เผยแพร่ |
---|
นายฉัตรชัย ดอยพนาวัลย์ ปัจจุบันอายุ 18 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 จังหวัดลำพูน ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 089-565-5840
ผลงานดีเด่น
นายฉัตรชัย เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ) เติบโตบนพื้นที่สูงหมู่บ้านแม่ปอน ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีพี่น้อง 2 คน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ทำนา ครอบครัวมีรายได้ไม่แน่นอน เมื่อมาเรียนต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 จังหวัดลำพูน ได้ขึ้นเป็นนักเรียนประจำหอชาย 4 ซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และที่ทำการกลุ่มยุวเกษตรกร เห็นว่ากิจกรรมต่างๆ น่าสนใจมาก ตอนนั้นมีการปลูกผักต่างๆ การเลี้ยงปลาดุก การเลี้ยงสุกร การเพาะเห็ด การเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ การเลี้ยงเป็ด และการเลี้ยงโค กระบือ จึงมีความสนใจที่จะทำกิจกรรม เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับอาชีพที่บ้าน กิจกรรมจะสามารถทำให้สืบต่ออาชีพจากพ่อแม่ สร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง และครอบครัว อีกทั้งยังสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และผู้บริโภคด้วย จึงอาสาขอเข้าไปช่วยงานในกลุ่มยุวเกษตรกร พร้อมทั้งขอไปพักที่บ้านพักเกษตรและได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกิจกรรมต่างๆ
จุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมกลุ่มยุวเกษตรกรคือ เลี้ยงกบคอนโดฯ และกบในบ่อ และพยายามเรียนรู้ ปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมของยุวเกษตรกรต่าง ๆ ในทุกกิจกรรมตลอดระยะเวลา ที่เข้าเป็นสมาชิกยุวเกษตรกร และได้ลงมือทำงาน/กิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มยุวเกษตรกร ได้เกิดการเรียนรู้ว่าการทำงานเกษตร นอกจากเป็นงานที่ต้องใช้ความคิด ความขยัน ความอดทน ความเอาใจใส่งาน และวางแผนแล้ว ยังได้เรียนรู้การบูรณาการกับการเรียน และบูรณาการกับการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้รู้สึกสนุกกับการทำกิจกรรมนี้ ทำให้รู้จักการวางแผน และการแก้ปัญหา
นายฉัตรชัย เป็นเด็กที่มีอุปนิสัยสุภาพเรียบร้อย ซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อดทน ประหยัด อดออม มีความรับผิดชอบสูง ตั้งใจใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง มีระเบียบวินัย ประพฤติ ปฏิบัติตนตามกฎระเบียบของโรงเรียนและสังคมอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจและเต็มกำลัง อุทิศตนและเวลาให้กับการทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นที่ปรึกษา และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เพื่อนๆ และน้องๆ นักเรียนในโรงเรียน ประกอบกับเป็นผู้มีแนวความคิดที่เป็นระบบ ชัดเจน มีการวางแผนการดำเนินงาน และการวางแผนการจัดการทั้งในชีวิตตนเอง และการบริหารจัดการกลุ่ม ในฐานะประธาน ก็มีแนวคิดในการที่จะพัฒนางานของกลุ่มยุวเกษตรกรให้มีผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างและกระตุ้นความสนใจให้กับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร รวมทั้งให้สมาชิกยุวเกษตรกร และน้องๆ ในโรงเรียน มองเห็นคุณค่าของการทำการเกษตร ให้มองเป็นงานที่สร้างคุณค่า ไม่หนัก ไม่เหนื่อย และสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ อีกทั้งอาชีพเกษตรกรยังเป็นอาชีพที่มีความน่าภาคภูมิใจ โดยมีความพยายามที่จะเริ่มกิจกรรมที่พัฒนากลุ่มยุวเกษตรกร ดังนี้
1. ริเริ่ม/ทดลองทำกิจกรรมใหม่ คือการเลี้ยงไส้เดือนดิน และการปลูกพืชไร้ดิน (ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์) และนำน้ำไส้เดือนมาผสมกับสาร AB
2. เป็นผู้คิดค้นและจัดทำการทดลองการปลูกเมล่อนในโรงเรือนแบบอัตโนมัติ โดยใช้ Kid Bright คือแผงวงจรและระบบควบคุมน้ำ และอุณหภูมิ (อัตโนมัติ)
3. การหาเงินทุนและบริหารทุนเพื่อพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกร
4. ร่วมกับครูที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกทุกคนได้ทำอาชีพตามความถนัดและความสนใจ
5. ทำกิจกรรมต่างๆ ให้มีความหลากหลาย และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้อื่น และชุมชน
ผลงานและความสำเร็จ
นายฉัตรชัย ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2558 โดยได้ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับกลุ่มยุวเกษตรกรมาโดยตลอด ทำให้ในปี 2561 ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภายุวเกษตรกร โดยมีบทบาทหน้าที่ในฐานะประธานกลุ่มทำหน้าที่ในการดูแลกิจกรรมทุกประเภท เป็นผู้ดูแล ควบคุม กำกับ และติดตามผลการดำเนินกิจกรรมที่กลุ่มยุวเกษตรกรดำเนินการ โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ประเภท คือ งานรวมและงานกลุ่มย่อย และยังมีผลงานงานส่วนบุคคล อีกด้วย
