ชาวสงขลา เลิกทำธุรกิจยางพารา ยึด “โคก-หนอง-นา” เป็นโมเดลต้นแบบ สร้างรายได้

การผันผวนของราคายางพาราที่สร้างปัญหาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หนุ่มชาวสงขลา อย่าง คุณธนู จุลมณีโชติ ต้องหยุดทำธุรกิจยางพาราแล้วหันมาเอาดีทางการจัดการทำเกษตรแบบผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่ด้วยการยึดโมเดล “โคก-หนอง-นา” จนประสบความสำเร็จสร้างรายได้อย่างดีให้แก่ครอบครัว พร้อมเป็นต้นแบบให้แก่ท้องถิ่น ในชื่อ “ไร่ดำรงค์กิจ คาบสมุทรสทิงพระ”

คุณธนู มีบ้านพักอยู่เลขที่ 105/1 หมู่ที่ 10 ตำบลม่วงงาม อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แต่เดิมเคยทำธุรกิจสวนยางพาราทั้งปลูกและแปรรูปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ประสบปัญหาราคาตกลงเรื่อยๆ จนต้องตัดสินใจหยุด แล้วมาตั้งหลักชีวิตใหม่ด้วยการทำเกษตร โดยเริ่มต้นจากการปลูกพริกขี้หนู กระทั่งผ่านไป 3 เดือน พริกให้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์ นำไปขายมีรายได้ดีมาก แต่ระหว่างปลูกพริกเขาพบว่าสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงเรื่อยๆ รู้สึกว่ามีความสบาย หน้าตาผ่องใสกว่าเมื่อครั้งทำอาชีพสวนยางพาราที่ต้องใช้สารเคมี

คุณธนู จุลมณีโชติ

ผลสำเร็จจากพริกทำให้คุณธนูเริ่มมีกำลังใจแล้วรักอาชีพเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น จึงได้ขยายผลมาปลูกมะนาวในวงบ่อจำนวน 180 วง ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด ต้นมะนาวให้ผลผลิตจำนวนมาก ทั้งยังลองทำมะนาวนอกฤดูก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงมีรายได้ดีเช่นกัน ขณะเดียวกัน ในชุมชนที่อาศัยอยู่ยังไม่มีใครเคยปลูกมะนาวในวง พอมาเห็นความสำเร็จจากรายได้ของคุณธนูจึงเกิดความสนใจ จึงทำให้คุณธนูผลิตกิ่งพันธุ์มะนาวขายแทบไม่ทัน

เมื่อชายผู้นี้มองว่าได้เดินมาถูกทาง จึงตัดสินใจซื้อที่ดินจากญาติที่บอกขาย จำนวน 27 ไร่ แล้วเริ่มดำเนินการลงทุนลงแรงทำเกษตรกรรมอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมไปกับการแสวงหาความรู้การทำเกษตรแนวเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่จากอินเตอร์เน็ต หรือศึกษาจากข้อมูลผู้เชี่ยวชาญที่ประสบความสำเร็จในแนวทางนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใหญ่สมศักดิ์ เครือวัลย์ จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติสองสลึง หรือแม้แต่ อาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื่อง โดยยึดแนวทาง “โคก-หนอง-นา” เป็นโมเดลต้นแบบ

คุณธนูให้รายละเอียดขั้นตอนและวิธีตามแนวทาง “โคก-หนอง-นา” ว่า เริ่มจากที่ดินจำนวน 2 แปลง มีคลองคั่นกลาง ที่ดินทางทิศตะวันตกได้ขุดดินสร้างโคกเพื่อปลูกไม้หลากหลายชนิดแบบสวนป่าที่ประกอบไปด้วยไม้ใหญ่ อย่างตะเคียน พะยูง พะยอม ยางนา กันเกรา ที่มีรวมกันประมาณ 800 ต้น

ทั้งนี้ ได้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมจำนวน 100 ต้น กล้วย มะม่วง ผักใบ ผักสวนครัว พืชสมุนไพรอย่างพริก ชะอม มะนาว หรือมะม่วงหิมพานต์ไว้บริโภคแล้วขายด้วย โดยมีร่องน้ำหรือคลองไส้ไก่ขุดไว้บริเวณโดยรอบ เพื่อช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้น แล้วยังช่วยให้พืชดูดธาตุอาหารต่างๆ ขณะที่บางส่วนของที่ดินยังได้ขุดหนองเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ พร้อมกับเป็นแหล่งเลี้ยงปลานิล ปลาช่อน ปลาหมอ และปลาพื้นบ้านเพื่อไว้บริโภคและขาย

ผลิตภัณฑ์เกษตรนำมาจัดเป็นกระเช้า

ส่วนที่ดินทางทิศตะวันออกจะทำนาปลูกข้าวพันธุ์สังข์หยดกับข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ แล้วยังขุดเป็นคลองไส้ไก่อีกเพื่อต่อเชื่อมกับคลองใหญ่แล้วใช้ระบบการเปิด-ปิดน้ำด้วยระดับน้ำช่วยทำให้ประหยัดค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำเข้านา อีกทั้งได้สร้างคันดินขนาดกว้าง 1.5 เมตร ไว้บริเวณด้านนอกเพื่อปลูกมะพร้าวแกงจำนวน 120 ต้น สำหรับด้านข้างคันดินจะปลูกต้นหมากไว้จำนวน 400 ต้น

