หนุ่มวิศวะ เพาะปลากัดสวนกระแส รายได้หลักหมื่น ที่อ่างทอง

จากประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาฝึกงาน ต้องทำงานในบริษัทหรือโรงงาน ทำให้ คุณพุฒิพงศ์ คชาศักดิ์ ตอบกับตัวเองได้ว่า หากจบการศึกษาวิศวอุตสาหการจากเมืองหลวงแล้ว คงไม่กลับไปทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานหรือบริษัทอีกแน่นอน เพราะเข้าใจจิตใจตนเองดีว่า รักงานอิสระ ไม่ชอบตกเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของใคร

คุณพุฒิพงศ์ คชาศักดิ์

ก่อนเรียนจบ จึงมองอาชีพไว้แต่เนิ่นๆ เพราะอย่างไรก็คงเลือกประกอบอาชีพอิสระ แล้วกลับมามุ่งมั่นทำที่บ้านเกิด ในอำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

คุณพุฒิพงศ์ ก็ไม่ได้หยิบจับงานเกษตรในมุมของพืช แต่กลับพุ่งตรงไปที่สัตว์

แรกเริ่มลองศึกษาเรื่องของการทำประมงและปศุสัตว์ ก็พบว่า ต้องใช้พื้นที่และต้นทุนสูงในการผลิต จึงหันมาเลือกเลี้ยงปลาสวยงาม โดยเฉพาะปลากัด เพราะเป็นปลาที่มีต้นทุนต่ำ แต่จำนวนผลผลิตสูง

จึงเริ่มศึกษาการเพาะเลี้ยงจากเว็บไซต์

เตรียมแพ็กส่ง

ลงทุนซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 1 คู่ ขยายพันธุ์ในตู้กระจก ได้ลูกปลากัด 300-400 ตัว แต่ด้วยประสบการณ์การเลี้ยงไม่มี ทำให้มีลูกปลากัดรอดมาให้เลี้ยงจริงกว่า 10 ตัวเท่านั้น

จึงกลับไปหาสาเหตุเพื่อป้องกันและแก้ไข ก็พบว่า ปัญหาเรื่องอาหารลูกปลาและขนาดของภาชนะที่ใช้เพาะปลา มีผลทำให้ลูกปลากัดไม่รอด

“อาหาร ถ้าให้อาหารที่ไม่มีชีวิต เมื่อลูกปลากินไม่หมด อาหารจะเสีย ทำให้น้ำเน่า ภาชนะที่เพาะลูกปลามีขนาดเล็กหรือน้ำน้อย ส่งผลให้น้ำเสียง่าย ลูกปลาก็ตาย”

ไรแดง

เป็นเกษตรกรเลี้ยงปลากัดแบบล้มลุกคลุกคลานมาระยะหนึ่ง แต่ไม่นานคุณพุฒิพงศ์ก็ตั้งตัวได้

เทคนิคการเพาะปลากัดให้รอด ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละฟาร์มจะมีเทคนิคแตกต่างกัน แต่สำหรับคุณพุฒิพงศ์เลือกใช้ลังโฟมในการเพาะ ไม่เพาะในขัน แม้ว่าการเพาะในขันจะมีอัตรารอดสูงดี แต่เพราะขันอยู่ในโรงเรือน และโรงเรือนต้องมีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อน สำหรับโรงเรือนเลี้ยงปลากัดของคุณพุฒิพงศ์มีความร้อน จึงเลือกลังโฟม เพราะควบคุมอุณหภูมิได้ดี

อ่างซีเมนต์

นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใส่ลังโฟมไว้ด้วยกัน วันรุ่งขึ้น โอกาสที่พ่อแม่ปลาจะผสมแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ และหากต้องการให้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรรอวันถัดไปอีก 1 วัน ยกเว้นแต่เห็นว่าพ่อแม่ปลารัดกันแล้วก็แสดงว่าปลาถูกผสมเรียบร้อย เมื่อเห็นไข่ปลาเมื่อไร ให้นำปลาเพศเมียออกจากลังโฟม

