บ้านด่านนาขาม อุตรดิตถ์ กับการจัดการสวนวนเกษตร โชว์ “ทุเรียนพื้นเมือง” เป็นไม้ผลเศรษฐกิจ

ช่วงเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. … ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เจตนารมณ์ของการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ก็เพื่อส่งเสริมการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งในส่วนของระบบการจัดการทรัพยากรและชุมชน โดยเปิดทางให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ของตนเอง หรือที่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามกฎหมาย สามารถตัดไม้ขายได้ หรือนำไปเป็นหลักประกันทางเศรษฐกิจได้ โดยต้องเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า จำนวน 58 ชนิด ซึ่งถือเป็นวิธีการออมเงินอีกทางหนึ่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการสร้างให้เกิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียว

อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติจะต้องผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนประกาศบังคับใช้ ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ที่ผู้เขียนได้หยิบยกมติคณะรัฐมนตรี ขึ้นมาเกริ่นนำก็เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ว่างเปล่า ได้วางแผนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ด้วยการปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจะมากจะน้อยเท่าไร ก็ถือว่าได้เริ่มต้นการออมเงินแล้ว อีกประการหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมกิจกรรม ปั่นไปชิม! ด่านนาขามจัดแรลลี่จักรยาน เปิดสวนทุเรียนลิ้มรสพันธุ์ทุเรียนพื้นเมือง ของกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนพื้นเมือง “วนเกษตร” ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากองค์การบริหารส่วนตำบลด่านนาขาม และสถาบันนิเวศน์เพื่อการพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ ภายในงานมีการประกวดผลทุเรียนพื้นเมือง 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเนื้อเหลืองเข้ม ชนิดเนื้อขาว และชนิดพันธุ์ที่ให้เมล็ดดีเหมาะแก่การนำไปปลูกใช้เป็นต้นตอ ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากการจัดการสวนวนเกษตรของชุมชนบ้านด่านนาขาม

ช่วยกันจึงมีผลผลิต

บ้านด่านนาขาม ตั้งอยู่ที่ตำบลด่านนาขาม อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เส้นทางที่จะไปสู่บ้านด่านนาขาม หากท่านเดินทางโดยรถยนต์ขึ้นเหนือไปตามทางหลวง หมายเลข 11 จากจังหวัดอุตรดิตถ์-เด่นชัย (แพร่) จะสังเกตเห็นร้านขายผลไม้และพรรณไม้ ทั้ง 2 ข้างทาง ก็จะพบป้ายเขียนว่า บ้านด่านนาขาม ซึ่งบ้านด่านนาขามแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เดิมพื้นที่นี้เคยมีชนชาติขอมและมอญที่อพยพถูกกวาดต้อนเข้ามาอาศัย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง สภาพพื้นที่แต่เดิมมีความหนาแน่นของทรัพยากรธรรมชาติสูง ทำให้ผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น ชาวบ้านจึงขนานนามว่า บ้านด่าน ประจวบเหมาะกับบริเวณทุ่งนามีต้นมะขามใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องหมายในการบอกทิศการเดินทางของผู้คนที่สัญจรไปมา ทำให้คนรู้จัก เรียกกันว่า “บ้านด่านนาขาม” จนถึงปัจจุบัน

แต่…ก่อนที่ผู้เขียนจะนำไปสู่การสนทนาเรื่องทุเรียนพื้นเมือง ใน “วนเกษตรบ้านด่านนาขาม” ผู้เขียนขอกล่าวว่า วนเกษตร เป็น 1 ใน 5 รูปแบบ ของระบบการเกษตรแบบยั่งยืน หลักการของระบบการเกษตรแบบยั่งยืน มีอยู่ด้วยกัน 5 รูปแบบ คือ วนเกษตร เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ และเกษตรธรรมชาติ (ที่มา : กรมวิชาการเกษตร) ทั้ง 5 รูปแบบ มีที่มา หลักการ วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่ขอนำมากล่าวในรายละเอียด

