เกษตรหลังเกษียณ ประสบการณ์ 4 ปี กับ สับปะรด MD-2 (ตอนจบ)

หลังจากเกษียณราชการ ได้ปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 จากปี 2556 ถึงปัจจุบัน ทั้งขยายหน่อปลูกจากรุ่นแรกซึ่งเริ่มปลูกเพียง 100 ต้น ต่อมาสั่งหน่อจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูกเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง เวลาผ่านไปได้เก็บผลผลิตไป 4 รุ่นแล้ว แม้จำนวนผลจะไม่มาก แต่ก็เห็นว่าสับปะรดพันธุ์นี้มีศักยภาพในเชิงการค้าหรือธุรกิจ จะต่อยอดได้หลายช่องทาง เพราะคุณลักษณะที่โดดเด่นทางพันธุกรรมที่แสดงออกมาให้เห็น (phenotype)

ประสบการณ์ 4 ปี กับสับปะรด MD-2

เอาเป็นว่าผมขอแสดงตัวเลขน้ำหนักผลสับปะรดในแต่ละรุ่น ดูครับว่าสภาพที่ปลูกในถุงพลาสติกนั้นยังให้น้ำหนักผลเป็นที่น่าพอใจ ดังนี้

รุ่นที่ 1 เก็บเกี่ยวสับปะรด จำนวน 80 ผล น้ำหนักรวม 103.46 กิโลกรัม เป็นน้ำหนักเฉลี่ย 1.29 กิโลกรัม/ผล

รุ่นที่ 2 เก็บเกี่ยวสับปะรด จำนวน 20 ผล น้ำหนักรวม 32.32 กิโลกรัม คิดเป็นน้ำหนักเฉลี่ย 1.61 กิโลกรัม/ผล

รุ่นที่ 3 เก็บเกี่ยวสับปะรด จำนวน 100 ผล น้ำหนักรวม 144.25 กิโลกรัม คิดเป็นน้ำหนักเฉลี่ย 1.44 กิโลกรัม/ผล

รุ่นที่ 4 เก็บเกี่ยวผลผลิตระหว่าง วันที่ 21 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2560 จำนวน 99 ผล น้ำหนักรวม 132.5 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ย 1.33 กิโลกรัม/ผล

เมื่อคิดน้ำหนักผลสับปะรดทั้ง 4 รุ่นแล้ว ได้ค่าเฉลี่ย 1.41 กิโลกรัม/ผล ซึ่งจัดว่าเป็นผลสับปะรดขนาดกลาง หรือ ใหญ่ ซึ่งได้มาตรฐานของตลาดในประเทศ และเพื่อการส่งออก สำหรับผลสับปะรดที่เก็บเกี่ยวในแต่ละรุ่นนั้นมีผลขนาดใหญ่ น้ำหนักระหว่าง 1.5-2 กิโลกรัมกว่าๆ มากกว่าร้อยละ 50 และผลสับปะรด MD-2 ที่มีน้ำหนักสูงสุดที่ชั่งได้ คือ 2.4 กิโลกรัม/ผล ตรงนี้เป็นฐานการคิดที่ว่า หากปลูกลงแปลงดินแบบทั่วไป น่าจะได้ผลสับปะรดที่มีน้ำหนักและผลขนาดใหญ่กว่าปลูกในถุงพลาสติก (ดูตารางข้อมูลน้ำหนักผล)

รุ่นที่ 1 เก็บเกี่ยว วันที่ 29 ธันวาคม 2557 ถึง วันที่ 4 มกราคม 2558

น้ำหนักต่อผล จำนวน 80 ผล

1.4       1.3     1.55     1.4     1.48    1.3     1.55    1.0    1.35    1.4

1.65     1.07   1.02     1.3     1.22    1.42   1.36   .950   1.23    1.37

1.37     1.57   1.42     1.3     1.2      1.37   1.5      1.25  1.42   1.2

1.42     1.5     1.42     1.42   1.5      1.3     1.08    1.37  1.08   1.05

1.6       1.4     1.35     1.4     1.4      1.37   1.52    1.4    1.35   1.5

1.4      1.45    1.3      1.6     1.75    1.57   .825    .870  1.37    1.2

1.2       1.5      1.8      1.2     1.8      1.4     1.55    1.35  1.2     1.2

1.2       1.05    1.0      .900    .700    .800    .950  1.2     .830    .860

จำนวน 80 ผล น้ำหนักรวม 103.46 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ย 1.29 กิโลรัม/ผล

