บ้านดอยช้าง แม่สรวย แหล่งผลิตกาแฟชั้นยอด ของ เชียงราย

พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ของการปลูกกาแฟบนดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านดอยช้าง ที่มีสมาชิกจำนวน 64 คน ระยะเวลาการก่อตั้งกลุ่มถึงปัจจุบัน 7 ปี มีแนวทางการผลิตกาแฟแบบอินทรีย์ งดเว้นการใช้สารเคมีทุกชนิด เพื่อให้ได้กาแฟปลอดสารและนำไปสู่การผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านดอยช้างกลุ่มนี้ ได้รับการันตีว่า เป็นกาแฟอินทรีย์ไปเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทที่รับซื้อกาแฟของกลุ่ม ส่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทเข้ามาตรวจสอบและรับรองมาตรฐานอินทรีย์ให้ผลผลิตทั้งหมดของกลุ่มวิสาหกิจอินทรีย์ฯ แห่งนี้ ถูกตีตราแบรนด์ขายทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นเครื่องการันตีได้ว่า กาแฟจากแหล่งนี้มีคุณภาพที่ดี

คุณภาคภูมิ แลเฌอกู่ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านดอยช้าง และ คุณพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย

คุณภาคภูมิ แลเฌอกู่ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านดอยช้าง มีหน้าที่ดูแลสมาชิกกว่า 200 ครัวเรือน เล่าว่า เกษตรกรที่ปลูกกาแฟเกือบทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่าอาข่า การประกอบอาชีพ แม้จะทำการเกษตร ก็จะปลูกพืชในพื้นที่เดิมไม่เกิน 10 ปี จากนั้นจะย้ายพื้นที่ปลูกไปถางพื้นที่ใหม่ ในลักษณะที่เรียกว่า การทำไร่เลื่อนลอย เมื่อมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชแบบยั่งยืน เพื่อลดปัญหาดังกล่าว ก็เริ่มมีเกษตรกรปรับตัวตาม และปัจจุบันปัญหาดังกล่าวหมดไป แต่สิ่งที่เกษตรกรชาวเขายังประสบอยู่คือ การทำการตลาด เพื่อส่งเสริมผลผลิตที่ผลิตได้

การปลูกกาแฟ มีระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถวอยู่ที่ 2×2 เมตร ทำให้ได้จำนวนต้น 400 ต้น ต่อไร่

คุณภาคภูมิ แลเฌอกู่ กับต้นกล้ากาแฟ รอลงปลูก

การขุดหลุมปลูก ขนาดหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 40 เซนติเมตร เพราะทั้งรากแก้วและรากฝอยของกาแฟชอนไชไปได้ไม่เกิน 50 เซนติเมตร จากผิวดิน จากนั้นรากแก้วจะหยุดที่ 50 เซนติเมตร ส่วนรากฝอยจะชอนไชย้อนกลับขึ้นมาหาอาหารบริเวณผิวดิน ดังนั้น เมื่อลงปลูกต้นกาแฟแล้ว จะต้องพอกโคนต้นให้พูนขึ้น

การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ย 1 กำมือ ต่อต้น

ในอดีต การให้ปุ๋ยใช้สารเคมี เมื่อรวมกลุ่มเพื่อการผลิตกาแฟอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต จึงจำเป็นต้องซื้อปุ๋ยหมัก และมีต้นทุนปุ๋ยหมักราคากระสอบละ 320 บาท น้ำหนักปุ๋ยกระสอบละ 15 กิโลกรัม เฉลี่ยราคาปุ๋ยหมักกิโลกรัมละ 6.20 บาท หรือในบางปีที่ราคาปุ๋ยหมักขึ้นสูง อาจมีต้นทุนปุ๋ยหมักมากถึงกิโลกรัมละ 9-10 บาท ทีเดียว