วนเกษตรของท้องถิ่น

เฉพาะกรณีของวนเกษตรมีความสำคัญและวัตถุประสงค์เป็นเช่นไรนั้น ขอหยิบยกหลักการมานำเสนอสักเล็กน้อยนะครับ ผู้เขียนได้อ่านบทความของคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวถึงระบบการปลูกพืช : วนเกษตร ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นศิษย์เก่าแม่โจ้ ปริญญาโท คณะเศรษฐศาสตร์ ได้ทำการเกษตรอยู่แล้ว จึงนำบางช่วงบางตอนมาเสนอว่าจะสอดรับกับแนวทางการจัดการระบบวนเกษตรของคนบ้านด่านนาขามหรือไม่ โดยในบทความ กล่าวไว้ว่า วนเกษตร หรือ Agroforestry เป็นคำที่มีความหมายเหมือนกับ คำว่า เกษตรป่าไม้  หมายถึง ระบบการใช้ที่ดินที่ผสมผสานระหว่างพืชเกษตร ป่าไม้ สัตว์เลี้ยง รวมไว้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งอาจจะอยู่ในพื้นที่และเวลาเดียวกัน หรือต่างเวลากันก็ได้ โดยองค์ประกอบต่างๆ จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในทางนิเวศวิทยา หรือทางเศรษฐศาสตร์ อย่างหนึ่งอย่างใด

ความสำคัญของวนเกษตร เป็นการจัดการพื้นที่ป่าในการเพิ่มเสถียรภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ด้านเศรษฐกิจ นั้น เป็นการเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในป่า เพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนของประชาชนที่จัดการพื้นที่ป่าจากผลผลิตที่หลากหลายในพื้นที่ และเป็นการประหยัดรายจ่ายได้อีกทางหนึ่ง

– ด้านสังคม เป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เป็นการสร้างงาน สร้างโอกาส ลดการย้ายถิ่นฐานของคนในชุมชน

– ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นการเพิ่มและส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวกายภาพ เพิ่มพื้นที่ป่าและการกักเก็บคาร์บอน ลดสภาวะโลกร้อน

 

วัตถุประสงค์ของวนเกษตร

  1. เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและภูมิคุ้มกัน
  2. เพื่อเกื้อกูลการผลิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  3. เพื่อการป้องกันและควบคุมสภาพแวดล้อม
  4. เพื่อใช้ที่ดินเสื่อมโทรมและพื้นที่ขนาดเล็กให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น
  5. เพื่อความรื่นรมย์

ทีนี้มาฟังทรรศนะแง่มุมต่างๆ ของคนในพื้นที่ที่ส่งเสริมและพัฒนาวนเกษตรบ้านด่านนาขามนะครับ ผู้เขียนได้พบและสนทนากับตัวแทนหน่วยงานส่งเสริม ซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงาน แต่อย่างน้อย 2 หน่วยงาน ที่มุ่งมั่นการส่งเสริมให้วนเกษตรบ้านด่านนาขามมีความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จนถึงกาลปัจจุบันนี้

ทีมสำรวจวนเกษตร

คุณสมยศ อินบัว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลด่านนาขาม ได้ชี้แจงถึงบทบาท หน้าที่ ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ได้ส่งเสริมสวนวนเกษตรว่า คณะผู้บริหารได้เห็นความสำคัญที่จะต้องฟื้นฟู พัฒนา รักษาสภาพป่าให้เป็นคุณแก่ครัวเรือนเกษตรกร และส่งเสริมวิถีชีวิตที่ผูกพันกันมาของคนในชุมชน ให้อยู่คู่กับธรรมชาติ คือ สวนวนเกษตร คนจะได้ไม่ไปบุกรุกป่า ไม่ถากถางป่าจนโล่งเตียน แต่ให้ใช้วิธีสร้างป่าทดแทน และปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน ให้คนกับป่าได้อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน และรักษาป่าไว้ให้เป็นธรรมชาติสมบัติของชุมชนไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน หน้าที่ของ อบต. เพียงเข้าไปส่งเสริม ให้แนวคิดของคนในชุมชนเกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างจริงจัง ซึ่งทุกวันนี้คนในบ้านด่านนาขาม ก็ได้รับการฝึกฝนให้รู้จักคิดวิเคราะห์ปัญหา หาทางแก้ไขกันเองได้อยู่แล้ว

คุณสมยศ ยังกล่าวอีกว่า คนในชุมชนบ้านด่านนาขามมีการรวมกลุ่มคนเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมาก จนเกิดกลุ่มต่างๆ ที่หลากหลายตามความสมัครใจ และช่วยกันขับเคลื่อนกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการในการดำรงชีวิตด้วยการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้แก่ กลุ่มทำสวนผลไม้ กลุ่มสมุนไพร กลุ่มปุ๋ยหมัก กลุ่มรักษ์ทุเรียนพื้นเมือง ฯลฯ นั่นเป็นผลทางด้านสังคมของคนในชุมชน ส่วนทางด้านเศรษฐกิจของสวนวนเกษตรนั้น คุณสมยศกล่าวว่า สวนวนเกษตรให้ความมั่นคงทางด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมก็มีความยั่งยืน คนในชุนชนมีการซื้อขายผลผลิตจากสวนวนเกษตรค่อนข้างจะคึกคัก ส่วนการตลาด…คนในชุมชนจะจัดการหาตลาดกันเอง ทั้งตลาดในชุมชนและตลาดนอกชุมชน

