เกษตรกรยโสธร ปลูกไผ่ตงอินโดฯ ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย จำหน่ายแปรรูปได้ทั้งหน่อ ลำ และกิ่งพันธุ์

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะเห็นมนุษย์เงินเดือนลาออกจากงานประจำ หันมายึดอาชีพเกษตรกรรมกันมากขึ้นเรื่อยๆ จุดเด่นอย่างหนึ่งของคนกลุ่มนี้คือ ก่อนปลูกพืชชนิดใด จะศึกษาหาความรู้ว่าพืชชนิดนั้นๆ เหมาะกับดินประเภทใด พร้อมหาตลาดรองรับไว้เรียบร้อย ซึ่งเมื่อมีการวางแผนและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบก็สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นานนัก จากนั้นเก็บเกี่ยวผลผลิตที่เป็นผลกำไร ซึ่งถือเป็นรายได้ดีทีเดียว

อย่าง คุณวิชิต ทองประสาร หรือ คุณแมน อายุ 41 ปี เจ้าของ “สวนไผ่ทองประสาร” และ คุณสุภาวดี บุญทศ หรือ คุณมด อยู่ที่ตำบลโคกสำราญ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร สองสามีภรรยาที่เคยทำงานในบริษัทเอกชนมาก่อน โดยคุณแมนนั้นเป็นถึงผู้จัดการศูนย์รถยนต์มิตซูบิชิ ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุดท้ายเมื่อปลายปี 2557 ตัดสินใจมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เพราะมองว่าแม้จะมีตำแหน่งใหญ่โตเพียงใด แต่ก็คือลูกจ้างอยู่วันยังค่ำ สู้ออกมาทำอาชีพอิสระเป็นเจ้าของกิจการเองดีกว่า ซึ่งวันหนึ่งลูกๆ ก็ยังสามารถสืบทอดต่อไปได้

คุณวิชิต ทองประสาร และ คุณสุภาวดี บุญทศ

จุดเด่น ไผ่ตงอินโดฯ

คุณวิชิต เล่าที่มาที่ไปของการปลูกไผ่ตง สายพันธุ์อินโดฯ ว่า ก่อนหน้านี้ได้เริ่มศึกษาหาพืชที่เหมาะกับสภาพอากาศ และสภาพดินของสวนที่มีอยู่ 4 ไร่ เนื่องจากดินเป็นดินทราย และเป็นที่นาดอน หน้าแล้งจะแล้งมาก พอถึงหน้าฝน น้ำมาเยอะก็ท่วมขัง ขณะที่ไผ่ตงสายพันธุ์อินโดฯ เป็นพืชชนิดเดียวที่ตอบโจทย์สวนแบบนี้ได้ดีที่สุด เนื่องจากปลูกได้ในทุกสภาพดินฟ้าอากาศ อีกทั้งทนแล้งได้ดี น้ำท่วมไม่ตาย ไฟไหม้ก็ไม่ตาย วิธีการปลูกก็ง่าย ดูแลง่าย โตไว และสามารถจำหน่ายและแปรรูปได้ทั้งหน่อ ลำ และกิ่งพันธุ์ ที่สำคัญไม่ต้องสิ้นเปลืองเรื่องปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีอื่นๆ เพราะไผ่ไม่มีโรคและแมลงรบกวน สามารถปลูกและดูแลแบบออร์แกนิกได้เลย

ใช้เวลาปลูก 7-8 เดือน ก็เก็บผลผลิตได้ และอายุในการเก็บผลผลิตยาวนาน ถือเป็นการลงทุนครั้งเดียว แต่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดปีและต่อเนื่องอีกหลายสิบปี

สวนไผ่ทองประสาร ปลูกไผ่ตงอินโดฯ บนเนื้อที่ทั้งหมด 4 ไร่ 600 ต้น ที่ยโสธร ส่วนที่อำเภอชัยบาดาล เช่าพื้นที่ปลูกไผ่ตงอินโดฯ อีก 52 ไร่ โดยปลูกแบบไม่พึ่งพาสารเคมีหรือเป็นเกษตรอินทรีย์นั่นเอง ซึ่งคุณวิชิตอธิบายขั้นตอนการปลูกเพื่อให้ได้ต้นไผ่ที่สมบูรณ์ว่า ในการบำรุงรักษานั้น จะต้องพรวนดินรอบกอไผ่ทุกๆ 2-3 เดือน เพื่อกระตุ้นให้ไผ่ออกหน่อ ส่วนการให้ปุ๋ยจะเน้นปุ๋ยคอกและปุ๋ยอินทรีย์ ให้ต้นละ 2-3 กิโลกรัม ต่อเดือน ต่อครั้ง และให้น้ำ 3 วันครั้งในช่วงหน้าแล้ง

ในการขุดหลุมปลูกนั้นตามหลักวิชาการจะต้องขุดหลุม 30 คูณ 30 เซนติเมตร แต่ในความเป็นจริง คุณวิชิต บอกว่า ขุดหลุมให้ลึก 20 เซนติเมตร และกว้าง 20 เซนติเมตร ก็พอ โดยปลูกให้เอียง 45 องศา และเว้นระยะห่างต่อต้น 3 คูณ 3 เมตร

