“มะขามหวานขันตี” ตำบลซับเปิบ อีกหนึ่งแหล่งมะขามหวานคุณภาพดี ขายฝักสดก็ได้ แปรรูปมะขามคลุกตลาดมีความต้องการสูง

คุณสมชาย เหลี่ยมศร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลวังซับเปิบ เลขที่ 32 หมู่ที่ 9 ตำบลซับเปิบ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (087) 660-1152 เกษตรกรที่ปลูกมะขามหวานมานานกว่า 25 ปี อธิบายว่า พันธุ์มะขามหวาน หากแบ่งตามอายุการเก็บเกี่ยวนั้น เบื้องต้นพอจะแบ่งได้ 3 แบบคือ มะขามหวาน

พันธุ์เบา คือ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตก่อนพันธุ์อื่นๆ มีช่วงการเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-มกราคม ได้แก่ พันธุ์น้ำผึ้ง พันธุ์สีชมพู พันธุ์ประกายทอง (ตาแป๊ะ)

พันธุ์กลาง เป็นพันธุ์ที่แก่ และให้ผลผลิตช้ากว่าพันธุ์เบา ประมาณ 7-15 วัน ได้แก่ พันธุ์อินทผลัม พันธุ์ขันตี และ

พันธุ์หนัก เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตช้ากว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะมีระยะเจริญของผลนาน โดยจะเก็บผลได้ประมาณปลายเดือนมกราคม ได้แก่ พันธุ์สีทอง (นายหยัด) พันธุ์หมื่นจง พันธุ์เพชรเกษตร เป็นต้น

ลักษณะของฝักมะขามหวาน คุณสมชาย อธิบายว่า แบ่งคร่าวๆ ได้ 3 แบบ ฝักดิ่งหรือฝักตรง ฝักประเภทนี้มีรูปร่างเหยียดตรง ฝักไม่โค้งงอ เช่น พันธุ์ขันตี ฝักดาบ ฝักประเภทนี้มีรูปร่างคล้ายฝักดิ่ง แต่ฝักจะเอนโค้งเล็กน้อยคล้ายรูปดาบ ฝักอาจกลมหรือแบน เช่น พันธุ์อินทผลัม และ ฝักฆ้องหรือโค้ง ฝักประเภทนี้มีรูปร่างโค้งงอ และมีความยาวมากกว่าฝักทุกประเภท ลักษณะของการโค้งจะโค้งงอมากจนเกือบเป็นวงกลม เช่น พันธุ์สีทอง พันธุ์น้ำผึ้ง เป็นต้น

ภายหลังเก็บผลผลิตหมดประมาณเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่มะขามหวานพักตัวโดยผลัดใบและเริ่มแตกใบใหม่ พร้อมกับออกดอกติดฝักในฤดูต่อไป จึงต้องตัดแต่งกิ่งเพื่อกำจัดกิ่งที่ไม่ต้องการ กิ่งกระโดง กิ่งที่มีโรคและแมลงทำลายออก หรือกิ่งที่ไม่ถูกแสงแดดออก เพื่อป้องกันการสะสมของโรคราและแมลงศัตรูพืช การแต่งกิ่งที่ดีจะทำให้ต้นโปร่งไม่แน่นทึบ แสงแดดส่องได้ทั่วถึง มีผลทำให้มะขามหวานติดฝักดกสม่ำเสมอ ทรงพุ่มจะสวยงามเป็นระเบียบ

คุณสมชาย เหลี่ยมศร กับกองมะขามหวานที่กำลังคัดแยกเกรด

การผลัดใบของมะขามหวานโดยธรรมชาติมะขามหวานจะทิ้งใบเมื่อใบแก่หมดอายุจึงต้องเปลี่ยนใบใหม่ เพื่อให้สร้างอาหารได้ดีกว่าใบเก่าเมื่อกระทบแล้งจึงผลัดใบหมดทั้งต้น แต่บางปีการแตกใบใหม่มาเร็วเกินไป จำเป็นต้องช่วยให้มะขามหวานผลัดใบพร้อมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษาและป้องกันการออกดอกติดฝักทะวายหลายรุ่น ดีกว่าปล่อยให้ค่อยๆ ผลัดใบ ดังนั้น ภายหลังจากการตัดแต่งกิ่งประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ต้องพรวนดินรอบทรงพุ่ม เพื่อให้ดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำและอากาศได้ดีในขณะเดียวกันจะทำให้รากฝอยของต้นมะขามหวานขาด เป็นการหยุดการลำเลียงอาหารและน้ำหวานจึงทิ้งใบพร้อมกันทั้งต้นโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีฉีดพ่นให้ใบร่วงแต่อย่างใด