กองปุ๋ยหมักจากเปลือกกาแฟสด (เชอรี่) ผสมขี้วัวและกากน้ำตาล

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มจึงผลิตปุ๋ยหมักเอง โดยนำเปลือกกาแฟสด (เชอรี่) ที่ต้องปอกออกก่อนนำเข้าเครื่องอบ จากเดิมที่ปอกเปลือกแล้วนำไปทิ้งในปริมาณมาก ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเรื่องของกลิ่นเปลือกกาแฟ และทำให้เกิดน้ำเสียที่ปลายทาง เมื่อกลุ่มเห็นว่าเปลือกกาแฟสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการหมักใช้แทนปุ๋ยหมักได้ จึงนำกากน้ำตาล ขี้วัว และสารตั้งต้นสำหรับผลิตปุ๋ยหมักมาผสม ผลิตเป็นปุ๋ยหมัก ใช้เวลาหมักอย่างน้อย 2 เดือน และนำมาใช้แทนปุ๋ยหมักที่สั่งซื้อมา ซึ่งทุกปีใช้ปุ๋ยหมักเกือบ 20 ตัน หากผลิตปุ๋ยหมักเองได้ จะสามารถลดต้นทุนได้เกินกว่าครึ่ง ทั้งยังช่วยกำจัดของเสียที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

ปุ๋ยหมัก

กาแฟ เมื่ออายุ 1 ปี จะเริ่มออกดอกในฤดูร้อนของทุกปี ระหว่างเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะเริ่มติดผลเล็กๆ และสามารถเก็บเมล็ดกาแฟสดได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

การใส่ปุ๋ย เริ่มให้ต้นเดือนพฤษภาคม ต้นละ 1 กำมือ ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อต้น ไม่ต้องรดน้ำ เพราะการปลูกกาแฟบนที่สูง อาศัยน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น จากนั้นใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน การใส่ปุ๋ยช่วงนี้ เป็นการช่วยไม่ให้ต้นโทรม

และควรตัดแต่งกิ่งไปพร้อมกัน อย่างไรก็ตาม การตัดแต่งกิ่งไม่จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งทุกปี อาจจะเว้น 2-3 ปี ต่อครั้งได้ แต่หากไม่ตัดแต่งกิ่งเลย จะทำให้ต้นกาแฟสูงชะลูดขึ้นไปข้างบน การแตกกิ่งมีน้อย ซึ่งมีผลต่อการติดเมล็ดของกาแฟที่ออกตามกิ่ง

การเก็บเมล็ดกาแฟสดจากต้น สีของผลจะต้องจัด หากเป็นสีเหลืองก็ต้องเหลืองจัดจนส้ม หรือหากเมล็ดแดงก็ต้องเป็นสีแดงเข้มมาก ในช่วงที่เมล็ดกาแฟสุกจัด สามารถเก็บได้ อาจมีฝน ถ้าฝนตกการเก็บเมล็ดกาแฟจะทำได้ยาก เพราะเมื่อเก็บมาแล้วไม่มีเครื่องอบ ทำให้เมล็ดกาแฟชื้น อาจทำให้เมล็ดกาแฟเน่า ปัญหานี้เกษตรกรบนดอยวาวียังประสบอยู่ ซึ่งการแก้ปัญหาสามารถทำโดยการนำเมล็ดกาแฟที่เก็บมาได้เข้าเครื่องอบ แต่เครื่องอบมีราคาแพง จึงจำเป็นต้องทำให้เมล็ดกาแฟแห้งโดยการตาก

เครื่องปอก
อ่างสำหรับล้างเมล็ดกาแฟ

อายุของต้นกาแฟ หากดูแลรักษาดี อาจมีอายุยาวนาน 30-50 ปี โดยไม่จำเป็นต้องรื้อแปลงปลูกใหม่ หากต้นมีอายุมาก จะให้ผลผลิตค่อนข้างดีกว่า

โรคและแมลงในกาแฟ พบได้น้อย เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้ทนทานต่อโรค จึงพบโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาในแปลงค่อนข้างน้อย

