SMART FARMER ต้นแบบ ชาวตำบลทุ่งตำเสา หาดใหญ่ เปลี่ยนยางพารา มาเป็นสวนผสม มีรายได้ทุกวัน

ยังคงเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องกับการที่ทางภาครัฐต้องการให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของราคา ขณะที่ชาวบ้านเองก็ขานรับนโยบายดังกล่าว ด้วยการเริ่มทำจริงจังแล้วประสบความสำเร็จหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

“ยางพารา” เป็นพืชเศรษฐกิจทางจังหวัดภาคใต้ที่ประสบปัญหาราคาผันผวนมาตลอด สร้างความเดือดร้อนต่อรายได้ของพี่น้องชาวใต้อย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายพื้นที่จัดการโค่นต้นยางบางส่วนและปรับพื้นที่มาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งพบว่าประสบความสำเร็จ มีรายได้ดีกว่ายางพาราหลายเท่า

คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ

อย่าง คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ บ้านเลขที่ 89/2 หมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีแนวคิดแบบนี้เช่นกัน แล้วไม่รอช้าที่จะเร่งปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรรมของครอบครัวล่วงหน้าก่อนปัญหาราคายางจะลุกลาม

หลายปีก่อนหน้านี้ คุณนิวัฒน์ มองว่าอนาคตราคายางพาราคงจะแย่ เพราะมีขึ้น-ลง ตลอดเวลา จึงตัดสินใจโค่นไปเกือบหมด แล้วเปลี่ยนมาปลูกพืชผัก ไม้ผล แบบผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็น ผักกูด มะระ บวบ มะเขือ พริก ฯลฯ เป็นต้น โดยเน้นแนวทางอินทรีย์เป็นหลัก แล้วนำไปขายที่ตลาดสุขภาพในจังหวัดหลายแห่ง

จนกระทั่ง เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลมาพบแล้วสนใจ เพราะเป็นสวนผสมที่จัดระบบไว้อย่างดี สามารถเป็นตัวอย่างในการเป็นศูนย์เรียนรู้ได้ จึงชักชวนให้เข้าร่วมประกวดแปลงเกษตรตัวอย่างตามนโยบายของรัฐบาล จนเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น SMART FARMER ต้นแบบ ระดับเขต อีกทั้งที่สวนยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จากนั้นก็มีหลายภาคส่วนติดต่อเข้ามาดูงานบ้าง บางแห่งให้การสนับสนุนเป็นงบประมาณบ้าง

ทำแนวถนนรอบสวนพร้อมปลูกพืช ไม้ยืนต้นเป็นชั้นๆเพื่อใช้กำบัง

สวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้เน้นความเป็นอินทรีย์ล้วน ดังนั้น ในพื้นที่ จำนวน 13 ไร่ จึงถูกออกแบบวางผังเป็นลักษณะการปลูกพืช ผัก และพันธุ์ไม้ ทั้งไม้ผล ไม้ดอก ไม้ใบ พืชสวนครัว พืชสมุนไพร ให้ถูกต้อง เหมาะสม และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ได้สร้างถนนไว้รอบเพื่อให้รถและอุปกรณ์ทางเกษตรทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ขณะนี้พื้นที่บริเวณริมเขตกั้นระหว่างพื้นที่รายอื่นจะจัดทำเป็นร่องน้ำเป็นแนวยาวตลอดทั่วทุกด้าน

พืช ผัก ไม้ผล ที่ปลูกมีจำนวนหลายชนิด อาทิ ผักกูด ชะอม กล้วยชนิดต่างๆ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง และกล้วยหิน นอกจากนั้น ยังมีผักเหลียง ผักหวาน บอนหอม มะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ส้มหัวจุก ส้มเกลี้ยง ข่า ตะไคร้ พริกหลายชนิด

ปลูกผักกูดในสวนยาง
กล้วยหิน

คุณนิวัฒน์ บอกว่า พืชบางอย่างปลูกร่วมกันได้ เว้นแต่บางชนิดต้องดูความเหมาะสม อย่างผักกูดถือเป็นพืชชั้นล่างที่อาศัยเพียงหน้าดินเล็กน้อย ในขณะที่กล้วยเป็นพืชชั้นกลางมีใบใช้บังแดดให้แก่ผักกูด แต่ถ้าปลูกเฉพาะกล้วยแล้วปล่อยที่พื้นดินว่าง ก็จะทำให้วัชพืชต่างๆ แพร่กระจาย ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น ถ้าปลูกผักกูด ผักเหนียง  แซมจะช่วยป้องกันไว้ได้ ทั้งยังเป็นการช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พืชชั้นกลางด้วย

เกษตรกรรายนี้ใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วทั้งหมดของครอบครัวสำหรับปลูกพืช จึงถือว่าเต็มกำลังความสามารถแล้ว ดังนั้น หากต้องการเพิ่มจำนวนและประเภทพืช ผัก ชนิดอื่นอีก จะต้องวางแผนการปลูกในรูปแบบแนวตั้ง ด้วยการใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นนั่งร้านแล้วปลูกพืชประเภทที่ใช้ดินน้อยไว้ด้านบน

