เทคนิคการปลูกข้าวนาน้ำฝน

เครื่องหยอดพ่วงรถไถเดินตาม

อีกประการหนึ่ง ปัญหาภัยแล้งกับข้าวนาน้ำฝน สาเหตุจากความปรวนแปรของฝนเป็นสาเหตุของภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงในฤดูกาล ทำการปลูกไม่ได้ ฝนทิ้งช่วง (ฝนหมด) ก่อนฤดูกาล ทำให้ผลผลิตสูญเสียเก็บเกี่ยวไม่ได้

การแก้ปัญหาการปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้นั้น นอกจากการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพแล้ว สิ่งจำเป็นที่จะต้องทำควบคู่กันไป คือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ช่วยเหลือการทำนาของเกษตรกร เช่น เครื่องหยอดข้าว เครื่องหว่านข้าว และเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการเกษตรของเกษตรกรนำมาใช้ เพื่อปลูกข้าวทันฤดูกาลและเวลาเก็บเกี่ยวและนวดข้าวในเวลาที่เหมาะสม ทำให้คุณภาพของข้าวดีขึ้น

ในพื้นที่การปลูกข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 10 ล้านไร่ และมีผลผลิตโดยรวมประมาณ 3.5 ล้านตันข้าวเปลือก ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และมีปัญหาเกี่ยวกับฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การกระจายของฝนไม่ดีและฝนมักทิ้งช่วงระหว่างฤดูปลูก การแก้ปัญหาของเกษตรกรใช้วิธีหว่านข้าวด้วยมือ

วิธีหว่านด้วยมือ หลังจากที่ไถดะทิ้งไว้ระยะหนึ่ง ก็จะไถแปรหว่านข้าวแล้วคราดกลบทำให้ทำงานได้ข้าวไม่ทันฤดูกาล กล่าวคือ เกษตรกรจะหว่านข้าวไว้ตั้งแต่ประมาณปลายเดือนเมษายน หรือต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อรอฝนช่วงแรกที่โดยปกติมาประมาณปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่ฝนจะตกชุกช่วงหลังในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม การหว่านข้าวทิ้งไว้จะทำให้ข้าวที่คราดกลบไม่ทั่วถึงเสียหายจากการทำลายของนกและหนู ข้าวบางส่วนอาจจะงอกและแห้งตายในระยะที่ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ข้าวในแปลงขึ้นไม่สม่ำเสมอ มีจำนวนต้นข้าวน้อยเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าวนาหว่านมีผลผลิตต่ำกว่าข้าวที่ปลูกโดยวิธีอื่น วิธีการหว่านด้วยมือที่เกษตรกรใช้ หากขาดความชำนาญก็จะหว่านไม่สม่ำเสมอ ต้องใช้เวลาในการหว่านซ้ำเพื่อให้เมล็ดกระจายทั่วถึง

การแก้ปัญหาภัยแล้ง ผู้เขียนสมัยที่เป็นผู้อำนวยการกองเกษตรวิศวกรรมและผู้เชี่ยวชาญ กรมวิชาการเกษตร ได้ทำการศึกษาการปลูกข้าวนาน้ำฝนอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแรงงาน และการลดต้นทุนในการผลิต และวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าว จึงได้วิจัยเครื่องมือปลูกข้าวและออกแบบและพัฒนาเครื่องหว่านข้าวและเครื่องปลูกข้าว ผลการศึกษาและวิจัยได้เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถไถเดินตาม และเครื่องหว่านข้าวและหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการเกษตรของไทย

เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถไถเดินตาม วัตถุประสงค์เพื่อใช้กับเกษตรกรรายย่อย และเกษตรกรส่วนใหญ่มีรถไถเดินตามอยู่แล้ว โดยออกแบบเครื่องหยอดให้สามารถพ่วงรถติดไถเดินตามที่มีเกียร์บีบเลี้ยว ความสามารถทำงาน 1-2  ไร่ ต่อชั่วโมง ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 8-12 กิโลกรัม ต่อไร่ หยอดได้ 4 แถว ความห่างระหว่างแถว 25 เซนติเมตร เครื่องนี้เหมาะสมกับดินร่วนปนทราย ดินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และใช้ในการทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวได้ดี เพราะสามารถถอนแยกข้าวปนได้ง่าย ถ้าเป็นดินเหนียวจะต้องย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก หรือใช้รถโรตารี่ตีดินให้ย่อยดินเวลาหยอดเมล็ดจะลงในดินสม่ำเสมอ และควรหยอดข้าวในเวลาดินแห้ง รอฝนมา เช่น ปลายเมษายน หรือต้นพฤษภาคม และเมื่อหยอดเมล็ดข้าวจะอยู่ในดินไม่เกิน 1 เดือน เมล็ดข้าวก็ไม่ตายสามารถงอกอยู่ได้เมื่อได้รับน้ำฝน และควรหยอดให้ลึกใต้ดินประมาณ 10 เซนติเมตร ทำให้ต้นโตเร็ว และได้รับน้ำฝนต่อมาจนต้นแข็งแรง เนื่องจากรากหยั่งลึกในดินการหาอาหารได้ดี ทำให้ลดความเสี่ยงจากการตายน้อยลง ถึงแม้กระทบแล้ง

