“นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกหมู่บ้านนักรบไทย” จังหวัดอุบลราชธานี ส่งเสริมอาชีพการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ถือเป็นวันแรกที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และการกำหนดเป็นวันทหารผ่านศึกอย่างเป็นทางการ ดังนั้น ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นวันสถาปนาองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และเป็น “วันทหารผ่านศึก”

องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้จัดตั้งนิคมเกษตรกรรมขึ้น ในชื่อ “นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกหมู่บ้านนักรบไทย” เพื่อจัดที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ดินทำกินให้กับทหารผ่านศึกและครอบครัว ตลอดจนทหารนอกประจำการ ที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยให้การสนับสนุนส่งเสริมอาชีพการเกษตรแบบผสมผสาน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ พร้อมไปกับการส่งเสริมฝึกอาชีพการทอผ้าไหมให้แก่กลุ่มแม่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวทหารผ่านศึกฯ ให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

คุณอาทิตย์ สุขภาพ หัวหน้านิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกหมู่บ้านนักรบไทย สังกัดองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัว ยังคงให้ความสำคัญทางด้านเกษตรกรรมและงานหัตถกรรมสิ่งทอเป็นหลัก โดยยึดแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกทั้งยังยึดตามแนวทางโครงการ 9101 ตามรอยพ่อ

ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากสำนักงานเกษตรอำเภอสว่างวีระวงศ์ กับทางกรมทหารราบที่ 6 ด้วยดีเสมอมา เพื่อส่งเสริมความรู้ให้แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัวจำนวน 40 ครัวเรือน ในพื้นที่จำนวน 137 ไร่ ของทางหมู่บ้านนักรบไทยแห่งนี้

คุณอาทิตย์ สุขภาพ หัวหน้านิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึก หมู่บ้านนักรบไทย

สำหรับผลที่เกิดขึ้นภายหลังการส่งเสริมอาชีพแล้วพบว่าทหารผ่านศึกและครอบครัวทุกครัวเรือนสามารถดำรงชีพเองได้อย่างมีความสุข อย่างมีเกียรติ และความภาคภูมิใจเทียบเท่ากับประชาชนทั่วไป ขณะเดียวกัน ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากงานเกษตรกรรมทางแต่ละครอบครัวไม่เพียงเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือน แต่ยังสามารถนำไปขายยังตลาดประชารัฐ ภายในบริเวณนิคมฯ เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกทาง

ส่วนแม่บ้านในครอบครัวทหารผ่านศึกได้จัดให้มีการฝึกอบรมงานหัตถกรรมสิ่งทอเพื่อช่วยให้มีรายได้เสริมอีกทาง ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพและความตั้งใจจึงทำให้บรรดาแม่บ้านเหล่านั้นประสบความสำเร็จด้วยการผลิตผ้าฝ้ายทอมือย้อมด้วยสีธรรมชาติ จนได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ดีเด่นนกยูงทองในการผลิตผ้าไหมและผ้ากาบบัว ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือเหล่านี้มีวางจำหน่ายอยู่ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.บ้านบัวเทิง อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายในงานสำคัญที่ทางจังหวัดอุบลราชธานีจัดขึ้น

“ในวาระครบรอบวันทหารผ่านศึกที่กำลังเวียนมาถึงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ขอเชิญชวนทหารผ่านศึกและครอบครัว ตลอดจนพี่น้องประชาชน ได้มาร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อรำลึกถึงวีรชนผู้กล้า ซึ่งในอดีตท่านเหล่านั้นได้เสียสละเลือดเนื้อ ชีวิต ในเหตุการณ์สำคัญเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยมิให้ศัตรูเข้ามารุกราน

