สวทช. นำ Chatbot เสริมศักยภาพงานบริการสาธารณสุข ในพื้นที่ EEC

(12 ก.ค. 62) จ.ระยอง – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เสริมศักยภาพงานบริการสาธารณสุขด้วย Chatbot” นับเป็นครั้งแรกสำหรับผู้ให้บริการสาธารณสุขและงานบริการด้านสุขภาพ ในพื้นที่เขต EEC (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) และจังหวัดอื่นๆ) ที่จะได้ทดลองใช้เครื่องมือ Chatbot เพื่อช่วยงานบริการ ตอบทุกคำถาม บริการลูกค้า และเก็บข้อมูลจากกระบวนการประสานงาน มุ่งลดปัญหางานซ้ำซ้อน ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการยุค 4.0

ดร. ชยกฤต เจริญศิริวัฒน์ นักวิจัยอาวุโส สวทช. ดูแลเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) กล่าวว่า เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย สวทช. มีโครงการที่จะส่งเสริมผู้ประกอบ การในด้านต่างๆ ทั้งภาคการค้า ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และอีกหนึ่งภารกิจคือ การส่งเสริมเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดยมีเป้าหมายยกระดับศักยภาพของประเทศสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยซอฟต์แวร์พาร์คเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มผลิตภาพ ลดเวลากับผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ผลักดันด้านงานบริการด้านสาธารณสุข ให้มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับงานบริการมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยี Chatbot เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อจำลองบทสนทนาของมนุษย์ ให้สามารถพูดคุย สื่อสารกับมนุษย์ผ่านทางเสียงหรือข้อความแบบ   real-time โดยนำมาปรับใช้ในกลุ่มสถานพยาบาลเพื่อรับมือกับปัญหาในการตอบคำ ถามซ้ำซ้อน รวดเร็ว และไม่มีหยุดพัก สามารถค้นหาข้อมูลได้ตรงประเด็น บางครั้งอาจจะแก้ปัญหาง่ายๆ ได้โดยไม่ต้องรอพึ่งคน ทั้งยังช่วยให้หน่วยงานสามารถบริการประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น คนไข้หรือญาติคนไข้ที่ต้องการนัดแพทย์ สามารถทำการนัดผ่าน chatbot ได้ เมื่อมาถึง  โรงพยาบาลและทำการกดคิวที่หน้าห้อง พอถึงคิว bot จะส่งข้อความเตือนให้เดินมาที่หน้าห้องตรวจได้ เป็นต้น นอกจากนี้ คนไข้ที่ต้องดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เช่น ภูมิแพ้ เบาหวาน หรือสตรีมีครรภ์ จะสามารถสร้าง bot เพื่อดูแล ไต่ถาม หรือตอบคำถามคนไข้กลุ่มนี้ได้ โดยการสร้างระบบ AI ที่ดึงเอาความรู้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาไว้ในฐานข้อมูล และนำออกมาเพื่อใช้ตอบคำถามของคนไข้ได้

ด้านวิทยากร นายอัจฉริยะ ดาโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง AIYA ในฐานะสตาร์ทอัพผู้บุกเบิกเทคโนโลยี AI กล่าวว่า กิจกรรม Workshop ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยกับการเปิดตัว ‘Meddy Chatbot คู่ใจสถานพยาบาล’ ที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการและผู้ให้บริการกลุ่มโรงพยาบาลที่เข้า Workshop จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างและการใช้งานของตัว Meddy Chatbot อย่างละเอียด รวมถึงรับฟังประสบการณ์การนำ Chatbot เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของธุรกิจต่างๆ ทำให้ได้รู้จักและเข้าใจเทคโนโลยี Chatbot พร้อมเรียนรู้วิธีทำและวิธีใช้งาน Chatbot เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้กับธุรกิจของตนเองได้

“การนำเทคโนโลยี Chatbot มาปรับใช้ในกลุ่มสถานพยาบาล สามารถมองได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ Chat ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ช่องทางการติดต่อสื่อสารที่เปลี่ยนจากการโทรเป็นการ Chat และส่วนที่สองคือ Bot เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยทำงานแทนคนในงานที่ต้องทำซ้ำๆ อีกทั้งยังสามารถทำได้ 24 ชั่วโมง มีความแม่นยำ เก็บข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก และเรียนรู้ได้รวดเร็ว สถานพยาบาลจึงควรมีการนำเทคโนโลยี Chatbot มาปรับใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในสถานพยาบาล เช่น การรับส่งเวร ปัจจุบันมักใช้ Line ในการดำเนินการ แต่ Line ไม่มีการเก็บข้อมูล อีกทั้งการรับส่งเวรนั้นควรเป็นไปตามมาตรฐาน ISBAR คือ การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะของผู้ป่วย (Identification-Situation-Background-Assessment-Recommendation) ซึ่งสถานพยาบาลสามารถนำเทคโนโลยี Chatbot เข้าไปใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ได้” นายอัจฉริยะ กล่าว

ด้านผู้ให้บริการกลุ่มโรงพยาบาล นายแพทย์สุกิจ บรรจงกิจ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลระยอง กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลระยองกำลังพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลคุณภาพที่ไว้วางใจของผู้รับบริการด้วยทรัพยากรที่จำกัด และความคาดหวังของผู้รับบริการและภาระงานที่มากขึ้น โรงพยาบาลมียอดผู้ป่วยนอกที่มารับบริการเกิน 2,000 คน     ต่อวัน ในขณะที่อัตรากำลังคนยังขาดแคลนจึงต้องพัฒนาระบบงานให้มีคุณภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น โรงพยาบาลพยายามใช้วิธีลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนในอดีตและใช้ระบบสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ในทุกระบบงานเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็น smart hospital ซึ่งการเข้าร่วมร่วมกิจกรรม workshop ด้าน Chatbot ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับผู้รับบริการให้ดียิ่งขึ้นในภาวะกำลังคนน้อย ไม่สมดุลกับผู้รับบริการที่มากขึ้น และผู้รับบริการจะได้รับข้อมูลได้อย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมง สามารถค้นหาข้อมูลได้ตรงประเด็น เพิ่มความพึงพอใจผู้รับบริการ รวมถึงเกิดภาพลักษณ์เชิงบวกต่อโรงพยาบาล ทั้งนี้ โรงพยาบาลระยอง มีแนวทางพัฒนาและยกระดับระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลให้เป็น digital hospital เพื่อเพิ่มมาตรฐานและคุณค่าบริการ เพิ่มความสุขของผู้ให้และผู้รับบริการ รวมถึงเพิ่มการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อการให้บริการ (innovative organization) รวมถึงพัฒนา PHR (Personal Health record) หรือข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยสามารถใช้และเชื่อมโยงในทุกสถานบริการ ตลอดจนระบบนัดและคิวออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันเพื่อลดความแออัดและระยะเวลารอคอย การใช้  big data และ AI มาช่วยในการวินิจฉัยโรค และ block chain มาช่วยด้านความถูกต้องและปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น