“เทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์” นำเสนอผลงานวิจัยรสอร่อย

ในปีนี้ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2561 ขึ้น ระหว่าง วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” โดยนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยที่มีคุณภาพ มากกว่า 2,000 ผลงาน เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการ องค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเชิงวิชาการ นโยบาย สังคม ชุมชน พาณิชย์และอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน งานวันนักประดิษฐ์ ยังเป็นเวทีแห่งการพัฒนาทักษะและสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในทุกระดับการศึกษา ได้สร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่แปลก ทันสมัย มาจัดแสดงในงานดังกล่าว ยกตัวอย่าง เช่น  วิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน ตั้งอยู่ที่ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ได้จัดแสดงผลงานประดิษฐ์ด้านอาหาร ฝีมือนักศึกษามาจัดแสดง ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานจำนวนมาก เพราะผลงานแต่ละชิ้น แปลกใหม่น่าสนใจและมีรสชาติอร่อย สามารถผลิตออกจำหน่ายเชิงการค้าได้อย่างสบายๆ

 

สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่

สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ เป็นผลงานของ น.ส. ณิชาพร เนียมแตง น.ส. ปานตะวัน โหลานิต และ นายตวัน พุทธายะ ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 ภาควิชาอาหารและโภชนาการ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ประจำปีการศึกษา 2560

เนื่องจากคนไทยทุกวันนี้ต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่รับประทานง่าย สะดวก รวดเร็ว ประเภทขนมปังทาด้วยสเปรดทูน่า มายองเนส เนย นม ช็อกโกแลต และผลไม้ เมืองไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้นานาชนิด เช่น สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ ส้ม มะม่วงหาวมะนาวโห่ ฯลฯ ที่สามารถนำมาแปรรูปเป็น สเปรดผลไม้ ใช้รับประทานกับขนมปังได้

กลุ่มนักศึกษาจึงเกิดแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “สเปรดผลไม้” จากมะม่วงหาวมะนาวโห่ เพราะเป็นผลไม้ที่หาง่าย แม้มีรสเปรี้ยวจี๊ด แต่แน่นด้วยสรรพคุณทางยาและมีโภชนาการสูง โดยเฉพาะวิตามินซีสูง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตา รวมทั้งช่วยจัดการกับปัญหาความเหี่ยวย่นและริ้วรอยก่อนวัย กลุ่มนักศึกษาได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่มีความแปลกใหม่ และเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ

เนื่องจากผลิตภัณฑ์สเปรดแบบเดิมๆ จะให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก แต่กลุ่มนักศึกษาได้พัฒนาสูตรที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยเน้นคงรสชาติของผลไม้เป็นหลัก และมีส่วนผสมของน้ำตาลในอัตราส่วนน้อยกว่าปกติ และมีไขมันต่ำกว่าสเปรดทั่วไป

งานวิชัยชิ้นนี้ มุ่งศึกษาความพึงพอใจของผู้บริโภค ที่มีต่อผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ โดยคาดหวังว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยพัฒนาต่อยอดอาชีพให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่มีความต้องการพัฒนาวัตถุดิบให้มีคุณค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนของตนเอง เพราะผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่เป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลายเมนู เช่น ใช้ทาขนมปัง หรือนำมาทำเป็นน้ำสลัด เป็นต้น

วิธีการทำผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ เริ่มจาก

  1. ผ่าครึ่งมะม่วงหาวมะนาวโห่ นำเมล็ดออกแล้วล้างด้วยน้ำเกลือสลับกับน้ำสะอาด จำนวน 5 รอบ
  2. ต้มน้ำให้เดือด ใส่มะม่วงหาวมะนาวโห่ที่ล้างแล้วลงไปจนเกือบเป็นเนื้อเดียวกัน และนำไปปั่น
  3. นำมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่ปั่นแล้วขึ้นตั้งไฟ ใส่น้ำตาลและเจลาติน คนจนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะเนียน นำใส่บรรจุภัณฑ์ การเก็บรักษา หลังจากเปิดใช้ผลิตภัณฑ์แล้วต้องปิดให้สนิท เก็บให้ห่างจากความร้อนและแสงแดด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิตู้เย็น

ผลิตภัณฑ์สเปรดมะม่วงหาวมะนาวโห่ดังกล่าว มีต้นทุนในการผลิตต่อครั้ง ประกอบด้วย ค่าวัตถุดิบ 35 บาท ค่าบรรจุภัณฑ์ 13 บาท ค่าสาธารณูปโภค 10 บาท รวม 58 บาท การบริโภคผลิตภัณฑ์หนึ่งหน่วยจะให้พลังงานทั้งหมด 358.84 กิโลแคลอรี ต่อน้ำหนัก 100 กรัม และจะได้รับคุณค่าโภชนาการ 933 กิโลแคลอรี โดยปริมาณสารอาหารที่ได้รับคือ ไขมัน 19% โปรตีน 3% และคาร์โบไฮเดรต 78%

