เส้นทางเกษตรอุบลฯ ก้าวสู่ยุค 4.0

เก็บตกสาระความรู้ที่น่าสนใจ ในงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี 2561 ณ สุนีย์ทาวเวอร์ อุบลราชธานี มาฝากอีกครั้ง สำหรับปีนี้จัดเป็น ครั้งที่ 10 จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง ทั้งนี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้จัดเวทีเสวนา “เส้นทางเกษตร” ขึ้นภายในงานดังกล่าว เพื่อนำเสนอสาระความรู้ทางการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ณ เวที ชั้น G สุนีย์ทาวเวอร์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับฟังเป็นจำนวนมาก

พิธีเปิดงาน สัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้อุบลราชธานี ครั้งที่ 10/2561

ไม้ผลเมืองอุบลฯ ก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างไร

เวทีเสวนา เรื่อง ไม้ผลเมืองอุบลฯ ก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างไร ดำเนินรายการโดย คุณวิไล อุตส่าห์ เกษตรอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนวิทยากรประกอบด้วย คุณกมล โสพัฒน์ ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี คุณธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ และ อาจารย์เรืองประทิน เขียวสด เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ร่วมมาแบ่งปันความรู้ในเวทีแห่งนี้

ปัจจุบัน สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรสู่มาตรฐาน การสร้างเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ การพัฒนาสถาบันเกษตรกรสู่การแข่งขัน การเพิ่มศักยภาพตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร การพัฒนาบุคลากรและองค์กรเกษตรกรสู่มืออาชีพ ภายใต้วิสัยทัศน์หลักของกรมส่งเสริมการเกษตร คือพัฒนาเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และมีรายได้ที่มั่นคง

เวทีเสวนา “ไม้ผลเมืองอุบลฯ ก้าวสู่ยุค 4.0 อย่างไร”

จังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการขอรับเงินอุดหนุนระหว่างสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กับ คณะกรรมการพัฒนาด้านการเกษตรระดับชุมชน ภายใต้โครงการสร้างทักษะอาชีพและส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร กิจกรรมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย และกิจกรรมพัฒนาการเกษตรเพื่อความยั่งยืนโครงการรายย่อย ซึ่งมีคณะกรรมการฯ ชุมชนอำเภอเมือง 3 ชุมชน อำเภอวารินชำราบ 3 ชุมชน และอำเภอม่วงสามสิบ 3 ชุมชน

ปัจจุบัน จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ ถือว่า มีตัวเลขการทำนามากที่สุดในประเทศไทย ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งชนิดหนึ่งของจังหวัด ทั้งนี้ พบว่าจังหวัดอุบลราชธานีมีที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการทำนาเพียงแค่ 2 แสนไร่ เท่านั้น ที่เหลืออีก 4 ล้านไร่ เหมาะสมสำหรับการทำสวนผลไม้ จึงส่งเสริมให้เกษตรกรชาวอุบลฯ ลดพื้นที่การปลูกข้าวมาปลูกไม้ผล เช่น ทุเรียน ลำไย ฯลฯ ซึ่ง อาจารย์เรืองประทิน เขียวสด เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนา หันมาทำไร่นาสวนผสมและปลูกทุเรียนด้วยเช่นกัน โดยรวมกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่นปลูกทุเรียน เพื่อเป็นไม้ผลทางเลือกในอนาคต

โครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ของกรมส่งเสริมการเกษตร

ด้าน คุณธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ได้แนะนำให้เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีที่ดินไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าวให้ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์มาปลูกพืชทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม เช่น กาแฟ เนื่องจากเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ปลูกดูแลง่าย และให้ผลตอบแทนสูง รวมทั้งปลูกไม้ผลประเภททุเรียน เพราะให้ผลตอบแทนที่ดี และมีผลผลิตออกเหลื่อมฤดูกับฤดูในภาคใต้และภาคตะวันออก

การแปรรูปเห็ด เพิ่มมูลค่า

เพื่อเพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวจังหวัดอุบลราชธานีและเกษตรกรทั่วไป ทางนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้นำเสนอเวทีเสวนา เรื่อง การแปรรูปเห็ด เพิ่มมูลค่า โดย อาจารย์ภานุรัตน์ อารีพันธุ์ และ อาจารย์สืบศักดิ์ สุ่มอิ่ม จากแผนกวิชาอาหารและโภชนาการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี (วอศ. สิงห์บุรี) มาร่วมสาธิตการแปรรูปเห็ดในรูปแบบต่างๆ เช่น

เห็ดสวรรค์

ส่วนผสม
– เห็ดนางฟ้าสด 1,000 กรัม
– น้ำตาลปี๊บ 150 กรัม
– ซีอิ๊วขาว 80 กรัม
– ลูกผักชีคั่วบุบหยาบๆ 40 กรัม และ
– น้ำมันพืชสำหรับทอด 1 ขวด