 

ปุ๋ยและน้ำ ระยะที่มะขามหวานออกดอกและติดฝัก

ประมาณเดือนมิถุนายน ควรใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หรือ 8-24-24 หรือสูตรที่ใกล้เคียงกัน ต้นละประมาณ 1-2 กิโลกรัม ตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่และความสมบูรณ์ของต้นในระยะนี้ หากความชื้นไม่เพียงพอหรือฝนไม่ตกดอกมะขามหวานจะแห้งเหี่ยวและร่วงง่าย ดอกที่ไม่ได้รับการผสมภายใน 1-2 วัน จะร่วงหล่น การผสมเกสรต้องอาศัยลมและแมลงช่วยพาเกสรตัวผู้ไปผสมกับเกสรตัวเมีย การให้ปุ๋ยเป็นระยะๆ คือช่วงที่ติดฝักเป็นสีเขียวประมาณเดือนกรกฎาคม ควรใช้ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 ต้นละ 1-2 กิโลกรัม อีกครั้ง ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อมะขามหวานจะได้ฝักเจริญเติบโตดี และรสชาติดียิ่งขึ้น และต้องให้น้ำอย่างเพียงพอ

 

มะขามหวาน นิยมให้ต้นติดผล และให้ผลผลิตหลังจากการปลูกแล้ว เมื่อเข้าปีที่ 4

และจะให้ผลผลิตได้นานถึง 30 ปี เป็นไม้ผลที่อายุยืน ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา มีระยะการออกดอกถึงดอกบาน ประมาณ 20 วัน และหลังจากนั้น ประมาณ 8 เดือน จึงให้ผลผลิต ซึ่งฝักจะแก่พร้อมเก็บได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ที่ปลูก ดังที่กล่าวข้างต้นมะขามหวานจะแก่ เก็บได้ในฤดูแล้งประมาณเดือนธันวาคม-มีนาคม ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพดินฟ้าอากาศ ปีใดฝนตกต้นฤดูและหมดเร็วมะขามก็จะแก่เร็ว และพันธุ์เบา ฝักเล็ก คุณภาพปานกลาง จะแก่เก็บได้ก่อน ส่วนพันธุ์ดีๆ นั้นจะเก็บได้ตอนกลางฤดู คือประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคม

มะขามหวานขันตีนอกจากขายฝักสด ตลาดแปรรูปมะขามคลุกก็มีความต้องการสูง

การเก็บเกี่ยวมะขามหวาน

การเก็บฝักมะขาม ต้องพิจารณาดูเป็นต้นๆ หรือเป็นฝักๆ ไป บางทีอาจจะแก่เก็บได้ไม่พร้อมกัน ฝักปลายๆ หรือด้านนอกพุ่มมักจะแก่ก่อน โดยสังเกตจากสีของฝัก ความเหี่ยวของก้านฝัก และลักษณะอื่นๆ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ จะต้องเก็บทีละฝัก โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัดออกจากต้น นำฝักมะขามหวานที่เก็บได้ไปกองผึ่งลมไว้สัก 2-3 วัน เพื่อให้ความชื้นในฝักมีอยู่พอสมควร จึงตัดแต่งก้านหรือขั้วฝักแล้วบรรจุภาชนะจำหน่ายได้

การเก็บเกี่ยว มีวิธีสังเกตคือ ดูที่เปลือกของฝัก จะแห้งกรอบ สีซีดลงคล้ายมีนวลที่ผิว ดีดหรือเคาะเบาๆ จะมีเสียงกลวงๆ ไม่แน่น ก้านหรือขั้วของฝักจะแห้งเหี่ยวและแข็งแรง เปราะหักง่าย น้ำหนักเบา การเก็บเกี่ยวต้องทิ้งช่วงทุกๆ 7-10 วัน โดยใช้บันไดพาดกิ่ง หรือปีนต้นขึ้นไปใช้กรรไกรสำหรับตัดฝักมะขามหวานโดยเฉพาะที่มีแหนบสำหรับหนีบขั้วของฝักไว้ ไม่ให้ฝักร่วงหล่น โดยคัดเลือกตัดเฉพาะฝักที่สุกจริงๆ และพยายามอย่าให้กระทบกระเทือนฝักที่ยังไม่สุก หรือให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ฝักหัก

