Young Smart Farmer หนองบัวลำภู ถูกหลอกปลูกถั่วดาวอินคา เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส แปรรูปจำหน่าย

ปัจจุบันได้มีเกษตรกรถูกหลอกให้ซื้อพันธุ์พืชและสัญญาว่าเมื่อผลผลิตออกแล้วจะรับซื้อคืนในราคาประกัน แต่เมื่อถึงเวลาขายผลผลิตปรากฏว่าไม่มารับซื้อ ทำให้เกษตรกรที่ลงทุนไปแล้วต้องขาดทุน เป็นหนี้สินจำนวนมาก อย่างเช่น

คุณพิชิต พิลาศรี Young Smart Farmer จังหวัดหนองบัวลำภู อายุ 35 ปี เลขที่ 13 หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองใหม่ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู 39180 โทร. (086) 103-1560 เว็บไซต์  www.omegainca.com ที่เคยถูกหลอกให้ปลูกถั่วดาวอินคา 7 ไร่ ลงทุน 150,000 บาท อ้างว่าเมื่อปลูกแล้วจะมีรายได้ไร่ละ 100,000 บาท/ปี แต่เมื่อผลผลิตออกกลับไม่มารับซื้อแต่อย่างใด แต่ด้วยความพยายาม ไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค พร้อมใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาและสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากถั่วดาวอินคาออกจำหน่าย ทำให้มีรายได้เดือนละประมาณ 300,000 บาท หรือปีละประมาณ 3,600,000 บาทเลยทีเดียว

 

คุณพิชิต พิลาศรี และ ภรรยา

ความเป็นมา

คุณพิชิต เล่าให้ฟังว่า หลังจากจบ ม.3 ที่โรงเรียนดอนปอวิทยา ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู แล้วไปสู้ชีวิตตามลำพังที่กรุงเทพฯ เพื่อหางานทำเพื่อส่งตัวเองเรียน ได้ทำงานประมาณ 1 ปี จึงขอเจ้านายไปศึกษาต่อจนจบ ม.6 เรียนจบแล้วจึงได้ย้ายงานใหม่ ทำงานได้สักพัก จึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ หลังจากอยู่กรุงเทพฯ ได้ 15 ปี แต่งงานมีครอบครัวจึงกลับบ้านเกิด จึงเปิดร้าน “พิชิตการเกษตร” อยู่บริเวณเยื้องสถานีตำรวจภูธรศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู จากนั้นได้ปลูกมันสำปะหลังเพื่อหารายได้เสริมอีกทาง แต่ราคาตกต่ำมากในรอบหลาย 10 ปี ขาดทุนเป็นหนี้จำนวนมาก

คุณชนะ ไชยฮ้อย (กลาง) เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู

บนเรียนความล้มเหลวจากปลูกถั่วดาวอินคา

บนความโชคร้ายยังมีความโชคดีซ่อนไว้อยู่เสมอ ได้มาพบพืชเศรษฐกิจตัวใหม่คือถั่วดาวอินคา จึงได้หาข้อมูลจนพบว่ามีโครงการสนับสนุนการปลูกถั่วดาวอินคา ปี 2557 จึงขอเข้าโครงการเพื่อซื้อเมล็ดมาปลูกประมาณ 7 ไร่ ทุนที่ใช้นั้นก็กู้ยืมจากธนาคาร ธ.ก.ส. เป็นเงิน 150,000 บาท ปลูกได้ 8 เดือน ถึงเวลาเก็บผลผลิต โครงการที่จะรับซื้อกลับเงียบหาย ไม่มีคนรับซื้อ ผลผลิตเก็บแต่ละรอบได้หลายร้อยกิโลจะทำอย่างไรดีกับชีวิต ขายไม่ได้เป็นหนี้ธนาคารจะหาเงินจากไหนส่งคืนธนาคาร ถ้าไม่เคยล้มก็ไม่รู้จักวิธีลุกขึ้นยืน เมื่อยืนได้แล้วค่อยๆ คิดแล้วเดินต่อ ประสบการณ์สอนให้เรารู้จักคิดและระวัง และรอบคอบมากขึ้นในการจะเดินไปข้างหน้า

