พืชไร่ราคาตก ชาวสวนอุทัยฯ หันปลูกทุเรียน ได้ผลดี เนื้อแห้ง หวาน หอม กลิ่นไม่ฉุน

อุทัยธานี นับเป็นอีกจังหวัดที่ปลูกทุเรียนได้มีคุณภาพ อันเป็นผลจากความอุดมสมบูรณ์ของสภาพอากาศตลอดถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอบ้านไร่ ซึ่งชาวบ้านหันมาปลูกทุเรียนและไม้ผลผสมผสานแทนการปลูกพืชไร่ที่สร้างปัญหากับราคาตกต่ำ

คุณวิโรจน์ เผ่าพันธุ์โพธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 7 ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เคยยึดอาชีพปลูกพืชไร่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น สับปะรด ข้าวโพด และมันสำปะหลัง แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ จึงเปลี่ยนมาปลูกทุเรียนเป็นหลัก แล้วเสริมด้วยไม้ผลหลายชนิดแบบผสมผสาน พร้อมเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดึงนักชิมผลไม้เข้ามาอุดหนุนสร้างรายได้อย่างงดงาม

คุณวิโรจน์ เผ่าพันธุ์โพธิ์

ภายหลังความสำเร็จจากการปลูกทุเรียนของชาวบ้านบางรายในเขตอำเภอบ้านไร่ ส่งผลต่อรายได้ที่ดีกว่าพืชไร่ ได้สร้างแรงจูงใจเป็นแบบอย่างให้คุณวิโรจน์ตัดสินใจปลูกทุเรียนเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ด้วยการไปหาซื้อกิ่งพันธุ์ทุเรียนมาจากจังหวัดจันทบุรี ได้แก่ หมอนทอง ก้านยาว และชะนี ปลูกรวมกันในพื้นที่ 25 ไร่ ลักษณะพื้นที่ปลูกทุเรียนในสวนคุณวิโรจน์รุ่นแรกจะปลูกไปตามสภาพทางธรรมชาติ ไม่ได้กำหนดเป็นแถว/แนว เพียงแต่มีระยะห่างต้น ประมาณ 8-10 เมตร

คุณวิโรจน์ ปลูกทุเรียนได้ประมาณ 4 ปี ก็เก็บผลผลิตได้ ผลดกมากเพียงแต่ยังขาดการปรับปรุงคุณภาพ ทำให้รูปทรงยังไม่สวย ผลบิดเบี้ยว ขนาดผลไม่เท่ากัน ส่วนเนื้อมีความแห้ง กรอบ รสหวานพอดี กลิ่นไม่แรง

ทางสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ได้เข้ามาส่งเสริมความรู้เรื่องการปลูกดูแลทุเรียนและพาเกษตรกรไปดูการปลูกทุเรียนแบบคุณภาพจากสวนมาตรฐานหลายแห่งที่จังหวัดระยองและจันทบุรี เพิ่มเติมความรู้เรื่องการปัดดอก การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ย ดูแลโรค/แมลง คุณวิโรจน์ได้นำเทคนิคเหล่านั้นกลับมาพัฒนาปรับปรุงวิธีการปลูกและการดูแลทุเรียนจนประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐาน

ทุเรียนรุ่นแรกปลูกตามลักษณะพื้นที่ธรรมชาติยังไม่มีแถวแนว

หลังจากนำความรู้มาปรับใช้ในสวน ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพดีตามมาตรฐาน มีรสชาติอร่อย เนื้อแห้ง กรอบ เมล็ดลีบเล็ก ไม่แพ้เจ้าถิ่นทุเรียนแถวภาคตะวันออก โดยต้นทุเรียนหมอนทองให้ผลผลิตชุดแรกมีจำนวน 100 ต้น ก้านยาว จำนวน 20 ต้น และชะนี มีเพียง 3 ต้น ทุกวันนี้สวนทุเรียนแห่งนี้ให้ผลผลิตสร้างรายได้มาไม่น้อยกว่า 15 ปี

เมื่อคุณวิโรจน์เห็นว่าปลูกทุเรียนได้ผลผลิตตามเป้าหมาย จึงเพิ่มจำนวนการปลูกไม้ผลอีกหลายชนิดเพื่อสร้างรายได้ ไม่ว่าจะเป็นเงาะ มังคุด กระท้อน และลำไย

คุณวิโรจน์ ดูแลตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิตรุ่นสุดท้ายเสร็จ ประมาณเดือนกรกฎาคม เมื่อตัดแต่งเสร็จแล้วจะใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ ในอัตรา 1 ต่อ 2 กระสอบ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เป็นสูตรเสมอ 15-15-15 ส่วนปุ๋ยชีวภาพผลิตเองเป็นเม็ดจากธาตุอาหารหลัก พร้อมใส่ขี้วัว ขี้ค้างคาว จำนวน 4-5 กระสอบ ต่อทุเรียน จำนวน 100 ต้น โดยใส่ปุ๋ยในช่วงหน้าฝน

ทุเรียนออกดอกประมาณเดือนมกราคม ก่อนออกดอกจะใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 เพื่อเปิดตาดอก ขณะที่ทุเรียนมีดอกต้องฉีดยาป้องกันเพลี้ยไฟไรแดงหลังจากดอกบานแล้ว 120 วัน ต้นทุเรียนเริ่มมีผลอ่อนในราวเดือนมิถุนายน

ฉีดพ่นฮอร์โมน

ที่ผ่านมาแมลงศัตรูพืชไม่ค่อยรบกวน เพราะพื้นที่บริเวณบ้านไร่มักจะมีฝนตกบ่อย เมื่อไม่มีศัตรูพืชรบกวนทำให้ผลผลิตทุเรียนมีความสมบูรณ์ดี ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อป้องกันโรคและแมลง ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย จุดเด่นของทุเรียนบ้านไร่คือ มีความหอมมัน รสหวานพอดี เนื้อแห้ง (เพราะน้ำไม่ขังในดิน) เมล็ดลีบ

