ผักเฮือก ผักเฮือด ผักเลียบ ผักกินได้ เป็นยาและไม้มงคล

ในเวลานี้ แทบทุกคน ที่ให้ความสนใจกับเรื่องของอาหารการกิน ต่างพยายามเสาะหาของหลายอย่างมาประกอบอาหาร บางอย่างก็เคยกินเคยรู้จักมาก่อนแล้ว บางอย่างก็ลืมเลือนไปจากความทรงจำ บางอย่างไม่เคยรู้จักไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย ทั้งๆ ที่รู้ว่าของมันมีอยู่มานานแล้ว ก็อาศัยได้อ่านเจอในหนังสือ ในอินเตอร์เน็ต หรือไม่ก็จากคำบอกเล่าที่ผ่านเข้าหู สิ่งของที่นำมาประกอบอาหารการกิน ส่วนใหญ่มาจากสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะจากพืช มีนับร้อยนับพันชนิด ที่นำมาทำอาหารได้ เรียกกันว่า “ของกินได้” ก็คงไม่ผิดนัก

ในบรรดาพืชที่กินได้ และมีประโยชน์ต่อร่างกายคนเราชื่อ “ผักเฮือก” เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่คนทางภาคเหนือรู้จัก และนำมาประกอบเป็นอาหารเหนือกันมานานแล้ว คนภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคกลาง ก็มีการนำมาทำกิน แต่จะต่างกันที่วิธีการประกอบอาหาร การปรุงแต่ง ถ้าบอกไว้อย่างนี้ แค่นี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะยังคิดไม่ออกว่า ผักเฮือกที่ว่ามันเป็นอย่างไร อาจจะวาดมโนภาพไปต่างๆ นานา ก็ขอบอกไว้ก่อนว่า ผักเฮือก ไม่ได้เป็นผักจากการหว่านปลูกถอนตัด ขึ้นมาจากแปลงปลูกผักทั่วไป แต่เป็นผักประเภท ยอดไม้ยืนต้น

จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังกังขาอยู่ว่าใครนะ ที่เขาเรียกยอดใบอ่อนของต้นไม้ยืนต้น ที่กินได้ว่า “ผัก” เรียกกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเรียกมาก่อน ที่พอรู้ก็มีว่า ใบไม้ ยอดไม้ ของไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เถาหลายชนิดที่ชาวบ้านนำมากิน หรือนำมาทำประกอบอาหารกินนั้น มักจะเรียกกันว่าผัก เช่น ผักหวาน ผักสาบ หรือ ผักอีนูน ผักฮาก หรือผักขี้นาก ผักดีด ผักฮ้วนหมู ผักเสี้ยว ผักแปม ผักปู่ย่า ฯลฯ

“ผักเฮือก” เป็นพืชในวงศ์ MORACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Ficus Lacor Buch. เป็นไม้ยืนต้นประเภทมะเดื่อ และไทร มีชื่อเรียกอื่นหลายอย่างแต่ละถิ่นเรียกต่างกัน บางถิ่นเรียกเพี้ยนกันเล็กน้อย ได้แก่ ผักเฮือด ผักเฮียก ผักเลือด ผักเลียบ ผักไกร ผักไฮ ไทรเลียบ โพธิ์ไทร ชนเผ่าไทยใหญ่เรียก “ผักฮี้” พบในป่าผลัดใบผสม ป่าโปร่ง ป่าแถบชายทะเล ป่าชายทุ่ง ทางภาคเหนือมีการนำมาปลูกในหมู่บ้าน ที่สาธารณะ ปลูกเอาร่มเงาให้ความร่มเย็น เป็นพืชยืนต้นขนาดใหญ่ ลำต้นสูง 5-15 เมตร ต้นที่อายุมาก จะแตกพุ่มใหญ่ ต้นที่ถูกตัดกิ่ง หักกิ่งบ่อย จะดูทรงต้นเป็นคล้ายตอไม้ มีทรวดทรงสวยงาม ผิวเปลือกออกสีเทาขาวนวล เหมือนต้นมะเดื่อ ต้นไทร มีปุ่มปมกิ่งก้านมาก มีรากอากาศแบบต้นไทร แต่ไม่มากนัก รากอากาศที่งอกติดต้นประกอบเข้ากับกิ่งก้าน ทำให้ต้นมีรูปทรงสวยงาม มีศิลปะ ยิ่งตัดฟันยิ่งแตกกิ่ง จัดทรงพุ่มได้ พุ่มให้ร่มเงาพรางแดดร้อนได้ดี นำมาเป็นไม้หลักจัดสวนหย่อมได้งดงามเยี่ยมยอด อีกทั้งผู้คนนับถือเป็นไม้มงคลมหาโชค ที่ปลูกแล้วจะนำมาซึ่งความร่มเย็น และประสพสุขสดใสในชีวิต ได้ประสบพบวาสนา ลาภยศ สรรเสริญ บารมี ความสำเร็จ และโชคลาภ ที่พึงปรารถนา