 

การรักษาฝักมะขามหวาน

นำฝักมะขามหวานไปผึ่งลม ซึ่งต้องอยู่ในที่ร่มตามระยะเวลา คือ ผึ่งนาน 2-5 วัน จะเก็บได้นาน 20-30 วัน ผึ่งนาน 10-15 วัน จะเก็บได้นาน 30-60 วัน หรือจะนำไปเก็บรักษาในห้องเย็น ก็จะเก็บรักษาได้นานหลายเดือน มะขามที่เก็บมาแล้วจะนำไปเข้าห้องเย็นไว้ได้ทั้งปี อุณหภูมิ -4 องศาเซลเซียส เมื่อจะขายเราก็จะนำมาอบก่อน สำหรับสวนที่ยังไม่มีประสบการณ์การตรวจสอบว่าฝักมะขามหวานแห้งได้ที่หรือยัง ให้นำฝักมะขามหวานประมาณครึ่งกิโลกรัมมาใส่ถุง และรัดปากถุงให้สนิท และทิ้งไว้ประมาณ 1-2 วัน แล้วสังเกต หากมีไอน้ำที่เป็นฝ้าหรือหยดน้ำเกาะตามปากถุง แสดงว่าฝักมะขามหวานชุดนั้นยังแห้งไม่สนิท ให้ผึ่งลมต่อ แต่หากไม่มีไอน้ำก็แสดงว่าแห้งได้ที่แล้ว

มะขามหวานนิยมรับประทานเป็นผลไม้ จึงมีการจำหน่ายมะขามหวานแบบจำหน่ายทั้งฝัก ซึ่งมีข้อเด่นคือ ผู้บริโภคสามารถเห็นลักษณะของฝัก และสายพันธุ์ของมะขามหวาน แต่มีข้อด้อยคือ ผู้บริโภคจะไม่สามารถเห็นภายในฝักว่ามีลักษณะอย่างไร และไม่สะดวกต่อการรับประทาน ปัจจุบัน จึงเริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยจำหน่ายเป็นเนื้อมะขามที่แยกออกจากรกมะขาม แล้วบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีความสะดวกในการบริโภค ในกระบวนการผลิตเริ่มจากนำมะขามพันธุ์ที่ต้องการมาแกะเปลือกแยกรกออก

จากนั้นเลือกฝักที่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ไปบรรจุในภาชนะบรรจุที่เหมาะสม ในขั้นตอนการผลิตทั้งหมดมีส่วนเหลือที่ถูกคัดออก เนื่องจาก ฝักลีบ ฝักงอ ฝักหัก มีเมล็ดติด มีรอยแมลงเจาะและมีสีซีด เป็นต้น เศษมะขามดังกล่าวยังมีคุณภาพสามารถนำมาบริโภคได้

 

ปัญหาของมะขามหวาน คือ โรคราในฝัก

เป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร ตอนที่เกษตรกรเก็บผลผลิตออกมาขาย แต่มะขามเป็นรา เมื่อผู้บริโภคซื้อไปแล้วเจอรา เกิดความไม่พอใจ พอเจอราก็ไม่ซื้อ ส่งผลให้เกษตรกรขายของไม่ได้ เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้เกษตรกรไม่อยากปลูกต่อ มะขามหวาน พันธุ์ “ประกายทอง” เป็นพันธุ์ที่มีปัญหาเรื่องรามากที่สุด เนื่องจากเปลือกบาง รสชาติหวานจัด กลิ่นหอม เนื้อนุ่ม มีลักษณะเป็นทรายสีน้ำผึ้งออกทรายแดง เมล็ดเล็ก เยื่อหุ้มเมล็ดบาง ออกดอกเดือนพฤษภาคม สามารถเก็บเกี่ยวฝักได้ประมาณปลายเดือนธันวาคม