“กรณีนี้ พวกเขาไม่ได้พึ่งพาทาง อบต. มากนัก แต่โดยปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยมีปัญหา โดยผลผลิตมีตลาดในชุมชนรองรับอยู่แล้ว และชุมชนอยู่ติดถนนสายอุตรดิตถ์-เด่นชัย จึงเป็นจุดขายผลผลิตสดและแปรรูปให้แก่ผู้คนที่เดินทางขึ้น-ล่อง”

ลางสาด-ลองกอง จากวนเกษตร

คุณสมยศ ยังได้ให้ข้อมูลว่า พืชพรรณที่ปลูกกันแบบผสมผสานและเป็นผลผลิตอยู่ในสวนวนเกษตรบ้านด่านนาขาม มีทั้งการจัดแปลงปลูกและที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จัดได้เป็นระดับเรือนชั้น ดังนี้

1.ไม้ป่า เป็นไม้ยืนต้นและเป็นไม้เรือนยอด ชั้นที่ 1 มีทั้งไม้เนื้อแข็งและไม้เนื้ออ่อนที่มีลำต้นสูง ได้แก่ ไม้มะค่า ไม้ยางนา ไม้แดง ยมหิน ฯลฯ เป็นไม้พี่เลี้ยงและเป็นไม้ร่มเงาให้กับต้นไม้ในระบบวนเกษตร ช่วยลดการระเหยของน้ำ  ช่วยสร้างความชุ่มชื้นในอากาศ ทั้งยังรักษาอินทรียวัตถุในดินอีกด้วย

  1. ไม้ผล เป็นไม้เรือนยอด ชั้นที่ 2 เป็นพืชเศรษฐกิจ ต้องยกให้ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน (เป็นพันธุ์ที่ปลูกครั้งเริ่มต้นปรับพื้นที่เพื่อการเกษตร อายุต้นเฉลี่ย 50-80 ปี) นอกนั้นก็มี ลางสาด ลองกอง มังคุด เงาะ ฯลฯ ซึ่งผลไม้เหล่านี้สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับชุมชนบ้านด่านนาขาม
  2. พืชอาหาร เป็นพืชชั้นล่าง ชั้นที่ 3 ได้แก่ กล้วย ไผ่ สะแล กาแฟ ผักพื้นบ้าน ฯลฯ
  3. ไม้ชั้นใต้ดิน เป็นชั้นที่ 4 เป็นพืชปกคลุมดิน เช่น ข่า กระชาย ขมิ้น ไพล เผือก กลอย และพืชสมุนไพร เป็นต้น

“หากกล่าวถึงทุเรียน ตอนนี้กระแสทุเรียนเป็นที่โด่งดังของจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยเฉพาะทุเรียนหลงลับแล หลินลับแล  และหมอนทอง กลายเป็นผลไม้ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีคนในชุมชนบ้านด่านนาขามรวมกลุ่มกันอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณ หรือพันธุ์พื้นเมือง แม้ไม่ใช่ไม้ผลเชิงเศรษฐกิจ แต่มีมูลค่าในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของภูมิประเทศและระบบนิเวศของระบบวนเกษตรที่พวกเราอยู่ร่วมกัน ทาง อบต. จึงได้จัดกิจกรรมแรลลี่จักรยานขึ้นทุกๆ ปี เป็นการประชาสัมพันธ์ เปิดสวนทุเรียนให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้ลิ้มรสทุเรียนพื้นเมือง และจัดให้มีการประกวดทุเรียนพื้นเมืองและสวนวนเกษตร เช่นในวันนี้” คุณสมยศ กล่าว