การเก็บผลผลิตกาแฟต่อต้น โดยทั่วไปเฉลี่ยต้นละ 1 กิโลกรัม  การเก็บ จำเป็นต้องเก็บเมล็ดกาแฟในตอนเช้า เก็บตลอดทั้งวันแล้วนำมาส่งที่โรงตากกาแฟไม่เกินเวลา 22.00 น. ของวันนั้นๆ และเริ่มสีเมล็ดกาแฟในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น

การรับซื้อเมล็ดกาแฟ ราคารับซื้อเมื่อยังเป็นผลสด (เชอรี่) ราคากิโลกรัมละ 15-20 บาท
เมื่อนำผลสด (เชอรี่) มาปอกเปลือกตากแห้ง เรียกว่า กะลา ความชื้นไม่น้อยกว่า 8 เปอร์เซ็นต์ ขายได้ราคากิโลกรัมละ 120 บาท แต่ปริมาณผลสด (เชอรี่) 5 กิโลกรัม เมื่อปอกเปลือกตากแห้งแล้วได้กะลา 1 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบราคาขายแล้ว ได้กำไรกิโลกรัมละ 20 บาท

แต่หากนำกาแฟในรูปแบบของกะลามาสีเป็นสาร จะขายได้ราคากิโลกรัมละ 180-200 บาท   หากนำกะลาที่สีเป็นสาร ไปคั่วให้ได้เมล็ดกาแฟสด จะขายได้ราคากิโลกรัมละ 500-1,000 บาท

แม้ว่าทุกขั้นตอนจะมองดูเหมือนสามารถแปรรูป เพื่อให้ได้มูลค่าของกาแฟที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ติดในแต่ละขั้นตอนที่เหมือนกัน คือ อุปกรณ์หรือเครื่องที่จะสี สาร คั่ว เมล็ดกาแฟ ไม่ใช่ทำด้วยมือได้ แต่ต้องใช้เครื่อง ซึ่งมูลค่าเครื่องหลักล้านบาท เกษตรกรทั่วไปไม่มีทุนก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้เกษตรกรต้องขายเมล็ดกาแฟสด (เชอรี่) หรือเมล็ดกาแฟสด (เชอรี่) ที่ผ่านการตากแห้งเป็นกะลาแล้วเท่านั้น

ตลาดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านดอยช้าง มี กาแฟดอยช้าง มารับซื้อเมล็ดกาแฟสด (เชอรี่) แล้วนำไปสี ทำกะลา อบ คั่ว ทำแบรนด์ดอยช้างเอง ส่วนอีกบริษัทรับซื้อ 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำไปทำแบรนด์เอง ขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เมล็ดกาแฟหลังจากคั่วแล้ว

เพราะคุณภาพเมล็ดกาแฟอินทรีย์ที่ผลิตได้ ทำให้มีบริษัทของไต้หวันติดต่อเข้ามาขอซื้อกาแฟคั่ว เดือนละ 500 กิโลกรัม แต่ติดปัญหาที่กลุ่มยังไม่มีเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟ จึงต้องชะลอการสั่งซื้อออกไปอีก ปริมาณผลผลิตแต่ละปี มากถึงปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ก็ขายหมดไม่เหลือ

คุณพรศักดิ์ นันตะรัตน์ เกษตรจังหวัดเชียงราย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เชียงรายเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก เพราะตั้งอยู่ในแนวองศาเหนือและองศาใต้ที่โลกให้การยอมรับว่า เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟรสชาติดี แต่ปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะพบคือ การทะลักเข้ามาของกาแฟเพื่อนบ้านในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อกาแฟจากประเทศเพื่อนบ้านแทน แม้ว่าจะคุณภาพด้อยกว่าของประเทศไทย แต่ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่า และนำมาปนในขั้นตอนของการคั่วเมล็ดกาแฟ ก็ทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ ผู้ผลิตกาแฟก็ได้ประโยชน์จากต้นทุนที่ถูกลง

อยากแวะชมไร่กาแฟอินทรีย์บนดอยช้าง ก็ติดต่อหา คุณภาคภูมิ แลเฌอกู่ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟอินทรีย์รักษาป่าบ้านดอยช้าง ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย หรือโทรศัพท์ 061-373-2007 ได้ตลอดเวลา