แยมมัลเบอรี่ชาใบหม่อน

กลุ่มนักศึกษาภาควิชาอาหารและโภชนาการ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ประกอบด้วย น.ส. ธัญญาเรศ ทองดี น.ส. ณิชรีย์ บอกพิมพ์ และ นายรัฐธนินทร์ ธนาจิตติเวศน์ ได้ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์แยมผลไม้ จาก “มัลเบอรี่ชาใบหม่อน” ที่มีรสหวานอมเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมของชาใบหม่อน ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์แก่ร่างกาย สามารถประยุกต์กับเมนูอาหารคาวหวาน ใช้รับประทานกับขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติในการรับประทาน

แยมมัลเบอรี่ชาใบหม่อน นับเป็นสินค้าทางเลือกที่แปลกใหม่สำหรับคนไทยที่รักสุขภาพ และงานวิจัยชิ้นนี้ยังต่อยอดอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในอนาคต มีโอกาสทางการตลาดสูง เพราะแยมเป็นสินค้าที่รู้จักกันดีทั่วโลก และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ใช้วัตถุดิบส่วนประกอบสำคัญคือ

  1. มัลเบอรี่ 44%
  2. น้ำตาลทราย 33%
  3. น้ำชาใบหม่อน 21%
  4. เพกทิน 2%

วิธีการทำ เริ่มจาก

  1. นำผลมัลเบอรี่เคี่ยวกับน้ำชาใบหม่อน ใช้อุณหภูมิความร้อน 100 องศาเซลเซียส
  2. รอให้ผลมัลเบอรี่มีเนื้อสัมผัสที่นิ่มจึงปรุงรสด้วยน้ำตาล
  3. เมื่อเคี่ยวจนน้ำตาลทรายละลายหมดแล้วให้ใส่เพกทิน เคี่ยวต่อไปจนแยมมีความเหนียว จึงค่อยเก็บใส่บรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้

การเก็บรักษา ควรปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้แล้ว เก็บรักษาในที่ที่เย็นและไม่โดนแสงแดด

ทีมนักศึกษาได้สรุปราคาต้นทุนการผลิตแยมมัลเบอรี่ชาใบหม่อน ต่อครั้ง จะมีต้นทุนวัตถุดิบ 20.05 บาท ต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์ 15 บาท และราคาต้นทุน 35.05 บาท สามารถตั้งราคาขายต่อหน่วยอยู่ที่ 69 บาท โดยการบริโภคสินค้าน้ำหนัก 100 กรัม จะได้รับคุณค่าทางโภชนาการ 117.13 กิโลแคลอรี โดยปริมาณสารอาหารที่ได้รับคือ ไขมัน 1%  คาร์โบไฮเดรต 97% และโปรตีน 2%

เส้นอุด้งชาโคล

กลุ่มนักศึกษาภาควิชาอาหารและโภชนาการ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีพงษ์สวัสดิ์ ประกอบด้วย น.ส. เพลินพิศ พิพัฒน์ภานุวิทยา และ น.ส. อารีรัตน์ ธนูทอง ได้นำเส้นอุด้งมาประยุกต์ดัดแปลง โดยการนำผงชาโคลมาผสมเข้าไปในเส้นอุด้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความแปลกใหม่ เพราะชาโคล หรือ “ถ่าน” ที่เผาจากต้นไผ่ มีคุณสมบัติสูงในการดูดซับสารพิษในร่างกายได้ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต บำรุงผิวพรรณให้สดใส ลดคอเลสเตอรอลได้เป็นอย่างดี จึงเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพและความงาม

กลุ่มนักศึกษาได้ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นอุด้งชาโคล โดยใช้

วัตถุดิบคือ

  1. แป้งสาลี 180 กรัม
  2. ผงชาโคล 10 กรัม
  3. ไข่ขาว 30 กรัม
  4. เกลือ 10 กรัม
  5. น้ำเปล่า 200 กรัม

วิธีทำ

เริ่มจาก นำส่วนผสมทั้งหมดเทรวมกันแล้วนวด คลึงให้เป็นแผ่นยาว นำแป้งมาตัดให้เป็นเส้นและนำไปต้ม 10 นาที

ผลการทดสอบพบว่า ผู้บริโภคมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์เส้นอุด้งชาโคลอยู่ในระดับดี การบริโภคอุด้งชาโคล ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค จะได้รับคุณค่าโภชนาการ 88.60 กิโลแคลอรี โดยปริมาณสารอาหารที่ได้รับคือ ไขมัน 14% คาร์โบไฮเดรต 14% และโปรตีน 72%