ช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน เดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม จะแตกใบอ่อน เป็นไม้ผลัดใบที่แตกยอดพร้อมกันทั้งต้น ผลิยอดใบอ่อนสีชมพู หรือสีชมพูอมเขียว เมื่อใบเริ่มออกจะมีลักษณะรูปทรงคล้ายดอกจำปาตอนดอกตูม กลมรียาวเป็นปลี ปลายแหลม มีปลอกบางๆ หุ้มเป็นกาบใบไปทั่วทั้งกิ่งก้าน มองดูใสโปร่งสวยงาม เด่นสะดุดตาน่าเชยชม เมื่อยอดอ่อนใบอ่อนเจริญเป็นใบแก่สีเขียว เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบแก่รูปรีหรือรูปไข่ขอบขนาน ปลายใบมน ขอบใบเรียว ผิวใบมัน หนา สีสันรูปลายเส้นใบคล้ายใบโพธิ์ แต่ทรงใบยาวกว่า กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร มีหูใบขนาดเล็กติดโคนใบนิดๆ ดอกออกเป็นช่อ สีขาว ดอกเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4-0.6 เซนติเมตร ก้านดอกสั้น ดอกออกตามซอกใบ ติดดอกทั่วทั้งกิ่งสีขาวกลมๆ จนเริ่มติดเป็นผลอ่อนสีเขียว คล้ายผลมะเดื่อ ขนาด 1-2 เซนติเมตร เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีชมพูแดง ม่วง ม่วงอมดำ หรือดำ เป็นอาหารของนก กระรอก กระแต คนเอาไปกินมั่ง เขาว่าเป็นยาดีด้วย

ผักเฮือก หรือ ผักเฮือด ยอดอ่อนที่แตกออกมาตอนปลายหนาวต่อร้อนนั่นแหละ ชาวบ้านเก็บเอามากินเป็นผักสดก็มี ทำกับข้าว ชาวเหนือมักจะนำมาแกงใส่กระดูกซี่โครงหมู แกงใส่ปลา หรือนำไปลวก นึ่ง ทำผักลวกราดกะทิ หรือทำผักดอง เป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริก และที่นิยมทำกินกันมาก ใครได้ลิ้มรสแล้วจะติดใจ ยำผักเฮือก ใส่กากหมู หรือแคบหมู หรือใส่เนื้อปิ้ง อาหารชาวเหนือ ลำแต้ๆ เน้อเจ้า ชาวใต้ก็นิยมนำไปต้มกะทิปลาเค็ม แกงเผ็ดปลา แกงเผ็ดไก่ แกงส้มปลา หรือแกงกะทิไก่ หร้อยจังหู้ ชาวภาคกลาง ที่ไม่รู้ว่าคนมาจากภาคไหน ก็มีบ้างที่ได้นำเอาผักเฮือกมาทำอาหาร ชาวอีสานหลายแหล่งนำไปแกง ไปยำ แล้วแอบกินเองไม่กระซิบเอิ้นบอกความแซ่บเว่อกับใครเลย

ยอดผักเฮือก มีรสชาติแปลกลิ้นเมื่อปรุงเป็นอาหารการกินแล้ว แต่รสชาติที่เป็นต้นตำรับของยอดอ่อนผักเฮือก คือมีรสฝาด มัน เปรี้ยว ในประมาณยอดอ่อนผักเฮือก 1 ขีด หรือ 100 กรัม มีคุณค่าให้พลังงานต่อร่างกาย 39 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใยอาหาร 1.5 กรัม ฟอสฟอรัส 84 มิลลิกรัม แคลเซียม 55 มิลลิกรัม เหล็ก 2.1 มิลลิกรัม วิตามินเอ 6375 IU.วิตามินบีหนึ่ง 10.01 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.8 มิลลิกรัม วิตามินซี 1.0 มิลลิกรัม

ในสมัยก่อน หมอพื้นบ้านภาคเหนือ เอาเปลือกต้นผักเฮือกขนาดเท่าครึ่งฝ่ามือมาสับเป็นชิ้นเล็ก นำมาต้มทำเป็นน้ำยาดื่มแก้ปวดท้อง ชาวบ้านที่ปวดท้องทุรนทุราย ดื่มน้ำต้มเปลือกต้นผักเฮือกสักจอกสองจอก หาย รอดจากความเจ็บปวดทรมานไปได้ สมัยนี้ก็พอมีผู้รู้นำมาทำยาแก้ปวดท้อง เป็นยาเม็ดลูกกลอน

หมอยังมีข้อแนะนำสำหรับสตรีมีลูกน้อย แม่ลูกอ่อนที่มีอาการไอ ห้ามกินผักเฮือก มันจะทำให้ไอกำเริบ สรรพคุณที่มีคนเคยใช้เปลือกต้นผักเฮือก ต้มเป็นน้ำยาล้างแผลเปื่อย รักษาสิว ล้างแผลติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันที่เข้าสู่ผิวหนัง และระบบน้ำเหลือง ใช้กลั้วคอระงับน้ำลายไหลมาก รักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ รักษาอาการตกขาว ใบ ใช้รักษาโรคกำเดาไหลไม่หยุด ผลสุกที่สด หรือแห้ง รักษาระดับน้ำตาลในเลือด คนจีนใช้ใบรักษาอาการปวดเส้นเอ็น ปวดตา ปวดหัว แก้คัน แก้ปวดไขข้อ แขนขาปวด และอ่อนล้า