เครื่องหยอดพ่วงรถไถเดินตาม
เครื่องหยอดพ่วงรถไถเดินตาม

วิธีการใช้เครื่องหยอด การเตรียมดินต้องดี

การเตรียมดินสำหรับใช้เครื่องหยอดจะต้องประณีต ให้ก้อนดินเป็นก้อนเล็กๆ โดยการไถดะ 1 ครั้ง และไถแปร 1 ครั้ง และคราดเพื่อปรับหน้าดินให้เรียบและปรับแปลงให้ลาดเท เพื่อเวลาฝนตกน้ำจะไม่ขังแปลง การเตรียมดินดีทำให้การหยอดเมล็ดข้าวสม่ำเสมอและความลึกของเมล็ดข้าวอยู่ในระดับเดียวกัน เวลาข้าวงอกจะขึ้นมาสม่ำเสมอ

ได้ทดสอบการหยอดข้าวด้วยเครื่องกับวิธีการปักดำของเกษตรกรในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน จำนวน 5 แปลง แสดงให้เห็นว่า เครื่องหยอดข้าวได้ผลผลิตใกล้เคียงกับการปักดำ แต่เปรียบเทียบกับการลงทุนแล้ว การปักดำของเกษตรกรใช้ต้นทุนสูงอยู่มาก ตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมกล้า ถอนกล้า และการปักดำ แต่การหยอดด้วยเครื่องหยอด ใช้คนๆ เดียว ความสามารถในการหยอด 1-2 ไร่ ต่อชั่วโมง ใช้เมล็ดพันธุ์ 10-12 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น ถ้าเปรียบเทียบกับการหว่านด้วยคนแล้ว เครื่องหยอดให้ผลผลิตดีกว่ามาก

 

การเผยแพร่การใช้งาน

ผู้เขียนได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร จังหวัดมหาสารคาม ฝึกอบรมและสาธิตการใช้งานของเครื่องหยอดข้าวกับกลุ่มเกษตรกร หลังจากการสาธิตและการใช้งานจริง กลุ่มเกษตรกรได้สั่งซื้อเครื่อง จำนวน 20 เครื่อง เพื่อใช้ในฤดูต่อไป

เครื่องนี้ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับโล่เชิดชูเกียรติรางวัลชมเชย จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2548 และได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านเกษตรศาสตร์ และอุตสาหกรรมการเกษตรระดับชมเชย จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2550

เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์

เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ ขนาดต้นกำลัง 60-70 แรงม้า หยอดได้ 10 แถว ระยะห่างระหว่างแถว 25 เซนติเมตร ลักษณะการหยอดเป็นการหยอดโดยเป็นแถว ความสามารถในการทำงาน 3-6 ไร่ ต่อชั่วโมง วันหนึ่งจะหยอดได้ 50-60 ไร่ อัตราเมล็ดพันธุ์ ประมาณ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาเครื่องประมาณ 45,000  บาท อีกขนาดหนึ่งขนาดต้นกำลังไถ 24 แรงม้า ความสามารถในการทำงาน 3-4 ไร่ ต่อชั่วโมง ราคาประมาณ 28,000 บาท

แปลงหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ ควรเป็นแปลงขนาดใหญ่ ประมาณ 1 ไร่ ขึ้นไป
แปลงหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ ควรเป็นแปลงขนาดใหญ่ ประมาณ 1 ไร่ ขึ้นไป

การเตรียมแปลง จะต้องเตรียมดินดี ก้อนดินจะต้องเป็นก้อนเล็ก ถ้าเตรียมดินไม่ดี การหยอดจะไม่สม่ำเสมอ เครื่องมีข้อดีจะหยอดเป็นแถวเป็นแนว การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะสามารถกำจัดวัชพืชระหว่างแถวได้สะดวก และสามารถแยกข้าวปนได้ง่าย เหมาะสำหรับทำแปลงเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรรายใหญ่ นอกจากใช้เครื่องหยอดทำงานได้เร็วเมื่อหยอดข้าวในแปลงนาของตนเองเสร็จแล้ว ยังสามารถนำไปรับจ้างหยอดข้าวในแปลงนาอื่นๆ ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการใช้งานที่คุ้มค่าและเป็นการลดต้นทุนแก่เกษตรกรเพื่อนบ้าน ไม่จำเป็นจะต้องมาซื้อเครื่องใช้เป็นของตนเอง แต่ถ้าซื้อเครื่องแบบนี้จากต่างประเทศ ราคาไม่ต่ำกว่า 200,000-300,000 บาท แต่ราคาในบ้านเรา 40,000-50,000 บาท เท่านั้น ได้ทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตการปลูกข้าวโดยใช้เครื่องหยอดกับวิธีปักดำของเกษตรกร (ผลตาม ตารางที่ 2) ผลผลิตของเครื่องหยอดข้าวใกล้เคียงกับการปักดำ ต้นทุนการปลูกถูกกว่ากันมาก ไม่ต้องเตรียมกล้า ถอนกล้า แยกกล้า ใช้แรงงานคนปักดำเป็นการลดต้นทุนในการผลิตได้อย่างดี

สรุปการใช้เครื่องหยอดข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ วัตถุประสงค์สำหรับเกษตรกรรายใหญ่หรือใช้รับจ้างหยอด ในการปลูกข้าวแห้งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคกลาง เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการปลูกข้าวและลดความเสี่ยงในการที่ฝนทิ้งช่วง ทำงานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการผลิตข้าวในด้านการใช้แรงงานและลดจำนวนเมล็ดพันธุ์แล้ว จะทำให้ปลูกข้าวได้เร็วขึ้นทันเวลาและฤดูกาล เมล็ดข้าวจะได้รับการโรยอย่างสม่ำเสมอ เมื่อข้าวเติบโตจึงมีความแข็งแรง ทนแล้ง จะให้ผลผลิตสูง ทันเวลาในช่วงฝนที่เหมาะสม และนอกจากนี้เครื่องนี้เหมาะสมสำหรับแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากการหยอดจะโรยเมล็ดเป็นแถวเป็นแนว เมื่อต้นขึ้นจะเป็นแถวง่ายในการถอนข้าวปน และการกำจัดวัชพืช

เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ คุณสมบัติดีเด่นของสิ่งประดิษฐ์

เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์ สามารถใช้กับรถแทรกเตอร์ 24 แรงม้า เป็นต้นไปถึงต้นกำลัง 60-70 แรงม้า และขนาดจานพรวนตั้งแต่ผาลพรวน 5 จาน เป็นต้นไป และความยาวของโครงผาลไถตั้งแต่ 125 เซนติเมตร เป็นต้น การใช้งาน ใช้ติดตั้งบนโครงผาลพรวน อัตราการหว่านสามารถปรับอัตราการหว่าน ตั้งแต่ 15-30 กิโลกรัม ต่อไร่ (ความต้องการของเกษตรกร)

ความสามารถในการหว่านขึ้นอยู่กับขนาดต้นกำลังของรถแทรกเตอร์ สภาพพื้นที่และรูปร่างของพื้นที่ที่จะหว่าน ความสามารถในการทำงาน 30-40 ไร่ ต่อวัน การทำงานจะหว่านและกลบเมล็ดข้าวในขั้นตอนเดียวกันกับการไถพรวน ราคาเครื่องประมาณ 14,000 บาท เครื่องนี้ได้รางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2555

เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์มีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ถังใส่เมล็ดข้าว อุปกรณ์กำหนดเมล็ดข้าว ท่อนำเมล็ดข้าว จำนวน 4 ท่อ ล้อขับเพลา แผ่นกระจายเมล็ด การใช้งานจะประกอบเครื่องหว่านข้าวติดตั้งบนโครงจานพรวน โดยให้ท่อนำเมล็ดข้าวอยู่หน้าจานพรวน และแผ่นกระจายเมล็ดข้าวประกอบติดรถไถ