วิธีทำ
ให้ตัดโคนเห็ดออกให้หมด นำเห็ดไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วต้มในน้ำเดือด ประมาณ 3 นาที ตักเห็ดใส่น้ำเย็น แล้วตักขึ้นใส่ผ้าขาวบาง บีบคั้นน้ำออกจากเห็ดให้หมด ฉีกเห็ดให้เป็นเส้นเล็กๆ ใส่ในกะละมัง เติมน้ำตาลปี๊บ ซีอิ๊วขาว และลูกผักชี เคล้าให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน ชิมรสตามชอบ นำเห็ดที่ฉีกแล้วตากให้แห้งหมาดๆ ทอดเห็ดในน้ำมันร้อนๆ แต่ใช้ไฟปานกลาง ค่อนข้างอ่อน โดยทอดครั้งละ 100 กรัม เพื่อให้เห็ดเหลืองและกรอบทั่วกัน ตักเห็ดขึ้น พักให้สะเด็ดน้ำมัน นำไปรับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวเหนียวเป็นเครื่องเคียงก็ได้ สามารถทำเห็ดสวรรค์ขายในราคากิโลกรัมละ 350 บาท

เวทีเสวนา “การแปรรูปเห็ด เพิ่มมูลค่า”

น้ำพริกนรกเห็ด

เป็นอีกเมนูที่แนะนำให้ลองทำเป็นอาชีพเสริมรายได้ โดยเริ่มจากจัดเตรียมส่วนผสม ได้แก่
– เห็ดนางฟ้าสด 1 กิโลกรัม
– หอมแดงเจียว 150 กรัม
– กระเทียมเจียว 150 กรัม
– พริกขี้หนูคั่วป่น 50 กรัม
– น้ำมะขามเปียกข้น 130 กรัม
– ซีอิ๊วขาว 130 กรัม และ
– น้ำตาลปี๊บ 50 กรัม

วิธีทำ
ล้างเห็ดให้สะอาด หั่นและสับให้ละเอียด นำไปคั่วในกระทะจนสุกและหอม โขลกเห็ดคั่วรวมกับหอมเจียวและกระเทียมเจียวให้ละเอียดตามต้องการ ผสมพริกคั่วป่นรวมกับส่วนผสมที่โขลกไว้ทั้งหมด เคี่ยวน้ำมะขามเปียก ซีอิ๊วขาวและน้ำตาลปี๊บรวมกันให้ข้น และนำไปผสมกับส่วนผสมของน้ำพริกทั้งหมดคนให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ นำส่วนผสมทั้งหมดไปคั่วในกระทะอีกครั้ง เพื่อให้เข้ากันและแห้ง บรรจุน้ำพริกนรกเห็ดในภาชนะปิดสนิทเก็บไว้รับประทานหรือจำหน่ายได้

“ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม”
สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์

ดร. จำลอง พรมสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม จังหวัดอุบลราชธานี ได้สละเวลามาให้ความรู้เรื่องการปลูกเมล่อนอินทรีย์ และการพัฒนาฟาร์มเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนม่วงสามสิบ-อำนาจเจริญฟาร์มแห่งนี้นับเป็นแหล่งผลิตเมล่อนอินทรีย์แห่งแรก และมีพื้นที่ปลูกใหญ่สุดในถิ่นอีสานใต้

ดร. จำลอง พรมสวัสดิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม

ดร. จำลอง พรมสวัสดิ์ ตั้งใจพัฒนาวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม ให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกเมล่อน แตงโมอินทรีย์ และเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดสารพิษให้กับทุกคน ปัจจุบัน โครงการม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม มีโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ด ประมาณ 30 โรงเรือน เป็นโรงเรือนแบบปิดที่สามารถควบคุมการผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนต้น ความหนาแน่น การให้ปุ๋ย การให้น้ำ การป้องกันเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืช

การปลูกเมล่อนและแตงโมไร้เมล็ดในโรงเรือนระบบปิด ผ่านการปลูกด้วยกระบวนการที่ทันสมัย ปลอดภัย และได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) งดการใช้สารเคมี สารกำจัดแมลง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

การปลูกเมล่อนในโรงเรือนแบบปิด มีเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 4 อุบลราชธานี คอยชี้แนะให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนการผลิตอย่างใกล้ชิด ผลผลิตส่วนใหญ่ของฟาร์มแห่งนี้ จำหน่ายให้กับห้างโมเดิร์นเทรดรายใหญ่

แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการของตลาด ดร. จำลอง จึงชักชวนให้เกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมเครือข่ายผู้ปลูกเมล่อนอินทรีย์และรับซื้อผลผลิตในราคายุติธรรม ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้ ในโครงการสินเชื่อ XYZ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยเสียอัตราดอกเบี้ย เพียงแค่ 0.01% เท่านั้น

โครงการม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม

ทุกวันนี้ โครงการ “ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม” กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกเมล่อนและแตงโมอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่สุดในถิ่นอีสานใต้ ยินดีแบ่งปันความรู้เรื่องการปลูกดูแลเมล่อนและแตงโมอินทรีย์ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทุกท่าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม เลขที่ 9 หมู่ที่ 12 ตำบลม่วงสามสิบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี 34140 โทร. (045) 252-897, (094) 542-6960 หรือติดต่อทาง Facebook : ม่วงสามสิบ ออร์แกนิคฟาร์ม หรือ ID LINE : Muang organicfarm