ระหว่างนี้ได้ศึกษาหาความรู้ถึงคุณประโยชน์ของถั่วดาวอินคา หลังจากนั้น จึงคิดหาวิธีแปรรูปเองโดยวิธีคั่วขายตามตลาดนัดคิดว่าจะขายได้ดีแต่กลับขายไม่ได้เลย เพราะคนไม่รู้จักถั่วดาวอินคา เมื่อขายไม่ได้ใช้วิธีแจกฟรี ชิมฟรี บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ บางคนกลัวกินแล้วตายเพราะไม่เคยกิน แต่ก็ไม่คิดจะท้อ ยังคั่วขายต่อไปใช้เวลา 1 ปี และอาศัยประสบการณ์ตรงจากตัวเอง เคยศึกษาหาประโยชน์ของถั่วดาวอินคาว่าสามารถลดเบาหวาน

ต่อมามีคนเริ่มรับไปขายต่อ จาก 1 เจ้า เป็น 2 เจ้า จากในจังหวัดเริ่มขยายไปจังหวัดต่างๆ พอมองเห็นโอกาส ก็เลยสร้างแบรนด์ไร่กอเงินขึ้นมา (ตั้งตามชื่อลูกสาว) เพื่อจะได้จดจำได้ง่าย หลังจากสร้างแบรนด์ได้ทำการตลาดทางออนไลน์ จากลูกค้ามาสู่การเป็นตัวแทนขาย ทำให้ออเดอร์มากขึ้น คนรู้จักมากขึ้น ฐานลูกค้ามากขึ้น ได้ขอขึ้นทะเบียนสินค้าโอท็อป ได้ออกบู๊ธร่วมกับจังหวัด ไปตามสถานที่จัดงานโอท็อปต่างๆ ทางไร่กอเงินก็ได้คิดสูตร แปรรูปดาวอินคาหลากหลายมากขึ้น อาทิ ชาดาวอินคาสูตรต้นตำรับ สูตรหญ้าหวาน สูตรดอกคำฝอย น้ำมันถั่วดาวอินคาสกัดเย็น เมล็ดถั่วอินคาอบเกลือ และยังรับผลิตสินค้าสำหรับผู้ที่สนใจไปสร้างแบรนด์ตัวเองอีกด้วย

 

ใช้เทคนิคการปลูกถั่วดาวอินคาแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ

คุณพิชิต บอกว่า ปลูกถั่วดาวอินคา ระยะ 2×2 เมตร ประมาณ 400 ต้น/ไร่ ปลูกผสมผสานกับต้นไม้อื่นให้เป็นร่มเงา เพื่อลดอุณหภูมิของแสงแดด จัดทำระบบน้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแต่ใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยมูลไส้เดือน ใช้น้ำส้มควันไม้และอื่นๆ แทนสารเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าแต่ใช้วิธีการตัดแทน

การเก็บเกี่ยวใบมาแปรรูปต้องเก็บใบแก่จัดแต่ไม่เหลือง ช่วงเวลา ตี 5-7 โมงเช้า เพื่อจะได้สารที่เป็นประโยชน์มากที่สุด ชาของไร่เวลาชงจะได้กลิ่นหอม รสชาติดี ที่แตกต่างจากที่อื่น การเก็บฝักแห้งเพื่อมาแปรรูปต้องเก็บตอนกลางวันในช่วงที่มีแดด เพื่อไม่ให้มีความชื้นในฝักป้องกันเชื้อรา

ได้ใบรับรองเกษตรอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ ของจังหวัดหนองบัวลำภู ขึ้นทะเบียนสินค้าโอท็อป ของดีจังหวัดหนองบัวลำภู มีใบรับรองจาก Central Laboratory และกำลังยื่นเรื่องขอ อย.

 