 

รุ่นที่ 2 เก็บเกี่ยว วันที่ 29 มกราคม 2559 ถึง วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559

น้ำหนักต่อผล จำนวน 20 ผล

1.55    1.35    1.87   1.65   1.55   1.50   2.30   1.55   2.20   2.20

1.90    1.55    1.50   1.65   1.65   1.35   1.40   1.25   1.05   1.30

จำนวน 20 ผล น้ำหนักรวม 32.32 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ย 1.61 กิโลกรัม/ผล

 

รุ่นที่ 3 เก็บเกี่ยว วันที่ 26 ธันวาคม 2559 ถึง วันที่ 12 มกราคม 2560

น้ำหนักต่อผล จำนวน 100 ผล

1.30   1.70   1.40   1.80   1.50   1.55   1.50   1.15   1.30   1.60

1.75   1.20   1.50   1.70   1.70   1.30   1.35   1.50   1.23   1.60

1.30   1.10   1.20   1.40   1.45   1.10   1.45   1.43   1.50   1.40

1.20   1.07   1.25   1.20   1.30   1.40   1.50   1.60   1.70   1.30

1.20   1.55   1.07   1.65   1.35   1.40   1.60   1.35   1.60   1.07

2.25   1.02    1.30   1.20   1.60   1.30   1.55   1.30   1.07   1.90

1.35   1.35    1.45   1.45   1.83   1.75   1.40   1.20   2.20   1.10

1.35   1.00    1.65   1.97   1.77   1.25   1.20   1.75   1.90   1.50

1.00   1.40   1.07    1.07   1.05   1.20   2.10   1.23   1.35   1.15

1.50   1.70   1.65    1.60   1.20   1.90   1.30   1.55   1.45   1.30

จำนวน 100 ผล น้ำหนักรวม 144.25 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ย 1.44 กิโลกรัม/ผล

 

รุ่นที่ 4 เก็บเกี่ยวผลผลิต ระหว่าง วันที่ 21 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2560

จำนวน 99 ผล น้ำหนักรวม 132.5 กิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ย 1.33 กิโลกรัม/ผล

หากคิดน้ำหนักผลสับปะรดทั้ง 4 รุ่น ได้น้ำหนักโดยเฉลี่ย 1.41 กิโลกรัม/ผล จัดว่าเป็นผลสับปะรดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งได้มาตรฐานของตลาดในประเทศและเพื่อการส่งออก

นอกจากขนาดและน้ำหนักของผลเป็นที่น่าพอใจแล้ว สับปะรด MD-2 ยังมีจุดเด่นอีกหลายด้านที่ประเมินได้ เช่น

การเจริญเติบโตที่เร็วและตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าเพราะน้ำหนักดี ผลใหญ่ เนื้อแน่น ผลที่แก่สุกในฤดูหนาวให้รสชาติที่หวานกว่าพันธุ์อื่นๆ จากการวัดค่าน้ำตาลด้วย Hand refractometer ในสับปะรดแต่ละรุ่น พบว่ามีค่าความหวานอยู่ระหว่าง 16-17 องศาบริกซ์ เมื่อกินจะไม่แสบลิ้นและไม่แสบปาก บังคับการออกดอกง่าย เพราะตอบสนองต่อฮอร์โมนเร่งดอกได้ดีมาก โดยเมื่อฉีดพ่นอีเทรล (สารเอทิลีน) เพียงครั้งเดียวจะออกดอกเกือบทุกต้น ทำให้สะดวกต่อแผนการเก็บเกี่ยวที่น้อยครั้ง