ทั้งนี้ คุณวิโรจน์จะเก็บผลผลิตที่ติดผลไว้ทั้งหมดทุกผลโดยไม่ตัดทิ้งเพราะไม่ได้ตั้งใจทำส่งขายต่างประเทศ การเก็บผลผลิตไว้ทั้งหมดสามารถขายในราคาเดียวแบบเหมา ในราคา 150 บาท ต่อกิโลกรัม โดยลูกค้าหลักคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมสวน หรือพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ

ทุเรียนอำเภอบ้านไร่ขายได้ราคาดีมาตลอด แถมราคาขยับขึ้นทุกปี เพราะมีคุณภาพทัดเทียมกับทุเรียนจันทบุรีและระยอง ที่ผ่านมามีแม่ค้าไปรับซื้อทุเรียนจากทางภาคตะวันออกมาขายที่อุทัยธานี แต่พอเจอทุเรียนบ้านไร่ที่มีคุณภาพเหมือนกัน แต่ใหม่สดกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาขนส่งทำให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวหันมาซื้อทุเรียนบ้านไร่กันอย่างคึกคักจนไม่พอขาย

เนื้อผลแห้งไม่ติดเปลือก เม็ดเล็ก

แม้ว่าการปลูกทุเรียนของคุณวิโรจน์ยังไม่ได้มาตรฐานเท่ากับทุเรียนภาคตะวันออก โดยผลผลิตโดยรวมได้ปริมาณกว่า 9 ตัน ภายหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูล ตลอดจนเรียนรู้เทคนิคอื่นๆ เพิ่มเติม อย่างเรื่องการผสมเกสรในตอนกลางคืน เนื่องจากดอกจะบานเต็มที่ในช่วงกลางคืน ทำให้การผสมเกสรมีประสิทธิภาพดีมาก ช่วยให้ผลทุเรียนมีความสมบูรณ์ทั้งขนาดและรูปทรง ช่วยลดความเสียหาย แล้วเพิ่มผลผลิตได้อีกมาก ทำให้ทรงผลมีความกลมกว่าเดิมที่บิดเบี้ยว มีขนาดเท่ากัน จึงทำให้ผลผลิตมีอัตราสูงขึ้นแน่นอน สามารถขายได้ราคาที่เพิ่มขึ้น

“ผมเคยส่งผลผลิตไปขายในห้างดัง ก็ได้รับความสนใจ เมื่อลูกค้าชิมสินค้าก็ได้รับคำตอบว่า อร่อยมาก เดิมไม่ได้ตั้งใจนำไปขาย เพราะลูกค้าประจำจับจองทุเรียนกันหมดเพราะเปิดสวนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไม่เก็บเงินค่าเข้าชมทำให้นักท่องเที่ยวมาเดินชมสวนแล้วชิมผลไม้ชนิดต่างๆ พร้อมกับซื้อกลับบ้าน จึงไม่จำเป็นต้องใช้คนงานไปวางขายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองต้นทุน”

ด้านสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่ของอำเภอบ้านไร่ เหมาะกับการปลูกไม้ผลมาก ที่ผ่านมาได้ทดลองปลูกหลายชนิดก็ล้วนประสบความสำเร็จ มีคุณภาพเท่ากับผลไม้ภาคตะวันออก ส่วนหนึ่งเกิดจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติซึ่งไม่เคยผ่านการใช้สารเคมีมาอย่างหนัก มีคุณภาพดินร่วนซุย มีปริมาณน้ำดี

นอกจากทุเรียนแล้ว สวนคุณวิโรจน์ยังปลูกผลไม้ชนิดเดียวกับทางภาคตะวันออกเพิ่มอีก ไม่ว่าจะเป็น เงาะโรงเรียน จำนวน 70 ต้น มีคุณภาพดี แต่ผลเล็กที่สำคัญมีเนื้อแห้ง กรอบ หวาน ล่อน แล้วยังปลูกมังคุด จำนวน 30 กว่าต้น กระท้อนปุยฝ้าย ลำไยอีดอ

“ ทุเรียน ถือว่าเป็นไม้ผลชนิดใหม่ของชาวอำเภอบ้านไร่ อุทัยธานี ที่ผ่านมามีชาวบ้านจำนวนมากหันมาปลูกทุเรียนกับไม้ผลกันมากขึ้น คิดว่าคงไม่กระทบกับราคา เพราะตลาดมีความสนใจผลไม้ที่ปลูกในอำเภอบ้านไร่กันมาก ถึงขนาดรอกินทุเรียนอุทัยโดยไม่สนทุเรียนทางภาคตะวันออก” คุณวิโรจน์ กล่าว

สำหรับแฟนพันธุ์แท้ทุเรียน หากสนใจต้องการลองลิ้มชิมรสทุเรียนบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ติดต่อเข้าชมสวนโดยตรงที่ คุณวิโรจน์ โทรศัพท์ 095-319-3828, 095-407-8254 line : 561227620 fb: สวนเงาะ-ทุเรียน นายวิโรจน์ เผ่าพันธุ์โพธิ์

เกษตรกรชาวสวนอย่าหลงเชื่อบุคคลแอบอ้างรู้จักกับผู้สื่อข่าวเพื่อโอนเงินหรือส่งของ หากสงสัยโปรดติดต่อสอบถามมาก่อนได้ ที่ กอง บ.ก. เทคโนโลยีชาวบ้าน โทรศัพท์ 02-589-0020 ต่อ บ.ก. เทคโนฯ

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ วันพฤหัสที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Update 23/05/2022