ทุเรียนชะนีเกาะช้าง คุณภาพเยี่ยม มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟและไอทะเล

“ทุเรียนชะนีเกาะช้าง” จังหวัดตราด เป็นของดีอีกอย่าง ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ทั้งที่มีมานานกว่า 40-50 ปีแล้ว และวันนี้องค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้นำขึ้นมาแต่งตัวใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างน่าสนใจ ด้วยคุณสมบัติพิเศษผลการทดสอบทางวิชาการจาก บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่ามีวิตามินอี 9.45 mg/100 g (มิลลิกรัม/100 กรัม) และธาตุไอโอดีน 54.27 ug/100g (ไมโครกรัม/100 กรัม) ซึ่งวิตามินอี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ส่วนสารไอโอดีนเป็นสารที่มีประโยชน์กับร่างกาย หากอยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่น่าเสียดายที่ทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้างที่ผ่านมา ขายได้ราคาต่ำ เพราะต้องขายแบบเหมาสวน เช่นเดียวกับทุเรียนทั่วไป และวันนี้ได้ลดปริมาณลง เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองหรือพืชผลชนิดอื่นที่ราคาดีกว่า เช่น ยางพารา หรือบางรายขายสวนให้นักลงทุนด้านธุรกิจท่องเที่ยวไปเลย

เนื้อทุเรียนชะนี น่ารับประทาน

ประวัติศาสตร์ทุเรียนชะนีเกาะช้าง อายุ 40-50 ปี

คุณประกฤต ครุพานิช เกษตรกรชาวสวนทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้าง อยู่บ้านเลขที่ 45/2 หมู่ 2 บ้านด่านใหม่ อ.เกาะช้าง จ.ตราด  เล่าถึงที่มาของทุเรียนชะนีเกาะช้างว่า เมื่อ 40-50 ปีก่อน รุ่นพ่อแม่ เริ่มนำพันธุ์จาก อ.ขลุง จ.จันทบุรี มาปลูกแทนสวนยางพารา เริ่มจากชาวสวนเพียง 4-5 ราย เท่านั้น ต่อมาขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เพราะปลูกแทนยางพารา ซึ่งตอนนั้นไม่ใช่ยางพันธุ์ดีปริมาณน้ำยางมีน้อย และราคาถูกมาก กิโลกรัมละ  6-7 บาท เปรียบเทียบกับทุเรียนตอนนั้น กิโลกรัมละ 40-50 บาท

คุณประกฤต บอกด้วยว่า สวนที่พ่อปลูกครั้งแรก ในพื้นที่ 70 ไร่ มี 400 ต้น ต่อมาเมื่อต้นทุเรียนตายด้วยโรคเชื้อรา และแมลงด้วงหนวดยาว ทำให้เหลือทุเรียนที่รับช่วงต่อจากพ่อเพียง 20 ต้นเท่านั้น จึงนำพันธุ์หมอนทองเข้าปลูกทดแทนต้นที่ตายไปบ้าง เพราะราคาดีกว่า พร้อมๆ กับทำสวนผสม ปลูกยางพารา ไม้กฤษณา สักทอง ปาล์มน้ำมัน มังคุด ขนุน ลองกอง สับปะรด แก้วมังกร

“ชะนี ที่เหลืออยู่ต้นสูง 10-20 เมตร การดูแลเก็บเกี่ยวลำบากมาก จึงปล่อยตามธรรมชาติ บนเกาะช้างน่าจะมีเหลือไม่ถึง 100 ราย  หนึ่งสวนไม่เกิน 4 -20 ไร่ บางคนตัดทุเรียนทิ้ง ปลูกยางพารา หรือเปลี่ยนไปปลูกพันธุ์หมอนทอง หากไม่อนุรักษ์ด้วยการส่งเสริมการตลาดไม่มีเหลือแน่นอน เพราะราคาต่ำกว่าหมอนทองถึงเท่าตัว เมื่อ อพท. สนับสนุนการตลาดเพิ่มมูลค่าน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตกรช่วยกันอนุรักษ์และพัฒนาให้ได้มาตรฐานและเป็นเอกลักษณ์ของชาวเกาะช้างได้”