เนื้อมีรสชาติหวานนำและมีกลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองเข้มตลอดผล ผิวเปลือกเมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสวยงาม เปลือกบางปอกง่าย และแข็งทนทานต่อการขนส่ง ตาใหญ่และตาตื้นไม่ต้องเจียนซ้ำ ลักษณะผลเป็นรูปทรงกระบอก ไหล่เต็ม ก้านผลสั้นผลอยู่ในทรงพุ่มจึงไม่ค่อยหักล้ม อายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 130-135 วัน นับแต่ที่ฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการออกดอก และผลผลิตเก็บไว้ได้นานในการวางจำหน่ายที่อุณหภูมิห้อง เป็นต้น

DR. David D.F. Williams ผู้พัฒนาพันธุ์สับปะรด MD-2

สภาพแวดล้อมแตกต่าง ปรับตารางวิธีการปฏิบัติดูแลรักษา

จากประสบการณ์ที่ได้ปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 มาระยะหนึ่งนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่ได้จากการปฏิบัติกับสับปะรดพันธุ์นี้ โดยเฉพาะที่บ้านสวนเป็นการปลูกในถุงพลาสติก จึงมีความแตกต่างไปจากคำแนะนำ ตามที่ชาวไร่ทั่วไปปฏิบัติกันอยู่ ดังนี้

  1. การปลูกด้วยจุกและหน่อ ก่อนปลูกควรปลิดใบย่อยที่ส่วนล่างของจุกและหน่อที่หุ้มรากอยู่ออกไปบางส่วน เมื่อนำไปปลูกจะทำให้รากบริเวณนั้นได้สัมผัสกับดิน และได้รับน้ำทันที ทำให้ตั้งตัวได้เร็ว และเติบโตได้รวดเร็วพอๆ กันทั้งการปลูกด้วยจุกและหน่อ
  2. การใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบลงในดินก่อนการปลูกในอัตราที่เหมาะสม ช่วยให้ดินร่วนซุย ไม่แข็งตัว มีการอุ้มน้ำที่ดี โดยเฉพาะในช่วงแล้งต้นสับปะรดไม่แสดงอาการเหี่ยว ขี้ไก่แกลบไม่มี

เมล็ดหญ้า ทำให้ลดปัญหาวัชพืช ซึ่งหากใส่ขี้วัวจะมีหญ้าขึ้นมาก และในปุ๋ยขี้ไก่แกลบยังให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และธาตุรองอื่นๆ ในปริมาณที่มากกว่าปุ๋ยจากมูลสัตว์ทุกชนิด เป็นการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงไปได้อีกส่วนหนึ่ง

