เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังคือคนจนผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย

นอกจากข้าว ยางพารา อ้อย และปาล์มน้ำมันแล้ว มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ

ผมเดินทางไปพบเกษตรกรในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง นายณัฐนนท์ เดชโกพรม อายุ 46 ปีบ้านเลขที่ 205 ม.5 บ้านนาน้อย ต.ม่วงนา อ.ดอนจาน จ.กาฬสินธุ์

นายณัฐนนท์ เล่าให้ฟังว่า การลงทุนปลูกมันสำปะหลัง ที่ดินของตนเอง ไถดะ 1 ครั้ง 250 บาท ไถพรวน 200 บาท ไถยกร่อง 250 บาท ค่าท่อนพันธุ์ ปลูกระยะ 80 คูณ 50 หรือ 100คูณ 60 เซนติเมตร ใช้ท่อนพันธุ์  10 ถุงปุ๋ย 500 บาท ปุ๋ยยูเรียรองพื้น 50 ก.ก.ราคา 800 บาท ทำรุ่น 2 คน/วัน/ไร่ ค่าแรง วันละ 300 บาทรวม 600 บาท ทำรุ่น 2 ครั้ง 1,200 บาท การเก็บเกี่ยว(หรือการกู้มัน) 4 คน/ไร่/วัน ค่าแรงรวม 1,200 บาท ค่าขนส่ง ตันละ 130 บาท ต้นทุนการผลิต 4,500-5,000 บาท/ไร่

หากผลผลิต 4,000 ก.ก.ๆละ 2.50 บาท เกษตรกรพออยู่ได้ แต่ปัจจุบัน ราคามันสำประหลัง 2 บาท ลงมา พอมีกำไรไร่ละ 3,000 บาท/ปี

ความเป็นจริง บางพื้นที่ ผลผลิต 3 ไร่ ได้ 7,000 ก.ก.หรือประมาณ 2,000 ก.ก./ไร่ ขายได้ ไร่ละ 4,000 บาทลงทุน 4,000-4,5000 บาท

ทางด้านนายสายสุวรรณ เดชโกพรม อายุ 51 ปี บ้านเลขที่ 217 ม.9 บ้านนาจารย์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ราคาเจ้าของลานมันสำปะหลังเป็นคนกำหนดวันนี้ขึ้นป้าย 2 บาท/ก.ก.พอมันสำปะหลังขนเข้าไปมาก ป้ายหน้าโรงงานลดลงเหลือ 1.50-1.75 บาท จำเป็นต้องขายมันสำปะหลังกู้แล้ว(เก็บเกี่ยวแล้ว)  หากเป็นการประกันราคาของรัฐบาล  นายหน้า พ่อค้าคนกลาง ไปจองคิวไว้ขายคิวต่อให้เกษตรกร หรือไม่ก็รับซื้อมันสำปะหลังราคาต่ำ แล้วไปขายในราคาประกัน จ้างเกษตรกรที่ ขึ้นทะเบียนไปขายให้ คันละ 400-500 บาท เกษตรกรโดนเอาเปรียบมาโดยตลอด  หากเป็นการชดเชยราคา “มันสำปะหลัง” ลานมันจะซื้อเท่าไร รัฐบาลชดเชยให้ เป็นเรื่องดีมาก เพราะเกษตรกรได้ เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ขายได้ 2 บาทรัฐบาลชดเชยให้ .50 บาท หรือ เกษตรกรขายได้ 1.50 บาท รัฐบาลชดเชย 1 บาท เกษตรกรพึงพอใจ

“ ท่านลองใช้สมองคิดดูครับ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 1 ปี จึงเกิดรายได้ หากมันสำปะหลังเน่าตาย เพราะฝนตกชุก มันสำปะหลัง แห้งแล้งตาย เพราะความแห้งแล้ง 12 เดือนที่ผ่านมา เกษตรกรไม่เกิดรายได้ แม้แต่สลึงเดียว ขาดทุนย่อยยับเพราะเงินลงทุนจำนวนมาหาศาล ลูกเรียนหนังสือ เงินยังชีพในครัวเรือน เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจึงเป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ตลอดกาลนาน ยิ่งเกิด AEC การค้าเสรี  มันสำปะหลังเพื่อบ้านทะลักเข้ามา ซื้อจากเพื่อบ้านต่ำกว่าราคา .50 บาท แล้วเกษตรกรไทยละครับ อ้อยมีสมาคมอ้อยดูแล มันสำปะหลัง มันเหม็นเน่า เหมือนกลิ่นลานมัน ใครจะดูแลครับ”นายสายสุวรรณกล่าว

นักส่งเสริมการเกษตร บอกแล้วว่า “ปลูกมันสำปะหลังมันไม่ได้ผล (ได้หัว)” ไม่ใช่เรื่องตลกครับ รัฐบาล ต้องก้มหน้าลงมามองเกษตรกรกลุ่มนี้ด้วยครับ

มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญ ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อเช่น Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า “มันหลา”) คำว่า “สำปะหลัง” ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า “ซำเปอ (Sampou)” ของชวาตะวันตก

มันสำปะหลังมีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (Lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา มานานกว่า 3,000-7,000 ปีมาแล้ว นิยมใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ สามารถปลูกได้ง่ายในพื้นที่ร้อน และร้อนชื้น จึงได้มีการสนับสนุนแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีสภาพภูมิอากาศดังกล่าวปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ

มันสำปะหลังเป็นไม้พุ่ม สูง 1.3-5 เมตร รากแบบสะสมอาหาร (tuberous root) สายพันธุ์ที่นิยมปลูกสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 10-1.5 เซนติเมตร ใบมีร่องลึก 3-7 ร่อง มีหูใบ ก้านใบยาว ดอกเป็นช่อดอก ผลแบบแคปซูลทรงกลม ประมาณ 1.2 เซนติเมตร มี 3 เมล็ดใน 1 ผล การจำแนกสายพันธุ์ใช้คุณลักษณะหลายอย่างช่วยในการจำแนกเช่น สีของใบอ่อน สีก้านใบ สีลำต้น ขนที่ยอดอ่อน ลักษณะทรงต้น หูใบ การแปรรูปรากสะสมอาหารมันสำปะหลังเพื่อให้เก็บรักษาได้เป็นเวลานาน ถูกส่งออกในรูปแบบมันสำปะหลังอัดเม็ดมันเส้นสาคูแป้งมันสำปะหลัง