ด้วยข้อเสียเรื่องเปลือกบาง อ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อราหลังการเก็บเกี่ยว การเก็บฝักต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ หากเปลือกแตกจะทำให้เสียราคา ฝักมะขามมีรก 3-4 เส้น ต่อฝัก ทำให้รับประทานยาก และเนื่องจากเป็นมะขามที่มีฝักขนาดใหญ่ และติดฝักดกสม่ำเสมอ จึงต้องให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอเพื่อไม่ให้รสชาติเปลี่ยนแปลง จะพบได้ว่าเมื่อประกายทองออกมา ต้องมีรา จนกลายเป็นคำขวัญว่า ประกายทองดีต้องมีรา

มะขามหวานประกายทอง เป็นพันธุ์ที่มีเนื้อเยอะสุด รสชาติหวานสุด และก็รามากสุด พันธุ์อื่นราไม่ขึ้นเพราะออกดอกช้ากว่า แต่พันธุ์ประกายทองออกดอกตั้งแต่หน้าฝน ไหลไปตามหยดน้ำบนกิ่งไปยังฝักมะขามเข้าทางขั้วผลหรือผ่านทางเปลือกฝัก เพราะฉะนั้นเกษตรกรจึงไม่สนใจพันธุ์นี้ หันไปปลูกพันธุ์อื่นแทน แต่พันธุ์ประกายทองถ้าจะแก้ไขปัญหาคือ ใช้สารป้องกันและกำจัดโรคพืชที่เหมาะสม ซึ่งตัวที่ได้ทดลองและได้ผลดีที่สุดคือ “สารเเมนโคเซบ” วิธีใช้สารฉีดพ่นป้องกันกำจัดเชื้อราด้วยแมนโคเซบ (เช่น แมนเซท-ดี) ฉีดพ่นสารตั้งแต่ช่วงเริ่มออกดอก 1 เดือน ฉีดพ่น 1 ครั้ง ฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยวจะได้ผลค่อนข้างดีหรือตามความเหมาะสม

การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูมะขามหวาน

แมลงศัตรูมะขามที่สำคัญและทำความเสียหายให้แก่มะขามหวาน

แมลงนูน หรือแมลงปีกแข็ง กัดกินใบอ่อนและดอก จะระบาดในระยะมะขามผลิใบอ่อน และออกดอก แมลงจะทำลายในตอนเย็นหรือกลางคืน ควรใช้ยากลุ่มคาร์บาริล (เช่น เซฟวิน 85, เอส-85) พ่นขณะที่มีการระบาด ควรพ่นยาในตอนเย็นให้ถูกตัวแมลง และพ่นยาป้องกันไว้ทุกเดือน

หนอนคืบสีเทา เป็นศัตรูสำคัญที่ทำความเสียหายให้แก่สวนมะขาม ตัวหนอนจะระบาดในช่วงฤดูฝนระยะมะขามกำลังผลิใบจวนแก่และกำลังออกดอก ถึงติดฝักอ่อน หนอนจะอยู่ใต้ใบ กัดกินใบ ดอก และฝักอ่อน ทั้งกลางวันและกลางคืน และจะชักใยทิ้งตัวลงพ่นให้ถูกตัว และควรพ่นยาป้องกันไว้เมื่อถึงระยะการระบาด หากพบการระบาด พ่นด้วยสารอะบาแม็กติน (เช่น โกลแจ็กซ์) หรือสารไซเพอร์เมทริน (เช่น โกลน็อค 35%)

หนอนเจาะฝัก จะเข้าทำลายโดยเจาะฝักมะขาม ตั้งแต่ฝักเริ่มอายุ 2 เดือนขึ้นไป ทำให้ฝักเสียหายมาก หนอนเจาะมะขาม เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ตัวเต็มวัยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บนฝักมะขาม ตั้งแต่ยังเป็นฝักอ่อนจนถึงฝักสุก วางไข่ตามรอยหักหรือแตกมากกว่าฝักปกติ เมื่อตัวพัฒนาเป็นตัวหนอน ถ้าเป็นฝักอ่อนจะทำให้ฝักลีบ ส่วนฝักมะขามแก่จะกัดกินเนื้ออ่อนภายในและถ่ายมูลออกมาเป็นขุยอยู่บนฝักมะขาม

การป้องกันกำจัด หมั่นสำรวจและเก็บฝักมะขามที่ถูกทำลายทิ้ง หากพบการระบาด พ่นด้วยสารอะบาแม็กติน หรือสารไซเพอร์เมทริน