“ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล” นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก พร้อมทำหน้าที่เพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เกิดความยั่งยืน

กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการเลือกตั้งนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย คนแรกของประเทศไทย มีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่ทั่วประเทศเข้าร่วม โดย นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล จังหวัดชุมพร ได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายกสมาพันธ์คนแรก พร้อมเปิดเผยวิสัยทัศน์ สร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และประสานประโยชน์ความร่วมมือเพื่อชาวสวนทุเรียนให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ตระหนักถึงแนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งประเทศ ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 655,505 ไร่ เป็น 839,725 ไร่ โดยมีเกษตรกรที่มีความสามารถโดดเด่นเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ดี (best practice) พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน ซึ่งกระจัดกระจายหลายภาคทั่วประเทศ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการรวมกันเป็นองค์กรหรือเครือข่ายระดับประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย ตลอดจนการสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหาร จัดการผลไม้ด้วยความสามารถขององค์กรเกษตรกรเอง โดยมีภาครัฐเป็นฝ่ายให้การสนับสนุน เพื่อสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนไทย 6 ภูมิภาค และกำหนดแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเพื่อให้ชาวสวนได้มาก่อตั้งสมาพันธ์ เพื่อกำหนดแนวทางบริหารจัดการ ระเบียบ กติกากันเอง โดยกรมส่งเสริมฯ พร้อมสนับสนุนด้านวิชาการ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเลือกตั้งและได้นายกสมาพันธ์ฯ คนแรกของประเทศไทยแล้ว ก็คาดหวังว่า การจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยครั้งนี้ จะทำให้เกิดการผลิตทุเรียนคุณภาพสร้างมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ด้วยความสามารถขององค์กรเกษตรกรเอง มีการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาด รวมทั้งมองถึงการแสวงหาตลาดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดผูกขาดอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการทุเรียนในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนจะได้ปรับเปลี่ยนการผลิต มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนในการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น มีการวางแผนที่ดีลดความเสี่ยงการผลิตสินค้าซึ่งมากเกินความต้องการ ถือเป็นการพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศ ด้วยวิถีทาง แห่งนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามนโยบายเกษตร 4.0

ด้าน นายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรกของประเทศ เปิดเผยว่า การจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนแห่งประเทศไทย ถือเป็นมิติใหม่ของวงการทุเรียนของที่มีการขับเคลื่อนโดยเกษตรกรทุกภาคส่วน ภายใต้บริบทการขับเคลื่อนต่อยอดจากการส่งเสริมในระบบเกษตรกรแปลงใหญ่ ของกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากวันนี้ ทุเรียนถือว่าเป็นพืชที่เป็นโอกาสของพี่น้องเกษตรกรที่มีมูลค่าในตัวสินค้าสูง วันนี้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนทั่วประเทศกว่า 20 จังหวัด มีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทนเข้ามาบริหารจัดการในรูปแบบขององค์กรที่เป็นรูปธรรมในนามของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย ซึ่งจะมีคณะทำงานที่มาจากผู้ที่มีอาชีพทำสวนทุเรียนจริงๆ จากทุกภูมิภาคร่วมอีก 18 ท่าน ดังนั้น ในกระบวนการขับเคลื่อนทั้งหมด จะเป็นการกระจายทุกการพัฒนาไปให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ จะไม่มีคำว่าทุเรียนภาคใต้ ทุเรียนภาคกลาง นนทบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด หรือแม้แต่ ศรีสะเกษ แต่จะขับเคลื่อนในลักษณะองค์รวม คือ ทุเรียนไทย โดยวางแนวทางขับเคลื่อนที่จะเพิ่มศักยภาพพี่น้องเกษตรกรที่อยู่ในแปลงใหญ่ให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มศักยภาพ โดยสมาพันธ์จะขับเคลื่อนเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด เพื่อให้สมาชิกทั้งที่อยู่ในระบบเกษตรกรแปลงใหญ่และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนทั่วไปมีความมั่นคงในอาชีพ ภายใต้วิธีคิดเดียวกันคือ “ต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพ” และจะทำอย่างไรในฐานะองค์กรที่เป็นผู้นำทางอาชีพเรื่องของทุเรียน แล้วตอบโจทย์ในเรื่องของมาตรฐานสินค้า ให้ได้มาตรฐาน GAP และการบริหารจัดการเรื่องของต้นทุน เพราะหากเราบริหารต้นทุนการผลิตแล้วยึดโยงกับคุณภาพได้ ส่วนตัวมั่นใจว่าสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยจะเป็นองค์กรแรก และเป็นองค์เดียวที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนสามารถพึ่งพาได้

นายฉัตรกมล กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่สมาพันธ์ฯ จะต้องดำเนินการนับจากนี้ คือ การบริหารจัดการไปสู่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ภายใต้กรอบของคณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถจากทุกภาคไม่ว่าจะเป็นจากภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคอีสาน หรือแม้กระทั้งที่เป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนใหม่อื่นๆ โดยคาดหวังว่าเกษตรกรจะต้องพัฒนาตัวเอง และเป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้าภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพราะในอนาคตอันใกล้นี้เราอาจจะได้รับผลกระทบจากความผันแปรในเรื่องของราคา การตั้งสมาพันธ์ฯ จึงจะช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของวิธีคิดของเกษตรกรทั้งที่อยู่ในแปลงใหญ่ หรือนอกแปลงใหญ่ที่จะต้องมีวิธีคิดเหมือนกันในเรื่องของการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของคู่ค้า ถ้าคู่ค้ายอมรับในตัวสินค้า เราก็ยังคงเป็นเจ้าของตลาดทุเรียนได้ อีกทั้งเราจะต้องวิเคราะห์พื้นฐานของการผลิตทุเรียน ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต และการกระจายตัวสินค้า และสุดท้ายที่เกษตรกรจะอยู่ได้คือ การบริหารต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ได้รับการไว้วางใจจากพี่น้องชาวสวนทุเรียนให้ทำหน้าที่นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยเป็นคนแรก ก็จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างความเข้มแข็ง มั่นคง และประสานประโยชน์ความร่วมมือ เพื่อชาวสวนทุเรียนให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพ” และมุ่งหวังว่าสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย จะเข้าไปทำหน้าที่เพื่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป