ชุมชนเข้มแข็งด้วย กศน. อนุรักษ์-ต่อยอดสมุนไพรพื้นบ้าน

ทั่วพื้นที่ประเทศไทย สมุนไพรพื้นบ้าน เป็นสิ่งที่หาได้ง่ายในอดีต แต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนที่มาหรือพื้นที่ปลูกไปเกือบหมด ด้วยการที่มนุษย์นำมาปลูกเอง ปลูกใส่ภาชนะที่แตกต่างออกไป ในกรณีที่พื้นดินปลูกมีความเหมาะสมไม่เพียงพอ หรือปล่อยให้สมุนไพรเฉพาะถิ่นขึ้นได้เฉพาะที่จริงๆ ขึ้นในพื้นที่เดิมต่อไป และทำได้เพียงการอนุรักษ์ไว้ ไม่ให้สูญหายไปเท่านั้น

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร หมู่ที่ 3 บ้านถ้ำทะลุ ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเข้มแข็ง แม้จะมีสุภาพสตรีเป็นส่วนใหญ่  กลุ่มนี้ ก่อตั้งขึ้น เพราะเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สมุนไพร และประโยชน์จากสมุนไพรในท้องถิ่น ในการสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือน โดยมีผู้หญิงหรือแม่บ้าน ที่ว่างจากงานประจำรวมตัวกันก่อตั้งขึ้น ก่อนจะมีพ่อบ้านหรือผู้ชายมาสมทบ ช่วยจัดการในงานที่เหมาะสำหรับผู้ชาย

คุณอุสมาน แกสมาน

คุณอุสมาน แกสมาน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร พาสมาชิกกลุ่ม กว่า 10 คน มาให้การต้อนรับ เมื่อผู้เขียนไปถึง จำนวน 1 ในนั้น เป็นครูของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แต่เป็นครูที่ดูแลระดับอำเภอ ทำให้เกิดข้อสงสัย ว่า เพราะเหตุใดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จึงมีครูร่วมด้วย

คุณเนาวรัตน์ ศรีหมั่น ครูกศน.อำเภอควนโดน

คุณเนาวรัตน์ ศรีหมั่น ครู กศน.อำเภอควนโดน บอกกับเราว่า เหตุที่ต้องมาพร้อมๆ กับสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ในครั้งนี้ เพราะสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ เกือบทุกคน ล้วนแล้วแต่เป็นลูกศิษย์ของกศน.ทั้งสิ้น อีกทั้ง ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่ม ลูกศิษย์ก็มาขอคำปรึกษาจากครู

ซึ่งครูกศน.ก็ต้องทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานทุกหน่วยงานที่เห็นว่าเกี่ยวข้องและมีประโยชน์ เพื่อให้กิจกรรมของลูกศิษย์ก้าวหน้า แม้จะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่เพื่อสร้างความสามัคคี กระชับความแน่นแฟ้นให้เกิดขึ้นภายในกลุ่ม ก็เป็นสิ่งที่กศน.ควรทำอยู่แล้ว

“ลูกศิษย์มาปรึกษาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ว่า อยากจะรวมกลุ่มปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร จะทำอย่างไร ด้วยหน้าที่ของครู และ กศน.เองก็เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาจากระดับรากหญ้าก้าวไปในจุดที่เป็นที่รู้จัก ยิ่งเมื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนตามที่กลุ่มตั้งใจ ก็เป็นเรื่องที่ครูอย่างเราจะนิ่งเฉยไม่ได้ ประกอบกับ คนที่มาปรึกษาเป็นลูกศิษย์ที่เราสอน แม้หลายคนจะจบการศึกษาไปแล้วก็ตาม หน้าที่ระหว่างครูกับศิษย์ก็จะยังคงอยู่เสมอ”

คุณสาเปี๊ยะ สามัญ

คุณสาเปี๊ยะ สามัญ เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร เล่าให้ฟังว่า พื้นที่บ้านถ้ำทะลุ เป็นพื้นที่ที่แต่ละครัวเรือนปลูกสมุนไพรไว้อยู่แล้ว ครัวเรือนละจำนวนไม่มาก มีไว้สำหรับรักษาเยียวยา เมื่อสมาชิกภายในครัวเรือนเจ็บป่วย และสามารถใช้สมุนไพรในการรักษา โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์