ผลิตชาดาวอินคา ส่งลูกค้าทั่วประเทศ

ผลิตภัณฑ์ไร่กอเงิน จากถั่วดาวอินคา

  1. ชาดาวอินคา สูตรต้นตำรับ บรรจุ 25 ซอง ขายปลีก 120 บาท ขายส่ง 80 บาท ชาดาวอินคาสูตรหญ้าหวาน ขายปลีก 150 บาท ขายส่ง 90 บาท ชาดาวอินคาสูตรดอกคำฝอย ขายปลีก 150 บาท ขายส่ง 90 บาท
  2. เปลือกถั่วดาวอินคาอบแห้ง (ชงกับน้ำร้อน) กิโลกรัม 200 บาท บรรจุถุง 100 กรัม 80 บาท
  3. น้ำมันสกัดจากเมล็ดถั่วดาวอินคา บรรจุ 100 ซีซี ขายปลีก 250 บาท ขายส่ง 150 บาท, บรรจุ 500 ซีซี ขายปลีก 1,250 บาท ขายส่ง 850 บาท, บรรจุ 1,000 ซีซี ขายปลีก 2,200 บาท ขายส่ง 1,500 บาท
  4. ซอฟเจลน้ำมันสกัด (แคปซูล) คล้ายน้ำมันตับปลา แต่มีสารโอเมก้า 3,6,9 สูงกว่า บรรจุกระปุก 50 เม็ด ขายปลีก 450 บาท ขายส่ง 300 บาท
  5. เมล็ดอบเกลือ (กะเทาะเปลือกหุ้มเมล็ดออกแล้ว) กิโลกรัม 350 บาท
  6. สบู่ถั่วดาวอินคา 50 กรัม ขายปลีกก้อนละ 80 บาท ขายส่ง 35 บาท นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทุกตัวยังรับผลิต เพื่อไปทำแบรนด์ของตัวเองด้วย
คุณพิชิต กับผลิตภัณฑ์
น้ำมันสกัดเย็นดาวอินคา
ซอฟเจลน้ำมันสกัดในรูปเม็ด

 

การตลาดและรายได้

ขายออนไลน์ ขายผ่านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ และมีหน้าร้านผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไร่ รายได้จากการขายถั่วดาวอินคาแปรรูป เดือนละ 300,000 บาท หรือปีละประมาณ 3,600,000 บาท แนวทางในอนาคต ทางไร่กำลังจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มและส่งเสริมการปลูก และจะขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งยังเข้าเป็นสมาชิก Young Smart Farmer จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ และสร้างเครือข่ายทั้งด้านการผลิตและตลาดด้วย

 

ชาเปลือกถั่วดาวอินคา

ประโยชน์ของถั่วดาวอินคา

จากงานวิจัยหลายสถาบัน ถั่วดาวอินคาเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากเพราะอุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นมีวิตามิน A และ E อีกทั้งมีกรดไขมันโอเมก้า 3, 6 และ 9 ในปริมาณที่สูงมาก ทุกส่วนของต้นดาวอินคาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตั้งแต่ใบอ่อน เมล็ด กิ่ง ลำต้น ใบ สามารถนำไปทำอาหารได้ ผลิตเป็นยารักษาโรคและเครื่องสำอาง ซึ่งมีความต้องการสูงมาก

คุณชนะ ไชยฮ้อย เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า Young Smart  Farmer เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ มีอายุระหว่าง 17-45 ปี คนเหล่านี้มีการศึกษาที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรู้ด้านไอที (สารสนเทศ) และเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าช่วยให้คนเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ จะขยายผลแก่เกษตรกรในชุมชนได้มาก ซึ่งจังหวัดหนองบัวลำภู มีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวน 65 คน ได้ใช้กระบวนการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ได้แก่ ปรับแนวคิด สร้างแรงจูงใจ จัดทำแผนชีวิต ค้นหาความต้องการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร จัดหาช่องทางการเรียนรู้และการติดต่อสื่อสาร และวางแผนอนาคต โดยมีการจัดประชุมสัญจร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นระยะๆ พร้อมประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปให้การสนับสนุน

โดยในปีงบประมาณ 2561 ได้ตั้งเป้าหมายในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30 คน ซึ่งพร้อมจะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรทั่วไป ดังนั้น จึงขอเชิญผู้มีอายุระหว่าง 17-45 ปี สนใจทำการเกษตรไปสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ หรือสอบถามข้อมูลที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (042) 316-788

จะเห็นว่าในการประกอบอาชีพนั้นมีความเสี่ยงแทบทั้งนั้น แต่เมื่อพลาดพลั้งแล้วต้องตั้งสติและใช้ปัญญา ไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค มีความพยายามหาทางแก้ไขปัญหา แม้บนความล้มเหลวที่เราประสบอยู่อาจมีสิ่งดีดีซ่อนอยู่ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคุณพิชิต พิลาศรี โทร. (086) 103-1560 เว็บไซต์ www.omegainca.com