  1. การตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีที่ดีมาก จากการที่ใช้ปุ๋ยเคมีผสมน้ำฉีดพ่นลงในทรงพุ่ม/ทางใบ เดือนละ 2 ครั้ง โดยไม่ใส่ปุ๋ยแบบเม็ดเลย พบว่าต้นสับปะรดมีการเจริญเติบโตที่ดี/ต่อเนื่อง ใบมีสีเขียวเข้ม ใบกว้างและหนา สร้างทรงพุ่มและลำต้น (สะโพก) ที่ใหญ่ได้รวดเร็วขึ้น สามารถบังคับการออกดอกได้ภายในเวลา 7-8 เดือน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใน 12-13 เดือน นับจากวันที่ลงปลูก (ปลูกด้วยหน่อกลาง/จุกใหญ่)
  2. การให้น้ำ สับปะรด พันธุ์ MD-2 ต้องการน้ำที่สม่ำเสมอ และพอเหมาะ แต่ไม่มากจนดินชุ่มแฉะ ดังนั้น จากการให้ปุ๋ยผสมน้ำฉีดพ่นในทรงพุ่มทางใบ สับปะรดจะได้น้ำไปพร้อมกับปุ๋ยเป็นระยะๆ จึงเจริญเติบโตได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านในฤดูหนาวและฤดูร้อนก็ตาม
  3. การผลิตสับปะรดคุณภาพให้ได้ผลขนาดใหญ่หรือกลาง เนื้อสีเหลืองทองและมีความหวานสม่ำเสมอตลอดปีนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่พันธุ์สับปะรดที่มาจากแหล่งพันธุ์ที่ต่างกัน (สังเกตว่า นอกจาก พันธุ์ MD-2 แล้วยังมีพันธุ์ MG-3 ที่เป็นเครือญาติกัน แต่ให้ลักษณะบางอย่างที่ดีเด่นแตกต่างกัน)
  4. การคัดแยกจุกและหน่อไปปลูกตามขนาด คือหน่อใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ไม่ปลูกปะปนกันเพื่อการเติบโตที่เสมอหรือเท่าๆ กัน
  5. การปรับสภาพดินปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่เหมาะสม
  6. การบังคับการออกดอกขึ้นอยู่กับขนาดต้นและช่วงเดือนที่บังคับดอก การให้น้ำที่สม่ำเสมอโดยเฉพาะเมื่อเข้าฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม ควรให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นควบคู่กับการฉีดปุ๋ยหวาน 1 ครั้ง (สูตร 0-0-50 หรือ 0-0-60 หรือปุ๋ยสูตรที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง เช่น 15-5-20 หลังการบังคับดอก 90 วัน และควรหยุดการให้น้ำก่อนถึงวันเก็บเกี่ยวสัก 10-15 วัน) สับปะรดจะมีรสชาติหวาน เนื้อเหลืองสวยตามลักษณะพันธุ์ ซึ่งปกติสับปะรดที่แก่สุกในช่วงฤดูหนาวจะมีรสชาติเปรี้ยว
  7. เทคนิคการเก็บเกี่ยวผลสับปะรดนอกจากนับอายุจากวันบังคับดอกแล้ว สับปะรดจะส่งกลิ่นหอมเมื่อแก่สุก หากเก็บเกี่ยวล่าช้าอาจสุกเกินไป (งอม) ทำให้ด้อยคุณภาพ ต้องสังเกตดูสีเปลือกประกอบไปด้วยว่า สับปะรดแก่สุกช่วงไหนของปี สังเกตว่าหน้าฝนน้ำมาก จะเก็บสับปะรดแบบเปลือกติดเขียวอมเหลือง และสุกไม่เกิน 1 ใน 3 หรือครึ่งผล หน้าหนาว-หน้าแล้ง ควรเก็บให้เปลือกออกสีเหลือง-เหลืองเข้มทั้งผล
  8. ต้นพันธุ์สับปะรดจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อช่วงแรกๆ จะอ่อนแอ ต้องนำมาอนุบาลไว้ให้ต้นโตและแข็งแรงพอก่อนที่จะนำลงปลูก ควรให้น้ำและยาป้องกันโรคเน่าจากเชื้อราและแบคทีเรียสลับกันไป เพราะสับปะรดพันธุ์นี้อ่อนแอต่อเชื้อสาเหตุโรคต้นเน่า
  9. ผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลต่อ ช่วงกลางวันแสงแดดเข้มมาก อุณหภูมิสูง อากาศร้อนจัด ต้องป้องกันผลไหม้ (sunburn) และอาการผลแกร็น โดยเพิ่มรอบการให้น้ำ และคลุมหรือห่อผลสับปะรดด้วยวัสดุที่เหมาะสม

ลักษณะที่ผิดปกติ ของ สับปะรด MD-2

จากที่ได้ทดลองปลูกสับปะรด MD-2 มาระยะหนึ่ง สังเกตว่ามีลักษณะต่างๆ ที่ผันแปรไปจากข้อมูลทางวิชาการ มีทั้งสอดคล้องและไม่ปรากฏในรายงาน/ข้อมูลของสับปะรดพันธุ์นี้ เช่น จุกมีรูปร่างผิดปกติในหลายลักษณะ (abnormal crowns), เกิดตะเกียง (slip) ที่ก้านผลใต้ผลสับปะรด, ขอบใบและใบย่อยที่จุกมีหนาม (spiny leaves), ใบด่าง (variegated leaves), การออกดอกเองตามธรรมชาติ (natural differentiated flowering : NDF) ในช่วงฤดูหนาว เป็นต้น