ขณะที่การดูแลใส่ปุ๋ยบำรุงพืชจะเน้นอินทรีย์ด้วยการใช้มูลนกกระทาที่น้องสาวเลี้ยงไว้ผสมกับรำและแกลบ พร้อมใส่น้ำหมัก แล้วทิ้งไว้ ก่อนนำมาใส่พืชพันธุ์ไม้ทุกชนิด จึงได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุน ช่วยให้พืชเจริญเติบโตงอกงาม มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

คุณธนู บอกว่า ข้าวที่ปลูกในพื้นที่ 13 ไร่ จะสีเอง เก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไว้ใช้แต่ละรุ่น เมื่อสีเสร็จจะนำไปบรรจุใส่ถุงสุญญากาศเพื่อส่งขาย โดยได้เริ่มเมื่อปี 2558 ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวมีจำนวนเพียงพอกับการบริโภคและขายตามสถานที่ต่างๆ กับทางออนไลน์ได้ตลอดทั้งปี แต่เนื่องเป็นข้าวคุณภาพที่มาจากการปลูกด้วยแนวทางอินทรีย์จึงทำให้ลูกค้าให้ความสนใจเพราะเป็นข้าวปลอดภัยจึงทำให้มียอดการสั่งซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องรับซื้อผลผลิตข้าวจากเครือข่ายที่รับประกันคุณภาพเข้าเสริมโดยเป็นการรับซื้อในราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไป แล้วยังขายในราคาสูงแต่ไม่กระทบต่อการซื้อของลูกค้า เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของคุณภาพข้าว

ผลสำเร็จของโมเดล “โคก-หนอง-นา” ทำให้เกิดระบบนิเวศที่เกื้อกูล สร้างความสมดุลทางธรรมชาติกลับมา ช่วยให้คุณธนูสามารถปลูกข้าวได้ถึง 2 ครั้งในรอบปี ขณะเดียวกัน ยังได้ควบคุมวัชพืชโดยใช้ระดับน้ำเป็นตัวกำหนดโดยใช้วิธีตีแปลงหรือไถพรวนจะทำให้กลบวัชพืชลงในดินแล้วใส่น้ำหมักที่ได้รับการพัฒนาที่ดินเพื่อมาช่วย จากนั้นจึงหว่านตม พอต้นข้าวสูงเล็กน้อยจึงปล่อยน้ำเข้าจะทำให้ไม่มีวัชพืชเพราะข้าวโตสูงกว่า

คุณธนูชี้ว่า โมเดลโคกหนองนาสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในพื้นที่มายาวนานได้อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงนำแนวทางนี้ใช้เป็นกรณีศึกษาแล้วเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวคาบสมุทรสทิงพระที่เคยประสบปัญหาภัยแล้งหรือน้ำท่วมทุกปี

คุณธนู บอกว่า การปลูกพืชแบบผสมผสานตามแนวทางของเขาต้องมีการวางแผนเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ดังนั้น ครอบครัวของคุณธนูจึงมีรายได้ตลอดเวลาทุกวันไม่เคยขาด เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท จากชะอม พริก หรือผักเด็ดยอดอย่างยอดต้นมะม่วงหิมพานต์ ที่นำไปขายยังตลาดสดในชุมชน หรือมีรายได้เป็นเดือนอย่างกล้วย มะม่วง มะนาว มะพร้าว ที่นำไปขายตามตลาดสุขภาพร่วมกับผลผลิตของสมาชิกในกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ของจังหวัดสงขลา ขณะเดียวกัน ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการและเอกชนเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มนำสินค้าไปขายตามสถานที่ต่างๆ

“ศาสตร์ของพระราชาในการทำเศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งผลให้เกษตรกรใช้พื้นที่เกิดประโยชน์มากที่สุด ในบางครั้งการทำงานเกษตรไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมาย แค่พื้นที่ 1 งาน 2 งาน หรือไม่เกิน 1 ไร่ ก็สามารถนำศาสตร์ของพระราชามาใช้ได้ เพียงแค่วางรูปแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ตัวเอง พร้อมกับใช้ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นโดยไม่ต้องลงทุน ซึ่งทางหน่วยงานภาครัฐในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างยินดีสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่” คุณธนู กล่าว

สอบถามรายละเอียดหรือสั่งซื้อข้าวอินทรีย์คุณภาพแบรนด์ “ไร่ดำรงค์กิจ คาบสมุทรสทิงพระ” ได้ที่ คุณธนู จุลมณีโชติ โทรศัพท์ (089) 876-6445 หรือ fb : ไร่ดำรงค์กิจ คาบสมุทรสทิงพระ หรือทาง line : (089) 876-6445