปรย์น้ำเป็นเวลา พวกนี้เป็นไผ่รุ่นใหญ่มักจะขุดเหง้าไม่ไหว เปลืองแรง หันมาใช้กิ่งชำ ด้วยการตัดข้อมาด้วย แต่ต้องเสียลำ ไม่เป็นไรส่วนมากใช้ลำแก่อยู่แล้ว นำกระบอกไม้ไผ่ที่เหลือเผาเป็นถ่านไม้ไผ่ คุณภาพสูง ส่งขายต่างประเทศ

ชนิดที่ 3 กอเหง้าแบบผสม พวกนี้เป็นไผ่ที่มีแขนงมาก แต่มีขนาดเล็ก แขนงมักจะอยู่สูง ต้องตัดลำบังคับให้ออกกิ่งแขนง จึงจะขยายพันธุ์ได้ ตอนก็ได้ ตัดทั้งข้อมาชำก็ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมด พอสรุปได้ว่า ถ้าไผ่เหง้าใหญ่กอใหญ่ ไม่นิยมขุดเหง้าขยายพันธุ์ แต่จะใช้กิ่งแขนงที่มีขนาดเหมาะสมเป็นต้นกิ่งพันธุ์แทน แต่หากมีลำเล็กนิยมขุดเหง้า เพราะไผ่พวกนี้มีกิ่งแขนงน้อยและเล็ก โตช้ากว่าการใช้เหง้า เอ…วังก็มีด้วยประการ…ฉะนี้ครับ