เผยแพร่ |
---|
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากทางภาคใต้ของประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด ส่งผลให้สัตว์ต่างๆทั้งปศุสัตว์ และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร สัตว์ปีก สุนัข และแมว เกิดความเครียด และมีผลต่อระดับภูมิคุ้มกัน จากการขาดแคลนอาหาร โดนลม โดนฝน หรือยืนแช่น้ำเป็นเวลานาน ทำให้ร่างกายสัตว์อ่อนแอ โดยเฉพาะสัตว์ที่เคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง สัตว์ที่ไม่แข็งแรงจะติดเชื้อโรคได้ง่าย และยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โรคระบาดต่างๆแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆได้อีกด้วย
กรมปศุสัตว์จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย นายสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ นักวิชาการสัตวบาล จากส่วนกลาง และภูมิภาค ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์เขต สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม (DHHU) จำนวน 16 ทีม รวมประมาณ 60 นาย พร้อมอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ยา ลงพื้นที่โดยด่วน โดยเข้าไปเสริมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยจัดทำคอกพักสัตว์ อพยพเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่อุทกภัย รักษาพยาบาลสัตว์ป่วย ฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสัตว์ โดยทางกรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้ นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนหน่วย DHHU ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2560 เวลา 10.30 น. ณ ด่านกักสัตว์เพชรบุรี อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ทั้งนี้ โรคระบาดสัตว์ที่พบได้บ่อยในช่วงเกิดอุทกภัย ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย ในสัตว์กีบคู่ โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย (โรคคอบวม) ในกระบือและโค โรคเลปโตสไปโรสิส (โรคไข้ฉี่หนู) พบได้ทั้งในคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด โรคเพิร์ส ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ในสุกร โรคนิวคาสเซิล ในสัตว์ปีก และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารในสุนัขและแมว เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หัด โรคลำไส้อักเสบ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลสัตว์เลี้ยงของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง โดยเน้นย้ำให้ดูแลสัตว์ในโรงเรือน หรือคอก ที่มีหลังคา สามารถป้องกันลม ละอองฝนได้ จัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง รวมถึงป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม หรือคอกพักสัตว์ โดยพ่นยาฆ่าเชื้อทั้งยานพาหนะ และคน ก่อนเข้าและออกจากฟาร์ม
หากเกษตรกรพบเห็นสัตว์ป่วย หรือ ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ สามารถแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือจุดให้บริการของกรมปศุสัตว์ใกล้บ้านท่าน หรือศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ โทรศัพท์ 0-2653-4444 ต่อ 2273 และ 3315 โทรสาร 0-2653-4928 หรือโทรศัพท์มือถือ 0-81-739-9234 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวในที่สุด