 

ต้นแข็งแรง สีใบเขียวเข้ม

การปลูก สับปะรด MD-2 ให้ได้คุณภาพ

หลายคนปลูกสับปะรดเป็นอาชีพมายาวนาน มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติมาก ดังนั้น หากจะลองมาปลูกสับปะรด MD-2 ก็ไม่ต้องกังวลอะไร พื้นฐานเหมือนกันเกือบทุกอย่าง เพียงแต่ปรับแนวคิดและการปฏิบัติให้รัดกุม และเป็นระบบกว่าที่ผ่านมา มาดูกันสิว่าผู้เขียนมีมุมมองอย่างไร กับการทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ ตามนี้ครับ

  1. พันธุ์ ควรดูว่าเป็นพันธุ์ MD-2 แท้ หรือเปล่า และจากแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ เพราะผู้เขียนประสบกับตัวเองมาแล้ว เคยสั่งซื้อพันธุ์สับปะรดไป ได้กลับมาแบบนี้
    • ขนาดของหน่อไม่เสมอกัน คละมาแบบเล็ก กลาง ใหญ่
    • ได้รับหน่อพันธุ์ไม่ครบตามที่สั่งซื้อ เงินส่วนเกินก็ไม่ได้คืน
    • พันธุ์ที่ส่งมามีปะปนกันหลากหลาย มารู้ตอนต้นโตและมีดอก มีตั้ง 4 พันธุ์
    • ได้หน่อพันธุ์ที่มีโรคเหี่ยวติดมาด้วย มารู้ก็ปลูกไป 4-5 เดือนแล้ว เสียเวลาแล้วยังจะเป็นแหล่งเพาะโรคอีกด้วย
  1. สภาพดินและพื้นที่ควรเตรียมให้ดี ควรมีการเพิ่มความสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ผมใส่ขี้ไก่แกลบรองพื้น สับปะรดมีการตอบสนองดีมาก/เติบโตดี สังเกตจากดินที่ปลูกสั่งมาจากบ่อขุด เป็นดินคุณภาพต่ำหรือความอุดมสมบูรณ์ไม่มี ปุ๋ยขี้ไก่แกลบจึงช่วยได้มาก แปลงสับปะรดนั้นใช้ปุ๋ยเคมีไม่มากเทียบกับที่ชาวไร่ใช้กัน แต่ก็ปรับปรุงได้จากปุ๋ยอินทรีย์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกสับปะรดมานานๆ จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไป
  2. คัดแยกหน่อแต่ละขนาดไปปลูกเป็นแปลงๆ ไป คือ หน่อเล็ก กลาง หรือใหญ่ ต้นสับปะรดจะมีการเจริญเติบโตเท่ากันหรือใกล้เคียงกันมาก จะมีผลต่อการบังคับดอก และคุณภาพด้านขนาด น้ำหนักผลผลิตที่จะตามมา
  3. ระยะปลูกที่เหมาะสม ควรปลูกให้มีจำนวนต้น ระหว่าง 7,000-8,000 ต้น/ไร่
  4. ควบคุมหรือกำจัดวัชพืชให้ได้ตั้งแต่หลังจากที่ปลูกเสร็จจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต
  5. การให้น้ำ ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยชีวภาพที่สม่ำเสมอ สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมตามช่วงเวลาการเจริญเติบโตถึงเก็บเกี่ยว วิธีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสับปะรดมาก เพราะได้ทั้งธาตุอาหารและน้ำไปพร้อมๆ กัน และรอบการฉีดปุ๋ยจะพอเหมาะกับต้นสับปะรดที่ดูดนำไปใช้ เป็นการใช้ปุ๋ยไม่มากเกินจำเป็น ประหยัดต้นทุนแต่ได้ประโยชน์คุ้มค่า
  6. เก็บเกี่ยวผลสับปะรดตามระยะแก่สุก โดยหลักการที่ว่า สีเปลือกต่างกันคุณภาพสีเนื้อ รสชาติความหวาน และกลิ่นหอมจะแตกต่างกันด้วย มันจะสัมพันธ์กับพันธุ์สับปะรด และช่วงฤดูกาล (สภาพแวดล้อม) ขณะสับปะรดแก่สุกด้วย ต้องนำมาพิจารณา อาจต้องสุ่มตัวอย่างมาผ่าดู พร้อมชิมรสชาติ หรือไม่ก็ต้องกำหนดเป็นแผนการผลิตไว้ตั้งแต่ตอนแรก

