เกษตรกร ศพก. ตำบลโคกจาน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกขาย รายได้ดี วิถีมั่นคง

เมล็ดพันธุ์ข้าวดี มีคุณภาพ เป็นปัจจัยสำคัญในการทำนา การใช้ต้องเลือกพันธุ์ที่มีความงอกสม่ำเสมอ ทนทานต่อโรคและแมลง สะอาดปราศจากสิ่งเจือปน มีความแข็งแรง ให้ผลผลิตสูงหรือตรงกับที่ตลาดต้องการ และที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรได้รวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อนำไปเป็นพันธุ์ปลูก นำออกขายก็ได้ราคาสูง ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีการยังชีพมั่นคง

คุณสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกษตรกรจะทำนาในลักษณะต่างคนต่างทำ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูกก็คุณภาพต่ำ ไม่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาการผลิต จึงได้ผลผลิตข้าวคุณภาพต่ำ หรือไม่สามารถกำหนดราคาซื้อขายข้าวเปลือกได้ ล้วนเป็นปัญหา ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ

ข้าวสามกษัตริย์ ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงต่อสุขภาพ

สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ดำเนินงานส่งเสริมตามแนวนโยบายรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กรมการข้าว และนโยบายจังหวัด ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกและขาย จัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับองค์ความรู้จากภาครัฐและเอกชน ให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ให้เกษตรกรก้าวเดินไปสู่การมีรายได้พอเพียงและมั่นคง

การส่งเสริมทำนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกนั้น เป็นหนึ่งทางเลือกให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ข้าวดี มีคุณภาพ นำไปปลูก เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตเมื่อนำไปขายให้กับตลาดและเกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการทำนาเพื่อพัฒนาการผลิตตามขั้นตอนด้วยความประณีต

ข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เหมาะเป็นของขวัญในเทศกาลปีใหม่ 2562

คุณยุพาพิน ศรียงยศ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ตำบลโคกจาน เล่าให้ฟังว่า ปัญหาการทำนาที่ผ่านมาของเกษตรกรคือ ด้านการผลิต ที่ไม่ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการผลิต หรือด้านการตลาด ไม่มีอำนาจต่อรองการซื้อขายข้าว ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่พอเพียงและไม่มั่นคงในการยังชีพ

จากปัญหาดังกล่าว เกษตรกรบ้านโคกจึงเปลี่ยนวิถีด้วยการรวมกลุ่มเข้าร่วมในโครงการทำนาแปลงใหญ่ ที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวสุรินทร์ กรมการข้าว อบต. สำนักงานเกษตรอำเภออุทุมพรพิสัย หรือหน่วยงานจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมพัฒนาการผลิต สนับสนุนให้มีโรงสีข้าวขนาดเล็กของชุมชนเพื่อสีข้าวเป็นข้าวกล้องหรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ ส่งเสริมลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น จัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ด้านการตลาดได้สนับสนุนให้มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตข้าวราคาเหมาะสม หรือเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนของเกษตรกร

คุณยุพาพิน ศรียงยศ ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

คุณยุพาพิน เล่าให้ฟังอีกว่า การเปลี่ยนวิถีสู่อนาคตที่มั่นคงด้านหนึ่งคือการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวดี มีคุณภาพ ไว้ปลูก จำหน่ายให้กับตลาดและเกษตรกร ซึ่งสมาชิกได้ดำเนินการ ดังนี้

การทำนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เลือกพื้นที่นาให้อยู่เป็นกลุ่ม ติดต่อกันหรืออยู่ใกล้กันเพื่อสะดวกในการดูแล อยู่ใกล้แหล่งรับซื้อและโรงงานปรับปรุงสภาพ

การวางแผนการปลูก ด้วยการปลูกข้าวพันธุ์เดิมเพื่อลดปัญหาข้าวปน และไม่เก็บเกี่ยวข้าวตรงกับช่วงฤดูฝน

ต้นข้าวในนาแปลงใหญ่ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เตรียมเก็บเกี่ยว

การเตรียมดิน ได้กำจัดข้าวเรื้อก่อนเริ่มทำแปลง ตากหน้าดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวอย่างน้อย 14 วัน จากนั้นใช้โรตารี่ย่ำกลบตอซัง ทำเทือกปลูก ปรับพื้นนาให้เรียบสม่ำเสมอ ทำร่องระบายน้ำทุกระยะ 4 เมต

การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้เลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ต้านทานโรคและแมลงได้ดี ถ้าปลูกแบบนาหยอดหรือปักดำ จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว 5-12 กิโลกรัม ต่อไร่ ก่อนปลูกได้กำจัดข้าวเรื้อในแปลงที่ใช้ตกกล้า เมื่อต้นกล้าอายุ 20-30 วัน จึงถอนต้นกล้าไปปลูก

การควบคุมหอยเชอรี่ ในช่วงเตรียมแปลงได้ปล่อยเป็ดลงไปกำจัด หรือใช้ตาข่ายดักจับ หรือใช้สมุนไพรควบคุมกำจัดหอยเชอรี่

ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก 5 12 กิโลกรัมต่อไร่ ในการทำนาแบบปักดำ

การควบคุมวัชพืช ได้หมั่นถอนวัชพืชออกทิ้งอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดการใช้สารเคมีในการควบคุมและกำจัดวัชพืช

การรักษาระดับน้ำ ได้รักษาระดับน้ำในแปลงนาให้เหมาะสมกับอายุข้าว เช่น ระยะกล้า 5 เซนติเมตร ระยะแตกกอ 5-10 เซนติเมตร และระยะตั้งท้อง-ออกดอก 10 เซนติเมตร

การใส่ปุ๋ย ได้กำจัดวัชพืชออกก่อนแล้วจึงจัดการใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับชนิดของดินและระยะการเจริญเติบโตข้าว

การจัดการข้าวปน ทั้งในช่วงระยะแตกกอ ระยะโน้มรวง และระยะพลับพลึง ได้จัดการข้าวปนออกหมด

การป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูข้าว ได้เลือกใช้สารสมุนไพรควบคุมและกำจัด

การเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าว ก่อนเก็บเกี่ยว 7-10 วัน ได้ระบายน้ำออก ได้ทำความสะอาดรถเกี่ยวนวด เกี่ยวข้าวขอบแปลงแยกออกเพื่อทำความสะอาดรถเกี่ยวนวดอีกครั้ง ทำความสะอาดภาชนะบรรจุ จากนั้นจัดการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สุกแก่พอดี เฉลี่ยจะได้ผลผลิตข้าว 450-500 กิโลกรัม ต่อไร่ นำเมล็ดพันธุ์ไปเข้ากระบวนการทำแห้ง ปรับลดความชื้นและเก็บรักษา สรุปก็คือ เป็นการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต

คุณสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ส่งเสริมทำนาแปลงใหญ่

คุณยุพาพิน เล่าให้ฟังตอนท้ายว่า นอกจากสมาชิกจะเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวดีมีคุณภาพไว้ปลูกแล้ว ก็ได้ขายให้กับตลาดหรือเกษตรกรทั่วไป ราคา 25 บาท ต่อกิโลกรัม และสมาชิกก็ได้จัดข้าวหอมมะลิ 105 ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวไรซ์เบอร์รี่ บรรจุในถุงสุญญากาศ เป็น “ข้าวสามกษัตริย์” ขายส่ง 90 บาท หรือขายปลีก 100 บาท ต่อกิโลกรัม และ “ข้าวสามกษัตริย์” เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ขายดีที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงต่อสุขภาพ ในเทศกาลปีใหม่ 2562 นี้ ก็ขอเชิญชวนทุกท่านได้เลือกจัดเป็นของฝากเป็นของขวัญมอบให้กับคนที่ท่านรักด้วยนะคะ

ต้องขอขอบคุณ คุณสุริยา บุตรจินดา นายอำเภออุทุมพรพิสัย คุณเจริญ โมงขุนทด เกษตรอำเภออุทุมพรพิสัย และผู้เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดันส่งเสริมให้ เกษตรกร ศพก. ตำบลโคกจาน… ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกขาย รายได้ดีวิถีมั่นคง กระทั่งดำเนินงานประสบความสำเร็จและส่งผลให้สมาชิกมีรายได้และมั่นคงในการยังชีพ

บอกรัก…ด้วยข้าวสามกษัตริย์ ข้าวเพื่อสุขภาพ

สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณยุพาพิน ศรียงยศ หมู่ที่ 2 บ้านโคก ตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย โทร. 084-962-5351 หรือ คุณอนุวัฒน์ คำล้าน สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 086-361-1804 ก็ได้ครับ