ขนาดของลังโฟม ไม่ใช่ประเด็น แต่ระดับน้ำในลังโฟม ควรสูงจากพื้นลังไม่เกิน 3 นิ้ว น้ำสูงมากลูกปลาจะจมน้ำตาย

น้ำที่ใช้ เป็นน้ำหมักใบหูกวางเข้มข้น ไม่จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์อะไรเพิ่ม เพราะน้ำใบหูกวางเข้มข้น ช่วยให้ไข่ปลาไม่แตก

ประมาณ 3-4 วัน ไข่ปลาจะฟักเป็นตัว

ลังโฟม เพาะพันธุ์ปลา

ตั้งแต่ปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงไว้ในลังโฟม จนถึงลูกปลาฟักเป็นตัว งดให้อาหาร

เมื่อลูกปลาฟักเป็นตัวแล้ว 2 วัน เริ่มให้อาหาร อาหารเป็นอาร์ทีเมีย หรือไรสีน้ำตาล หรือไรน้ำเค็ม ไม่ควรให้ลูกไร เพราะมีขนาดใหญ่กว่าลูกปลา ลูกปลาอาจถูกลูกไรกิน หรือไม่ได้กินอาหาร ทำให้ลูกปลาตาย

เมื่อลูกปลาเริ่มว่ายน้ำแข็งแรง อาหารที่ให้ต้องเป็นเวลาคือ วันเว้นว้น ทำเช่นนี้อีก 2 ครั้ง รวม 4 วัน จากนั้นเตรียมน้ำในอ่างซีเมนต์ ใช้น้ำหมักใบหูกวางเข้มข้น ระดับความสูงในอ่างซีเมนต์ประมาณ 7-8 นิ้ว แล้วเทลูกปลาลงไป

หลังจากนั้น 1 เดือน เติมน้ำธรรมดาให้เต็มอ่างซีเมนต์ได้

ขนาดน้ำในถุง ต่อปลากัด 1 ตัว พร้อมส่ง

เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกปลากัดได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ

อัตรารอด 150-200 ตัว จากลูกปลาทั้งคอก 300 ตัว

หลังจากเทลูกปลาลงอ่างซีเมนต์ 2 เดือน จะเริ่มคัดลูกปลา

  1. ปลาเกรด เป็นปลาที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งมีจำนวนน้อย พบได้ 5-10 ตัว ต่อลูกปลา 1 คอก ราคาขายตัวละ 500 บาท
  2. ปลากลาง เป็นปลาที่มีสภาพใกล้เคียงหรือเกือบสมบูรณ์ น้อยกว่าปลาเกรดไม่มากนัก ขายได้ราคาตัวละ 100 บาท
  3. ปลาล่าง เป็นปลาที่สภาพดีทั่วไป ไม่ได้แย่มาก ขายได้ราคาตัวละ 20-30 บาท
  4. ปลาทิ้ง เป็นปลาที่ไม่ค่อยสวย ขายรวมเป็นปลาถุง หรือบางแห่งทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติ หากขายได้ราคาตัวละ 3 บาท

หลังเทลูกปลาลงอ่างซีเมนต์ 2 เดือน ปลายังไม่ถูกขายออกไป ต้องคัดปลาขึ้นเลี้ยงบนโหล โหลละ 1 ตัว เริ่มขุนปลาด้วยไรแดงและไข่ตุ๋น ปริมาณการใช้ไรแดง 800 กรัม ต่อปลา 5,000 ตัว (ใช้ไรแดงล้วน) กรณีที่ผสมกับไข่ตุ๋นกับไรแดง สัดส่วน 50 : 50 โดย 2 สัปดาห์แรกควรให้ไรแดงอย่างเดียว จากนั้นจึงผสมหรือให้อย่างใดอย่างหนึ่งได้

การตักปลาใส่ถุง ก่อนนำไปขาย

ไข่ตุ๋น ก็เป็นอาหารที่อาจทำให้ปลาตายได้ ผู้เลี้ยงควรระวัง เมื่อตุ๋นไข่แล้วควรล้างเมือกขาวๆ จากไข่ให้หมดก่อน จึงนำไปให้ปลากิน ไม่อย่างนั้นความคาวและส่วนที่ไม่สะอาดจะลงไปในน้ำ โอกาสทำให้น้ำขุ่นและเสียได้ง่าย