เพราะในอดีตพื้นที่ถ้ำทะลุเองอยู่ห่างไกลจากความเจริญมากพอสมควร การดูแลกันเองภายในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ทำมานาน
นอกจากนี้ ยังมีหมอพื้นบ้านที่เป็นบุคคลสำคัญในการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาประยุกต์ในการรักษา บ้านถ้ำทะลุ จึงให้ความสำคัญกับสมุนไพรมาโดยตลอด

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ของเราก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2558 ถือว่าเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่เพิ่งเริ่มต้น แต่เพราะเห็นความสำคัญของวัตถุดิบในชุมชน คิดรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ เพราะหากเห็นความสำคัญเพียงอย่างเดียว สมุนไพรที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในชุมชนก็จะหมดไป

หัวไพลสด
ปลูกในโรงเรือน

“ไพล เป็นสมุนไพรที่มีมากที่สุดในท้องถิ่น เมื่อเห็นความสำคัญก็ต้องอนุรักษ์ไว้ ซึ่งการอนุรักษ์ที่กลุ่มทำอยู่ คือ การปลูกเพิ่ม ซึ่งเมื่อเรียนรู้ว่าสมุนไพรเดิมในอดีตขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสารเคมี เราจึงมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องการปลูกให้เป็นอินทรีย์ ไม่ต้องการให้มีเคมีหรือชีวภาพใดๆ มาเจือปน จึงเริ่มศึกษาการปลูกด้วยวิธีอินทรีย์ ซึ่งได้ปรึกษากับสำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน ก็ได้รับคำแนะนำให้ปรับพื้นที่ปลูก ให้ปลอดสารเคมีนานอย่างน้อย 3 ปี ผลผลิตที่ปลูกในพื้นที่นั้นจึงจะเป็นอินทรีย์อย่างแท้จริง และยังได้รับคำแนะนำอื่นอีกมากมาย ซึ่งสมาชิกของเราได้นำไปปฏิบัติ ทำให้ปัจจุบันแปลงปลูกสมุนไพรที่มีปลอดสารเคมี เรียกได้ว่า เป็นสมุนไพรอินทรีย์แล้ว”

คุณอุสมาน บอกว่า ไพล เป็นสมุนไพรที่มีมากที่สุดของกลุ่ม มีสมาชิกปลูกในพื้นที่รวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ เมื่อผลผลิตสามารถจำหน่ายได้ จะขุดหัวไพลมารวมกันเพื่อขายหัวไพลสด สำหรับสมาชิกที่มีพื้นที่น้อย หรือพื้นที่ยังไม่ปลอดสารเคมี ก็ใช้วิธีปลูกในกระถาง กระสอบ หรือภาชนะปลูกที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังปลูกสมุนไพรชนิดอื่นอีก เพราะมองถึงเป้าหมายของกลุ่มที่ต้องการอนุรักษ์สมุนไพรไว้ และต้องการให้กลุ่มเป็นจุดศูนย์รวมของสมุนไพรหลากหลายชนิด รวมถึงอนาคตที่คาดว่าจะเปิดสปาชุมชน รองรับกลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้สูงอายุ ใช้สมุนไพรในท้องถิ่นหรือชุมชนที่มี ลดการใช้สารเคมี

ดีปลีเชือก

เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร บอกว่า ไพล เป็นพืชหัวสด ต้องใช้เวลาปลูกกว่าจะเก็บผลผลิตได้ นานประมาณ 18 เดือน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปลูกพืชสมุนไพรชนิดอื่นเพื่อให้มีจำหน่ายหมุนเวียน และนำมาแปรรูปจำหน่ายได้ เช่น ขมิ้นชัน ใช้เวลาปลูกประมาณ 12 เดือน เพชรสังฆาต ทองพันชั่ง ว่านชักมดลูก เป็นต้น

การดูแลรักษา เนื่องจากเป็นสมุนไพรอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องดูแลมากนัก แต่ต้องระวังแมลงศัตรูพืชที่อาจมาทำลายในบางช่วง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เลือกใช้น้ำหมักในการป้องกันหรือกำจัด ซึ่งน้ำหมักดังกล่าวทำจากสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น เช่น สะเดา ยาสูบ และหัวกลอย เป็นต้น

