เกษตรกร จ.พิจิตร พลิกวิกฤตภัยแล้ง ปลูก “ดาวเรือง” ไม้มงคล ปลูก 2 เดือน เก็บขายได้

ศิษย์เก่าคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กลับบ้านเกิดที่พิจิตร พลิกวิกฤตสู้ภัยแล้งด้วยการปลูกดาวเรือง 20 ไร่ ระบบน้ำหยด ดอกไม้ชื่อมงคลปลูกไม่ยาก 2 เดือน เก็บดอกขายได้แล้ว ส่งปากคลองตลาด ช่วงเทศกาลขายดี ราคาสูงถึงดอกละ 1 บาท ปลูกดาวเรือง 1 ไร่ รายได้ต่อรุ่นเหยียบ 120,000 บาท เลยทีเดียว

คุณทรงศักดิ์ คุณหาร หรือ คุณโจ วัย 35 ปี เท้าความว่า หลังจบการศึกษาจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กลับบ้านเกิดที่จังหวัดพิจิตร กลับไปพัฒนาที่ดินบ้านตัวเองและบ้านภรรยา ในช่วงแรกทำนาและปลูกไม้ผล อาทิ มะนาว มะม่วง ขนุน ขายต้นไม้ กระทั่งเมื่อ 4 ปีที่แล้วตัดสินใจชวนภรรยาปลูกดอกดาวเรือง เพราะเห็นว่าเป็นดอกไม้ที่ขายง่าย ขายได้ตลอดทั้งปี ใช้ระยะเวลาปลูกไม่นาน

ที่ดินบริเวณบ้านภรรยาคุณโจ ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองจะปราบ ตำบลเขาทราย อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ติดกับเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ คุณโจ บอกว่า ที่ดินแถวนี้เป็นดินทราย มีสภาพแห้งแล้งกันดาร ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง ทำนา มีรายได้เพียงปีละครั้ง บางครั้งราคาข้าวก็ไม่ดี ฉะนั้น คิดว่าทำอย่างไร จึงจะมีรายได้ทุกวัน ประกอบกับมองว่า “ดาวเรือง” เป็นดอกไม้ที่ปลูกง่าย ตลาดมีความต้องการตลอด เลยเป็นที่มาของการปลูกดอกไม้ชนิดนี้ เนื่องจากดินมีสภาพแห้งแล้ง ก่อนปลูกดาวเรือง คุณโจจะบำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ย และใช้ระบบน้ำหยด ในระยะแรกเขาบอกว่า ปลูกไม่เยอะ ครั้งละ 1 ไร่ ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกดาวเรืองได้ 5,000 ต้น ปลูก 60 วัน สามารถเก็บดอกขายได้ ดาวเรืองแต่ละรุ่น จะออกดอกเก็บขายได้ 15 ครั้ง แต่ละครั้งเก็บได้ประมาณ 20,000 ดอก มีหลายขนาด ทั้ง เล็ก กลาง ใหญ่ จัมโบ้

ด้านราคาขาย ประมาณดอกละ 25 สตางค์ ถึง 1 บาท “พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกดาวเรืองได้ 5,000 ต้น 1 ต้น จะออกดอกเก็บขายได้ประมาณ 15 ครั้ง เฉลี่ยทั้งไร่ ครั้งละ 20,000 ดอก ขายได้ราคาดอกละ 25 สตางค์ ถึง 1 บาท แล้วแต่ช่วง ซึ่งหน้าฝนจะขายได้ราคาดี ฉะนั้น รายได้จากการขายดอกดาวเรือง 1 ไร่ 1 ปี รวมแล้วสร้างรายได้ถึง 120,000 บาท ต่อไร่ หักต้นทุนและรายจ่ายทั้งหมดแล้ว พอมีเงินเหลือเก็บ” ปัจจุบัน คุณโจ ปลูกดาวเรืองมาแล้ว 4 ปี เจ้าตัวยืนยันว่า รายได้ดีกว่าทำนาหลายเท่าตัว แต่ทว่าบางครั้งก็เจอโรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติบ้าง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและวิธีการปลูกเพิ่มเติม โทรศัพท์ (095) 634-5256

 

Advertisement