ปลูกผักกูดกับกล้วย

ส่วนด้านล่างอาจปลูกพืชที่ต้องการแสงรำไรไว้ จากนั้นติดตั้งระบบรดน้ำด้วยสปริงเกลอร์ไว้ทั่วก็จะทำให้พืชผักทั้งด้านบนและด้านล่างได้รับน้ำและความชื้นไปพร้อมกัน แนวทางนี้เป็นการช่วยประหยัด ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพได้มาก ขณะเดียวกันใช้ผึ้งสำหรับช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ

เศษใบไม้ หญ้าที่เตรียมผลิตปุ๋ยหมัก

สำหรับดินปลูกจะหมักด้วยหญ้า ฟาง หรือแม้แต่ขุยมะพร้าวมาใช้หมักร่วมกับขี้ไก่ แกลบ ขี้หมู ส่วนน้ำหมักได้จากเศษปลาผสมสับปะรด กากน้ำตาล และน้ำ จะต้องผสมไว้ครั้งละหลายร้อยลิตร หรือประมาณ 6-8 ถังลิตร นอกจากนั้นแล้ว ยังนำแนวทางการผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศที่ช่วยในเรื่องการลดต้นทุนมาใช้ในสวนแห่งนี้ด้วย

โรงผลิตปุ๋ยหมักเติมอากาศ

ทั้งนี้ การดูแลใส่ปุ๋ยสำหรับพืชผักที่ปลูกนั้น คุณนิวัฒน์ใช้หลักใส่ครั้งเดียวพืชหลายชนิดได้ประโยชน์ ซึ่งถือเป็นแนวทางลดต้นทุน อย่างปุ๋ยที่ใส่ผักกูดเป็นปุ๋ยขี้ไก่แกลบหมัก จะต้องสั่งซื้อมาทุก 3 เดือน ในจำนวน 300 กระสอบ

ทางด้านแมลงศัตรูที่พบมากที่สุดคือ ด้วง แต่ถูกปราบโดยนกที่เข้ามาหากินในสวน จึงเป็นเรื่องดีเพราะระบบนิเวศจัดการกันเอง โดยที่เราไม่ต้องหาวิธีกำจัด ขณะเดียวกันถ้ามีมากเกินไป ยังนำขี้ไก่สดที่มีแอมโมเนียมากไปกองไว้ที่โคนต้นกล้วยที่ด้วงมาทำลาย เพื่อกำจัดด้วงอีกแนวทางหนึ่ง ที่ถือว่ากำจัดแบบใช้ธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้สารเคมี

แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

คุณนิวัฒน์ เผยว่า ผักกูด เก็บขายทุกวัน ประมาณวันละ 20-30 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 60 บาท ถือว่าราคาดี มีรายได้ประมาณพันกว่าบาททุกวัน หรืออย่างกล้วยน้ำว้า ขายกิโลกรัมละ 30 บาท (14/6/60), มะนาว กิโลกรัมละ 70 บาท พริก กิโลกรัมละ 100 กว่าบาท ผักหวานป่า กิโลกรัมละ 100 บาท การเก็บผลผลิตของพืชทั้งหมด จะใช้วิธีแบ่งเป็นโซน เก็บทีละโซน แล้วสลับหมุนเวียน

สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่เก็บแล้วจะนำมาทำความสะอาด ตกแต่งให้เรียบร้อย แล้วนำไปขายที่ตลาดนัดสุขภาพ เพราะมีราคาสูงกว่าพืช ผัก ชนิดเดียวกันที่ขายตามตลาดทั่วไป นอกจากนั้น ยังเพาะต้นพันธุ์พืช และมีหน่อกล้วยขายด้วย ทั้งนี้ผักที่เก็บขายในรอบสัปดาห์เพียง 5 วัน ส่วนอีก 2 วัน จะเข้าสวนเพื่อดูแลต้นไม้

แปลงปลูกมะนาววงบ่อ

คุณนิวัฒน์ เล่าว่า การปลูกพืชแบบผสมผสานแล้วใช้ระบบการปลูกแบบอินทรีย์ ต้องมีความอดทนสูง หรือบางอย่างอาจต้องใช้ทุนสูง อีกทั้งยังต้องทำความเข้าใจระบบนิเวศควบคู่ไปด้วย ดังนั้น แนวทางนี้ชาวบ้านละแวกเดียวกันจึงไม่ค่อยมีใครสนใจทำ

“แต่แม้ว่าจะมีวิธีการปลูก การดูแล ที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก แต่หากฝึกทำบ่อยๆ พร้อมกับการเรียนรู้ก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้น เกิดความเคยชิน จนทำให้รู้สึกเป็นเรื่องปกติของงานประจำ ที่สำคัญผัก พืช ผลไม้ ที่ปลูกตามแนวทางอินทรีย์ สามารถขายได้ราคาดีกว่าพืชผักทั่วไป เพราะความต้องการของตลาดไม่เคยลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าคุ้มค่าเหนื่อยเลยเชียว…” คุณนิวัฒน์ กล่าว

สอบถามรายละเอียดแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานได้จาก คุณนิวัฒน์ เนตรทองคำ  โทรศัพท์ (087) 390-7426