ครูหนองบัวลำภู เลี้ยงด้วงงวง จำหน่ายเป็นอาหาร มีรายได้เสริมทุกเดือน

ด้วงงวงมะพร้าว หรือ ด้วงสาคู จัดว่าเป็นด้วงงวงขนาดกลาง ตัวเต็มวัย ปีกมีสีน้ำตาลดำ อกมีสีน้ำตาลและมีจุดสีดำ มีขนาดลำตัวยาว ประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้มีขนที่ด้านบนของงวงใกล้ส่วนปลาย ตัวหนอนมีสีเหลืองปนน้ำตาล
ดักแด้เป็นปลอกทำด้วยเศษชิ้นส่วนจากพืชที่กินเป็นอาหาร โดยด้วงงวงชนิดนี้นับเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะพืชจำพวกปาล์ม เช่น มะพร้าว สาคู และลาน ในประเทศไทยพบมากที่ภาคใต้ ตัวหนอนจะอาศัยและกัดกินบริเวณยอดอ่อน ตัวเต็มวัยจะเกาะกินเนื้อเยื่อด้านในของลำต้นลึกจนเป็นโพรง ซึ่งอาจทำให้ต้นตายได้ โดยจะบินออกหากินในเวลากลางวัน สามารถบินได้ไกลถึง 900 เมตร และอาจกินซ้ำจากที่ด้วงแรดมะพร้าว (Oryctes rhinoceros) ซึ่งเป็นด้วงกว่างกินไว้แล้ว
ตัวเมียใช้เวลาวางไข่นาน 5-8 สัปดาห์ ในปริมาณเฉลี่ย 400 ฟอง

คุณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน เยี่ยมชมการเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว ของ ครูนาฏยา ถุนพุฒดม

อย่างไรก็ตาม ด้วงสาคู ก็กลายมาเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น เพราะมีรสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางอาหารสูง มีโปรตีนสูงไม่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์เลยทีเดียว และยังสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น ทอด คั่วเกลือ หมก แกง หรือผัด เรียกได้ว่า ทำได้สารพัดเมนู ไม่แพ้เนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ กันเลยทีเดียว มีราคาซื้อ-ขายสูงถึง กิโลกรัมละ 300-400 บาท โดยระยะจากไข่-หนอน-ดักแด้ ใช้เวลา 60 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุ 2-3 เดือน

อาจารย์สาวอยู่บ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง คิดหาอาชีพเสริมและพยายามศึกษาหาอาชีพที่เหมาะสมกับตนเองและสะดวกง่าย ซึ่งจะต้องใช้เวลาว่างหลังจากปฏิบัติงานประจำแล้ว จะสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว เนื่องจากรอรับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ไม่พอใช้จ่าย
ครูนาฏยา ถุนพุฒดม ชื่อเล่น ครูรุ่ง อายุ 32 ปี งานประจำรับราชการ ตำแหน่งครูวิทยฐานะชำนาญการ สังกัดศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดหนองบัวลำภู ได้คิดหาวิธีเลี้ยงด้วงมะพร้าวขาย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่และสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

ระยะนำไปทำอาหาร

ครูนาฏยา เล่าให้ฟังว่า การดำรงชีวิตประจำวันในปัจจุบันมีรายจ่ายหลายช่องทาง แต่รายรับมีแค่ทางเดียว นั่นคือเงินเดือนจากงานประจำ ซึ่งแน่นอนว่าต้องขาดสมดุลแน่นอน ด้วยเหตุผลนี้จึงได้มองหาช่องทางที่จะทำให้มีรายรับมากขึ้น ซึ่งหากเลือกทำอาชีพหรือช่องทางที่คนอื่นทำเยอะแล้ว มองว่าช่องทางการตลาดต้องติดขัดหรือไม่น่าสนใจอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องหาอาชีพที่คนอื่นยังทำไม่เยอะ ก็ได้มารู้จักด้วงมะพร้าว จึงได้ศึกษาและลงมือเลี้ยง ช่วง 2-3 เดือนแรก ทำให้มีรายรับมากกว่า 1,000 บาท ต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยมากกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน ปัจจุบัน เลี้ยงด้วงมะพร้าวมาได้เกือบ 1 ปี ก็ทำให้มีรายรับต่อเดือนมากขึ้น ด้วงมะพร้าวเลี้ยงเพียง 28 วัน ก็สามารถเก็บขายได้
ให้อาหารเพียงครั้งเดียว แค่ 4 ขั้นตอนง่ายๆ
1. ผสมอาหารใส่กะละมัง
2. ปล่อยแม่พันธุ์ กะละมังละ 5 คู่
3. ปิดฝาทิ้งไว้ 28 วัน
4. เก็บด้วงออกขายได้เลย
สถานที่เลี้ยง…เลี้ยงในโรงเรือน มีตาข่ายไนล่อน ทำเหมือนมุ้ง ป้องกันศัตรู