ใบผักเฮือกมีวิตามีนซีสูง แก้หวัด แก้ไข้ แก้แพ้อากาศ ป้องกันโรคเหน็บชา บำรุงผิวพรรณ ขจัดริ้วรอยจุดด่างดำที่ผิวหนัง มีกากใยอาหารสูงมาก ช่วยระบบขับถ่าย แก้ท้องผูก ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ไม่ให้ผุกร่อนได้ง่าย ผักเฮือกทั้ง ต้น ราก ใบ ดอก ผล เป็นยาสมุนไพรที่อย่ามองข้ามคุณค่าในเรื่องนี้ไป

ต้นผักเฮือก ผักเฮือด ผักเลียบ มียางเหนียวที่ต้น กิ่ง ก้าน ขั้วยอดใบผล เมื่อทำให้เปลือกหรือกิ่งก้านแตกหักเกิดแผล จะมียางไหลซึมออกมา เป็นยางที่เหนียวเหมือนกับยางต้นขนุน เด็กๆ สมัยก่อนที่ชอบเล่น ฝึกออกป่าล่าสัตว์ ออกยิงนกตกปลา ป่าละเมาะใกล้บ้าน ได้ไม้ไผ่ลำเล็กๆ ยาวๆ ติดปลายไม้ไผ่ด้วยยางผักเฮือก ล่าจับจักจั่นที่ชอบเกาะร้องตามกิ่งไม้ เสียงแสบแก้วหู หนำซ้ำชอบปล่อยน้ำเป็นละอองฝอยออกมาด้วย จิ้มจี้จับจักจั่นมาจี่คั่วกินเล่นเป็นที่สนุก ได้อิ่มอร่อยด้วย ก็เป็นความสุขเล็กๆ ให้กับเด็กๆ ที่สมัยนี้ไม่มีโอกาสได้สัมผัส ความสุขที่ได้จาก “ผักเฮือก ผักเฮือด ผักเลียบ” สุดยอดพรรณไม้นี้

เมื่อมากคนมีความนิยมชมชอบ “ผักเฮือก” อยากนำมาประกอบอาหารเป็นกับข้าวมื้อนี้ จึงต้องเสาะหามาจากต้น แต่ต้องไปเก็บเอาในระยะเวลาที่บอกไว้ คือปลายหนาวเข้าร้อน สังเกตได้ที่ต้นผักเฮือก จะชูกิ่งก้านที่โปร่งโล่ง ใบเดิมร่วงหมด และแตกยอดใหม่เป็นปลีเล็กๆ ยาวเรียว ปลายแหลม สีขาวอมเขียว แล้วแตกเป็นยอดอ่อนสีชมพูอมเขียวเรื่อๆ เก็บโดยการเด็ดยอดอ่อนที่เป็นปลี หรือที่แตกบานเป็นใบสีชมพู บางต้นสีชมพูเข้มออกแดงก็มี ระวังยางสีขาว เหนียวด้วย เข้าตา ถูกผิวหนัง จะเป็นพิษ ถูกเสื้อผ้าจะเปื้อนซักออกยาก บางคนมักง่าย หรือตัดปัญหาความยุ่งยากในการเก็บ หรือต้องการให้ได้ปริมาณมากๆ อย่างรวดเร็ว จึงใช้วิธีดึงกิ่ง หัก หรือตัดกิ่งลงมา แล้วเก็บยอด ไม่ควรทำ จะทำให้ต้นไม้เสียหายได้

“ผักเฮือก ผักเฮือด ผักเลียบ” มีทรงต้นที่ล่ำสันบึกบึน แต่แฝงด้วยความอ่อนโยน ผิวเปลือกสีนวล ยอดอ่อนมีปลอกหุ้ม เป็นเปลือกบางโปร่งใสสะท้อนแสง ยอดใบอ่อนระยะต่อมาสีชมพู ถึงแดงระเรื่อ สวยงดงาม ยามเปลี่ยนเป็นใบแก่ แผ่นใบหนา สีเขียว เลื่อมมัน เส้นใบเห็นเด่นชัด เป็นภาพที่โดดเด่น ทรงพุ่มไม้หนา เหมาะแก่การปลูกเป็นร่มเงาที่ให้บรรยากาศร่มรื่น และให้ความรู้สึกที่สงบเงียบ เยือกเย็น มีสมาธิ เป็นได้ดังวิมานสถาน ที่วิปัสสนากัมมัฏฐาน เจริญสมาธิ เติมพลังให้กาย และจิต ดั่งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอันศักดิ์สิทธิ์

 

ราก ต้น ใบ ดอก ผล เป็นยาสมุนไพรรักษาได้ทั้งกายและใจ นี่จึงมิใช่ “ผักกินได้เป็นยาและไม้มงคล” ที่มิควรมองข้ามหรอกหรือ