- งานรวมและงานกลุ่มย่อย ได้แก่
1) การเพาะเห็ดนางฟ้า
2) การเลี้ยงกบ
3) การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และผักปลอดสารพิษที่แปลงเกษตรของกลุ่มยุวเกษตรกรได้เน้นการปลูกผักอายุสั้นและผักสวนครัว
4) การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์
5) การเลี้ยงปลาดุก
6) การเลี้ยงสุกรขุน
7) การเลี้ยงจิ้งหรีด
8) การทำกล้วยฉาบ
9) การทำน้ำยาล้างจาน
10) การปลูกเมล่อนในโรงเรือนแบบอัตโนมัติ โดยใช้ Kid Bright
- งานส่วนบุคคล นายฉัตรชัย ได้นำความรู้ด้านการเกษตรที่ได้ปฏิบัติและเรียนรู้ในกลุ่มยุวเกษตรกร มาขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนโดยรอบ เน้นการส่งเสริมการปลูกผักแบบปลอดสารพิษ และยังจัดทำแปลงปลูกผักเพื่อบริโภคด้วยตนเองภายในหอนอนของโรงเรียน
ซึ่งในทุกกิจกรรมต้องมีการแผนการดำเนินงานและแผนการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน รวมทั้งมีการจดบันทึกรายละเอียดการปฏิบัติงาน มีการทำบัญชีรับจ่าย และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานเมื่อมีการประชุมสภายุวเกษตรกรประกอบกับนายฉัตรชัย ไม่หยุดในการหาความรู้มาปรับปรุงงานของตนเองอยู่ตลอดเวลาโดยจะอาศัยความรู้จากผู้รู้ คุณครู และสืบค้นหาความรู้จากอินเตอร์เน็ต จนทำให้ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา และสามารถวางแผน กำกับการดำเนินงานกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรได้ทุกกิจกรรม รวมทั้งติดตามผลอย่างต่อเนื่องด้วย ซึ่งนายฉัตรชัย ยังเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนๆ รุ่นน้องในโรงเรียน เป็นบุคคลที่คุณครูที่ปรึกษาไว้ใจให้ดูแลกิจกรรมทางการเกษตรทั้งหมดแทนคุณครูที่ปรึกษาได้
ความเป็นผู้นำและการเสียสละ
นายฉัตรชัย ได้เสียสละเวลา อุทิศตนในการทำงานและเผยแพร่การดำเนินกิจกรรมของงานยุวเกษตรกร ส่งผลให้เกิดความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทำให้กลุ่มยุวเกษตรกรได้รับรางวัลต่างๆ มากมายและยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานกลุ่มยุวเกษตรกร และยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น
1) นำสมาชิกยุวเกษตรกรร่วมงานประเพณีถวายเทียนเข้าพรรษา ณ อารามสันป่าฮัก
2) เป็นวิทยากรให้ความรู้กับกลุ่มเกษตรกรในชุมชนและบุคคลทั่วไปที่มาศึกษาดูงานหรือมาเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้
3) นำสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรทำกิจกรรมปลูกข้าววันแม่เกี่ยววันพ่อ
4) ร่วมงานกิจกรรมชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
5) เป็นผู้แทนสมาชิกยุวเกษตรกรระดับภาคในการพูดในที่ชุมชนในงานชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรระดับประเทศ ประจำปี 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
6) เป็นฝ่ายวิชาการกลุ่ม ขับเคลื่อนกลุ่มวิสาหกิจตั้งต้นในสถานศึกษา (Start Up club)
7) เป็นผู้นำในงานชุมนุมยุวเกษตรกรและที่ปรึกษายุวเกษตรกร ระดับเขตภาคเหนือตอนบน ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่
อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายฉัตรชัย ส่งเสริม สนับสนุน และตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสร้างผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเลือกวัตถุดิบและวิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น
1) ทำการเกษตรแบบปลอดภัยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้ปุ๋ยคอกและสารชีวภาพแทนการใช้สารเคมี เช่น การใช้น้ำส้มควันไม้ การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย จุลินทรีย์หยวกกล้วย น้ำไส้เดือน ฯลฯ พร้อมทั้งแนะนำให้สมาชิกทุกคนได้ปฏิบัติ รวมถึงครอบครัว ญาติมิตรพี่น้อง คนในชุมชน
2) ใช้น้ำไส้เดือนผสมกับสาร AB ในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
3) เลี้ยงสุกร โดยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง
4) ใช้ซากก้อนเห็ดนางฟ้าทำปุ๋ยใส่ต้นไม้
5) นำขวดน้ำดื่มที่ใช้แล้วนำมาบรรจุน้ำยาล้างจาน
6) นำสมาชิกยุวเกษตรกรเก็บขยะ ทำความสะอาดในโรงเรียน วัด ในวันสำคัญต่างๆ
7) นำสมาชิกยุวเกษตรกรไปร่วมปลูกต้นไม้/ปลูกป่าในชุมชน
8) ปล่อยพันธุ์ปลาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
9) ทำกิจกรรมทักษะการดำรงชีวิต : การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทุกวันเสาร์)
10) ไม่ใช้สารเคมีในการปรับพื้นที่เกษตร (ยาฆ่าหญ้า) แต่ใช้วิธีการตัดหญ้า การไถกลบ
ขอบคุณข้อมูล กรมส่งเสริมการเกษตร