เมื่อขุดหัวไพลมาใหม่ๆ ต้องตัดรากออกก่อน

“หัวไพลสด และสมุนไพรอื่นๆ ปัจจุบันมีลูกค้าที่รับซื้อประจำ ได้แก่ โรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล โรงพยาบาลห้วยยอด และโรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง โดยโรงพยาบาลนำสมุนไพรทื่ซื้อไป ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำลูกประคบ ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในแบบของแผนไทยจำนวนมาก”

แม้จะเป็นกลุ่มที่พยายามส่งเสริมการปลูกสมุนไพร อนุรักษ์สมุนไพร ไว้ก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่าสมุนไพรบางชนิดไม่สามารถนำมาปลูกได้ จำเป็นต้องปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ในผืนป่าใกล้เคียงชุมชน เช่น ย่านนมแมว เทพทาโร โหนดดง เลือดปลาไหล  กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จึงพยายามย้ำเตือนชาวบ้านด้วยกันให้รู้รักษ์สมุนไพรเหล่านั้น เมื่อเข้าไปตัดนำออกมาใช้ ก็ให้นำออกมาเฉพาะที่ต้องใช้ ปล่อยให้สมุนไพรที่ขึ้นเองในป่าได้ขยายพันธุ์และคงอยู่ต่อไป

คุณอาชีด สามัญ หมอพื้นบ้าน วัย 72 ปี

คุณอาชีด สามัญ หมอพื้นบ้าน บ้านถ้ำทะลุ วัย 72 ปี เล่าว่า อาชีพหมอพื้นบ้านได้รับการถ่ายทอดมากจากบรรพบุรุษตั้งแต่เด็ก ให้ใช้สมุนไพรในการรักษา เช่น ต้มกิน ทา นำรากไม้ป่า สมุนไพรที่เก็บจากป่า มาทำให้อยู่ในรูปของการบำบัด บรรเทา เช่น สมานกระดูก เอ็นพลิก เคล็ด

คุณสาเปี๊ยะ บอกด้วยว่า เมื่อหมอพื้นบ้านมีแนวทางในการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาใช้ให้เห็น จึงเป็นแนวคิดในการนำไปต่อยอด โดยนำสมุนไพรมาแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบที่นำไปใช้งานได้ง่าย เช่น น้ำมันนวด ยาดม ยาหม่อง ครีมนวด แชมพู พิมเสน ช่วยเสริมรายได้ให้กับกลุ่มได้เช่นกัน

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร
ผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน กลุ่มก็ทำ

ปัจจุบัน สมาชิกของกลุ่มมีจำนวน 25 คน โดยคุณสาเปี๊ยะ บอกว่า ยังเปิดรับสมาชิกเพิ่มได้อีกมาก เพราะกลุ่มเพิ่งก่อตั้งมาเพียง 2 ปีเศษ ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่ต้องส่งเสริมและดำเนินการต่อ โดยมีค่าสมัครสมาชิกเพียงคนละ 100 บาท ไม่มีจำนวนหุ้นให้ถือ ซึ่งเงินค่าสมาชิกนั้นจะนำไปใช้หมุนเวียนภายในกลุ่ม และหากสมาชิกนำผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มไปจำหน่ายก็จะได้รับเงินปันผลจากยอดนั้นๆ ด้วย หรือเมื่อสมาชิกมีเวลาว่างมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก็จะได้ค่าจ้างในแต่ละวันอีกเช่นกัน

ปลูกแซมพืชอื่นก็ได้
ปลูกในภาชนะที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น

ทุกเดือน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ จะประชุมกลุ่ม 1 ครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้า และเผยแพร่ นัดอบรมความรู้ที่สมาชิกควรได้รับ เพื่อนำไปสานต่อหรือประยุกต์ใช้กับการปลูกสมุนไพร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กลุ่มนี้ จะเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่ความเข้มแข็งของกลุ่มแสดงให้เห็นว่า กลุ่มสามารถดำเนินต่อไปได้ อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่กลุ่มผลิตขึ้นมา รวมถึงสมุนไพรสดหลายชนิดที่มี มีลูกค้าจากหลายจังหวัดสนใจและออเดอร์ไปจำนวนมาก

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร ยังมีความสามารถในเรื่องของการแปรรูปสมุนไพรอีกมาก หากท่านใดสนใจ ติดต่อผ่านคุณสาเปี๊ยะ สามัญ เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพร โทรศัพท์ (098) 712-0380 หรือ เฟซบุ๊ก Sapiah Saman ได้ตลอดเวลา