ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นางจิระนุช ชาญณรงค์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในมันสำปะหลังว่า จากการติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชในแปลงมันสำปะหลังบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบมันสำปะหลังแสดงอาการคล้ายโรคพุ่มแจ้ในหลายจังหวัด โดยจังหวัดที่พบค่อนข้างมากคือ จังหวัดกำแพงเพชร สระแก้ว ชลบุรี และมุกดาหาร
ซึ่งโรคพุ่มแจ้ของมันสำปะหลัง ลักษณะคล้ายกับการทำลายของเพลี้ยแป้ง คือ ใบยอดมันสำปะหลังจะหยิกงอ แคระแกร็น และแตกเป็นฝอยค่อนข้างมาก หากเป็นโรคพุ่มแจ้จะทำลายผลผลิตในไร่มันสำปะหลังเสียหายกว่า 70% ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เสี่ยงได้เตรียมการรับมืออย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
ด้าน นางสาวสุมนา สิมาสฤษฏ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กล่าวว่า โรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา มีเพลี้ยจักจั่นเป็นแมลงพาหะของโรค และมีต้นวัชพืชสาบม่วงที่เป็นพืชอาศัย หากเชื้อเพิ่มปริมาณมากจะเข้าไปอุดตันท่อลำเลียงอาหารของพืช ทำให้ส่วนยอดแคระแกร็น พืชจะแตกตาข้างมาเพื่อความอยู่รอด ยอดมีลักษณะเป็นพุ่ม ใบเล็กลงสีเหลือง
กรณีระบาดรุนแรงมันสำปะหลังจะยืนต้นตาย สังเกตบริเวณท่ออาหารใต้เปลือกลำต้นหรือหัวเปลี่ยนเป็นเส้นสีน้ำตาลดำ เนื่องจากโรคพุ่มแจ้แพร่ระบาดโดยท่อนพันธุ์และแมลงพาหะ ถ้าเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพุ่มแจ้ ไม่ได้สังเกตอาการของโรคหรือโรคแสดงอาการที่ไม่ชัดเจน อาจมีการนำต้นมันที่มีเชื้อสาเหตุโรคนี้ไปขายเป็นท่อนพันธุ์ ทำให้โรคเกิดการกระจายไปยังแหล่งปลูกมันสำปะหลังเป็นการแพร่เชื้อสาเหตุไปยังแหล่งปลูกมันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เร่งถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรู้จักกับโรคพุ่มแจ้ และแนวทางป้องกันกำจัด ตลอดจนแนะนำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคสามารถเข้าทำลายต้นมันสำปะหลังได้ทุกฤดูกาลเมื่อต้นอ่อนแอ หากพบอาการดังกล่าวให้แจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน
และขุดต้นมันที่แสดงอาการไปเผาทำลายนอกแปลง แล้วปลูกใหม่ด้วยท่อนพันธุ์จากแหล่งปลอดโรค ซึ่งกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้สังเกตท่อนพันธุ์ที่คาดว่าอาจจะเป็นโรค จากการแตกตาข้างว่ามีมากแค่ไหน ปกติท่อนพันธุ์จะแตกตาเฉพาะที่บริเวณยอดด้านบนแค่ 2-3 ตา ถ้ามีการแตกตามากบริเวณกลางท่อนพันธุ์ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจติดเชื้อ
นอกจากนั้น แนะนำให้กำจัดเพลี้ยจักจั่นแมลงพาหะ รวมทั้งกำจัดวัชพืชทั้งในและโดยรอบแปลง โดยเฉพาะต้นสาบม่วง แหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อก่อโรคพุ่มแจ้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการระบาดและจำกัดพื้นที่การระบาดของโรคพุ่มแจ้ไม่ให้ขยายวงกว้าง