คุณสำเริง เกตุนิล

อีกท่านหนึ่ง คือ คุณสำเริง เกตุนิล เลขาธิการสถาบันนิเวศน์เพื่อการพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO (Non-Governmental Organization) ได้เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันฯ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมระบบวนเกษตรของชุมชนบ้านด่านนาขาม ว่าสถาบันได้เข้าไปส่งเสริมชุมชนในหลายเรื่อง  หลายกิจกรรม ไม่เฉพาะเรื่องวนเกษตรเท่านั้น แต่ได้เข้าไปสนับสนุนให้ชุมชน หน่วยงานรัฐในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายพันธุกรรมเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบแนวทางการจัดการระบบเกษตรกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมีความเหมาะสมกับนิเวศท้องถิ่น

โดยลักษณะของกิจกรรมที่สถาบันฯ ดำเนินการอยู่ด้วยการพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนในรูปแบบของเครือข่ายและเยาวชนให้มีศักยภาพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เน้นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาดั้งเดิม ส่งเสริมให้เกิดการจัดการระบบเกษตรที่เหมาะสม รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรดั้งเดิม

 

เบื้องหลังจากอุบัติภัย สู่ความเชื่อมั่นในระบบวนเกษตร

คุณสำเริง เล่าย้อนอดีตของช่วงเวลาที่ชาวบ้านบ้านด่านนาขามได้รับบทเรียนจากภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุด เมื่อปี พ.ศ.2537 และอุบัติภัย ดินโคลนถล่มอย่างรุนแรง เมื่อปี พ.ศ. 2549 ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร อาทิ สวนทุเรียน สวนลางสาด สวนลองกอง พังทลายจากดินโคลนที่ลาดชัน ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวในการอนุรักษ์ไม้ใหญ่ที่เป็นไม้ยืนต้น ที่สามารถดูดซับน้ำในฤดูฝน และคายน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ดินในฤดูร้อน และโดยที่พื้นที่วนเกษตรไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด จึงเกิดความเชื่อมั่นในระบบวนเกษตร ได้มีการฟื้นฟู พัฒนา วนเกษตรให้เป็นรูปแบบหรือโมเดล (model) ที่น่าสนใจของการจัดการป่าไม้ ที่พึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับป่า อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล พร้อมกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมของทุเรียนพื้นเมือง

เมื่อกล่าวถึงการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นเมือง คุณสำเริง ฟันธงเลยว่า “การจัดการกับทุเรียนพื้นเมืองที่อยู่ในสวนวนเกษตรนั้น จัดการง่าย เรื่องโรค ไม่ว่าจะเป็นโรครากเน่าโคนเน่า ไม่มี และแมลงก็มีน้อย ใช้พื้นที่ก็น้อย ค่าจ้างแรงงานแทบจะไม่ต้องจ่าย จึงมีต้นทุนการจัดการต่ำ และรายได้ของเกษตรกรค่อนข้างดี”

ทุเรียนในวนเกษตร

“ไม้ผลทุเรียนพื้นเมืองนี้ นะครับพี่ เกษตรกรได้มีการพัฒนามูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือพื้นที่การปลูกทุเรียนในสวนวนเกษตร มีถึงร้อยละประมาณ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด นะครับ…และอีกร้อยละ 50 เป็นลางสาด ลองกอง และพืชชั้นล่าง ครับ”

การจัดการทุเรียนในสวนวนเกษตรใช้วิธีดั้งเดิม เรียบง่าย

คุณสำเริง ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปลูก การดูแล บำรุงรักษา การเก็บผลทุเรียน ไว้ว่า

การปลูก ในสวนวนเกษตรเป็นวิธีการแบบดั้งเดิม ไม่เน้นการปลูกที่เป็นระยะแถว หรือระยะห่างระหว่างต้น ตามหลักวิชาการเกษตร มักจะปลูกกันในพื้นที่บริเวณที่แสงแดดเข้าถึงบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงต้นไม้ใหญ่ ซึ่งระยะห่างส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพพื้นที่เป็นหลัก และยังคงพึ่งพาการรักษาระดับความชื้นที่การบดบังแสงในช่วงหลังฤดูฝน

การดูแลบำรุงรักษา กล่าวได้ว่า การผลิตทุเรียนแบบวนเกษตรดั้งเดิม เขาเน้นระบบธรรมชาติเป็นหลัก เพราะทุเรียนเป็นไม้ผลยืนต้น สูงประมาณ 10-15 เมตร เมื่อออกดอก คนไม่สามารถปีนป่ายขึ้นไปผสมเกสรได้ครับ ต้องอาศัยแรงลมและแมลงเป็นตัวช่วย กระตุ้นให้เกิดการผสมเกสร แล้วก็ไม่มีระบบการจัดการน้ำภายในสวน และการให้ปุ๋ยจะได้จากการทับถมของใบไม้ใบหญ้าที่ตัดให้สลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ

การเก็บผลทุเรียน เกษตรกรเขาจะมีวิธีการเก็บผล เนื่องจากความสูงของลำต้น จึงนิยมใช้การเก็บจากใต้ต้นแทนการขึ้นตัดบนต้น และที่สำคัญไม่ใช้แรงงานจำนวนมาก ใช้แรงงานในครอบครัวก็พอ อายุการเก็บผลทุเรียนมีระยะเวลาประมาณ 30-45 วัน ซึ่งผลจะทยอยร่วงหล่นตามอายุความแก่ของผล จะมีออกวางขายในตลาดช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคมเท่านั้น

ช่วยกันจึงมีผลผลิต

ถามถึงเรื่องการตลาดของทุเรียนพื้นเมืองที่นี่ จัดการกันอย่างไร คุณสำเริง ให้คำตอบว่า ปัจจุบัน ราคาทุเรียนหลง-หลินลับแล หมอนทอง ในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นมากครับพี่ จึงทำให้กลุ่มผู้บริโภคหันมานิยมซื้อทุเรียนพื้นเมือง  ส่งผลให้ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50-60 บาท จากอดีตแค่ 10-20 บาท แต่ ข้อจำกัด คือ ทุเรียนพื้นเมืองมีจำนวนไม่มาก และก็เป็นทุเรียนสุก ไม่สามารถเปิดตลาดในวงกว้างได้ แต่จะมีผู้บริโภคที่ติดใจในรสชาติ ซื้อกินแล้วสืบหาสวนของเกษตรกรกันเอง

ทราบว่า ทุเรียนพื้นเมือง เมื่อสุกจัดกลิ่นจะแรงมาก เมล็ดก็ใหญ่ ผู้เขียนปรารภขึ้นมา

คุณสำเริง รีบบอกทันทีว่า เขาจะนำไปใช้แปรรูปเป็นทุเรียนกวน เก็บไว้ได้นาน มีเนื้อกวนที่ละเอียด กวนแล้วเนื้อจะเหนียวแน่น และมีกลิ่นหอม ที่สำคัญเป็นการเพิ่มมูลค่าครับ ราคาก็ได้สูงเช่นกันครับ ส่วนเมล็ดนั้น เขาจะนำไปเพาะเพื่อเป็นต้นตอแม่พันธุ์ก่อนนำไปเปลี่ยนยอด ถ้าขายเป็นต้นตอ ราคาต่อต้นจะสูงขึ้นมาก

เนื้อทุเรียนพื้นเมือง

ท้ายสุดของการสนทนา คุณสำเริง ได้เปิดเผยถึงรางวัลที่มีผู้ส่งเข้าประกวดทุเรียนพื้นเมืองในงานมหกรรมของดีตำบลบ้านด่านนาขาม กิจกรรมการจัดงานทุเรียนและความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี 2561 ดังนี้

คุณภาพดีมาก

รางวัลการประกวดสายพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี (เนื้อเหลือง)

รางวัลชนะเลิศ นางสังเวียน ใจคำ หมู่ที่ 7 ได้รับรางวัลเงินสด 2,000 บาท

รางวัลการประกวดสายพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี (เนื้อขาว)

รางวัลชนะเลิศ นางนวนันท์ จินดา หมู่ที่ 10 ได้รับรางวัลเงินสด 2,000 บาท

รางวัลการประกวดสายพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ดี (เมล็ด)

รางวัลชนะเลิศ นายธีระ สุทธิเจริญ หมู่ที่ 10 ได้รับรางวัลเงินสด 2,000 บาท

รางวัลการประกวดสายพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง (หมอนใหญ่)

รางวัลชนะเลิศ นางกรรณิการ์ คำรู้ หมู่ที่ 7 ได้รับรางวัลเงินสด 2,000 บาท

รางวัลการประกวดสวนวนเกษตร

รางวัลชนะเลิศ เป็นสวนวนเกษตรของ นายหลา ก้อนจินดา หมู่ที่ 8 ได้รับรางวัลเงินสด 2,000 บาท

ท่านใดได้อ่านบทความนี้แล้ว ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ คุณสำเริง เกตุนิล โทร. (087) 844-6856 และ องค์การบริหารส่วนตำบลด่านนาขาม โทร. (055) 479-956, (055) 479-957

งานประกวด