โดยในครั้งนี้ทางนิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เหมือนดั่งเช่นทุกปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญเลี้ยงพระ การวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์ “เกิดมาใช่อื่น เพื่อผืนดินไทย” รวมถึงการออกร้านจำหน่ายสินค้าที่ผลิตจากครอบครัวทหารผ่านศึก ไม่ว่าจะเป็นพืชผลทางการเกษตร งานหัตถกรรมทอผ้า และสินค้าอื่นอีกมากมาย” คุณอาทิตย์ กล่าว

ขณะที่ คุณสมาน และ คุณลำพูน ดอนทอง เป็นครอบครัวที่ประสบความสำเร็จในโครงการนี้ โดยคุณสมานเป็นอดีตอาสาสมัครทหารพรานที่เคยปฏิบัติหน้าที่อยู่ทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังปลดประจำการได้มาสมัครเป็นสมาชิกนิคมฯ แห่งนี้เพื่อขอที่ดินทำกิน กระทั่งผ่านเกณฑ์คุณสมบัติได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นสมาชิกนิคมเกษตรกรรมหมู่บ้านนักรบไทย

คุณสมานและคุณลำพูนกับกล้วยร้อยหวีที่ประสบความสำเร็จ

คุณสมานทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการปลูกพืชและไม้ผลหลายชนิดรวมกันในพื้นที่ 3 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นมะนาวที่ปลูกลงดินจำนวน 400 กว่าต้น พริก กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ มะละกอ มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม ฯลฯ ซึ่งผลผลิตที่ได้จะเก็บไว้ใช้ในครอบครัวโดยไม่ต้องซื้อ แต่หากมีจำนวนมากก็จะแบ่งไปขายที่ตลาดนัดชุมชน

การทำเกษตรกรรมของคุณสมานไม่จำเป็นต้องวางแผนปลูกล่วงหน้า เพราะไม่เน้นขายเพื่อหวังกำไร อยากปลูกอะไรก็ปลูก การดูแลพืชจะใช้ปุ๋ยคอกเท่านั้น แล้วรดน้ำตามความเหมาะสม

ในแต่ละสัปดาห์คุณสมานจะนำผลผลิตไปขายที่ตลาดนัดชุมชนเป็นจำนวน 3 วัน มีรายได้เฉลี่ย 400-500 บาท ต่อครั้ง หรือบางคราวอาจสูงถึงพันบาท ซึ่งเป็นรายรับสุทธิที่ไม่มีต้นทุน

นอกจากนั้น คุณลำพูนยังมีงานหัตถกรรมทอผ้าที่ได้รับความรู้มาจากวิทยากรของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพสวนจิตรลดา งานทอผ้าของคุณลำพูน ได้แก่ ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า โสร่ง และผ้าไหมมัดหมี่ ราคาจำหน่ายแล้วแต่ชิ้นงานที่มีความยาก-ง่าย อย่างผ้าพันคอผืนละ 150 บาท แล้วถ้ายากขึ้นขายผืนละ 180 บาท หรือผ้ามัดหมี่ขายเมตรละ 800 บาท ผืนละ 1,600 บาท พร้อมกับต้องสั่งจองล่วงหน้า

คุณคำสิ่ง และ คุณทองใบ อริกุล เป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจากอาชีพเกษตรกรรม โดยคุณคำสิ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในสมรภูมิเขาค้อ เมื่อปลดประจำการแล้วได้เดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อขอสมัครแล้วได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกนิคมเกษตรกรรมฯ เมื่อปี 2538

คุณคำสิ่ง และคุณทองใบ อริกุล

ครอบครัวนี้จะปลูกพืชแนวผสมผสาน ที่เน้นปลูกกล้วยมากที่สุด โดยในครั้งแรกได้ลงทุนซื้อพันธุ์มาจำนวน 50 ต้น แล้วขยายเพิ่มได้อีกจนทุกวันนี้มีจำนวนกว่า 400 ต้น พร้อมกับใช้ประโยชน์จากร่มเงาใบกล้วยด้วยการปลูกสมุนไพรแซมในร่องกล้วย ไม่ว่าจะเป็นข่า ตะไคร้ พริก โดยผลผลิตจากกล้วยน้ำว้านำไปขายที่ตลาดนัดชุมชนในราคาหวีละ 25-30 บาท

