ท้องฟ้า ปี 60 ปรากฏการณ์แห่งดวงดาว

ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าแม้ไกลโพ้นออกไปในห้วงอวกาศ อยู่ในความสนใจของชาวโลกเสมอ บางคนเชื่อว่ามีผลกระทบต่อเหตุการณ์ดี-ร้าย และความเป็นไปของชีวิตมนุษย์
ขณะที่ในทางวิทยาศาสตร์ก็สะกิดความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์ ดังนั้น ในปี 2560 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จึงรวบรวมเอาปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่จะเกิดขึ้นตลอดปีให้ผู้สนใจได้ติดตาม
ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก
วันที่ 7-8 เมษายน ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ระยะทางประมาณ 667 ล้านกิโลเมตร สังเกตเห็นตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้า
ดาวเสาร์ใกล้โลก
วันที่ 15 มิถุนายน ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ และใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ระยะทางประมาณ 1,352 ล้านกิโลเมตร จึงมองเห็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนที่มีความสว่างมาก เมื่อดวงอาทิตย์ตก ดาวเสาร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้า ทำให้มีระยะเวลาสังเกตการณ์ยาวนานตลอดทั้งคืน
จันทรุปราคา
จันทรุปราคาเงามัว ในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 ตั้งแต่เวลา 05.34-06.48 น. เงามัวบังมากที่สุดในเวลา 06.38 น. เนื่องจากดวงจันทร์โคจรเข้าไปในเงามัวของโลกบางส่วน ไม่ได้ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามืด ดวงจันทร์จึงไม่เว้าแหว่ง ยังคงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงแต่มีความสว่างลดลง ซึ่งสังเกตเห็นค่อนข้างยาก ต้องอาศัยการสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือการถ่ายภาพเปรียบเทียบความสว่างขณะเกิดปรากฏการณ์ จึงจะสามารถสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงความสว่างของดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
จันทรุปราคาบางส่วน ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 7 สิงหาคม ถึงเช้ามืดของวันที่ 8 สิงหาคม ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลา 00.22 น. และสิ้นสุดเมื่อเวลา 02.18 น. ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกมากที่สุดในเวลา 01.20 น. จะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ฝนดาวตกในปี 2560 ยังคงมีให้ชมกันอย่างต่อเนื่องเกือบทุกเดือน แต่ที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝนดาวตกไลริดส์ วันที่ 22-23 เมษายน (เฉลี่ย 18 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ วันที่ 6-7 พฤษภาคม (เฉลี่ย 55 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ วันที่ 28-29 กรกฎาคม (เฉลี่ย 16 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ วันที่ 12-13 สิงหาคม (เฉลี่ย 100 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ วันที่ 21-22 ตุลาคม (เฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกลีโอนิดส์ วันที่ 17-18 พฤศจิกายน (เฉลี่ย 15 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกเจมินิดส์ วันที่ 13-14 ธันวาคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ วันที่ 21-22 ธันวาคม (สูงสุด 10 ดวงต่อชั่วโมง)
ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์หรือฝนดาวตกวันแม่ เป็นฝนดาวตกที่นักดาราศาสตร์ในซีกโลกเหนือให้ความสนใจไม่แพ้ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และฝนดาวตกเจมินิดส์ เนื่องจากเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ และมีสีสันสวยงาม มีอัตราการตกเฉลี่ยค่อนข้างมาก
ดาวเคราะห์ชุมนุม การกลับมาเคียงคู่กันอีกครั้งของดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีในช่วงเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 ดาวศุกร์จะเคียงชิดใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะเชิงมุม 0.6 องศา นับเป็นการเข้ามาใกล้กันของ 2 ดาวเคราะห์สว่างบนท้องฟ้าที่หาชมได้ไม่บ่อยนัก
-ปรากฏการณ์และกิจกรรมดาราศาสตร์อื่นๆ
ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 3 ธันวาคม ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี วันที่ 9 มิถุนายน
ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จ.สงขลา วันที่ 8 เมษายน /กรุงเทพฯ วันที่ 27 เมษายน / นครราชสีมา วันที่ 30 เมษายน / เชียงใหม่ วันที่ 14 พฤษภาคม
วันที่ 21 มิถุนายน วันวสันตวิษุวัตหรือเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี วันที่ 20 มีนาคม นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง วันครีษมายัน หรือเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี
วันที่ 23 กันยายน วันศารทวิษุวัต เวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
วันที่ 21 ธันวาคม วันเหมายัน กลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
ติดตามความก้าวหน้ายานสำรวจอวกาศ ประกอบด้วย ภารกิจสำรวจดาวเสาร์ของยานแคสสินี ยานสำรวจอวกาศจูโนสำรวจดาวพฤหัสบดี การสำรวจดาวศุกร์ของยาน Akatsuki ภารกิจการสำรวจดาวอังคาร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติคลี่โปรแกรมออกมาให้แล้ว นักไล่ล่าห้วงอวกาศเชิญเฝ้าเกาะติดตามอัธยาศัย