จากข้อมูลและข้อคิดที่นำมาเล่าสู่กันในฉบับนี้ สรุปว่า สับปะรดพันธุ์ MD-2 หากมีการจัดการที่เหมาะสม จะได้คุณภาพตามที่เราต้องการ ทั้งรูปทรง ขนาดผล น้ำหนัก และรสชาติที่หวานหอม โดยเฉพาะต้นทุนด้านปุ๋ยจะลดลงมาก เมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยของชาวไร่ทั่วไป

ข้อมูลที่ได้มามั่นใจว่าสับปะรด พันธุ์ MD-2 มีความโดดเด่นที่จะเป็นโอกาสของวงการสับปะรดไทย เป็นพันธุ์ที่จะเลือกสู่การผลิตเพื่อป้อนตลาดผลสดและการแปรรูป ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก เพราะปัจจุบันข้อมูลหรือข่าวสารเกี่ยวกับสับปะรดพันธุ์นี้ผู้บริโภคได้รับรู้กันมากขึ้น และมีผลผลิตให้ซื้อหาได้บ้างแล้ว ซึ่งตลาดต่างประเทศยังต้องการอีกมาก โดยเฉพาะตลาดเอเชีย ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง คงขึ้นอยู่กับว่าเราจะฉกฉวยโอกาสนี้ได้ไวแค่ไหน ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาระบบการผลิต และพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพราะประเทศคู่แข่งอย่างมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียกับสับปะรดพันธุ์นี้ เขาก้าวนำหน้าเราไปก่อนแล้ว ส่วนชาวไร่นั้นใครตัดสินใจเร็วก็มีโอกาสก่อน และอยากจะทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่า “ใครไวใครได้ ใครมัวแต่ลังเลใจ คงไปไม่ทันรถไฟสาย MD-2” อยู่ที่การตัดสินใจครับ

เพราะถึงอย่างไร สับปะรดยังต้องเป็นอาชีพของคนไทยกันต่อไปอีก แม้ว่า ปี 2560 นี้ ราคาจะตกต่ำหาค่าเกือบไม่ได้ แต่จะไปต่อกันอย่างไรก็คิดกันดู บทความนี้อาจใช้เป็นข้อมูลประกอบทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เอาไว้คราวหน้ามาอ่านสถานการณ์สับปะรด MD-2 ในต่างประเทศกันนะครับ

เรียบเรียงโดย คุณมนตรี กล้าขาย อดีตผู้อำนวยการกลุ่มวิชาการและฝึกอบรม สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จังหวัดระยอง สังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร

เอกสารอ้างอิง  

  1. Ramon G. Leon And Delanie Kellon, 2017. Characterization of MD-2 Pineapple Planting Density and Fertilization Using a Grower Survey. horttech. ashs publication.org, April 2017.
  2. Duane P. Bartholomew, 2009. MD-2Pineapple Transforms The World’s Pineapple Fresh Fruit Export Industry.Department of Tropical Plant and Soil Sciences, University of Hawaii at Manoa ,Honolulu. Issue No. 16Newsletter of the Pineapple Working Group, International Society for Horticultural Science.