คุณประกฤต เล่าถึงเอกลักษณ์ของทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้างว่า รสชาติอร่อยเป็นพิเศษจริงๆ เนื้อเนียนเหนียวละเอียด สีเหลืองสวย รสชาติหวานเข้มที่เรียกว่าหวานขม และสุกก่อนทุเรียนพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญไส้ไม่อมน้ำ ซึ่งต่อไปควรมีการขยายพันธุ์ในแปลงใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพราะทุเรียนพันธุ์ชะนีเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงทนทานอายุยาว หากดูแลดีๆ ต้นสามารถอยู่ได้เป็น100 ปี เมื่อเทียบกับพันธุ์หมอนทองอายุเพียง 20-30 ปี อีกทั้งยังมีความต้านทานโรคน้อยกว่า  แต่ด้านการตลาดชาวสวนคงต้องแบ่งสัดส่วนขายเหมาสวนและขายเป็นผล อาจจะ 80:20 เพราะปริมาณผลผลิตมีมากและขนาดมาตรฐานไม่เท่ากัน หากขายเป็นผลต้องดูแลตั้งแต่ออกดอก เพื่อให้ลูกเติบโตได้มาตรฐานทุกลูก ผลสวย เนื้อดีละเอียด มีเนื้อทุกพู

Advertisement
ชะนีบนต้น

“ ที่ผ่านมาชาวสวนไม่มีช่องทางตลาดอย่างอื่น จำเป็นต้องขายเหมาสวน เพราะง่าย สะดวก และเมื่อต้นแก่ทิ้งใบก็ปล่อยให้ตาย หาพันธุ์หมอนทองหรือพืชชนิดใหม่ที่มีราคาสูงกว่าปลูกแทน เพราะว่าตามสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ อากาศ ของเกาะช้างดีต่อการทำเกษตรกรรม ผลไม้ทุกอย่างที่ปลูกบนเกาะรสชาติดีไม่ใช่เฉพาะทุเรียนชะนีอย่างเดียว” คุณประกฤต บอก

หนุนทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้าง

Advertisement

ผลิตภัณฑ์โลว์คาร์บอน

ด้วยความตระหนักในความสำคัญของทุเรียนพันธุ์ชะนีและต้องการอนุรักษ์ให้เป็นเอกลักษณ์ของเกาะช้าง และเป็นผลิตภัณฑ์โลว์คาร์บอนตามวัตถุประสงค์ของ อพท.

พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ. 1) อพท. ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนเกาะช้าง เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์พัฒนาคุณภาพมาตรฐานทุเรียนพันธุ์ชะนีเกาะช้าง และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสำรวจเกษตรกรที่ยังมีสวนทุเรียนพันธุ์ชะนีที่เหลืออยู่บนเกาะช้าง และชวนเข้าร่วมโครงการเพื่อจัดทำมาตรฐานการผลิตตามระบบจัดการคุณภาพ GAP (Good  Agricultural Practice) ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี มีสถานีวิจัยพืชสวนจันทบุรีเป็นพี่เลี้ยง

วัตถุประสงค์ของการพัฒนา อพท. คือการลดปริมาณคาร์บอน ทั้งการท่องเที่ยว การกำจัดขยะ การใช้พลังงานทดแทน แม้กระทั่งวิถีชุมชน  ต้นทุเรียนพันธุ์เกาะช้างที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไปจะมีขนาดใหญ่ สูง 10-20 เมตร ดูดซับปริมาณคาร์บอนได้ดี และส่วนใหญ่ชาวสวนจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามธรรมชาติซึ่งช่วยรักษาสภาพแวดล้อมธรรมชาติ หากช่วยพัฒนาด้านการตลาดเพิ่มมูลค่าของทุเรียนให้เห็นผลชัดเจนเกษตรกรจะให้ความร่วมมือมากขึ้น เมื่อเริ่มต้นประชาสัมพันธ์เพื่อทำตลาดจากปีนี้ไปอย่างต่อเนื่อง

ต่อไปจะสนับสนุนให้ประกวดทุเรียนต้นใหญ่ เพื่อให้สวนทุเรียนชะนีเกาะช้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกทางเลือกหนึ่ง ส่วนด้านตลาดจะเจาะในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับไฮน์เอนด์ ตอนนี้เหลือชาวสวนปลูกไม่มากนัก  รายละ 4-5 ไร่ ประมาณ รายละ 100 ต้นเศษๆ เท่านั้น จึงต้องรีบอนุรักษ์และพัฒนาอนาคตเกาะช้างจะมีทุเรียนพันธุ์ชะนีเป็นผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนที่ต่างประเทศให้ความสนใจ

…………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