ที่มา | รายงานพิเศษ บุรีรัมย์ เมืองเกษตรก้าวหน้า |
---|---|
ผู้เขียน | มัรวาน หะยีเจ๊ะและ |
เผยแพร่ |
“ทำไม่เยอะ ทำน้อยๆ แต่เรามีกำลังใจที่จะทำตลอดเวลา ทำไม่ต้องเยอะ ทำแล้วมีเงินมีตังค์ใช้ เหลือกินก็แจก เหลือแจกก็ขาย” นี่เป็นคำให้สัมภาษณ์ของ คุณเจริญ สุขวิบูลย์ ชาวสวนเกษตรผสมผสาน ที่คลุกคลีอยู่กับการเกษตรมาเกือบ 20 ปี ถือเป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ หันมาทำเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ
คุณเกษตรชัย แปลนดี เกษตรอำเภอลำปลายมาศ เล่าว่า สำหรับเกษตรผสมผสานของ คุณเจริญ สุขวิบูลย์ เป็นเกษตรต้นแบบอย่างแท้จริง เนื่องจากว่าการทำการเกษตรครอบคลุมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพืชไม้พุ่มอย่าง ไผ่ ที่สร้างรายได้จากการนำเอาหน่อไม้จากต้นไผ่มาขาย และยังมีการเจาะน้ำจากกอไผ่เพื่อไปขาย ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ที่ดีเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีรายได้เสริมเข้ามาจากการทำปุ๋ยหมักชีวภาพขาย ที่ได้มาจากการเลี้ยงโค โดยวิธีการทำปุ๋ยหมัก จะนำมูลโคมาทำตามกระบวนการและปล่อยทิ้งไว้ให้ครบกำหนดวัน จากนั้นนำมาขายและสามารถใช้กับพืชที่ปลูกภายในสวนของเขาเองอีกด้วย
“ด้วยประสบการณ์มากถึง 10 กว่าปี ที่คลุกคลีอยู่กับการเกษตร ศึกษาเรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกษตร จนทำให้ได้รับการยกย่องจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ จนมีคนเข้ามาขออบรมเพื่อนำไปพัฒนาในพื้นที่ของตนเองต่อไป” คุณเกษตรชัย กล่าว
คุณเจริญ เล่าถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะมาทำศูนย์การเรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานว่า เริ่มทำเมื่อตอนปี พ.ศ. 2540 ส่วนหนึ่งก็ได้วิธีคิดมาจากการอ่านหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร และนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้เกิดความสนใจที่จะทำการเกษตร
ซึ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่กำลังเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่เกิดขึ้นมา เช่น การจัดสรรพื้นที่ทำมาหากิน การรวมกลุ่มขยายเป็นสหกรณ์ จนถึงขั้นการขยายให้เป็นธุรกิจต่างๆ ตามทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9
ปี 2551 คุณเจริญเริ่มเห็นแนวเกษตรแบบพอเพียงแบบผสมผสาน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงวางแนวทางไว้ ทำให้คุณเจริญมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น คือการอยู่แบบพึ่งพาตัวเองอย่างครบวงจร ทำไม่เยอะ ทำน้อยๆ แต่มีกำลังใจที่จะทำการเกษตรอยู่ตลอดเวลา
“ตัวผมเองก็เลยคิดถึงเรื่องเกษตรพึ่งพาตัวเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถือว่าเป็นทางรอดที่สำคัญมาก หน่วยงานจากทางภาครัฐ อย่าง กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นตัวนำในการชี้ถึงขั้นตอนของแต่ละขั้นว่าเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีให้เราได้เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมีคนมาศึกษาดูงานในพื้นที่ของผม ก็ทำให้เขามีแนวทางนำกลับไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง จนเกิดเป็นอาชีพและมีรายได้อย่างยั่งยืน” คุณเจริญ กล่าว
โดยเกษตรทฤษฎีใหม่คือ การแบ่งโซนพื้นที่ คุณเจริญ บอกว่า ที่ดินแปลงนี้มีจำนวน 15 ไร่ ก่อนที่จะมีการแบ่งตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ อย่างการแบ่งแบบ 30 : 30 : 10 หลังจากนั้น ปลูกพืชผลต่างๆ เมื่อปลูกเสร็จก็ต้องพบเจอกับปัญหาต่างๆ ที่ตามเข้ามา หนึ่งในนั้นก็มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกษตรกรต้องเจอเกือบทุกราย ฉะนั้น คุณเจริญต้องมาดูว่ามีพืชชนิดไหนบ้างที่น้ำท่วมแล้วไม่ตาย และพืชชนิดไหนบ้างที่น้ำท่วมแล้วตาย ก็ลองผิดลองถูก เพราะบางทีต้นไม้ถ้าตามหลักวิชาการแล้ว จะบอกได้เลยว่าต้นนี้เป็นต้นที่ทนน้ำ แต่พอมาเจอน้ำท่วมก็ทำให้ตายได้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการทดลองและฟื้นฟูพอสมควร
“อันนี้ก็เป็นเรื่องเกษตรที่ทำ เป็นเกษตรแนวผสมผสาน พอทำไปทำมา ก็มีหน่วยงานจากทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุน มาส่งเสริม เลยหันมาเข้าสู่กระบวนการและวิธีการต่างๆ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเต็มรูปแบบ” คุณเจริญ กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอได้สนับสนุนและส่งเสริม ด้านวิชาการและด้านปัจจัยในการผลิต ซึ่งก็เป็นจุดเรียนรู้ให้กับเกษตรกรโดยทั่วไป โดยในแต่ละปีจะมีเกษตรกรจากในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาศึกษาอบรมดูงานกว่า 1,000 คนต่อปี และหลังจากผ่านการอบรมดูงาน ก็จะมีการติดตามผลว่ามีการพัฒนาไปมากน้อยแค่ไหน สำหรับผลตอบรับก็ถือว่าดี เพราะมีเกษตรกรปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นผลตอบรับที่ดี และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านได้ในระดับดีเลยทีเดียว
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณเจริญ สุขวิบูลย์ บ้านเลขที่ 111 หมู่ที่ 3 ตำบลโคกกลาง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ หมายเลขโทรศัพท์ 063-749-1649
…………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562