คุณคำสิ่งมีพื้นที่ทำกินจำนวน 3 ไร่ เช่นกัน แต่การทำเกษตรกรรมของเขาใช้วิธีสลับผลัดเปลี่ยนปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทำนาเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว กข 6 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 15 กระสอบปุ๋ย แล้วยังเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้าจำนวน 4 โรงเรือน แต่ต้องพักไว้ชั่วคราว แล้วสลับเปลี่ยนมาปลูกกล้วยกับพืชสมุนไพรแทน นอกจากนั้น ยังเลี้ยงไก่ดำภูพาน ใช้บริโภคเนื้อและไข่ ส่วนมูลไก่นำมาใช้ทำปุ๋ยหมักเพื่อนำไปใส่พืชผักปีละ 2-3 รอบ

แนวทางการปลูกพืชของคุณคำสิ่งจะคิดเองว่าจะปลูกอะไรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนมีการวางแผนปลูกในแต่ละรอบแล้วยังสามารถนำประโยชน์จากทุกส่วนของพืช ผักไปขายสร้างรายได้ประโยชน์ ตัวอย่างเช่น การนำต้นกล้วยไปสับให้ไก่กิน ส่วนใบกล้วยนำไปขายก้านละ 2 บาท, ข่าอ่อนขายมัดละ 10 บาท (มี 5 หัว) และตะไคร้กำละ 10 บาท

รายได้ของคุณคำสิ่งเกิดจากการนำผลผลิตไปขายที่ตลาดสดทุกสัปดาห์ละ 3 วัน แต่ละครั้งขายสินค้าได้หมด มีเงินกลับบ้านครั้งละ 300-500 บาท เป็นอย่างต่ำ เฉลี่ยเดือนละประมาณเกือบหมื่นบาทโดยที่ไม่มีต้นทุนอะไรเลย แล้วรายได้อีกส่วนหนึ่งยังมาจากอาชีพทอผ้าขายของภรรยา

นี่อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของครอบครัวทหารผ่านศึกจากที่มีอยู่จำนวน 40 ครัวเรือนที่ล้วนเป็นทหารกล้าที่เคยต้องต่อสู้มาแล้วในสนามรบ แต่ทุกวันนี้พวกเขาได้ชัยชนะจากชีวิตจริงที่ต้องต่อสู้จนประสบความสำเร็จอันเป็นผลมาจากความเพียรพยายามและความอดทน

ท่านใดที่สนใจประสงค์จะเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมหรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของครอบครัวทหารผ่านศึก สามารถติดต่อได้ในเวลาราชการที่นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกหมู่บ้านนักรบไทย หมู่ที่ 7 ถนนสถิตย์นิมานกาล ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี 34190 โทรศัพท์ (045) 202-207 E-mail : [email protected]

 

กำหนดการจัดงานวันทหารผ่านศึก ประจำปี 2561 นิคมเกษตรกรรมทหารผ่านศึกหมู่บ้านนักรบไทย

 วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561

08.30-09.30 น.   ลงทะเบียนวางพวงมาลา

– ประธานและผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ขึ้นวางพวงมาลาสดุดีวีรกรรมนักรบกล้า ณ อนุสาวรีย์

10.00-12.00 น.   ประธานในพิธีมาถึงบริเวณพิธี พร้อมผู้แทนส่วนราชการและแขกผู้มีเกียรติ เพื่อร่วมพิธีทางศาสนา

12.00-16.00 น.   เรียนเชิญประธานพิธี ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ่านสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม/นายกสภาทหารผ่านศึก

– ตัวแทนนายกสมาคมทหารผ่านศึกแห่งประเทศไทย อ่านสารผู้อำนวยการ อผศ.

16.00 น.            หัวหน้า นิคมฯ กล่าวปิดงาน