การทำงานเมื่อรถวิ่ง ล้อขับจะหมุนและส่งกำลังผ่านชุดเฟืองโซ่ยังเพลากำหนดเมล็ดให้หมุน และเมล็ดข้าวจะไหลลงตามท่อเมล็ด 4 ท่อ เมล็ดข้าวจะตกระทบแผ่นกระจายเมล็ดซึ่งอยู่ตรงปลายท่อ ทำให้เมล็ดข้าวกระจายอย่างสม่ำเสมอบนพื้นดิน ในขณะเดียวกันจานพรวนจะพรวนกลบเมล็ด การใช้งานจะลดขั้นตอนการทำงาน โดยจะรวมการหว่านและกลบในขั้นตอนเดียวกัน การกระจายของเมล็ดข้าวสม่ำเสมอกว่าคนหว่าน เครื่องหว่านข้าวแห้งพ่วงรถแทรกเตอร์ความสามารถปลูกข้าวได้เร็วขึ้นและทันฤดูกาล ความสามารถในการหว่าน 4-5 ไร่ ต่อชั่วโมง อัตราเมล็ดพันธุ์สามารถปรับได้ ตั้งแต่ 15 กิโลกรัม ต่อไร่ ถึง 30 กิโลกรัม ต่อไร่ (ตามความต้องการของเกษตรกร)

 

การทำงาน

ทำงานได้เร็ว วันละ 30-40 ไร่ การกระจายของเมล็ดข้าวสม่ำเสมอ เมล็ดข้าวฝังลึกลงในดินและมีความสม่ำเสมอ การกลบเมล็ดข้าวได้ทั่วถึง ทำให้ปลอดภัยจากนก หนู การหว่านข้าวจะฝังลึกลงในดินและสม่ำเสมอกว่าการหว่านด้วยคน ทำให้ระบบรากแข็งแรงทำให้ต้นข้าวตั้งตัวเร็วขึ้น และระบบรากหยั่งลึก จึงทำให้สามารถดูดน้ำใต้ดินได้ลึกและธาตุอาหารได้ดีกว่าวิธีหว่านโดยใช้แรงคนซึ่งรากจะอยู่ตื้นกว่า

คุณสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมเกษตร อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย
คุณสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมเกษตร อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย

สรุปการใช้เครื่องหว่านข้าวแห้งพ่วงรถแทรกเตอร์ วัตถุประสงค์สำหรับเกษตรกรรายใหญ่หรือใช้ในการรับจ้างหว่านข้าวในการปลูกข้าวแห้งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดต้นทุนในการปลูกข้าวและลดความเสี่ยงในการที่ฝนทิ้งช่วง ทำงานได้รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนในการผลิตในด้านการใช้แรงงานและเมล็ดพันธุ์แล้ว ยังจะช่วยให้ปลูกได้เร็วขึ้น เมล็ดพันธุ์ข้าวจะได้รับการหว่านอย่างสม่ำเสมอ เมื่อข้าวเติบโตขึ้นจึงมีความแข็งแรง ทนแล้ง ให้ผลผลิตสูง ทันเวลาในช่วงฝนที่เหมาะสม และสามารถหว่านข้าวรอฝนได้โดยเริ่มหว่านตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน และควรเกินมิถุนายน เนื่องจากฝนจะตกชุก เครื่องไม่สามารถลงในแปลงนาได้ การหว่านข้าวเร็วจะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตและตั้งตัวได้ดี เนื่องจากได้รับน้ำฝนช่วงแรกของฝน และได้รับน้ำฝนต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะกระทบฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงลงในการปลูกข้าว และลดต้นทุนในการปลูกข้าว ซึ่งเป็นทางเลือกทางหนึ่งในการปลูกข้าวนาน้ำฝนของเกษตรกร นอกจากนี้ เครื่องหว่านข้าวพ่วงรถแทรกเตอร์เป็นวิทยาการใหม่ ไม่มีใครคิดมาก่อน ผู้เขียนเชื่อว่านอกจากจะใช้ในประเทศไทยได้ดีแล้ว สามารถปรับใช้ในประเทศอาเซียนได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ การสร้างเครื่องง่าย ราคาถูก เกษตรกรรายย่อยสามารถใช้ได้ และเป็นการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรรายใหญ่

ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก คุณสุรเวทย์ กฤษณะเศรณี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมเกษตร โทรศัพท์ (095) 596-3146