เกษตรกรรายนี้ย้ำว่า ไผ่ตงอินโดฯ ชนิดนี้ไม่มีปัญหาศัตรูพืชระบาด จึงไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ เลย ผลผลิตหน่อไม้สดจึงเก็บได้ทุกวันและให้หน่อทั้งปี ผลผลิต (หน่อ-ลำ) ที่ได้ จะเน้นนำมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าก่อนจำหน่ายและจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. หน่อสด แปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้ต้ม เพื่อจัดจำหน่ายกับตลาด ห้าง ร้าน ที่ได้ติดต่อไว้แล้ว

2. ลำไผ่ แปรรูปโดยการเผาถ่าน เพื่อทำถ่านดูดกลิ่นและถ่านอัดแท่ง ใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อจัดวางจำหน่ายตามห้าง ร้าน ที่ได้ติดต่อไว้

ในการทำสวนไผ่นี้ เขาใช้เงินลงทุน ประมาณ 100,000 บาท แบ่งเป็นค่ากิ่งพันธุ์ 36,000 บาท เจาะบ่อบาดาล 8,000 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ ระบบน้ำ-ไฟ-ในที่พัก ประมาณ 55,000 บาท ซึ่งในปีแรกสวนแห่งนี้ก็ได้เงินทุนคืนเรียบร้อยแล้ว ที่เหลือคือกำไร เพราะไผ่ลงทุนครั้งเดียว

ปลูกแล้วรับซื้อผลผลิต

คุณวิชิต ระบุว่า เนื่องจากสวนไผ่ทองประสารเป็นสวนแรกๆ ในเขตนี้ ที่ส่งเสริมให้ปลูกและรับซื้อผลผลิตคืนด้วย ทางสวนจึงเน้นที่การผลิตและขยายพันธุ์ไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจไผ่ตงอินโดฯ ซึ่งเป็นการปลูกเพื่อขยายพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและความต้องการของคู่ค้า ดังนั้น รายได้หลักในช่วง 1-3 ปี ของทางสวนจึงมาจากการขายกิ่งพันธุ์เป็นหลัก โดยขายในราคากิ่งละ 60 บาท ซึ่งเป็นกิ่งพันธุ์ที่ใช้วิธีชำเป็นเวลา 3 เดือน มีรากเต็ม สูงประมาณ 90-100 เซนติเมตร

ปัจจุบัน มีเกษตรกรเข้ามาเป็นเครือข่ายของสวนทองประสาร 60-70 ไร่ ในพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในอีสาน ทั้งยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ

ถามถึงปัญหาหรืออุปสรรคในการปลูกไผ่ตงอินโดฯ คุณวิชิต บอกว่ามีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เรื่องศัตรูพืชที่เคยเจอจะมีแค่มดแดงที่มาเกาะกินน้ำหวานจากหน่อไม้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระยะ 15-30 วัน ในช่วงแรกที่ปลูกลงดินจะต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า พอผ่านช่วงนี้ไปเมื่อรากหากินเองได้ ก็จะไม่ยุ่งยากแล้ว

ชี้ค่าตอบแทนดีกว่าพืชอื่น

คุณวิชิต ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะปลูกไผ่ตงอินโดฯ ว่า ไผ่เป็นพืชที่ให้ประโยชน์อย่างมหาศาล มีความสัมพันธ์กับชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยมาแต่โบราณ เป็นพันธุ์ไม้ที่มีคุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบันไผ่สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งการปลูกไผ่ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ไผ่ออกหน่อก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

ในส่วนของเงินลงทุนนั้น คุณวิชิต ให้รายละเอียดว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ไผ่ประมาณ 150 ต้น โดยกิ่งพันธุ์ราคาต้นละ 60 บาท รวมแล้ว 1 ไร่ ต้องใช้เงิน 9,000 บาท ให้ผลผลิตประมาณ 300 กิโลกรัม ต่อเดือน ซึ่งช่วงระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด สามารถเก็บผลผลิตหน่อสดขายได้ตลอดทั้งปีทั้งในและนอกฤดู

การตลาด สามารถส่งเข้าตลาดเจริญศรี ที่จังหวัดอุบลราชธานี ตลาดสุระ จังหวัดนครราชสีมา และตลาดไท กทม.ราคาผลผลิต (หน่อสด) ขึ้นลงตามฤดูกาล หน้าแล้งตกกิโลกรัมละ 35-60 บาท ส่วนหน้าฝนกิโลกรัมละ 10-25 บาท คิดค่าเฉลี่ยขั้นต่ำทั้งปี อยู่ที่ประมาณ 25-30 บาท ต่อปี

คำนวณแล้ว ใน 1 ไร่ จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 300 กิโลกรัม ต่อเดือน และจะมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต (หน่อสด) 300 กิโลกรัม ต่อเดือน x 12 เดือน = 3,600 กิโลกรัม ต่อปี ซึ่งในพื้นที่ 1 ไร่ จะมีรายได้ 3,600 x 25 = 90,000 บาท ต่อไร่ ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ถ้าปลูก 4 ไร่ คิดเป็นรายได้ดังนี้ 90,000 x 4 = 360,000 ต่อปี รายได้นี้คือรายได้จากการขายหน่อสดอย่างเดียว ไม่ได้รวมการจำหน่ายหน่อไม้แปรรูป ไม่ว่าจะเป็นหน่อไม้ดอง กิ่งพันธุ์และลำไผ่ ซึ่งถ้าเทียบระยะเวลาในการปลูกและราคาที่ขายได้ จะเห็นว่าไผ่ตงอินโดฯ ได้เงินดีกว่าพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง หรือยางพารา

ผลตอบแทน เมื่อเทียบกับพืชต่างๆ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2565