เป็นอาชีพเสริมที่ดีมาก

วัตถุดิบในการเลี้ยง
1. กากน้ำตาล
2. อาหารหมู/รำอ่อน
3. เปลือกมะพร้าว
4. มันสำปะหลัง หรือพืชตระกูลแป้ง
5. กะละมังพลาสติก
6. พลาสติกที่ปิดด้านบนกะละมัง ซึ่งอาจจะใช้พลาสติกคลุมด้านบนแล้วเจาะรู

วิธีการเลี้ยง
เมื่ออาหารที่เตรียมพร้อมแล้ว นำพ่อแม่พันธุ์ 4-5 คู่ มาปล่อย (โดยสังเกตตัวผู้งวงข้อที่ 1 มีขนขึ้นชัดเจน ส่วนตัวเมียไม่มี ตัวผู้หรือพ่อพันธุ์จะมีขนาดเล็กกว่าแม่พันธุ์) การเลี้ยงหากใส่พ่อแม่พันธุ์มากเกินไปไม่ได้เป็นผลดี เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนของพ่อแม่พันธุ์ ด้วงที่ได้มากเกินไปทำให้อาหารไม่พอ ส่งผลให้ด้วงมีขนาดที่แตกต่างกันมากเกินไปหลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 10-15 วัน ให้จับขึ้นมาจากกะละมัง จะเห็นว่าลูกตัวด้วงจะมีขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ พ่อแม่พันธุ์ที่จับขึ้นมา สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้อีก 3 ครั้ง ดังนั้น ต้องนำมาพักฟื้นอย่างน้อย 3 วัน โดยอาหารที่นำมาเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ช่วงพักฟื้นคือกล้วยน้ำว้าสุก ตัวเต็มวัยจะกินกล้วย 1 ผล ต่อ 25 ตัว ต่อ 1 คืน พร้อมกับสาคูบด
ตัวด้วงขนาดหัวไม้ขีดไฟจะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ ไม่ต้องดูแลอะไรมาก ยกเว้นความชื้นต้องรักษาให้ได้ ประมาณ 70-80%
อาหารต้องรักษาความชื้น 70-80% หากอาหารมีความชื้นมากเกินไปจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ตาย หรือไข่ที่ออกมาไม่ฟักเป็นตัวด้วงและตายในที่สุด หรือแม่พันธุ์อาจจะไม่วางไข่ หากความชื้นน้อย ด้วงจะมีขนาดเล็ก

ราคาแพง

ปริมาณความชื้นทดสอบง่ายๆ ด้วยการกำอาหารเป็นก้อนจะมีน้ำไหลออกระหว่างนิ้วมือเล็กน้อย
หากปัจจัยพอเหมาะ ตัวด้วงจะเจริญได้ดี ให้น้ำหนักมาก (200 ตัว ต่อกิโลกรัม) และมีอัตราการตายน้อย
ข้อควรระวัง การเลี้ยงตัวด้วงให้ประสบความสำเร็จ ไม่ควรเพิ่มอาหารใหม่หรือเสริมอาหารใหม่เข้าไปหลังจากเลี้ยงในกะละมัง เพราะอาหารใหม่จะมีความร้อนสูง ทำให้ด้วงไม่กินอาหาร ตัวเล็ก และตายในที่สุด ต้องดูแลเรื่องของความชื้นให้ได้ 70-80% อยู่เสมอ กำจัดแมลงศัตรูไม่ให้เข้ามารบกวน ห้ามใช้สารฆ่าแมลงในขณะที่พ่อแม่พันธุ์วางไข่ เพราะจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ไม่วางไข่หรือไข่จะลีบ ต้องนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากกะละมังเพาะ ไม่เกิน 15 วัน

คุณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน เกษตรอำเภอโนนสัง บอกว่า จากการไปศึกษาและเยี่ยมการเลี้ยงด้วงมะพร้าว น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งของชาวจังหวัดหนองบัวลำภู และอำเภอโนนสัง สามารถใช้พื้นที่ไม่มากเลี้ยง
ควรป้องกันแมลงวันเข้าไปทำลาย อาหารการกินก็ไม่มีอะไร มีแต่หัวมันสำปะหลัง กับเปลือกมะพร้าว ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายตามบ้านเรือน…อาหารหมู คิดว่าลงทุนต่ำ แต่ผลตอบแทนสูงมาก เพื่อเป็นการเพิ่มอาชีพที่ลงทุนไม่สูงมากนัก จะประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรกรทราบ และจะส่งเสริมให้เกษตรกรที่สนใจได้มาศึกษาดูงานและเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร และจะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วงมะพร้าวอำเภอโนนสัง และในจังหวัดหนองบัวลำภู ด้วงมะพร้าว ราคาขาย 300-400 บาท ต่อกิโลกรัม

เลี้ยงไม่ยาก

หากเกษตรกรท่านใดสนใจ อยากเลี้ยง ด้วงมะพร้าว หรือทราบวิธีการเลี้ยง ติดต่อได้ที่ โทร. (087) 950-7833 เลขที่ 19 หมู่ที่ 1 บ้านถิ่น ตำบลบ้านถิ่น อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู รหัสไปรษณีย์ 39140