ความแตกต่างของการเพาะปลากัดขาย และทำให้ตลาดปลากัดของคุณพุฒิพงศ์ไม่เคยหมดไป คือ การวิเคราะห์กระแสการเลี้ยงปลาของแหล่งผลิตปลากัดรายใหญ่ ในแถบจังหวัดราชบุรีและนครปฐม หากพบว่า กระแสการผลิตปลาไปในทิศทางใดมาก คุณพุฒิพงศ์จะผลิตปลากัดสวนกระแส และวางระยะการให้ปลากัดพร้อมขายในเดือนใกล้เคียงกัน

“ข้อดีของการเพาะปลาแบบสวนกระแสคือ เมื่อมีความต้องการปลาที่ผลิตได้น้อยในขณะนั้น ก็จะหันมาซื้อจากฟาร์มผม เราก็ขายปลาได้ ขายได้ตลอด แค่ต้องวิเคราะห์หรือดูกระแส สถานการณ์การเพาะปลาของแหล่งผลิตปลากัดใหญ่ในบ้านเรา แล้วทำตรงกันข้ามเท่านั้น”

ไซซ์ปลาที่ตลาดต้องการ เป็นไซซ์ความยาว 2 นิ้วรวมหาง หรือไม่รวมหาง ไซซ์ 1.5 นิ้ว

การขายปลากัดของคุณพุฒิพงศ์ แรกเริ่มโพสต์ในเว็บซื้อขายปลากัด หรือเว็บประมูลปลากัด ซึ่งมีผู้คนที่สนใจปลากัดทั่วโลกเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น ตลาดต่างประเทศ เมื่อมีคนสนใจปลา ก็ติดต่อมาเพื่อขอดูภาพนิ่งเพิ่มเติมหรือภาพเคลื่อนไหว จากนั้นตกลงซื้อขาย โอนเงินมาตามราคาปลาบวกค่าขนส่ง ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นจุดแรกเริ่มของออเดอร์ปลากัดไปต่างประเทศต่อมาอีกครั้งละ 100-200 ตัวเสมอ

สำหรับตลาดในประเทศ คุณพุฒิพงศ์ขายส่งตลาดนัดจตุจักรเป็นแหล่งใหญ่ มีพ่อค้าแม่ค้าจากตลาดนัดเปิดขายช้อนปลา ปลาถุง มาซื้อถึงฟาร์มบ้าง แต่ที่แน่ๆ ขายออนไลน์ได้แน่นอนและมีตลอดทุกวัน

คุณพุฒิพงศ์ เล่าว่า การเลี้ยงปลาแท้จริงแล้ว ต้นทุนที่มากคือ เรื่องของอาหาร โดยเฉพาะไรแดง วิธีแก้ปัญหาต้นทุนอาหารส่วนนี้คือ การเพาะเลี้ยงไรแดงเอง ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้มาก นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนเรื่องน้ำ เพราะต้องเปลี่ยนน้ำปลาหลายระยะ ค่าน้ำต่อเดือนสูงถึงเดือนละ 2,000 บาท แต่เมื่อคำนวณค่าใช้จ่าย การลงทุน และกำไรแล้ว คุณพุฒิพงศ์ยังเหลือกำไรต่อเดือนไม่น้อยกว่า 40,000 บาท

ไรแดง สำหรับอนุบาลลูกปลา

สนใจแวะไปเยี่ยมชมได้ไม่ไกลกรุงเทพฯ อยู่ที่บ้านศาลาดิน หมู่ที่ 2 ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง โทรศัพท์สอบถามไปที่ คุณพุฒิพงศ์ คชาศักดิ์ โทรศัพท์ (097) 165-4599 หรือชมปลากัดสวยๆ ผ่านเฟซบุ๊กที่ SARADIN BETTA FARM

 

 

 

ปลากัดหม้อแฟนซี Candy พวกสีลูกกวาด
ปลากัดหม้อแฟนซี Nemo ลูกผสม
ปลากัดหม้อแฟนซี สีเก่า